Last Updated on 8 ธันวาคม 2016 by puechkaset
กระเจี๊ยบแดง (Roselle) เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว นิยมปลูกสำหรับนำดอกมาใช้ประโยชน์หลัก ได้แก่ นำดอกมาต้มเป็นน้ำกระเจี๊ยบ ส่วนอื่นๆรองลงมา ได้แก่ ใบ และยอดอ่อนนำมาปรุงอาหาร สีของดอกใช้เป็นสีผสมอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa Linn.
วงศ์ : Malvaceae
ชื่อสามัญ : Roselle, Rosella,Jamaica Sorrel, Red Sorrel
กระเจี๊ยบแดง มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน และแถบประทศในทวีปแอฟริกา พบบันทึกการปลูกในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยกรมประชาสงเคราะห์ได้นำกระเจี๊ยบแดงพันธุ์ซูดานเข้ามาปลูกที่นิคมสร้างตัวเอง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี (เกษม, 2545)(1) มีชื่ออื่นๆ เช่น กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง และทั่วไป), ส้มเก็งเค็ง, ผักเก็งเค็ง, ส้มปู, ส้มพอเหมาะ, ส้มตะเลงเครง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น และราก
กระเจี๊ยบแดง มีลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่ม สูงประมาณ 1-2.5 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 1-2 ซม. แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่ ลำต้น และกิ่งมีสีแดงม่วง เปลือกลำต้นบางเรียบ สามารถลอกเป็นเส้นได้
รากกระเจี๊ยบเป็นระบบรากแก้ว และแตกรากแขนง รากอยู่ในระดับความลึกไม่มาก
2. ใบ
ใบกระเจี๊ยบแดง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง มีลักษณะคล้ายปลายหอก ยาวประมาณ 7-13 ซม. มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนปลายเว้าลึกคล้ายนิ้วมือ 3 นิ้ว หรือเป็น 5 แฉก ระยะห่างระหว่างแฉก 0.5-3 ซม. ลึกประมาณ 3-8 ซม. มีเส้นใบ 3-5 เส้น เส้นใบด้านล่างนูนเด่น มีต่อมบริเวณโคนเส้นกลางใบ 1 ต่อม มีหูใบเป็นเส้นเรียวยาว 0.8-1.5 ซม. ใบที่มีอายุน้อย และใบใกล้ดอกจะมีขนาดเล็กรูปไข่
ใบกระเจี๊ยบแดงบางพันธุ์จะไม่มีแฉก มีลักษณะโคนใบมน และเรียวยาวจนถึงปลาย มีก้านใบมีแดงม่วงเหมือนสีของกิ่ง เส้นใบด้านล่างนูนชัด
3. ดอก
ดอกกระเจี๊ยบแดงออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกตามซอกใบตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ดอกมีก้านดอกสั้น สีแดงม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยง ประมาณ 5 กลีบ หุ้มดอกบนสุด มีขนาดใหญ่ มีลักษณะอวบหนา มีสีแดงเข้มหุ้มดอก และกลีบรองดอก ที่เป็นกลีบด้านล่างสุด มีขนาดเล็ก 8-12 กลีบ มีสีแดงเข้ม กลีบทั้ง 2 ชนิดนี้ จะติดอยู่กับดอกจนถึงติดผล และผลแก่ ไม่มีร่วง ดอกเมื่อบานจะมีกลีบดอกสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อนหรือสีขาวแกมชมพู บริเวณกลางดอกมีสีเข้ม ส่วนของดอกมีสีจางลง เมื่อดอกแก่กลีบดอกจะร่วง ทำให้กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงเจริญขึ้นมาหุ้ม
4. ผล
ผลกระเจี๊ยบแดงเจริญจากดอก ถูกหุ้มอยู่ด้านในกลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นรูปไข่ กลมรี ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีจงอยสั้นๆ มีขนสีเหลืองปกคลุม
พันธุ์กระเจี๊ยบที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ซูดาน
เป็นกระเจี๊ยบพันธุ์แรกที่มีการปลูกในประเทศ โดยนำมาจากประเทศซูดาน ในปี พ.ศ. 2510 ดังที่กล่าวข้างต้น เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน มีลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ แตกกิ่งมาก แต่กิ่งมักไม่เป็นระเบียบ ดอกมีหลายสี เช่น สีเหลือง และสีแดง มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มขนาดใหญ่ และให้รสเปรี้ยวจัด
2. พันธุ์บราซิล
เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2518 มีลักษณะลำต้นตรง แตกกิ่งมาก และเป็นระเบียบ แต่มีสี และรสเปรี้ยวที่น้อยกว่าพันธุ์ซูดาน แต่ให้จำนวนดอกดก และดอกใหญ่กว่า
3. พันธุ์เอส-2760
เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดานเหมือนกับพันธุ์ซูดาน แต่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่พัฒนา และปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกา ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อต้นเต็มวัยจะมีลำต้น และกิ่งเป็นสีแดง ลำต้นไม่มีหนามหรือขน มีลักษณะใบกลมใหญ่ ปลายใบแยกเป็นแฉก 3-5 แฉก ดอกมีสีเหลืองหรือชมพู กลีบเลี้ยงใหญ่ อวบหนา สีแดงสด มีลักษณะดอกโดยรวมคล้ายพันธุ์บราซิล และให้รสเปรี้ยวใกล้เคียงกัน แต่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า
4. พันธุ์เอส 60 – M 35
ลำต้นอ่่่่่่อนมีสีเขียว ปลายยอกมีสีแดง เมื่อต้นโตลำต้นทุกส่วนเปลี่ยนเป็นสีแดง ลำต้นไม่มีหนามหรือขน มีข้อกิ่งสั้น ใบมีแฉก ลักษณะใบหนา กลีบเลี้ยงสีแดงคล้ายพันธุ์เอส-2760 แต่เติบโต และให้ฝักยาวกว่า ให้ความเปรี้ยวใกล้เคียงกับพันธุ์บราซิล พันธุ์นี้มีอายุการออกดอก และเก็บเกี่ยวช้ากว่าทุกๆพันธุ์
ประโยชน์
1. กลีบเลี้ยงที่มีสีแดงเข้มรวมถึงกลีบดอกนิยมนำมาต้มทำน้ำผลไม้ที่เรียกว่า น้ำกระเจี๊ยบ ให้รสเปรี้ยว ผสมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่ม ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
2. ดอกอ่อน นำมาปรุงอาหาร โดยนิยมนำส่วนดอกใส่ในอาหารจำพวกต้มยำเพื่อให้มีรสเปรี้ยว ส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนนำมาปรุงอาหารลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงต้มหรือผสมเป็นผักสลัด
3. ดอกนำมาทำขนมหรือของหวาน อาทิ แยม เยลลี่ ไอศครีม
4. สีแดงเข้มของดอก นำมาสกัดเป็นสีผสมอาหาร เครื่องดื่ม หรือสีย้อมผ้า
5. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระเจี๊ยบแดง อาทิ ซอสกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบผง ไวน์กระเจี๊ยบ เป็นต้น
6. เปลือกของกระเจี๊ยบแดงสามารถลอกใช้ทำเป็นเชือกรัดของได้
7. ลำต้นสามารถใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษสาได้
8. สารเพกตินที่พบในดอกสกัดนำไปใช้เป็นสารป้องกันการแยกตัว (emulsifier) ของน้ำมันในเครื่องสำอาง
9. เมล็ดมีน้ำมันสูง ใช้สกัดสำหรับเป็นน้ำมันประกอบอาหารที่มีกรดไลโนเลอิกสูง (linoleic acid)
10. เมล็ดใช้ผสมกับสารส้มสำหรับตกตะกอนน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม
11. เมล็ดมีรสขมใช้บดผสมในอาหารเพื่อให้ได้รสขมเล็กน้อย
12. เมล็ดที่มีรสขมเหมือนกาแฟบางประเทศนำมาตากแห้ง และบดชงดื่มแทนกาแฟ
13. ทั้งใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
คุณค่าทางอาหารของกระเจี๊ยบแดง 100 กรัม
• ความชื้น (Moisture) (%) 86.60
• พลังงาน (Total energy) 460.00 แคลอรี
• ไขมัน (Total fat) 0.30 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต (Total carbohydrate) 9.40 กรัม
• โปรตีน(Protein) 1.40 กรัม
• เส้นใย (Crude fiber) 1.30 กรัม
• แคลเซียม (Calcium) 151.00 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส (Phosphorus) 59.00 มิลลิกรัม
• เหล็ก (Iron) 1.00 มิลลิกรัม
• วิตามิน บี1 (Vitamin B1) 0.01 มิลลิกรัม
• วิตามิน บี2 (Vitamin B2) 0.24 มิลลิกรัม
• ไนอะซีน (Niacin) (mg) 1.80 มิลลิกรัม
• วิตามิน ซี (Vitamin C) 44 มิลลิกรัม
• วิตามิน เอ (Vitamin A) 10,833.00 IU
เพิ่มเติมจาก : แฉล้ม และคณะ (2545)(2)
สารสำคัญ และคุณสมบัติทางเคมี
• pH 2.49
• กรด (Total acidity) 2.42%
• ความหวาน (Total soluble solids) 3.30 องศาบริกซ์
• แอนโธไซยานิน (anthocyanin) 2.52 กรัม/100 กรัม
• น้ำตาล (Sugars)
– น้ำตาลกลูโคส (Glucose) 1.29 กรัม/100 กรัม
– น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose )1.12 กรัม/100 กรัม
– น้ำตาลซูโคส (Sucrose) 0.87 กรัม/100 กรัม
• กรดอินทรีย์ (Organic acid)
– กรดซัคซินิก (Succinic acid) 0.51 กรัม/100 กรัม
– กรดออกซาลิก (Oxalic acid) 0.43 กรัม/100 กรัม
– กรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) 0.17 กรัม/100 กรัม
– กรดมาลิก (Malic acid) 0.12 กรัม/100 กรัม
– กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) 141.09 มิลลิกรัม/100 กรัม
• แคโรทีน (carotene) 1.88 มิลลิกรัม/100 กรัม
• ไลโคเพน (Lycopene) 164.34 มิลลิกรัม/100 กรัม
ที่มา : wong และคณะ, 2002.(3)
สุนทรี สิงหบุตรา, 2535(4) กล่าวถึงสารสำคัญที่พบในกลีบเลี้ยง และกลีบรองดอกที่เพิ่มเติมจากที่กล่าวข้างต้น
1. กลุ่มแอนโทไซยานินที่เป็นสารฟลาโนอยด์ ได้แก่ เดลฟินิดิน (delphinidin) 8.16 กรัม/กิโลกรัม ประกอบด้วยสารที่พบมาก คือ เดลฟินิดิน-3-แซมบูไบโอไซด์ (delphinidin-3-sambubioside) รองลงมา คือ เดลฟินิดิน-3-กลูโคไซด์ (delphinidin-3-glucoside) และไซยานินดิน (cyanidin) 18 กรัม/กิโลกรัม เป็นรงควัตถุที่ทำให้เกิดสีม่วงแดงในกระเจี๊ยบแดง
2. กรดอินทรีย์ชนิดต่างๆ ได้แก่ กรดซิติก (citric), กรดฮิบิสซิก (hibiscic)
3. แร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ สังกะสี (zinc) , แมกนีเซียม (magnesium
นอกจากนั้น ยังพบสารอื่นๆ ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส (galactose), ฮิบิสเคติน (hibiscetin), กรดมูโคพอลิแซคคาไรด์ (mucopolysaccharide acid), เพกติน (pectin), กรดโปรโตคาเทคซูอิค (protocatechuic acid), พอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide), เคอร์ซิติน (quercetin), เอสคูลีติน (esculetin)
สรรพคุณกระเจี๊ยบแดง
1. ใบ และยอดอ่อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน รักษาโรคเหน็บชา ช่วยลดความดันเลือด หรือนำมาบดหรือตำใช้ทาฟอกฝี ใช้ประคบแผล รักษาแผลอักเสบ แผลติดเชื้อ
2. ดอก ช่วยแก้นิ่วในไต นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไขมันในเส้นเลือด แก้โรคเบาหวาน
3. ผล และเมล็ด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดไขมันในเส้นเลือด แก้โรคเบาหวาน ช่วยกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ
• กรดอินทรีย์หลายชนิดที่พบ อาทิ กรดแอสคอร์บิก กรดซิตริก ที่เป็นสารสำคัญทำให้เกิดรสเปรี้ยว มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร
• กรดอินทรีย์ชนิดกรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแตก ป้องกันโรคเลือดออกตามอวัยวะในร่างกาย ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน รักษาโรคโลหิตจาง เสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
• กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงเซลล์ผิว ลดการเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณแลดูอ่อนกว่าวัย
• กรดอินทรีย์ที่พบในดอก มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้ประคบแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
• ฤทธิ์ของกรดอินทรีย์ช่วยละลายเสมหะ ลดอาการไอ
• ฤทธิ์ของกรดอินทรีย์ ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ป้องกันโรคท้องร่วง และติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
• ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียมที่เป็นองค์ประกอบของสารแอนโธไซยานิน ช่วยดูดซึมวิตามินซี และวิตามินอื่นๆในลำไส้ ช่วยป้องกันโรคเลือดจาง เลือดออกตามอวัยวะ กระตุ้นการเจริญพันธุ์
• สารแอนโธไซยานินที่ให้สีแดงหรือสีม่วงในกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงเซลล์ ไม่ให้เซลล์เสื่อมเร็ว บำรุงผิวพรรณ ป้องกันอันตรายจากสารพิษที่มีแก่เซลล์ เช่น เซลล์ตับ
• สารแอนโธไซยานินมีองค์ประกอบของโมเลกุลน้ำตาล เป็นสารที่ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย ลดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
• สารในกลุ่มพอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide) หลายชนิดออกฤทธิ์ร่วมกันลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยป้องกัน และรักษาโรคความดันโลหิต โรคไขมันในเส้นเลือด และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด
ที่มา : เสาวภา ดวงเศษวงษ์ , 2550.(5)
ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
1. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ
มีรายงานการใช้กลีบรองดอกของกระเจี๊ยบแดงบดแห้งในผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะอักเสบ ครั้งละ 1 แก้ว 3 ครั้ง นาน 7 วัน พบว่า สามารถขับปัสสาวะได้กว่า 80% และปัสสาวะมีลักษณะใส และมีสภาวะเป็นกรดเพิ่มขึ้น
2. ฤทธิ์ลดความดันโลหิต
พบรายงานการศึกษาทดลองให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงดื่มน้ำจากกลีบรองดอก และกลีบดอกของกระเจี๊ยบแดง วันละ 1 แก้ว นาน 12 วัน พบว่า ค่าความดันโลหิตมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสารสำคัญที่ช่วยออกฤทธิ์ คือ anthocyanin และ flavonoids
3. ฤทธิ์ต้านเชื้อ
พบรายงานการทดสอบฤทธิ์สารสกัดจากกระเจี๊ยบแดงที่มีต่อเชื้อจุลนทรีย์ต่างๆ พบว่า สารสกัดกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตสาร aflatoxin จากเชื้อราได้
4. ฤทธิ์ด้านอื่นๆ
พบรายงานการศึกษาผลฤทธิ์สำคัญของกระเจี๊ยบแดงมีคุณสมบัติเป็นสารต้านออกซิเดนส์ สามารถป้องกันเซลล์ตับจากความเป็นพิษของสารพิษได้ โดยมีสารสำคัญที่ช่วยออกฤทธิ์ คือ flavonoid
การปลูกกระเจี๊ยบ
กระเจี๊ยบเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อน ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง พันธุ์ที่ปลูกมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซูดาน พันธุ์เอส-2760 (ให้กลีบเลี้ยงค่อนข้างบาง) และพันธุ์บราซิล (ให้กลีบเลี้ยงค่อนข้างใหญ่ หนา) เป็นต้น นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน กระเจี๊ยบแดงสดที่ 8-10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งจะได้กระเจี๊ยบแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม
การปลูกกระเจี๊ยบแดงนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น ฤดูปลูกสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ที่นิยมจะปลูกมากในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงปลายฝน อาจปลูกด้วยวิธีการหว่านหรือหยอดเมล็ดลงหลุมหรือการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อนย้อยลงแปลงปลูก แต่ทั่วไปนิยมการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดที่สุด เพราะสะดวก และประหยัดเวลา ประหยัดเงินทุนมากกว่า
1. การเตรียมดิน
การปลูกในแปลงดินจำเป็นต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชก่อน 1-2 ครั้ง ไถแต่ละครั้งควรตากดิน 3-7 วัน ก่อนปลูก การไถครั้งสุดท้ายก่อนปลูก อาจหว่านโรยด้วยมูลสัตว์รองพื้นหรือผสมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เล็กน้อย ทั้งนี้ อาจปลูกแบบยกร่องหรือไม่ต้องยกร่องก็ได้ แต่หากปลูกในฤดูฝนควรไถยกร่องจะเป็นการดีที่สุด เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 ซม.
2. การปลูก
การปลูกในแปลงอาจใช้วิธีการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ด หากหว่านเมล็ดจะใช้ปลูกในแปลงที่ไม่ยกร่อง ส่วนการหยอดเมล็ดมักใช้กับแปลงที่ยกร่อง
การหว่านเมล็ดจะต้องหว่านให้เมล็ดตกห่างกันมากในระยะประมาณ 80-100 ซม. ต่อต้น สำหรับการหยอดเมล็ดจากการไถยกร่องจะได้ระยะห่างระหว่างแถวที่ 80-100 ซม. และการหยอดเมล็ดก็เช่นกัน ควรหยอดให้ห่างกันในแต่หลุมประมาณ 80-100 ซม. เช่นกัน
3. การดูแล
เนื่องจากกระเจี๊ยบเป็นพืชไร่ชนิดชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกกระเจี๊ยบส่วนมากจะปลูกในช่วงฤดูฝน ดังนั้น การให้น้ำจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นพิเศษ ส่วนมากมักจะปล่อยให้เติบโตโดยอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น
ในระยะ 1-3 เดือนแรก จำเป็นต้องมั่นกำจัดวัชพืชเป็นพิเศษ เพราะการปลูกในช่วงฤดูฝนหญ้าจะเติบโตเร็วมาก หากไม่กำจัดออกจะทำให้หญ้าขึ้นคลุมต้นกระเจี๊ยบได้
เนื่องจากดอกกระเจี๊ยบจะออกดอกไม่พร้อมกัน มีการทยอยออกตามความสูงของกิ่งจนถึงปลายกิ่ง ดังนั้น เมื่อกิ่งโตยาวเต็มที่แล้ว และดอกบริเวณปลายกิ่งแทงออกแล้วจะทำการเด็ดยอดในแต่ละกิ่งทิ้ง เพื่อให้กระเจี๊ยบเติบโตเฉพาะส่วนดอกได้ดี
การเก็บผลกระเจี๊ยบ
การเก็บดอกกระเจี๊ยบ สามารถเก็บได้ทั้งในระยะดอกตูมหรือหลังจากดอกบาน และร่วงแล้ว แต่โดยธรรมชาติ ดอกกระเจี๊ยบในระยะดอกตูมจะให้รสเปรี้ยวน้อยกว่าระยะติดเมล็ดหลังดอกบาน
การเก็บดอกกระเจี๊ยบจะไม่สามารถเก็บในระยะเดียวกันได้พร้อมกันหมด เนื่องจากแต่ละดอกในกิ่งมีอายุไม่พร้อมกัน ดังนั้น ระยะแรกจะเก็บดอกจากโคนกิ่งก่อน
เอกสารอ้างอิง