Last Updated on 11 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
กระบก (Wild almond) เป็นไม้พื้นถิ่นในภาคอีสาน นิยมใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนเนื้อไม้สำหรับแปรรูปในการสร้างบ้าน และผล ที่ใช้เป็นอาหารวัว เนื้อเมล็ดนิยมที่สุด คือ นำมารับประทาน ทั้งรับประทานสด และนำมาคั่วไฟให้มีกลิ่นหอมก่อน โดยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
Family (วงศ์) : Simaroubaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irvingia malayana Oliv. Ex A. Benn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : I. Olivveri Plerre
ชื่อสามัญ :
– Wild almond
– Kayu
– Barking Deer,s Mango
ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– กระบก
อีสาน
– บก
– หมากบก
– มะลื่น
– หมากลื่น
– หลักกาย (สุรินทร์)
เหนือ
– กระบก
– กะบก
– จะบก
– ตระบก
– มะมื่น
– มื่น
ตะวันออก
– ชะอัง
เขมร
– จำเมาะ
ที่มา : [1]
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กระบก เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งที่พบได้ในป่าดิบแล้ง พบได้มากในภาคอีสาน และภาคเหนือของไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กระบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ มีลำต้นสูงได้กว่า 30 เมตร เปลือกลำต้นต้นมีสีเทาบ้าง สีน้ำตาลอ่อนบ้าง เปลือกค่อนข้างหนา ผิวเปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก จำนวนใบมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ
ใบ
ใบเป็นใบเดียว แตกตามปลายกิ่งเรียงเยื้องสลับกัน ยอดอ่อนมีสีม่วงเข้ม เมื่อเป็นใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบมีรูปหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมองเห็นเส้นใบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ใบจะเริ่มผลัดร่วงในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
ดอก
ดอกกระบกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยแต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน และตัวเมียขึ้นอยู่กลางดอก ทั้งนี้ ต้นกระบกจะเริ่มออกดอก และติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
ผล
ผลกระบกมีลักษณะกลมรี คล้ายกับผลมะม่วงหรือมะปราง ออกเป็นพวงที่ปลายกิ่ง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลือง เนื้อผลบาง มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย รับประทานได้ โดยผลกระบกจะแก่ และสุก พร้อมจะเริ่มร่วงในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี
เมล็ด
เมล็ดกระบกจะเป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเนื้อผลด้านใน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เปลือกนอก เป็นเปลือกหุ้มส่วนนอก เป็นส่วนที่มีมากที่สุดกว่าร้อยละ 85 มีลักษณะแบน และรี แข็งคล้ายเนื้อไม้ มีร่องตรงกลางเมล็ดทำให้แยกออกเป็น 2 แผ่นได้
ส่วนที่ 2 เปลือกใน เป็นเปลือกหุ้มส่วนกลาง ซึ่งไม่ติดกับส่วนนอก ส่วนนี้จะติดแน่นกับเนื้อเมล็ดส่วนในสุด มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งบางๆ สีน้ำตาลเข้ม
ส่วนที่ 3 เนื้อเมล็ดกระบก เป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุด เป็นเนื้อเมล็ด มีลักษณะแบน และรี สีขาวนวล มีรสมัน เป็นส่วนที่ใช้รับประทาน หรือ หีบสกัดเป็นน้ำมันกระบก
สรรพคุณกระบก
เนื้อไม้
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยฆ่าพยาธิ
ใบ
– ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง
ผล
– ใช้เป็นยาระบาย โดยการรับประทานผลอ่อน หรือ เนื้อผลสุก
– ช่วยขับพยาธิ
เนื้อเมล็ด
– ให้พลังงานแก่ร่างกาย
– ช่วยบำรุงไต
– บำรุงไขข้อ และกระดูก
น้ำมันเมล็ด
– ช่วยบำรุงสมอง
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– รักษาริดสีดวงจมูก
– บรรเทาอาการหอบหืด
การใช้ประโยชน์
ผลกระบก
1. ผลกระบกสุกที่ร่วงลงพื้นใช้เป็นอาหารของวัว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก เนื่องจาก เนื้อผลมีรสหวานอมเปรี้ยว
2. เมล็ดกระบกที่ถ่ายออกมาร่วมกับมูลวัว ชาวบ้านนำมากะเทาะเปลือกออก ซึ่งจะได้เนื้อเมล็ดกระบกที่มีรสมัน โดยจะรับประทานสด หรือ นำมาคั่วไฟเพื่อให้หอมก่อนรับประทาน ปัจจุบัน มีชาวบ้านในภาคอีสานรวบรวมเมล็ดกระบก แล้วนำมาจำหน่ายเป็นรายได้งาม
3. เนื้อเมล็ดกระบกนำมาหีบสกัดเป็นน้ำมัน ใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ
– ใช้หล่อลื่นสำหรับหีบเมล็ดนุ่น หล่อลื่นเครื่องจักร
– ใช้เป็นน้ำมันสำหรับจุดตะเกียงให้แสงสว่าง
– ใช้เป็นน้ำมันสำหรับผลิตสบู่
– ใช้สำหรับทอดอาหาร
– ใช้สำหรับทาผิว ป้องกันผิวแตกกร้าน ใช้ทาริมฝีปาก ป้องกันริมฝีปากแห้งกร้าน
– ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารสัตว์ปีก ช่วยเพิ่มคุณภาพของซากสัตว์ปีกให้ดียิ่งขึ้น
ลำต้น และกิ่ง
1. กระบกเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีลวดลาย มีสีพื้นเป็นสีเทาปนเหลืองอมขาว นิยมแปรรูปเป็นไม้สำหรับก่อสร้างบ้าน อาทิ ไม้วงกบ ไม้หน้าต่าง ไม้ปูพื้น ไม้ระแนง รวมถึงแปรรูปเป็นไม้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่างๆ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน เป็นต้น
2. ท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่ใช้เผาเป็นถ่านสำหรับหุงหาอาหารในครัวเรือน
3. เศษไม้ กิ่งไม้ขนาดเล็กใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน
วิธีผ่าเมล็ด
วิธีกะเทาะหรือผ่าเมล็ดกระบกของคนสมัยก่อนจะใช้มีดกะเทาะออก โดยใช้ไม้เป็นฐานรอง จากนั้น ใช้มือสองข้างจับประคองเมล็ดวางบนฐานไม้ในแนวตั้ง โดยให้ส่วนขั้วเมล็ดอยู่ด้านบน จากนั้น วางคมมีดให้อยู่ในแนวร่องของเมล็ด ก่อนจะประคองเมล็ด และใบมีดยกขึ้น และจับกระแทกลงบนฐานไม้ ซึ่งจะทำให้คมมีดกระแทกตรงร่องเมล็ดจนเมล็ดแยกออกเป็น 2 ซีก ทำให้ได้เนื้อเมล็ดส่วนในสุดออกมา
คุณค่าทางอาหารเนื้อเมล็ด และเปลือกในเมล็ดกระบก
สารอาหาร/แร่ธาตุ |
เนื้อเมล็ด (ร้อยละ) |
เปลือกในเมล็ด (ร้อยละ) |
ความชื้น | 22.3 | 6.7 |
โปรตีน | 10.6 | 25.9 |
ไขมัน | 47.0 | 8.1 |
กากใย | 3 | 7.3 |
เถ้า | 1.6 | 6.1 |
คาร์โบไฮเดรต | 15.5 | 45.9 |
พลังงาน/100 กรัม | 527 kcal | 360 kcal |
ฟอสฟอรัส (mg/g) | 2 | 6.13 |
โซเดียม (mg/g) | ไม่พบ | 0.14 |
โพแทสเซียม (mg/g) | 6.01 | 1.81 |
แคลเซียม (mg/g) | 1.21 | 3.32 |
ทองแดง (mg/g) | ไม่พบ | 0.029 |
แมงกานีส (mg/g) | 0.079 | 0.166 |
แมกนีเซียม (mg/g) | 1.19 | 4.56 |
เหล็ก (mg/g) | ไม่พบ | 1.60 |
สังกะสี (mg/g) | 0.03 | 0.088 |
ชนิดกรดไขมันในน้ำมันกระบก
กรดไขมัน |
ร้อยละ |
Caproic acid | 2.77 |
Lauric acid | 48.02 |
Myristic acid | 42.18 |
Palmitic acid | 3.69 |
Stearic acid | 0.29 |
Oleic acid | 2.28 |
Linoleic acid | 0.26 |
Palmitoleic acid | 0.51 |
Sponification value | 246 |
ชนิดกรดอะมิโนในเปลือกในเมล็ดกระบก
สารอาหาร/แร่ธาตุ |
เนื้อเมล็ด (ร้อยละ) |
เปลือกในเมล็ด (ร้อยละ) |
ความชื้น | 22.3 | 6.7 |
โปรตีน | 10.6 | 25.9 |
ไขมัน | 47.0 | 8.1 |
กากใย | 3 | 7.3 |
เถ้า | 1.6 | 6.1 |
คาร์โบไฮเดรต | 15.5 | 45.9 |
พลังงาน/100 กรัม | 527 kcal | 360 kcal |
ฟอสฟอรัส (mg/g) | 2 | 6.13 |
โซเดียม (mg/g) | ไม่พบ | 0.14 |
โพแทสเซียม (mg/g) | 6.01 | 1.81 |
แคลเซียม (mg/g) | 1.21 | 3.32 |
ทองแดง (mg/g) | ไม่พบ | 0.029 |
แมงกานีส (mg/g) | 0.079 | 0.166 |
แมกนีเซียม (mg/g) | 1.19 | 4.56 |
เหล็ก (mg/g) | ไม่พบ | 1.60 |
สังกะสี (mg/g) | 0.03 | 0.088 |
ที่มา : [1], [2]
วิธีปลูกกระบก
กระบกขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะต้นกล้าจากเมล็ด ทั้งนี้ เปลือกนอกกระบกมีความแข็ง และหนา หากใช้วิธีเพาะตามธรรมชาติอย่างเดียวจะงอกช้า ดังนั้น จึงใช้เทคนิคการตัดเปลือกนอกบางส่วนของด้านหัว และด้านท้ายออกก่อนเพาะ และเมื่อเมล็ดงอก และต้นกล้าสูง 20-30 เซนติเมตร ค่อยย้ายกล้าลงปลูกตามจุดที่ต้องการ
การขายเมล็ดกระบก
ปัจจุบัน เนื้อเมล็ดกระบกเป็นที่ต้องการของตลาดสูง เนื่องจากนิยมรับประทาน โดยพบมีพ่อค้าคนกลางเข้ารับซื้อตามหมู่บ้านต่างๆในภาคอีสาน ก่อนนำมาคั่วขายในตัวเมืองหรือในกรุงเทพฯ ราคาขายเมล็ดที่คั่วแล้วสูงกว่า กิโลกรัมละ 300-500 บาท
ต้นกระบกกับไม้ลีลาราคาแพง
ปัจจุบันไม้ลีลาหรือต้นไม้ที่มีลักษณะแปลก และสวยงามกำลังเป็นที่นิยมสูง ทั้งตามปั๊มน้ำมัน รีสอร์ท โรงแรม หรือตามบ้านเรือนคนที่มีฐานะ
ต้นกระบก เป็นต้นไม้ที่นิยมเป็นอันดับต้นๆของไม้ลีลา มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท เนื่องจากลำต้น โดยเฉพาะโคนต้นมีพูพอน และมีการแตกร่องสวยงาม รวมถึงใบเขียวสด ใบดกหนาทึบ เป็นร่มเงาได้ดี
เอกสารอ้างอิง
[1] อุษารัตน์ คำทับทิม และอทิตยา ศิริภิญญานนท์. 2556. การสังเคราะห์ไบโอดีเซลจากน้ำมันเมล็ดกระบก.
[2] สุดสงวน เลาหวินิจ. 2532. การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดกระบก.