Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
กระดังงา หรือ การเวก (Ylang-Ylang) เป็นไม้รอเลื้อยที่นิยมปลูกมากในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นไม้ที่แตกกิ่งมาก ให้ใบดกเขียวทั้งปี และมีอายุยืนนาน รวมถึงทนต่อสภาพอากาศร้อน และทนต่อภาวะมลพิษทางอากาศได้สูง จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงา และช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเป็นได้ประดับดอกด้วย
กระดังงา หรือ การเวก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียตอนใต้ และศรีลังกา สันนิษฐานว่าถูกนำเข้ามาเผยแพร่ และนำเมล็ดเข้ามาปลูกผ่านทางพ่อค้าชาวอินเดียในช่วงสมัยอยุธยาในหมวดสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำหอมหรือพืชที่ให้ความหอม
• วงศ์ : Annonaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artabotrys hexapetalus (Linn.f.) Bhandari.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Artabotrys siamensis Miq.
• ชื่อสามัญ :Ylang-Ylang
• ชื่อพื้นเมือง :
ภาคกลาง และทั่วไป
– การเวก
– กระดังงาจีน
ภาคเหนือ
– สะบันงาจีน
– สะบันงาเครือ
ภาคใต้
– กระดังงาเถา
ภาคตะวันตก (ราชบุรี)
– กระดังงาป่า
– หนามควายนอน
ขอบคุณภาพจาก www.senseofkrabi.com
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กระดังงา/การเวก เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็งที่มีเถาขนาดใหญ่ และมีอายุยืนนานหลายปี ลำต้นมีผิวเรียบสีเทาจนถึงดำ โดยเฉพาะต้นที่มีอายุมากจะมีลำต้นสีดำ และมีปุ่มนูนสลับกันตามความสูงของลำต้น โดยแตกกิ่งเลื้อยยาวจำนวนมากบริเวณส่วนปลายของต้น กิ่งอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีเขียว
ใบ
ใบกระดังงา/การเวก แทงออกเป็นใบเดี่ยว เยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง แผ่นใบเรียบ มีรูปทรงรีปลายใบแหลม โคนใบมน ขนาดกว้าง 4-8 ซม. ยาว 12-18 ซม. ใบค่อนข้างหนา และเหนียว ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่ด้านบนมีสีเขียวเข้ม ใต้ใบมีสีอ่อนกว่า และมีขนตามเส้นใบ
ขอบคุณภาพจาก www.ss-botany.org
ดอก (ตามรูปด้านบน)
ดอกกระดังงา/การเวก อาจแทงออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่มหลายดอก 2-5 ดอก มีก้านดอกโค้งงอ สีเขียว ดอกอ่อนหรือดอกตูมที่ยังไม่บานจะมีรูปทรงกรวย ปลายดอกแหลม เมื่อบานจะกลีบดอกจะแผ่ออก และมีกลิ่นหอม จำนวนกลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกอ่อนมีสีเขียว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อแก่ แต่ละกลีบแยกจากกัน มีรูปรี ปลายกลีบแหลม เรียงสลับกันจำนวน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบดอกชั้นในจะสั้น และเล็กกว่าชั้นนอก ขนาดกลีบยาวประมาณ 3-4 ซม. โดยกลีบดอกจะบานในช่วงเช้าตรู่ และไม่หุบกลับจนกว่าดอกจะร่วง ทั้งนี้ ดอกกระดังงา/การเวกจะบานได้ตลอดทั้งปี และจะออกดอกมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
ผล และเมล็ด
ผลกระดังงา/การเวกมีลักษณะค่อนข้างรี และป้อม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลือง แดง และสีดำ ภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
ประโยชน์กระดังงา/การเวก
1. ดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ทำน้ำหอม และยาหอม ใช้ทานวด และใช้ในด้านความสวยความงาม
2. ดอกนำมาห่อรวมกันในใบ และสูดดม ช่วยในการผ่อนคลาย
3. ปลูกเป็นไม้ประดับต้น และประดับดอก
4. ปลูกเพื่อให้ร่มเงา
5. ปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วหรือเขตแดน
6. เนื่องจากระดังงาจะให้ใบจำนวนมาก ใบดกเขียวอยู่นาน จนเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี รวมถึงทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ อาทิ ทนต่อแหล่งที่มีมลพิษทางอากาศสูง ทนต่อสภาพแห้งแล้ง จึงนิยมใช้ปลูกในเมืองใหญ่เพื่อให้ร่มเงา และช่วยบำบัดมลพิษทางอากาศ ดังที่พบเห็นตามข้างถนนในกรุงเทพมหานคร
สาระสำคัญที่พบ
ใบ
– Artabotrys-A และB
– Taxifolin
– Succinic acid
– Fumaric acid
เมล็ด
– Isoamericanin-A
– Isoamericanol-A
– Americanin-B
– Artabotrycinol
– Palmitic acid
– Beta-sitosterol
– Daucosterol
สาระสำคัญในน้ำมันหอมระเหยจากดอก
– ethyl acetate ประมาณ 47.3 %
– isobutyl acetate ประมาณ 26.8%
– ethyl butanoate ประมาณ 9.7%
– ethyl isobutanoate ประมาณ 9.2%
ที่มา : ทวี อินสุระ (2552) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)
สรรพคุณกระดังงา/การเวก
ราก
– ใช้รักษาโรคมาลาเรีย
– ช่วยฟื้นร่างกายหลังการคลอดบุตร
ลำต้น
– ใช้รักษาโรคในถุงน้ำดี
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์
ใบ
– ใช้รักษาอหิวาตกโรค
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์
– น้ำต้มจากใบใช้เป็นบาขับปัสสาวะ
ดอก
– ใช้สูดดมแก้อาการวิงเวียนศรีษะ
– น้ำต้มจากดอกนำมาดื่ม ช่วยแก้อาการท้องเสีย
– นำดอกมาต้มดื่ม ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต และช่วยขับปัสสาวะ
ผล
– ใช้รักษาวัณโรค
การปลูก
การปลูกกระดังงา/การเวกนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง รวมถึงใช้วิธีการปักชำกิ่ง โดยการเพาะเมล็ดจะได้ต้นที่มีขนาดใหญ่ และมีอายุยืนยาวกว่าการปลูกจากกิ่งที่ได้จากการตอนหรือการปักชำ แต่การเพาะด้วยเมล็ดจะงอกช้า เพราะเปลือกเมล็ดค่อนข้างแข็ง และหนา ดังนั้น ควรแช่น้ำก่อน 1-2 วัน ก่อนเพาะ และเมื่อปลูกจนต้นมีขนาดใหญ่แล้ว จำเป็นต้องทำที่ค้ำยันเพื่อให้กิ่งพาดเลื้อยได้
เอกสารอ้างอิง