การปลูกข้าวหอมมะลิ

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวที่ชาวไทย และชาวต่างชาตินิยมรับประทานมากที่สุดในบรรดาข้าวสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของโลก ซึ่งพบปลูกมากในภาคอีสานเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศีรสะเกษ ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งพบมากใน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15

ลักษณะเด่น
1. พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
มีลักษณะเด่นในด้านการเจริญเติบโต และทนต่อสภาพดินเค็ม ดินเปรี้ยว ความแล้ง ลักษณะของเมล็ดข้าวสารลื่นมัน วาว เม็ดเรียว สวยงาม เมื่อหุงจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ และนุ่ม จุดด้อย คือ ไม่ทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ไม่ค่อยต้านทานต่อโรคไหม้ ต้นอ่อนหากปักดำหรือรากไม่ยั่งลึก หน้าดินแน่น แข็ง จะล้มง่าย

2. พันธุ์ กข 15
มีลักษณะเด่นเหมือนพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 คือ ทนต่อสภาพดินเค็ม ดินเปรี้ยว ความแล้ง แต่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่าประมาณ 10-15 วัน ลักษณะของเมล็ดข้าวสารลื่นมัน วาว เม็ดเรียว สวยงาม เมื่อหุงจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิ และนุ่ม ส่วนยจุดด้อยมีลักษณะคล้ายกันพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เช่นกัน

ข้าวหอมมะลิ

การปลูก
ข้าวหอมมะลินิยมปลูกทั้งในช่วงฤดูนาปี และนาปรัง นาปีจะเริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ในระยะหว่านกล้า ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมส่วนนาปรังสามารถปลูกได้ ตลอดฤดูขึ้นอยู่กับน้ำ และการชลประทาน

วิธีการปลูกนิยมทั้ง 2 วิธี คือ การปักดำจากต้นกล้าในระยะ 25×25 เซนติเมตร และวิธีการหว่านในอัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้การปลูกข้าวด้วยการหว่านควรกำจัดวัชพืชในแปลงออกให้เหลือน้อยที่สุด

การหว่านแบบแห้งพร้อมไถกลบ ควรไถกลบ และไถดะตากดินหรือวัชพืชให้เน่าหรือตายเสียก่อนอย่างน้อยประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก่อนการหว่าน

การ หว่านแบบเปียก ควรไถกลบ และแช่น้ำให้วัชพืชหรือตอซังเน่าอย่างน้อยประมาณ 1-2 อาทิตย์ ก่อนการหว่าน สำหรับวิธีการปักดำมักไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องวัชพืช

การดูแลในระยะปลูก
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยคอก ไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวเพราะอาจทำให้ดินเสียเร็วขึ้น
– ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่แนะนำ ควรใส่ในอัตรา 500-1000 กิโลกรัม/ไร่
– ปุ๋ยเคมี ครั้งแรก หากเป็นดินทรายแนะนำสูตร 16-16-8 ในอัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนดินเหนียวสูตร 16-20-0 ในอัตราเดียวกัน
– ปุ๋ยเคมี ครั้งสอง ในระยะก่อนข้าวตั้งท้องหรือตั้งท้อง หากเป็นดินทรายแนะนำสูตร 20-20-20หรือ 15-15-15 ในอัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนดินเหนียวสูตร 16-16-8 ในอัตราเดียวกัน

– น้ำในแปลงนาต้องมั่นตรวจสอบจุดรั่วไหล ควรให้ระดับน้ำในแปลงนาสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับระบบน้ำ และการชลประทาน หากน้ำน้อยไม่เพียงพอควรมีอย่างน้อย 5-10 เซนติเมตร โดยเฉพาะในช่วงระยะเริ่มแรกของการปลูกจนถึงข้าวตั้งท้อง ส่วนระยะหลังข้าวเป็นเม็ดแป้งแล้วการขาดน้ำมักไม่มีผลต่อเมล็ดข้าวมากนัก

– โรคข้าว สัตว์ และแมลงศัตรูข้าวให้มีการตรวจสอบต้นข้าวเป็นระยะ โดยเฉพาะหนอนกอข้าว และโรคไหม้ ที่มักเกิดมากในทุกท้องที่ รวมไปถึงสัตว์ชนิดต่างๆที่อาจทำลายต้นข้าวได้ เช่น หอยเชอรี่ และหนูนา

โรค และแมลงศัตรูข้าวหอมมะลิ
1. โรคไหม้ ที่เกิดจากเชื้อรา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะตั้งแต่ระยะกล้าอ่อนจนถึงข้าวออกรวง พบอาการของโรคที่ใบ กาบใบ คอรวงข้าว ซึ่งจะเป็นแผลน้ำตาลหรือเหมือนมีรอยไหม้แดง
การป้องกัน และกำจัด:
– ไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป
– ฉีดพ่นด้วยสารเหล่านี้ เช่น ไตรไซคลาโซน คาซูกะมัยซิน บีโนมิลหรือไธโอฟาเนทเมทิล เป็นต้น

2. หนอนม้วนใบหรือหนอนห่อใบข้าว เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึี่งที่วางไข่ตามใบข้าว เมื่อระยะเป็นตัวหนอนจะชักใยดึงใบข้าวมาห่อตัวเอง แล้วกัดกินใบอ่อนภายใน พบมีการระบาดมากในพื้นที่ที่มีการใช้ปุ๋ยเข้มข้น
การป้องกัน และกำจัด:
– ควรใส่ปุ๋ยในอัตราที่พอเหมาะกับพื้นที่เพาะปลูก
– ติดหลอดไฟเรืองแสงดักผีเสื้อ
– ปล่อยนกหรือปลูกต้นไหม้ สร้างที่อาศัยให้แก่นกหรือสัตว์อื่นๆที่จับหนอนเป็นอาหาร
– ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงซูมิไธออนหรือเซพวิน ในสัดส่วน 50 ซีซี/ น้ำ 20 ลิตร

3. หนอนกอ เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึี่ง ที่ระยะเป็นตัวหนอนจะอาศัยอยู่ในกอข้าว กัดกินเยื่ออ่อนของกอข้าว โดยเฉพาะบริเวณปล้องปลายยอดหรือปล้องยอดข้าว ซึ่งจะสังเกตเห็นการทำลายของหนอนชนิดนี้จากยอดข้าวหรือรวงข้าวในระยะแรกที่ ซีด และแห้งตาย
การป้องกัน และกำจัด:
– ไถกลบตอซังข้าวให้หมดในพื้นที่ที่มีการระบาดก่อนนั้น
– ติดหลอดไฟเรืองแสงดักผีเสื้อ
– ปล่อยนกหรือปลูกต้นไหม้ สร้างที่อาศัยให้แก่นกหรือสัตว์อื่นๆที่จับหนอนเป็นอาหาร
– ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง ฟูราดาน คูราแทร์ เป็นต้น ในสัดส่วน 50 ซีซี/ น้ำ 20 ลิตร