เล็บครุฑ ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกเล็บครุฑ

Last Updated on 22 กุมภาพันธ์ 2020 by puechkaset

เล็บครุฑ จัดเป็นไม้ประดับต้นที่นิยมปลูกทั้งในกระถาง และแปลงจัดสวน เนื่องจากมีลำต้น และทรงพุ่มไม่สูง ใบมีลักษณะแปลก มีลวดลายสวยงาม รวมถึงเป็นไม้มงคลที่เชื่อว่าจะคอยคุ้มครองภยันตรายไม่ให้กล้ำกลาย ทั้งภูตผี วิญญาณชั่วร้าย เวทมนต์ดำ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ

• วงศ์ : Arallaceae
• สกุล : Dizygotheca และ Polyscias
• ชนิด : มีหลายชนิด
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : มีชื่อวิทยาศาสตร์ตามชนิดต่างๆ
• ถิ่นกำเนิด : อินเดีย แอฟริกา และหมู่เกาะแปซิฟิก

ชนิดเล็บครุฑที่ปลูกในไทย
1. Polyscias balfouriana : ครุฑอีแปะ, ครุฑเขียวใบใหญ่ หรือ ครุฑจาน
2. P. Balfouriana (marginata) : ครุฑกระจก หรือ ครุฑตีนกบ
3. P. Scutellaria : ครุฑเกล็ดปลากะโห้, ครฑตีนตะพาบน้ำ หรือ ครุฑพุฒาจารย์
4. P. Scutellaria (pennockii) : ครุฑบริพัตร
5. P. Paniculata (variegata) : ครุฑใบกุหลาบ
6. P. Guilfoylei (quinquefolia) : ครุฑก้านดำ
7. P. Filicifolia : ครุฑใบเฟิร์น หรือ ครุฑกนก
8. P. Fruticosa : ครุฑทอดมัน หรือ ครุฑตรี
9. Polyscias sp. ครุฑกระทง

เล็บครุฑกระจก
เล็บครุฑกระจก

เล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyscias fruticosa (L.) Harms
• ชื่ออื่นๆ :
– เล็บครุฑ
– ครุฑเท้าเต่
– ครุฑใบเทศ
– ครุฑผักชี
– เล็บครุฑใบฝอย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ต้นอ่อนมีสีเขียว ลำต้นแก่มีสีเทา ผิวลำต้นสากมือ ลำต้นแตกกิ่งตั้งตรงรวมกันเป็นทรงพุ่ม และมีปุ่มนูนบริเวณกาบใบที่ร่วงไป

เล็บครุฑทอดมัน

ใบ
ใบเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี แตกออกจากลำต้น และกิ่ง โดยเรียงสลับกันเป็นชั้นๆ ใบเป็นใบประกอบมีก้านใบหลักยาว โคนก้านใบหลักมีตุ่มหนามเล็กๆสีขาว และถัดขึ้นมาเป็นจุดประสีขาวสลับกับสีเขียวเข้ม จากนั้น ก้านใบหลักแตกก้านใบย่อยออก ก้านใบย่อยมีใบเรียงกันเป็นคู่ตรงข้ามกัน 5-9 ใบ โดยใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเรียวยาว ขอบใบหยักลึกหลายหยัก คล้ายกรงเล็บ ส่วนปลายใบแหลม

เล็บครุฑทอดมัน1

ดอก
ดอกเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี แทงออกปลายยอดของลำต้น ช่อดอกมีขนาดใหญ่ และแตกแขนงช่อย่อยจำนวนมาก แต่ละช่อมีดอกรวมกันเป็นกระจุก 20-40 ดอก

ดอกเล็บครุฑทอดมัน

ผล และเมล็ด
ผลเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี มีลักษณะค่อนข้างกลม รวมกับหลายผลเป็นกระจุก

เล็บครุฑเกล็ดปลากะโห้ ( P. Scutellaria)
เป็นพันธุ์เล็บครุฑที่มีลำต้นสูง ทรงพุ่มใหญ่ สูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอมเทา เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ก้านใบมีใบย่อย 3 ใบ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม รูปใบค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ยาวมากกว่าส่วนกว้าง กว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ขอบใบหยัก และมีหนามที่ขอบใบ ทั้งนี้ ใบย่อยคู่แรกจะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่จะเล็กกว่าตรงกลางที่เป็นใบสุดท้ายซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าทุกใบ

เล็บครุฑเกล็ดปลากะโห้
เล็บครุฑเกล็ดปลากะโห้

เล็บครุฑกระทง (Polyscias sp.)
เป็นเล๊บครุฑที่มีความสูงใกล้เคียงกับครุฑเกล็ดปลากะโห้ แต่ลำต้นแตกกิ่งมาก และใบดก ทำให้มีทรงพุ่มขนาดใหญ่กว่า ลำต้นมีสีน้ำตาล ลำต้นมีตุ่มนูนเป็นข้อ ตามก้านใบที่แตกออก ใบมีลักษณะทรงกลม ทำให้คล้ายกระทงหรือถ้วย ใบมีสีเขียวเข้ม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนโคนใบบริเวณก้านใบมีลักษณะเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ขนาดใบประมาณ 8-10 เซนติเมตร

สาระสำคัญที่พบในใบ (เล็บครุฑกระทง)
ใบประกอบน้ำมันหอมระเหยในกลุ่มของสารเทอร์พีน (terpene) หลายชนิด ได้แก่
– β-elemene40%
– α-cubebene 4%
– Humulene 2%
– Caryophyllene 0.5%
– α-bergamotene 0.4%
– α-cupaene 0.3%
– Bulnesene 0.3%
– β-cubebene 0.2%
– β-bourbonene 0.1%
– Calamenene 0.01%

ที่มา : 1)

ประโยชน์เล็บครุฑ
1. เล็บครุฑมีลักษณะใบแปลก มีลายประ ขอบใบหยักคล้ายกรงเล็บ ทรงพุ่มหนา และเตี้ย จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับต้น และประดับใบ โดยส่วนมากจะนิยมปลูกในกระถางประดับตามหน้าบ้านหรือในอาคาร
2. ยอดอ่อน และใบอ่อนมีกลิ่นหอม สามารถนำมาทอดเป็นผักหรือใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง
3. ใบเล็บครุฑมีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอม สามารถนำสกัดสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม หรือนำมันสำหรับประโยชน์ในด้านความสวยความงาม
4. ใบนำมาขยำ และใช้ทาเนื้อสัตว์ ก่อนนำไปย่าง ซึ่งช่วยให้เนื้อมีกลิ่นหอม น่ารับประทานมากขึ้น
5. ขอบใบเล็บครุฑมีหยักเป็นฟันเลื่อยจำนวนมาก บางชนิดหยักตื้น บางชนิดหยักลึก ทำให้แลดูคล้ายกรงเล็บครุฑ ซึ่งเชื่อว่า หากปลูกแล้วจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ทั้งภูตผี มนต์ดำ และสิ่งอัปมงคลไม่ให้มากล้ำกรายผู้ปลูกหรือสมาชิกในครอบครัว

สรรพคุณเล็บครุฑ
ใบ (มีกลิ่นหอม ให้รสเผ็ดร้อน)
– ใบนำมาต้มดื่มแก้อาการปวดหัว แก้ไมเกรน แก้ปวดหัวข้างเดียว
– น้ำต้มจากใบมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
– น้ำต้มจากใบใช้ดื่ม แก้อาการปวดตามข้อต่างๆ
– นำใบมาตำบด สำหรับพอกรักษาแผล แก้แผลอักเสบ
– นำมาพอกทารักษาผื่นคัน
– นำมาพอกทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
– ใบนำมาขยำแล้วอุดรูจมูก สำหรับแก้เลือดกำเดาออก

ลำต้น (รสฝาด)
– นำมาต้มดื่มช่วยดับพิษร้อน
– น้ำต้มช่วยรักษาท้องร่วง
– น้ำต้มดื่ม แก้อาการปวดหัว ช่วยลดไข้
– แก่นลำต้นนำมาฝนใช้ทาสมานแผล

ราก (รสร้อน)
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยให้ผ่อนคลาย
– แก้ปวดตามข้อ

เพิ่มเติมจาก : 1)

การปลูกเล็บครุฑ
เล็บครุฑทุกชนิดสามารถปลูกขายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ทั่วไปนิยมใช้การปักชำ และการตอนกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ไม่สูงมากนัก และสามารถบังคับให้แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มใหญ่เหมือนการปลูกด้วยเมล็ดได้

การปลูกด้วยเมล็ด
– นำเมล็ดแช่น้ำที่ผสมน้ำตาลประมาณ 10% เช่น น้ำ 1 ลิตร ใช้น้ำตาล 100 กรัม โดยแช่เมล็ดนาน 6 ชั่วโมง
– นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ถุงละ 1-2 เมล็ด
– จากนั้น นำถุงเพาะชำวางใว้ในที่แสงแดดรำไร รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ประมาณ 7-15 วัน เมล็ดก็เริ่มงอก
– หลังจากนั้น ต้นพันธุ์แตกใบแล้ว 3-5 ใบ จึนำปลูกลงดินได้ หรือหากปลูกในกระถางอาจปล่อยให้เติบโตสักระยะ ก่อนเปลี่ยนใส่กระถางที่มีขนาดใหญ่กว่า

การเสียบยอด
– เพาะต้นพันธุ์ในกระถาง และดูแลให้มีขนาดลำต้นประมาณนิ้วก้อย
– เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ดี พร้อมตัดปลายกิ่งส่วนที่มีขนาดใกล้เคียงกับต้นตอ อาจเล็กกว่าเล็กน้อยก็ได้ แต่ห้ามให้ใหญ่กว่า พร้อมเด็ดใบออกให้หมด
– ปาดโคนกิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือ ตัว V ซ้าย-ขวา ให้เรียบ และสม่ำเสมอ
– ตัดต้นตอในแนวขวางลำต้น ให้เหลือโคนต้นสูงประมาณ 5 เซนติเมตร
– ผ่าต้นตอให้เป็นรูปตัว V ในขนาดที่พอเหมาะกับตัว V คล่ำของกิ่งที่ใช้เสียบ
– นำกิ่งที่ปาดเป็นรูปตัว V เสียบลงตรงรอยผ่าของต้นตอให้รอยปาด และรอยกรีดจรดเสมอกัน ก่อนพันด้วยแผ่นพลาสติกให้แน่น
– หลังจากนั้น ดูแลให้น้ำปกติ จนส่วนยอดแทงใบใหม่แล้ว จึงนำลงปลูกต่อไป

การเสียบยอด

เอกสารอ้างอิง
1) อภิชาต สุขสำราญ, 2532. การหาส่วนประกอบทางเคมีของต้นเล็บครุฑ. รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ขอบคุณภาพจาก www.rukbarn.com, http://topicstock.pantip.com/