การเพาะเห็ดนางรม

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

เห็ดนางรม (Oyster Mushroom) เป็นเห็ดสกุลหนึ่งที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ลักษณะเด่นของเห็ดประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. หมวกเห็ด (cap หรือ pileus) เป็นส่วนด้านบนสุดของดอกเห็ด มีลักษณะโก่งโค้งลงด้านล่างคล้ายกับหอยนางรม ผิวเรียบ เว้าเป็นแอ่งลงตรงการดอก สี และขนาดจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แต่ละชนิด
2. ครีบดอก (gill) เป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างใต้หมวกเห็ด มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกันตามแนวตั้งของดอก มักพบเป็นสีขาวหรือสีเทาหรือสีอื่นๆตามแต่ละสายพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างสปอร์เห็ด
3. ก้านดอก (stalk) เป็นส่วนที่ชูดอกเห็ดที่งอกออกจากโคนเห็ด ก้านมักโค้งงอ และไม่อยู่ตรงกลางของดอกเห็ด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-10 เซนติเมตร ตามแต่ละชนิดสายพันธุ์

การเพาะเห็ดนางรมในปัจจุบันมีทั้งการเพาะเพื่อค้าขายหลายโรงเรือนหรือเพาะ เพื่อ กินในครัวเรือนเอง ซึ่งหากเป็นการเพาะเพื่อใช้กินในครัวเรือนไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนซื้อ วัสดุ/อุปกรณ์อะไรให้มากนักเพียงแต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นก็เพียง พอ

เห็ดนางรม

ปัจจุบันการเพาะเห็ดนางรมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีรสชาติอร่อย สามารถเพาะได้ง่าย และมีหลายสายพันธุ์ให้เลือกเพาะกัน ได้แก่
1. เห็ดนางรมขาว
2. เห็ดนางรมเทา
3. เห็ดนางรมดอย
4. เห็ดนางรมฮังการี
5. เห็ดนางฟ้า
6. เห็ดนางฟ้าภูฐาน
7. เห็ดเป๋าฮื้อ
8. เห็ดนางรมทอง
9. เห็ดนางรมหลวง
10. เห็ดนางรมหัว
11. เห็ดนางนวล

วัสดุ/อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ (ตัวอย่างสูตรตามฟาร์มเห็ด)
1. ขี้เลี่อยหรือฟางข้าวหรือชานอ้อยบด หากเป็นไม้ควรเป็นไม้เนื้ออ่อน 100 กก.
2. รำข้าว 2 กก.
3. ปูนขาวหรือยิปซั่ม 1 กก.
4. เชื้อ EMหรือน้ำหมักชีวภาพ 2 ลิตร
5. มันแห้งบดหรือแป้งข้าว 1 กก.
6. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7×11 หรือ 12หรือ13 นิ้ว
7. ปอกรัดคอถุง
8. ยางรัดคอถุง
9. หม้อนึ่ง

รายการ ที่ 3-5 หากไม่มีไม่เป็นไรครับ แต่อย่างน้อยควรใส่วัสดุจำพวกแป้งหรือน้ำตาลอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ต้นเห็ด เช่น น้ำตาล รำข้าว แป้งข้าว มันสำปะหลังบด เป็นต้น

ขั้นตอนการเตรียมก้อนเชื้อ
1. นำขี้เลื่อยใส่ในถังหรือกะละมังหรือภาชนะผสมตามขนาดที่พอเหมาะกับปริมาณที่ต้องการเพาะ
2. ใส่รำข้าว ปูนขาว มันบด สำหรับรำข้าว มันบดหรือแป้งมันหากไม่มีไม่เป็นไร เพราะถือว่ามีรำข้าวแล้ว หรือ อาจใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างรำข้าวกับแป้งมันหรือมันบด
3. เติมน้ำเชื้อ EM หรือน้ำหมักชีวภาพ พร้อมคลุกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งข้อควรระวังในการใช้น้ำผสม ไม่ควรให้น้ำมากจนเนื้อก้อนเชื้อเปียกชุ่มมากเกินไป การสังเกตให้ใช้วิธีการกำด้วยมือให้แน่น แล้วคลายออก หากเป็นก้อนติดกันไม่แตกออกถือเป็นใช้ได้
4. ใช้ฝาปิดหรือใช้ผ้าคลุมปิดให้มิดชิดเพื่อหมักวัสดุเพาะเห็ดประมาณ 3 วัน แต่ควรให้สามารถมีช่องว่างเพื่อการระบายอากาศด้วย
5. เมื่อครบกำหนดให้ทำการคลุกกลับวัสดุเพาะเห็ด แล้วทำการบรรจุใส่ถุง
6. นำก้อนเชื้อที่บรรจุแล้วใส่หม้อนึ่ง นึ่งด้วยอุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด พร้อมนำออก และพักให้เย็นตัว โดยควรเก็บพักบริเวณโรงเพาะที่สะอาด

การเพาะเห็ด
1. นำเมล็ดข้าวฟ่างที่เขี่ยเชื้อเห็ดนางรมแล้วใส่ในถุงเพาะเห็ด 10-20 เม็ด พร้อมเขย่าให้เมล็ดกระจายตัว
2. นำถุงเพาะเห็ดมาตั้งเรียงตามแนวนอนในโรงเรือน ประมาณ 15-30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเติบโต และแพร่กระจายทั่วก้อนเชื้อเห็ด
3. ในช่วงขั้นตอนนี้ ให้ทำการรดน้ำโรงเรือนเป็นประจำเพื่อรักษาความชื้นทั้งบนหลังคา และบนพื้น โดยหากวัดอุณหภูมิอากาศได้ (ใช้เทอร์โมมิเตอร์ ราคาไม่แพง) ให้วัดอุณหภูมิอากาศ โดยให้รักษาอุณหภูมิให้ได้ในช่วง 28-35 องศาเซลเซียส
4. เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเติบโต และแพร่กระจายเป็นเส้นใยเต็มก้อนเชื้อแล้ว ในช่วง 20-30 วัน ให้ทำการเปิดถุง และดึงคอจุกออก โดยม้วนพับถุงลง และรอเห็ดออกดอก

สำหรับการเก็บผลผลิตจะมีความแตกต่างกันในแต่ละสาย พันธุ์ของเห็ดนางรม เช่น เห็ดนางรมขาวจะนิยมเก็บเมื่อดอกเห็ดบานเต็มที่ ส่วนเห็ดนางรมฮังการีจะเก็บเมื่อเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม

ปัญหาที่มักพบในการเพาะเห็ดนางรม
1. เส้นใยไม่เจริญเติบโต และแพร่เข้าก้อนเพาะเห็ด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
– เชื้อเห็ดอ่อนแอ และตาย
– เชื้อเห็ดยังอ่อนเกินไปหรือเป็นเชื้อเห็ดที่ใช้งานมาหลายครั้งแล้ว
– มีการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดอื่นหรือเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เชื้อเห็ดตาย หรือไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งกับเชื้ออื่นได้ รวมไปถึงวัสดุเพาะเห็ดที่มีความชื้นมากเกินไปอันเป็นสาเหตุให้เชื้ออื่น เจริญเติบโตได้ง่าย
– มีการปนเปื้อนสารเคมีจากวัสดุเพาะเห็ด เช่น ฟางข้าว รำ ปูนขาว เป็นต้น สารเคมีที่ปนเปื้อนอาจมีผลยังยั้งการเจริญของเชื้อเห็ด

2. เส้นใยมีลักษณะบาง และน้อย
– เชื้อเห็ดอ่อนหรือไม่แข็งแรง
– มีอาหารในถุงเพาะน้อย วัสดุที่ใช้ไม่ได้คุณภาพ

3. เส้นใยเห็ดเดิน และหยุด
– ก้อนเพาะเห็ดมีน้ำหรือความชื้นมากเกินไป
– ก้อนเพาะเห็ดเกิดการเน่า สังเกตจากกลิ่น และมีน้ำไหลออก
– วัสดุเพาะเห็ดมีเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆเจริญเติบโตได้มากกว่า
– วัสดุเพาะเห็ดมีการปนเปื้อนสารเคมี

4. ดอกเห็ดงอกช้า
– ความชื้นไม่เพียงพอ
– อากาศร้อน การระบายอากาศไม่ดี

5. ดอกเห็ดงอก แล้วไม่เจริญเติบโต
– เชื้อเห็ดที่ใช้อายุน้อยหรือไม่แข็งแรง
– อาหารจากวัสดุเพาะเห็ดมีน้อย ใช้วัสดุเพาะเห็ดที่ไม่มีคุณภาพ
– มีการปนเปื้อนสารเคมีในวัสดุเพาะเห็ด
– การพ่นน้ำสัมผัสกับดอกเห็ดโดยตรง และมากเกินไปจนเป็นสาเหตุให้ดอกเห็ดเน่า