เฟื่องฟ้า/ดอกเฟื่องฟ้า(Bougainvillea) ประโยชน์ และการปลูกเฟื่องฟ้า

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

เฟื่องฟ้า (Bougainvillea) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกทั่วไปตามบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการต่างๆ เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม ดอกมีหลายสี ออกดอกได้นาน ลำต้นเล็ก และสามารถดัดหรือตัดแต่งได้ตามต้องการ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bougainvillea hybrid
ชื่อสามัญ:
– Bougainvillea
– Paper Flower

อนุกรมวิธาน
Kingdom : Plantae
Subkingdom :Embryophyta
Divition : Tracheophyta
Subdivition :Pteropsida
Class : Angiospermae
Subclass : Dicotyledonae
Order : Caryophyllales
Family : Nyctaginaceae
Genus : Bougainvillea

phuengpha

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก และลำต้น
เฟื่องฟ้ามีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย  มีลำต้นกลม ยาว เนื้อไม้แข็ง และเหนียว เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เปลือกมีลักษณะบาง สีน้ำตาลแกมเทา ต้นที่มีอายุมากจะมีเปลือกสีดำ แตกกิ่งก้านมาก กิ่งมีขนาดเล็ก เรียวยาว และโน้มลงพื้น กิ่งมีสีเขียวเมื่ออ่อน และกิ่งแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ทั่วกิ่งมีหนามแหลมคมขนาดใหญ่ เกิดบริเวณเหนือก้านใบ สีลักษณะสีคล้ายสีกิ่ง

ส่วนของราก เป็นระบบรากแก้ว แตกออกเป็นรากแขนง และรากฝอย รากมีลักษณะเล็ก เรียวยาวได้หลายเมตร ขนานกับพื้นดิน

2. ใบ
ใบเฟื่องฟ้าจัดเป็นใบเดี่ยว แตกออกบริเวณข้อกิ่ง สลับ และเยื้องกันตามความยาวของกิ่งจนจรดปลายกิ่ง ใบมีสีเขียวเข้มหรือสีด่าง มีลักษณะรูปไข่ โคนใบมนใหญ่ และค่อนเรียวที่ปลายใบ กว้างประมาณ 2-5 ซม. ยาวประมาณ 3-8 ซม. มีก้านใบยาวประมาณ 3-5 ซม. มีขนสั้นๆปกคลุมใบ ก้านใบมีเส้นใยเป็นร่างแห

3. ดอกเฟื่องฟ้า
ดอกเฟื่องฟ้าที่เรามองเห็น และเรียกว่า ดอก จะประกอบด้วยใบประดับหรือใบดอก และช่อดอก

โดยใบดอกหรือใบประดับจะแตกออกที่ซอกกิ่งบริเวณปลายกิ่ง มีลักษณะเป็นรูปหัวใจหรือรูปไข่ 3 ใบ มีลักษณะเป็นแผ่นบางล้อมรอบช่อดอก ฐานใบจรดกันติดกับก้านช่อดอก มีหลายสีตามลักษณะของพันธุ์ เช่น สีแดง สีชมพู สีขาว สีเหลือง สีส้ม เป็นต้น

phuengpha1

ดอกเฟื่องฟ้าออกเป็นช่อ แตกออกด้วยกันกับใบดอก และอยู่ถัดจากใบดอกที่มีสีต่างๆ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3 ดอก มีก้านช่อดอกอยู่ตรงกลางบริเวณฐานใบดอก ไม่มีกลีบดอก มีกลีบเลียงเชื่อติดกันเป็นรูปกรวยหลอด กกคลุมด้วยขนสั้นๆจำนวนมาก ภายในกรวยหลอดมีเกสรตัวผู้ 5-10 อัน และเกสรตัวเมียลักษณะยาวเรียว 1 อัน ภายในประกอบด้วยรังไข่

4. ผล
ผลของดอกเฟื่องฟ้ามักไม่ปรากฏให้เห็นหากไม่นำมาแกะดู เนื่องจากผลจะอยู่ด้านในดอก มีขนาดเล็กมาก สีดำ และที่สำคัญ เฟื่องฟ้าไม่ค่อยติดผลให้เห็นมากนัก นอกจากจะมีการผสมเกสร

สายพันธุ์เฟื่องฟ้า
สายพันธุ์เฟื่องฟ้าที่นิยมปลูกมี 4 ชนิด คือ
1. B. spectabillis เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของบราซิล มีลำต้นแข็งแรง เลื้อยไต่สูงได้ดี ใบรูปไข่ โคนดอกโป่งพอง ทิ้งใบเมื่อออกดอก ออกดอกช่วงฤดูหนาว และมีอากาศแห้ง ดอกไม่ตอบสนองต่อการตัดกิ่ง

2. B. grabra มีถิ่นกำเนิดในทางตอนเหนือของบราซิล (เมืองริโอเดอจาไนโร และเซาเปาโล) มีลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ย ใบกลมรี ออกดอกตามซอกใบ ใบดอกกลมรี มีสีม่วง มีขนสั้นปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกอ่อนนุ่ม มีเส้นใบดอกสีเขียว ใบดอกไม่ร่วงง่าย ออกดอกนาน โคนดอกโป่งพอง

3. B. peruviana เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของเปรู โคลัมเบีย และเอควาดอร์ มีลักษณะลำต้นเลื้อยได้ดี ใบกว้าง รูปไข่ ใบดอกย่นบาง สีชมพูหรือสีแดงอ่อน

4. B. buttiana เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง B. peruviana กับ B. grabra มีรายงานสายพันธุ์นี้ครั้งแรกที่ประเทศตรินิแดด เป็นพันธุ์ชอบเลื้อย ใบกว้างที่ฐาน และเรียวที่ปลาย มีขนปกคลุมเต็มใบ ใบดอกมีรูปไข่ขนาดใหญ่ ส่วนปลายไม่แหลม ใบดอกมีสีแดงเข้มเมื่ออ่อน และแก่เปลี่ยนเป็นสีม่วง ออกดอกเป็นพุ่มขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง มักออกดอกในช่วงอากาศแห้ง

เฟื่องฟ้าที่ปลูกในไทย
1. พันธุ์สุมาลี นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2525 จากประเทศสิงคโปร์ โดยคุณเจริญ ไทรประเสริฐศรี กรรมการสมาคมไม้ประดับในสมัยนั้น มีลำต้นเป็นพุ่ม ออกดอกดก ปลูกในกระถางได้ดี ใบดอกมีสีม่วง กลายพันธุ์ได้เป็นพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สุวรรณี สุมาลีสยาม สุมาลีดอกสีเข้ม ขาวสุมาลี ม่วงประเสริฐศรี ม่วงประเสริฐศรีจินดา ทัศมาลี ขาวน้ำผึ้ง สุมาลีสีทอง ทัศมาลีด่างมาก เป็นต้น
2. พันธุ์แดงบานเย็น หรือเรียก ด่างดอกแดง นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2525 จากประเทศสิงคโปร์ มีลักษณะดอกสีบานเย็น ใบมีด่างขาวอมเหลือง กลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ ได้แก่ ด่างส้มอ่อน วาสิฏฐี แดงจินดา ชมพูนุช ชมพูทิพย์ แดงรัตนา ด่างส้มเข้ม ศศิวิมล แดงสมประสงค์ เป็นต้น
3. พันธุ์สาวิตรี นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2522 จากประเทศฟิลิปปินส์ โดย ดร. สุรพงษ์ โกสิยจินดา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีลักษณะข้อสั้น ใบดอกเกิดชิดกันแน่น และมีขนาดเล็ก มีสีม่วง กลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ ได้แก่ สาวิตรีใบสีเงิน สาวิตรีด่างขอบเหลือง สาวิตรีด่างขอบขาว สาวิตรีศรีสยาม เป็นต้น
4. พันธุ์ดอกสีอิฐ นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2453 โดยหมอชื่อ ไฮแอ็ด ตามการบันทึกของพระยาวินิจวนันดร
5. พันธุ์ดอกสีทับทิม นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2458 จากประเทศสิงคโปร์ โดยพระยาประดิพัทธ์ภูบาล ตามการบันทึกของพระยาวินิจวนันดร
6. พันธุ์ตรุษจีน นำเข้าประมาณปี พ.ศ. 2423 ใบประดับมีสีม่วง เกิดตามซอกใบ  ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์

ที่มา : บรรณ บูรณะชนบท, 2533.(1), ณรงค์ โฉมเฉลา, 2533.(2)

ประโยชน์เฟื่องฟ้า
1. เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ใช้ปลูกตามสวน หน้าบ้านหรือปลูกในกระถางประดับอาคาร
2. ดอกนำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้า สีผสมอาหาร

การปลูกเฟื่องฟ้า
1. การปักชำ
การปักชำเฟื่องฟ้าเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดสำหรับการขยายพันธุ์เฟื่องฟ้า เนื่องจากสามารถติดรากได้ดีในเวลารวดเร็ว ง่าย และเกิดการประหยัด รวมถึงได้ดอกตามต้นพ่อแม่พันธุ์ตามต้องการ วิธีนี้จะใช้กิ่งแก่ ตัดความยาวประมาณ 20 ซม. ตัดในช่วงไม่ออกดอก แต่หากเป็นกิ่งใหญ่ ให้ตัดยาว 70-100 ซม. ปักชำในกระถางหรือถุงเพาะชำ โดยใช้ดินผสมกับวัสดุต่างๆ เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย และมูลโค อัตราส่วนผสมดินกับวัสดุที่ 2:1 หรือ 1:1 หลังจากนั้นรดน้ำทุกวัน วันละครั้ง ประมาณ 14-30 วัน รากจะเริ่มแทงออก

2. การตอน
เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมนัก เนื่องจากกิ่งเฟื่องฟ้ามีหนาม และเป็นข้อสั้น ระยะแทงรากนาน

3. การเพาะเมล็ด
เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมเช่น มักใช้ในวิธีการปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น เนื่องจากต้นใหม่มักจะให้สีที่แตกต่างไปจากต้นพ่อแม่พันธุ์เดิม

เอกสารอ้างอิง
1. บรรณ บูรณะชนบท, 2533. เฟื่องฟ้า. ศูนย์ผลิตตำราเกษตรเพื่อชนบท.
2. ณรงค์ โฉมเฉลา, 2533. เฟื่องฟ้า. สมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย.