บานบุรี สรรพคุณ และการปลูกบานบุรี

Last Updated on 12 กันยายน 2016 by puechkaset

บานบุรี (Allamanda) จัดเป็นไม้ประดับดอกที่มีลำต้นกึ่งเลื้อย นิยมปลูกเพื่อชมดอกเป็นสำคัญ เนื่องจาก ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบดอกมีสีสันสวยงาม ทั้งสีเหลือง สีม่วง และสีกุหลาบ สามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ปลูกง่าย และเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรครบกวน

• วงศ์ : Apocynaceae
• สกุล : Allamanda
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชื่อชนิดพันธุ์
• ชื่อสามัญ :
– Allamanda
– Golden trumpet
• ชื่อท้องถิ่น : ตามชนิด ได้แก่
– บานบุรีเหลือง
– บานบุรีแคระ
– บานบุรีม่วง
– บานบุรีสีกุหลาบ
– บานบุรีม่วง
– บานเวียง
– บานพารา
– บานบุรีเงาะ

ชนิดพันธุ์ และแหล่งเพาะพันธุ์
พืชในสกุลบานบุรี (Allamanda) ที่พบในไทยมีประมาณ 5 ชนิด ประกอบด้วย ชนิดที่พบในประเทศไทย 3 ชนิด คือ
1. A. cathartica
2. A. schottii
3. A. violacea

ชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ 2 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่
1. A. blanchetii
2. A. neriifolia

ทั้งนี้ โดยได้รวบรวมพรรณไม้แห้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ส่วนสถานที่เพาะพันธุ์ และมีต้นพันธุ์ ได้แก่
1. บานบุรีเหลือง และบานบุรีแคระ ( Allamanda carthatica L.) สถานที่เพาะ และมีต้นพันธุ์ จ. ขอนแก่น
2. บานบุรีม่วง และบานบุรีสีกุหลาบ (A. violacea Gardner. & Field.) สถานที่เพาะ และมีต้นพันธุ์ จ. ขอนแก่น
3. บานบุรีม่วง (A. blanchetii A.DC.) สถานที่เพาะ และมีต้นพันธุ์ จ. ขอนแก่น
4. บานเวียง (A. neriifolia Hook.) สถานที่เพาะ และมีต้นพันธุ์ จ. ขอนแก่น
5. บานพารา และบานบุรีเงาะ (A. schottii Pohl.) สถานที่เพาะ และมีต้นพันธุ์ จ.นครนายก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชสกุล Allamanda มีลักษณะเด่น คือ ทุกชนิดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้น กิ่ง และใบ รวมถึงดอกมียางขาว และใบแทงออกรอบบริเวณข้อ 3-6 ใบ ลักษณะ ประกอบด้วย
1. บานบุรีเหลือง และบานบุรีแคระ (Allamanda cathartica)
• บานบุรีเหลือง
บานบุรีเหลือง เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีลำต้นสูง 2-4.5 เมตร ลำต้นทรงกลม และแตกกิ่งมาก ใบแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงล้อมรอบข้อ 3-6 ใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนานหรือรูปหอก โคนสอบเล็ก ปลายใบแหลม แผ่นใบอ่อน และเป็นมัน ใบมีขนาดกว้าง 3-4.5 ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ส่วนดอกออกเป็นช่อแบบกระจุก มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร แต่ละดอกมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร โดยดอกตูมกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ขนาดกว้างประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร ตัวดอกมีลักษณะบิดไปในทางเดียวกัน ส่วนดอกบานมีลักษณะเป็นปากแตร มีขนาดประมาณ 10-12 เซนติเมตร ที่ฐานดอกมีกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด และส่วนปลายกลีบกางแผ่น และแยกเป็น 5 แฉก กลีบแต่ละกลีบกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนผลมีลักษณะทรงกลม มีผลมีหนามขนาดเล็กปกคลุม

บานบุรีดอกเหลือง
บานบุรีเหลือง

• บานบุรีแคระ/บานบุรีเหลืองแคระ
บานบุรีแคระ หรือ บานบุรีเหลืองแคระ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเช่นกัน และโยลักษณะทุกอย่างจะคล้ายกับบานบุรีเหลือง แต่ทุกส่วนจะขนาดเล็กกว่า โดยมีความสูงของลำต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะทรงกลม ผิวลำต้นเรียบ ลำต้นแตกกิ่งมาก ใบแทงออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงล้อมข้อเหมือนกับบานบุรีเหลือง และมีจำนวนใบเท่ากัน แต่แผ่นใบจะเล็ก และเรียวแหลมกว่า แผ่นใบอ่อน และเป็นมัน ใบกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร โคนใบสอบเล็ก ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ส่วนดอกออกเป็นช่อ ดอกมีสีเหลืองคล้ายกับดอกบานบุรีเหลือง แต่ขนาดเล็กกว่า มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกตูมมีลักษณะคล้ายบานบุรีเหลือง แต่เล็กกว่า ขนาดกว้างประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-6 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดกว้าง 3-6 มิลลิเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร ส่วนดอกบานมีขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ แต่ละกลีบกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร

บานบุรีดอกเหลือง
บานบุรีเหลืองแคระ

ลำต้นบานบุรี

2. บานบุรีม่วง และบานบุรีสีกุหลาบ (Allamanda violacea)
• บานบุรีม่วง
บานบุรีม่วง เป็นไม้เถา ชนิดกึ่งยืนต้นกึ่งเลื้อย หรืออาจเรียกเป็นเถาก็ได้ ลำต้นมีความสูง 2-3 เมตร แต่กิ่งจะมีขนาดยาวกว่า ลำต้น และกิ่งมีขนาดเล็ก มีเนื้อไม้แข็ง และเหนียว ทุกส่วนมียางสีขาว เถาสามารถเลื้อยไปได้ไกลมากกว่า 3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดกว้าง 4-4.5 เซนติเมตร ยาว 7-8 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 2 มิลลิเมตร ใบมีลักษณะรี แต่ค่อนข้างป้อม กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลมเล็ก แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีขนปกคลุม ส่วนดอกออกเป็นช่อ 5-6 ดอก/ช่อ ดอกมีสีม่วง แต่ค่อนข้างจางกว่า และมีอมขาวมากกว่าบานบุรีม่วง (Allamanda blanchetii) มีก้านช่อดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีก้านดอกยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอกตูมมีลักษณะคล้ายกับบานบุรีชนิดอื่น ขนาดดอกประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดกว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 2-2.5 เซนติเมตร ดอกบานมีขนาด 8-11 เซนติเมตร กลีบดอกส่วนปลายมี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะป้อม ขนาดกว้าง 4.5-5.5 ยาว 3.5-4 เซนติเมตร

บานบุรีม่วง Allamanda violacea
บานบุรีม่วง A. violacea

• บานบุรีสีกุหลาบ
บานบุรีสีกุหลาบ เป็นไม้เถา ชนิดกึ่งยืนต้นกึ่งเลื้อย ลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร เถามีขนาดเล็ก และแข็ง เนื้อไม้มีลักษณะเหนียว ทุกส่วนมียางสีขาว สามารถเลื้อยได้ไกลมากกว่า 3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ใบรูปรี แต่ค่อนข้างป้อม กว้าง 4.5-5 เซนติเมตร ยาว 8-9 เซนติเมตร โคนใบ และปลายใบสอบแหลม แผ่นใบเรียบ เนื้อใบอ่อน และมีขนปกคลุม ส่วนดอกออกเป็นช่อ 5-6 ดอก/ช่อ ดอกมีสีเหลืองอมม่วง มีก้านช่อดอกยาว 1-2เซนติเมตร ดอกย่อยมีก้านดอกยาว 5-6 มิลลิเมตร ดอกตูมมีลักษณะคล้ายกับดอกบานบุรีชนิดอื่น ขนาดกว้าง
ประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.2-2.5 เซนติเมตร ดอกบานมีขนาด 9-10 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะป้อมกว้าง 4.5-5 เซนติเมตร ยาว 4-4.2 เซนติเมตร

3. บานบุรีม่วง (Allamanda blanchetii)
บานบุรีม่วง เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย มีลำต้นสูง 1-4 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบออกเป็นใบเดี่ยว จำนวน 4 ใบ เรียงล้อมบริเวณข้อ ใบเป็นรูปไข่กลับ ขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุม ส่วนขอบใบบิดเป็นคลื่น มีเนื้อใบค่อนข้างอ่อน ดอกออกเป็นช่อ ตัวดอกมีสีม่วง ซึ่งจะมีสีสม่ำเสมอ และมีอมขาวน้อยกว่า บานบุรีม่วง (Allamanda violacea) มีก้านช่อดอกยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกย่อยมีก้านดอกยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอด และบิดไปทางเดียวกัน กลีบเลี้ยงมีขนาด 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.8-2.5 เซนติเมตร ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 6-8 เซนติเมตร โคนกลีบมีสีม่วงเข้ม ปลายกลีบแยกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบขนาด 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร

บานบุรีดอกม่วง
บานบุรีม่วง A. blanchetii

4. บานเวียง (Allamanda neriifolia)
บานเวียง ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย มีลำต้นค่อนค้างเตี้ยกว่าบานบุรีชนิดอื่น ที่ความสูงประมาณ 1.5 เมตร ทุกส่วนมียางขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตัวล้อมข้อ ใบมีรูปหอก ขนาดกว้าง 4.5-5 เซนติเมตร ยาว 13-14 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แต่ไม่มีขนปกคลุม ดอกสีเหลือง มีก้านช่อดอกยาว 2-2.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-1.2 เซนติเมตร ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอด ขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรยาว 12-13.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีขนาด 1-1.2 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ดอกบานมีขนาด 10-12.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแยกเป็นกลีบ แต่ละกลีบกว้าง 4-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-5.5 เซนติเมตร

บานบุรีเวียง
บานบุรีเวียง

5. บานบุรีเงาะ (Allamanda schottii)
บานบุรีเงาะ เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบออกล้อมข้อ ประมาณ 4-6 ใบ ใบมีรูปหอก ขนาดกว้าง 2.5-3 เซนติเมตรยาว 6.5-8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ขอบหยักเป็นคลื่น ดอกมีสีเหลืองทอง มีก้านช่อดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ดอกตูมเป็นหลอด และบิดไปทางเดียวกัน ขนาดดอก 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 8 -9 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีขนาด 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอกบานมีรูปทรงระฆัง แผ่นกลีบกางออกน้อย ขนาดดอก 5.5-6 เซนติเมตร ปลายดอกแยกเป็นกลีบ แต่ละกลีบมีความกว้าง และความยาวใกล้เคียงกันที่ 3 -3.5 เซนติเมตร ส่วนผลมีรูปทรงกลม เปลือกผลมีหนามปกคลุมคล้ายผลเงาะ

ประโยชน์บานบุรี
1. เนื่องดอกบานบุรีมีขนาดใหญ่ ดอกมีสีสันสวยงามสะดุดตา จึงนิยมปลูกเพื่อชมดอก
2. ลำต้นบานบุรีบางชนิด อาทิ บานบุรีเหลือง และบานบุรีม่วง มีลำต้นเป็นไม้ยืนต้นกึ่งเลื้อยที่แตกกิ่ง และเลื้อยได้ยาว หากปลูกได้ต้นใหญ่ ก็มักทำค้างเป็นซุ้ม ทำให้ช่วยบังแดด และเป็นที่พักผ่อนได้
3. ดอกบานบุรีทั้งสีเหลือง และสีม่วง นำมาใช้ย้อมผ้า หรือ สกัดสีสำหรับทำขนมของหวาน

สรรพคุณบานบุรี
ดอกบานบุรีนำมาคั้นน้ำดื่มหรือตากให้แห้งก่อนใช้ชงแทนชาดื่ม มีสรรพคุณ ได้แก่
– ต้านเนื้องอก ป้องกันโรคมะเร็ง
– ฆ่าเชื้อรา เซื้อแบคทีเรีย
– ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
– แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง
– ช่วยทำให้อาเจียน
– ช่วยให้ผิวพรรณแลดูกระจ่างใส
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาเสื่อม

เพิ่มเติมจาก : 1)

การปลูกบานบุรี
การปลูกบานบุรี สามารถปลูกได้ทั้งการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง แต่ทั่วไปนิยมการตอน และการปักชำจากต้นที่มีอายุไม่มาก เพราะจะได้ต้นที่ออกดอกเร็ว ส่วนการปลุกด้วยเมล็ดมักทำให้มีโอกาสที่ดอกจะกลายพันธุ์สูง แต่จะได้ต้นที่แตกกิ่งก้านได้มาก

ขอบคุณภาพจาก ladyinter.com, niyommit.org, www.biogang.net

เอกสารอ้างอิง
1) ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, 2522. สมุนไพรไทยตอนที่ 2. กรมป่าไม้.