หญ้าแดง ประโยชน์ และข้อเสียหญ้าแดง

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าแดง หรือ หญ้ากระดูกไก่ (Wrinkle duck-beak) จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในนาข้าว เป็นหญ้าที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง

• วงศ์ : Poaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ischaemum rugosum
• ชื่อสามัญ : Wrinkle duck-beak
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าแดง
– หญ้ากระดูกไก่
– หญ้าก้านธูป
– หญ้าดอกต่อ
– หญ้าสร้าง

คำว่า หญ้ากระดูกไก่ น่าจะตั้งมาจากลำต้น โดยเฉพาะบริเวณข้อมีสีแดงเรื่อ คล้ายกระดูกไก่สด ส่วนคำว่า หญ้าก้านธูป น่าจะตั้งมาจากสีแดงที่คล้ายก้านธูปเช่นกัน

ที่มา : [1]

ทั้งนี้ หญ้าแดง ในที่นี้ เป็นหญ้าคนละชนิดกับ หญ้าแดงแอฟริกัน หรือเรียกสั้นๆว่า หญ้าแดง ซึ่งเป็นหญ้าต่างประเทศ นิยมปลูกประดับเป็นหลัก

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หญ้าแดง เป็นพืชท้องถิ่นในไทย และประเทศอื่นๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ลาว และมาเลเซีย พบแพร่กระจายทั่วไปในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะในนาข้าวที่เติบโตพร้อมกับต้นข้าว พบได้มากในแถบจังหวัดภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าแดง มีลักษณะลำต้นตั้งตรง และแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่จนเป็นกอใหญ่ สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร โคนลำต้นห่อด้วยกาบใบ และมีสีแดงเรื่อ ด้านเป็นลำต้นที่มีลักษณะกลม และเป็นข้อปล้อง

ใบ
ใบหญ้าแดง ใบเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อลำต้น มีก้านใบสั้น ก้านใบมีสีแดงประ ใบมีลักษณะเรียวยาว ขนาดใบกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร

ดอก
หญ้าแดง ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวที่ปลายลำต้น ความยาวช่อดอกประมาณ 15-25 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่ ปลายก้านช่อดอกแยกออกเป็น 2 ก้านช่อย่อย มีดอกย่อยเรียงติดกัน ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรในตัวเองได้

เมล็ด
เมล็ดหญ้าแดง รวมกันเป็นกลุ่ม และเรียงชิดเป็นคู่ๆล้อมแกน คล้ายกับไข่แมงดา มีขนาดเล็ก ทรงกลม ประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมล็ดแก่มีสีน้ำตาล

ทั้งนี้ ลักษณะลำต้นอาจแตกต่างกัน ตามสายพันธุ์ แต่จะมีลักษณะเด่นเหมือนกันที่โคนก้านใบ โคนกาบใบ และบริเวณข้อปล้องจะมีสีแดงเรื่อ

ประโยชน์หญ้าแดง/หญ้ากระดูกไก่
ประโยชน์หญ้าแดงหลักๆ คือ เป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเฉพาะโค และกระบือ

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a2%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%871

ข้อเสียหญ้าแดง/หญ้ากระดูกไก่
1. หญ้าแดง มีเฉพาะระบบรากฝอย แตกย่อยออกเป็นกลุ่มแน่น ทำให้แย่งอาหารต้นข้าวได้ดี ต้นข้าวที่เกิดรอบข้างแคระ ลำต้นไม่โต
2. หญ้าแดง แตกหน่อเป็นลำต้นใหม่ทำให้เป็นกอขนาดใหญ่ ทำให้บดบังแสงของต้นข้าว ต้นข้าวเติบโตช้า โดยเฉพาะกล้าข้าว

การป้องกัน และกำจัด
หญ้าแดงในนาข้าวมักเกิดในช่วงระยะต้นข้าวเป็นกล้า ซึ่งจะแตกหน่อหลังฝนตกจนดินชุ่ม ดังนั้น การกำจัดหญ้าแดงจะใช้วิธีการไถกลบ โดยไถกลบในช่วงต้นฤดูฝน หลังฝนลงใหม่จนดินชุม และสังเกตเห็นหน่อหญ้าต่างขึ้นแล้ว หรือ ใช้วิธีปล่อยน้ำเข้าแปลง และขังไว้ 3-5 วัน ก่อนปล่อยออกให้หมด แล้วทิ้งไว้ 10-20 วัน ค่อยไถกลบ

สำหรับหญ้าแดงในนาข้าว เกษตรกรจะกำจัดด้วยการถอนมือ หรือ ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดวัชพืชชนิดใบแคบ เช่น ไกลโฟเชต เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก BlogGang.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ปรางแก้ว ศิริโยธา, ต่อศักดิ์ สิงห์เผ่น และปติภูมิ ธีรวณิชนันท์, 2549, การดูดซับแคดเมียมที่ปนเปื้อนในน้ำ-
โดยหญ้าแดง หญ้าหนวดแมว และ หญ้าแดง.