ถั่วดำ ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกถั่วดำ

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ถั่วดำ (Black bean) จัดเป็นถั่วพุ่ม หรือเรียกว่า ถั่วพุ่มเมล็ดดำ ซึ่งนิยมนำเมล็ดมาใช้รับประทาน ทั้งการต้มสุก และใส่ในขนมต่างๆ รวมถึงใช้สกัดสีสำหรับผสมอาหาร รวมถึงใช้สำหรับเพาะเป็นถั่วงอก

• วงศ์ : Rhizophoraceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna senensis
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Vigna unguiculata (L.) Walp.
• ชื่อสามัญ :
– Black bean
– Vigna mungo
– Black gram
– Black lentil
– Catjung
– Cow pea
– Black matpe
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ถั่วดำ
– ถั่วกระด้าง
– ถั่วนา
– ถั่วไร่
– ถั่วมะแป
– ถั่วซั่ง
– มะถิม
– ถั่วเขียวผิวดำ
ภาคใต้ และอีสาน
– ถั่วนั่ง

ทั้งนี้ ถั่วดำ เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ ต้นถั่วดำ (Bruguiera parviflora Roxb.) ซึ่งเป็นไม้ป่าชายเลน

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

ถั่วดำหรือถั่วพุ่มเมล็ด เป็นพืชพื้นเมืองดั้งเดิมของแอฟริกา ในแถบประเทศไนจีเรีย และกานา ต่อมาค่อยแพร่เข้ามาปลูกในแถบประเทศอเมริกาใต้ และแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ถั่วดำในประเทศไทยพบปลูกในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยพันธุ์ที่ปลูกมากเป็นพันธุ์พื้นเมือง เพื่อใช้รับประทานฝักสด และเมล็ด เพิ่มเติมจาก [1] อ้างถึงใน กลุ่มพืชน้ำมัน (2539)

%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b3

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ราก และลำต้น
ถั่วดำ จัดเป็นถั่วพุ่ม มีทรงพุ่มรูปสามเหลี่ยม มีระบบรากแก้ว และรากแขนง และมีปมรากขนาดใหญ่ แตกหยั่งลงดินไม่ลึกนัก ประมาณ 25-35 เซนติเมตร ส่วนลำต้นเป็นลำต้นเดี่ยว ไม่แตกหน่อ แต่แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ ทั้งลำต้น และกิ่งมีลักษณะเป็นเหลี่ยม กิ่งมีขนปกคลุม ผิวเปลือกลำต้นหยาบ แลดูดคล้ายมีเกล็ด

ใบ
ใบถั่วดำจัดเป็นใบรวมที่รวมอยู่ก้านใบเดียวกัน มีก้านใบหลัก ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีลักษณะเรียว แข็ง และเหนียว ปลายก้านใบประกอบด้วยใบย่อย จำนวน 3 ใบ มี 2 ใบย่อย อยู่ตรงข้ามกัน ถัดมาเป็นใบเดี่ยวที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ใบคู่แรก ใบย่อยมีก้านใบสั้น แต่ใบสุดท้ายมีก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร บริเวณฐานใบมีหูใบ 2 อัน ใบมีรูปไข่ โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ไม่มีขนปกคลุม มีเส้นใบสีขาวอมเขียว 3 เส้น เส้นก้านใบตรงกลางใหญ่สุด ใบอ่อนมีสีเขียว และแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b3

ดอก
ถั่วดำออกดอกเป็นช่อ มีก้านช่อดอกยาว 15-20 เซนติเมตร ตั้งตรงสูงกว่าก้านใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-4 ดอก กลีบดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมม่วง ทั้งนี้ ดอกถั่วดำจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมแกสรด้วยตัวเองได้

ทั้งนี้ การที่ช่อดอกถั่วดำมีช่อดอกยาว และยื่นขึ้นเหนือใบ และภายในดอกมีต่อมน้ำหวานมาก ทำให้ดอกถั่วดำถูกผสมเกสรด้วยแมลงได้ง่าย ช่วยให้ติดฝักเกือบทุกดอก เพราะสามารถดึงดูดแมลงได้ดีจากการชูช่อสูง และมีน้ำหวานดึงดูด

ฝัก และเมล็ด
ฝักถั่วดำมีลักษณะคล้ายถั่วฝักยาว แต่ฝักจะสั้นกว่ามาก และฝักมีขนปกคลุม (ถั่วฝักยาวไม่มีขนปกคลุม) ส่วนเมล็ดจะมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วฝักยาวเช่นกัน

ฝักถั่วดำ ติดฝักเป็นช่อตามช่อดอก แต่ละช่อมีฝัก 2-4 ฝัก ฝักมีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว เรียวยาว และตรงหรือปลายงอนเล็กน้อย ฝักอ่อนมีสีเขียวสด ฝักแก่มีสีเหลืองน้ำตาล แต่บางพันธุ์เมื่อแก่อาจมีสีม่วงภายในฝักมีเมล็ดคล้ายรูปไตเรียงชิดตลอดความยาวฝัก เปลือกเมล็ดอ่อนมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว และเมื่อแก่เต็มที่จะมีสีดำ เปลือกค่อนข้างบาง แต่ติดแน่นกับเนื้อเมล็ด เปลือกด้านหนึ่งจะมีตาสีขาว แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 8-20 เมล็ด ส่วนเนื้อเมล็ดมีสีเหลืองครีม

ประโยชน์ถั่วดำ

1. ฝักอ่อนถั่วดำมีความกรอบ และอมหวานเล็กน้อย ใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงใช้รับประทานสดหรือลวกน้ำจิ้มเป็นผักกับน้ำพริกหรือจิ้มกับอาหารจำพวกลาบหรือซุปหน่อไม้
2. เมล็ดถั่วดำมาต้มเป็นขนมหวานใส่น้ำตาลรับประทานหรือใส่น้ำกะทิร่วมด้วย หรือใช้ทำข้าวเหนียวถั่วดำ หรือ ใส่ในขนมสาคู ต้มเค็มรับประทานกับข้ามต้ม หรือใช้ใส่ทำข้าวหลาม และใส่เป็นไส้ซาลาเปา เป็นต้น
3. เมล็ดถั่วดำนำมาหมักทำซีอิ้วหรือเต้าเจี้ยว
4. ผงของสารสีที่สกัดได้จากเมล็ดถั่วดำใช้เป็นสีผสมอาหาร ให้อาหารมีดำ โดยใช้เมล็ดถั่วดำต่อน้ำในอัตรา 1:4 พบว่า ผงสี 1 กรัม จะมีปริมาณแอนโธไซยานิน 3.09 มิลลิกรัม ที่ใช้เป็นสีผสมอาหารเช่นกัน ซึ่งให้สีอาหารเป็นสีม่วงแดง [2]
5. น้ำต้มถั่วดำใช้ผสมกับแป้งทำขนม ทำให้แป้งมีสีม่วง แต่หากเพิ่มวัตถุดิบอื่นที่เป็นกรดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง
6. น้ำต้มถั่วดำนำมาสระผมร่วมกับแซมพู ช่วยให้ผมแข็งแรง ป้องกันการหลุดร่วง และดกดำ
7. ถั่วดำนำมาเพาะเป็นถั่วงอกรับประทานหรือส่งจำหน่าย

%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b3

คุณค่าทางโภชนาการถัวดำ (เมล็ดดิบ 100 กรัม)
Proximates
– น้ำ 9.3 กรัม
– พลังงาน 357 กิโลแคลอรี่
– โปรตี 23.3 กรัม
– ไขมัน 1.6 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 61.8 กรัม
– เส้นใย 4.6 กรัม
– เถ้า 3.5 กรัม
Minerals
– แคลเซียม 57 มิลลิกรัม
– เหล็ก 16.5 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 479 มิลลิกรัม
Vitamins
– ไทอะมีน 0.19 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน 0.12 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 1.5 มิลลิกรัม

ที่มา : [4]

สรรพคุณถั่วดำ

– ถั่วดำมีคาร์โบไฮเดรตสูง เป็นแหล่งพลังงาน และช่วยบำรุงร่างกาย
– ถั่วดำมีโปรตีนสูง เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับสร้าง และซ่อมแซมกล้ามเนื้อ
– ถั่วดำมีเยื่อใยสูง ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– ถั่วดำช่วยลดไขมัน และคอเลสเตอรอลในร่างกาย
– ช่วยแก้อาการปวดลำไส้
– ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ชนิดต่างๆ
– ช่วยบำรุงเลือด ที่ได้จากปริมาณธาตุเหล็กที่พบสูงในถั่วดำ
– ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณแคลเซียมที่พบในถั่วดำ
– ช่วยบำรุงสายตา
– ช่วยขับสารพิษ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยขับลม
– ช่วยบำรุงไต ป้องกันไตเสื่อม
– ช่วยขับเหงื่อ
– แก้อาการร้อนใน
– แก้โรคเหน็บชา ซึ่งได้จากไทอะมีนหรือวิตามินบี 1
– แก้โรคดีซ่าน
– ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย เพราะมีแร่ธาตุหลายชนิด อาทิ แคลเซียม และโพแทสเชียมที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาท
– กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ที่มีส่วนส่งเสริมมาจากไรโบฟลาวิน และแร่ธาตุต่างๆ
– ช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ

เพิ่มเติมจาก [3], [5]

การปลูกถั่วดำ

ถั่วดำเป็นพืชอายุสั้น มีความทนต่อสภาพแห้งแล้ง และพื้นที่ชื้นได้ดี ปลูกได้ทั้งพื้นที่ไร่ และแปลงนา แต่นิยมปลูกในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเป็นส่วนใหญ่

การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก ควรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากการปลูกในฤดูก่อน มีอายุการเก็บไม่เกิน 1 ปี หรือทั่วไปจะประมาณ 8-10 เดือน หากใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้นานจะมีอัตราการงอกที่ลดลงเรื่อยๆ

เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ทำพันธุ์ ให้เทลงผสมน้ำในถัง และกวนไปมา เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะลอยน้ำขึ้นมา จากนั้น ตักเมล็ดพันธุ์ไม่สมบูรณ์ออก เหลือเฉพาะเมล็ดพันธุ์สมบูรณ์แช่น้ำไว้ 1 คืน ก่อนนำปลูกลงแปลงในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ การคัดแยกเมล็ดพันธุ์ด้วยการแช่น้ำ จะต้องทำก่อนปลูกไม่เกิน 1 วัน เพราะเมล็ดจะงอกอย่างรวดเร็ว

การเตรียมแปลงปลูก
1. การปลูกบนพื้นที่ไร่ มิใช่แปลงนา หรือซึ่งมักปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือปลูกในฤดูแล้งสำหรับพื้นที่มีระบบชลประทาน จะต้องเตรียมแปลงปลูก ด้วยการไถกลบหน้าดินก่อน 1 รอบ พร้อมตากดินนาน 10-15 วัน ก่อนหว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตัน/ไร่ และเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ และปูนขาว 30 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยว โดยเฉพาะในแถบภาคกลาง หลังจากนั้น ไถกลบ พร้อมตากดินอีก 5-7 วัน ก่อนไถยกร่องแปลง

2. การปลูกในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว
หลังเก็บเกี่ยวข้าว จำเป็นต้องกำจัดตอซังออกก่อน อาจตัดด้วยมีดประขอหรือใช้สอบ หรืออาจไถกลบด้วยรถไถได้เลย จากนั้น หว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรองพื้นตามอัตราที่กล่าวข้างต้น พร้อมตากดินนานเท่ากัน ก่อนไถยกร่องแปลง

3. การไถยกร่องแปลง ให้ไถยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ขนาดร่องกว้าง 30-40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องจากสันร่อง 70-90 เซนติเมตร

วิธีการปลูก
การปลูกถั่วดำฤดูปกติ คือ ไม่ปลูกในนาข้าวจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน ส่วนการปลูกถั่วดำหลังการเกี่ยวข้าว จะปลูกประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม

การปลูกจะขุดหลุมด้วยจอบหรือเสียม ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร เรียงบนแถว ระยะห่างระหว่างหลุมที่ 25-30 เซนติเมตร จากนั้น นำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำไว้หยอดลงหลุม หลุมละ 3-4 เมล็ด พร้อมกลบดิน และปล่อยน้ำเข้าร่องแปลงหรือรดน้ำในแต่ละหลุมให้ชุ่ม

สำหรับการปลูกถั่วดำแซมในแปลงข้าวโพดจะขุดหลุมระหว่างต้นข้าวโพด หลังการปลูกข้าวโพด 60 วัน โดยหยอดเมล็ด 3-4 เมล็ด และถอนต้นกล้าให้เหลือเพียง 1 ต้น/หลุม

การถอนแยกต้น
หลังจากปลูกแล้ว 7-10 วัน ให้ถอนต้นถั่วออก เหลือไว้ที่ 1 ต้น/หลุม หรืออาจไว้ 2 ต้น/หลุม แต่ทั่วไปนิยมเหลือไว้ที่ 1 ต้น/หลุม โดยคัดเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุด

การให้น้ำ
– การให้น้ำระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำทุกๆ 2-3 วัน
– การให้น้ำแบบปล่อยเข้าร่องแปลง ให้น้ำทุกๆ 1 สัปดาห์

การใส่ปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังการปลูกประมาณ 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 100-200 กรัม/ต้น หรือประมาณ 1 กำมือ/ 2 หลุม ใส่หลังกำจัดวัชพืชแล้ว
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังการปลูก ใส่ปุ๋ยสูตร 24-7- 7 หลังปลูก 60 วัน ในอัตราเดียวกัน และใส่หลังกำจัดวัชพืชแล้ว

การกำจัดวัชพืช
หลังการปลูกถั่วดำแล้ว 25-30 วัน ให้กำจัดวัชพืชด้วยการถอนต้นหรือใช้จอบถาก ซึ่งทำก่อนหรือพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากนั้น อีก 30 วัน ให้กำจัดวัชพืชอีกครั้ง ก่อนใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2

การเก็บผลผลิต
ถั่วดำสามารถเก็บฝักสดได้ประมาณ 50-60 วันหลังปลูก และสามารถเก็บเมล็ดแก่ได้ประมาณ 90-100 วัน หลังปลูก หรือต้นถั่วเริ่มใบเหลือง และเริ่มแห้ง ฝักถั่วมีสีขาวอมน้ำตาลแล้วการเก็บฝักแก่ เกษตรกรจะใช้วิธีถอนทั้งต้นหรือตัดเฉพาะช่อฝักเก็บใส่ถุง จากนั้น นำฝักมีตีแยกเมล็ดออก

%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%96%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b3

การเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์
เมล็ดถั่วดำสำหรับทำพันธุ์ ให้เก็บใส่ถุงกระสอบ และนำเก็บพักไว้ในที่ร่ม และแห้ง ให้ห่างจากความชื้น รวมถึงระบายอากาศดี โดยใช้ไม้วางรองพื้นกระสอบก่อน

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com/, BioGang.com

เอกสารอ้างอิง

[1] สุริยาพร นิพรรัมย์;เมธาวี อนะวัชกุล, 2554, ผลของชนิดและปริมาณสารตกตะกอน-
ต่อแอนโธไซยานินและคุณลักษณะของ-
เต้าหู้อ่อนจากถั่วดำ.
[2] ทิพวดี จิตพิศุทธิ์, วิษฐิดา จันทราพรชัย, วิชัย หฤทัยธนาสันติ์ และ สุมนรัตน์ ชื่นพุฒิ, การเตรียมและสมบัติด้านความคงตัวของผงสีแอนโธไซยานินจากเมล็ดถั่วดำ (Vigna senensis).
[3] จารุวรรณ แตงเที่ยง และน้ำอ้อย แตงพลับ, 2547, เปรียบเทียบปริมาณแอนโทไซยานินจากถั่วดำ-
ที่สกัดในตัวทำละลายและระยะเวลาที่แตกต่างกัน.
[4] กองโภชนาการ, 2544, ตารางแสดงคุณค่าแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย, กรมอนามัย.
[5] สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544, ถั่วดำ, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กุมพาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood/detail_ingredient.php?id_ingredient=292/.