กุหลาบ และการปลูกกุหลาบ

Last Updated on 9 มกราคม 2016 by puechkaset

กุหลาบ (Rose) ถือเป็นไม้ตัดดอกที่มีการปลูก และจำหน่ายมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ และของโลกเมื่อเปรียบกับไม้ตัดดอกชนิดอื่นๆ โดยพันธุ์กุหลาบที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นกุหลาบพันธุ์ผสม (Rosa hybrida) จากการผสมของกุหลาบพันธุ์ Tea rose และ Hybrid perpetual ที่สามารถให้ทรงพุ่มตั้งตรง ดอกมีขนาดใหญ่ หลายสี กลีบดอกเรียงซ้อนกัน และบานได้นาน

พันธุ์ที่นิยมปลูกแบ่งตามสีดอก
กุหลาบที่มีปลูกกันมากในปัจจุบัน เรียงตามสีของดอก ได้แก่ สีแดง สีชมพู สีส้ม สีเหลือง สีขาว และสีม่วง
1. ดอกสีแดง ได้แก่
– พันธุ์ดัลลัส
– บราโว
– แกรนด์กาล่า
– คริสเตียนดีออร์ม
– เรดเวลแวต
– เรดมาสเตอร์พีส
– แกรนด์มาสเตอร์พีส
– โอลิมเปียด
– ปาปามิลแลนด์
– คาร์ดินาล
– นอร์ริก้า
– เวก้า
2. ดอกสีชมพู ได้แก่
– พันธุ์ดิโพลเมต
– มิสออลอเมริกาบิวตี้
– ราแวล
– ไอเฟลทาวเวอร์
– คาสลาส
– เฟรนด์ชิพ
– ซาเฟีย
– สวาทมอร์
– เพอร์ฟูมดีไลท์
– เอลิซ่า
– อะเควเรียส
– จูวังแซล
– เฟิร์สท์ไพรซ์
ซูซานแฮมเชียร์
3. ดอกสีส้ม ได้แก่
– มาเดอลอง
– แซนดรา
– ซันดาวน์เนอร์
– พาซาดินา
– ซุปเปอร์สตาร์หรือทรอพปิคานา
4. ดอกสีเหลือง ได้แก่
– เท็กซัส
– โอรีโกลด์
– คอนเฟตติ
– คิงส์แรนซัม
– พาเรโอ
– เฮสมุดสมิดท์นิวเดย์
– ซันคิงส์
– เมลิลอน
5. ดอกสีขาว ได้แก่
– ไวท์โนเบลส
– เอทีนา
– ทินิเก้
– ซูเพลส
ไวท์คริสต์มาส
6. ดอกสีอื่น ได้แก่
– แยงกี้ดูเดิ้ล
– เบลแอนจ์
– ดับเบิ้ลดีไลท์

สวนกุหลาบ

การคัดเลือกพันธุ์ปลูก
การปลูกกุหลาบเพื่อการจำหน่าย เกษตรกรส่วนใหญ่จะพิจารณาถึงลักษณะที่ผู้ซื้อให้ความนิยม และมีประโยชน์ต่อผู้ปลูกเองเป็นสิ่งสำคัญ ได้แก่
1. ต้นสมบูรณ์ เลี้ยง และดูแลง่าย เจริญเติบโตดี
2. ลำต้นตั้งตรง ทรงพุ่มไม่กว้าง
3. ให้ผลผลิตของดอกต่อไร่สูง
4. ออกดอกสม่ำเสมอ ต้นไม่โทรมเร็วถึงแม้จะตัดดอกหลายรุ่น
5. มีความคงทนต่อโรค และความเสียหายจากการจัดการ
6. ดอกมีขนาดใหญ่ ก้านดอกยาว และให้สีสดใส
7. ดอกสามารถอยู่ในแจกันได้นาน ซึ่งปัจจุบันอาจอยู่ได้นานถึง 15 วัน
8. กุหลาบที่ดูดน้ำได้ดี
9. กุหลาบที่ไม่มีหนามหรือมีหนามน้อย
10. สีดอกตามความนิยม เช่น สีแดง สีชมพู เป็นต้น
11. ให้กลิ่นหอม ทนนาน

การขยายพันธุ์
1. การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ
เป็นวิธีเพาะขยายด้วยการอาศัยเมล็ด วิธีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ และใช้เป็นต้นตอใหม่แทนต้นเดิมที่มีอายุมาก มักพบในสวนกุหลาบขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ต้นแม่พันธุ์ในการตัดตอนกิ่ง หรือตัดชำกิ่งเพื่อการจำหน่ายต้นพันธุ์โดยเฉพาะนอกเหนือจากการตัดดอกขาย

2. การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ
เป็นวิธีการที่พบมากในแปลงที่จำหน่ายต้นพันธุ์สำหรับปลูก ด้วยอาศัยวิธีการตอนกิ่ง การปักชำ การสอบยอด และติดตา และผู้ปลูกโดยทั่วไปสามารถใช้วิธีการนี้สำหรับขยายตอใหม่

การปลูกกุหลาบ
การปลูกกุหลาบสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะสามารถเจริญเติบโตดี และให้ดอกที่มีคุณภาพในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว

การเลือกพื้นที่
กุหลาบสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึก ไม่แน่น เช่น ดินร่วน ดินเหนียวปนดินร่วน ดินเหนียวปนทราย และพื้นที่ต้องมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง และเป็นที่โล่งที่สามารถรับแสงได้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง และที่สำคัญควรใกล้แหล่งน้ำ

การเตรียมแปลงปลูก
1. แปลงปลูกแบบยกร่อง แปลงประเภทนี้พบมากในภาคกลางที่เป็นดินเหนียว และมีปัญหาน้ำท่วมขัง การปลูกจะใช้การยกร่องแปลงสูง โดยมีร่องน้ำกั้นแปลง แปลงกว้าง 1.5-2 เมตร ช่องทางเดินระหว่างแปลง 1 เมตร ความยาวแปลงตามความเหมาะสมของพื้นที่

2. แปลงปลูกแบบไม่ยกร่อง แปลงประเภทนี้พบมากในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำขัง แปลงชนิดนี้จะไม่ทำการยกร่องแปลง แต่จะปลูกเป็นแถวตามแนวยาว แถวปลูกอาจเป็นแถวเดี่ยวหรือหลายแถว โดยเว้นทางเดินระหว่างแถว ประมาณ 80-100 ซม.

การเตรียมดินของแปลงทั้ง 2 ประเภท จะมีลักษณะคล้ายกัน คือ
– ทำการไถพรวนแปลง และดินนาน 5-10 วัน
– ในพื้นที่ภาคกลางหรือพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรดให้หว่านปูนขาว อัตรา 200-400 กก./ไร่
– พื้นที่ทั่วไปให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2-4 ตัน/ไร่ ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กก./ไร่
– ทำการไถพรวนดินอีกรอบ พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 3-5 วัน ก่อนปลูก

วิธีการปลูก
– ปลูกด้วยการใช้กิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอน การปักชำ การติดตา และการเสียบยอด
– ปลูกในระยะระหว่างหลุม และแถวที่ 50×50 ซม. หรือ 50×75 ซม.
– ขุดหลุมให้ลึก โดยให้ดินกลบเหนือเขตราก 5-10 ซม.
– หลังการปลูกรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
1. การให้น้ำ อาจให้ด้วยระบบน้ำหยด ไม่แนะนำระบบสปริงเกอร์ เพราะอาจทำให้ใบ และดอกติดเชื้อราได้ง่าย ดอกอาจเน่า และร่วง ในฤดูฝนอาจให้วันเว้นวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนไม่ตก ส่วนฤดูหนาว และแล้งควรให้อย่างน้อยวันละครั้ง โดยเฉพาะหน้าแล้งควรที่จะให้น้ำในช่วงที่มีแดดจัด

2. การให้ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในช่วงหลังการตัดแต่งกิ่ง และหลังการเก็บดอก ในอัตรา 15-20 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก 500 กก./ไร่ โดยการหว่านโรยบริเวณรอบลำต้น

3 . การตัดแต่งกิ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ต้นกุหลาบไม่แตกทรงพุ่มออกกว้าง และช่วยทำให้ต้นโปร่งป้องกันแมลง กิ่งที่ตัดออกควรเป็นกิ่งที่เป็นโรค กิ่งขนาดเล็กจำนวนมาก และกิ่งที่ยื่นออกนอกทรงพุ่ม นอกจากนั้นการตัดแต่งกิ่งยังเป็นส่วนสำคัญเพื่อทำให้กุหลาบแตกยอดสำหรับดอกใหม่

การเก็บดอก
การเก็บดอกจะเก็บใน 2 ช่วง คือ
– การเก็บดอกช่วงเย็น มักเก็บในช่วงเวลา 17.00 น.เป็นต้นไป? ซึ่งเป็นช่วงที่มีแสงแดดรำไร แดดไม่ร้อนจ้า
– การเก็บดอกช่วงเช้าตรู่ เป็นช่วงที่นิยมเก็บมากที่สุด เริ่มตั่งแต่ เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป หรือหากมีจำนวนมากอาจเริ่มเก็บก่อนหน้านี้

การเก็บดอกจะใช้กรรไกรตัดดอกหรือมีดคัตเตอร์ โดยการตัดต่ำ ตัดที่ก้านดอกยาวประมาณ 50-80 ซม. หรือบริเวณใกล้โคนกิ่ง และไม่ต้องตัดหนาม และใบออก

การเก็บรักษาดอกจะนำดอกที่ตัดแล้วมาแช่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมง – 1 ชั่วโมง และปรับ pH ของน้ำให้เป็นกรด ดังนี้
– น้ำบริสุทธิ์หรือน้ำฝน ใช้กรดซิตริก ประมาณ 0.3 กรัม/ลิตร
– น้ำกระด้าง ใช้กรดซิตริก ประมาณ 0.7 กรัม/ลิตร