ผักบุ้งจีน สรรพคุณ และการปลูกผักบุ้งจีน

Last Updated on 26 มิถุนายน 2016 by puechkaset

ผักบุ้งจีน จัดเป็นพืชผักที่นิยมปลูก และรับประทาน เนื่องจาก เติบโตเร็ว มีระยะปลูกไม่ถึงเดือน  นิยมใช้รับประทานสด และเป็นผักสำคัญที่ใช้ใส่ก๋วยเตี๋ยว มีความกรอบ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว

ชื่อสามัญ : Water Convolvulus, Kang-Kong
ตระกูล : Convolvulaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea reptansL.
ถิ่นกำเนิด : แอฟริกา และเอเชีย จนถึงออสเตรเลีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากผักบุ้งจีนมีระบบรากแก้ว และรากแขนง มีรากแขนงแตกออกจากรากแก้ว และมีรากฝอยแตกออกบริเวณข้อของโคนลำต้น หรือ ข้อที่สัมผัสดินหรือน้ำ

ลำต้น
ลำต้นผักบุ้งจีนเป็นไม้ล้มลุกกึ่งเลื้อย โดยในช่วงแรกลำต้นจะตั้งตรง และต่อมาเมื่อลำต้นยาวมาก ลำต้นจะค่อยๆโน้ม แล้วเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นมีลักษณะมีข้อปล้องที่มีตาใบ และตาดอกแตกออกมา ลำต้นมีสีเขียว ไม่แตกกิ่งก้าน จะแตกยอดหรือก้านใหม่หลายก้านเมื่อยอดหรือลำต้นถูกทำลาย ด้านในลำต้นกลวงเป็นรู มีจุดกั้นรูบริเวณส่วนข้อ

ผักบุ้งจีน

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเป็นรูปหอก เรียวยาว โคนใบกว้างเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 4-8 เซนติเมตร แผ่นใบยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร

ดอก
ดอกผักบุ้งจีนออกเป็นช่อ เป็นดอกสมบูรณ์ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกตรงกลาง 1 ดอก และเติบโตก่อน ส่วนด้านข้างมีอีก 2 ดอก แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 อัน กลีบดอกเป็นรูปกรวย ด้านนอกสีขาว ด้านในสีม่วง ภายในมีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ซึ่งดอกจะออกในฤดูที่มีช่วงวันสั้น (วันละ 10-12ชั่วโมง) ดอกจะมีการผสมเกสรด้วยตัวเอง ซึ่งมีทั้งผสมกันในดอกเดียว และผสมข้ามดอกจากกระแสลม และแมลง ดอกจะบานในเวลาเช้า และผสมเกสรในช่วงสาย 10.00-15.00 น. ใช้เวลาการผสมนาน 3-4 วัน หลังจากการผสมจนถึงเมล็ดแก่ใช้เวลา 40-50 วัน

ผล และเมล็ด
ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะกลม ขนาดประมาณ 1.42 เซนติเมตร มีขนาดใหญ่สุดในระยะ 30 วันแรก หลังการผสม และจะค่อยๆหดเล็กลง ผลมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม ผิวมีลักษณะขรุขระ เมื่อผลแก่แห้งจะไม่มีรอยปริแตก  แต่ละผลมีเมล็ด 4-5 เมล็ด

เมล็ดมีลักษณะรูปสามเหลี่ยม ฐานมน เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

เมล็ดผักบุ้งจีน

ลักษณะการเจริญเติบโต
– ผักบุ้งจีนจะเริ่มงอกหลังเพาะเพียง 48 ชั่วโมง
– หลังจากงอกแล้ว ลำต้นระยะแรก ลำต้นจะมีใบเลี้ยงประมาณ 2 ใบ ซึ่งใบจะมีปลายแฉก  และใบจะแก่ร่วงไปหลังมีใบจริงขึ้นมา ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์แรก จะมีการเจริญเติบโตทางลำต้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ลำต้นสูงชลูดภายในไม่กี่วัน
– เมื่ออายุอยู่ในช่วง 30-45 วัน จะมีการเจริญเติบโตทางส่วนยอด และแตกกอมากขึ้น แต่หากปลูกด้วยการหว่านด้วยเมล็ด ลำต้นจะแตกกอน้อยมาก อาจเนื่องจากมีความหนาแน่นมาก แต่หากระยะลำต้นห่างมากมักจะแตกกอได้ดี ซึ้งการแตกกอจะเป็นการแตกหน่อใหม่ออกมาจากตาบริเวณโคนต้น และเมื่อแตกกอแล้วมักจะเจริญอย่างรวดเร็ว และมีข้อปล้องข้อ มีการติดดอกเหมือนลำต้นหลัก

ประโยชน์ผักบุ้งจีน
ผักบุ้งจีนมีการปลูกเพื่อการค้า และใช้สำหรับการรับประทานเป็นหลัก
– ผักบุ้งสด ใช้รับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานคู่กับอาหารอื่น เช่น ส้มตำ
– ปรุงในอาหารจำพวกผัด เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง ผัดพริกขิงหมู
– ปรุงในอาหารจำพวกแกง เช่น แกงส้ม แกงเทโพ
– ลวก นำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลวกใส่ก๋วยเตี๋ยว เย็นตาโฟ

คุณค่าทางโภชนาการ
– พลังงาน 23 แคลอรี่
– ไขมัน 0.3 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 2.4 กรัม
– โปรตีน 2.7 กรัม
– แคลเซียม 51.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 31.0 มิลลิกรัม
– เหล็ก 3.3 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 0.7 กรัม
– วิตามิน A 11.34 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 0.07 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 0.12 มิลลิกรัม
– วิตามิน C 32.0 มิลลิกรัม
– เบต้า-แคโรทีน 420.30 RE
– เส้นใย 2.4 กรัม

รวบรวมจาก ; กองโภชนาการ (2513) และ(2535)(1)

สรรพคุณของผักบุ้งจีน
ลำต้น และใบ
– แก้เลือดกำเดาออก
– แก้ท้องผูก
– แก้โรคหนองใน
– บรรเทาอาการริดสีดวง ถ่ายเป็นมูกเลือด
– บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ
– บรรเทาอาการปวดจากแมลงกัดต่อย

รากผักบุ้ง
– บรรเทาอาการตกขาวในสตรี
– บรรเทาอาการไอเรื้อรัง
– บรรเทาอาการปวดบวมของแผล

รวบรวมจาก พัชราภรณ์ แสงโยจารย์, 2532 อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(2)

การปลูกผักบุ้งจีน
ผักบุ้งจีนสามารถเติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิดของประเทศไทย ยกเว้นดินที่มีความเค็มสูง เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย และมีความชื้นสูง

การเตรียมดิน และเตรียมแปลง
ผักบุ้งจีนมีระบบรากตื้นเหมือนกับพืชผักหลายชนิด สำหรับการปลูกเพื่อการค้าให้ไถดะครั้งแรกลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งต่างกับพืชไร่ที่ต้องไถดินลึก หลังจากการไถให้ตากดินนาน 7-10 วัน แล้วค่อยหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมี 20 กิโลกรัม/ไร่ สูตร 15-15-15 และสำหรับดินที่เป็นกรด โดยเฉพาะดินในภาคกลางให้หว่านปูนขาวด้วย อัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ แล้วให้ไถยกร่องแปลงกว้าง 1.5-2 เมตร ยาวตามความเหมาะสม และเว้นทางเดินไว้ช่วง 30-50 เซนติเมตร

ส่วนการปลูกเพื่อรับประทานเองให้ขุดยกร่องแปลงตามขนาดข้างต้นได้เลย และหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีเหมือนกัน

วิธีปลูกผักบุ้งจีน
– ก่อนปลูกให้นำเมล็ดไปแช่น้ำนาน 8 – 12 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดดูดน้ำ และช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น – หลังการแช่น้ำ 5-10 นาที ให้คัดเมล็ดที่ลอยน้ำำออก เพราะเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์
– การปลูกด้วยการหว่าน ให้หว่านเมล็ดในอัตรา 12-15 กิโลกรัมแห้ง/ไร่
– หากปลูกด้วยการหยอดเมล็ด ให้ใช้ไม้กดลากดินให้เป็นร่องลึก 2-3 เซนติเมตร ระยะห่างแถว 20-25 เซนติเมตร และโรยเมล็ดตามแนวยาว แล้วเกลี่ยดินกลบ
– หลังการหว่านเมล็ด ให้คลุมด้วยฟางข้าวทั่วแปลง และรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
1. การให้น้ำ
ผักบุ้งจีนเป็นพืชที่ดินที่ชุ่มชื้นตลอด จึงต้องให้น้ำสม่ำเสมอทุกวันๆละ 1 – 2 ครั้ง โดยเฉพาะหากปลูกในหน้าแล้ง แต่เป็นหน้าฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำมากนัก ให้เฉพาะวันที่ฝนไม่ตกหรือช่วงวันที่ฝนทิ้งช่วงเท่านั้น

2. การใส่ปุ๋ย
หลังการปลูก 7-10 วัน ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 10-20 ตัน/ไร่ ควรเป็นปุ๋ยมูลสัตว์จะได้ผลดีกว่า เนื่องจากมีไนโตรเจนสูง ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-6 อัตรา 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ซึ่งปุ๋ยเคมีจะให้ด้วยการละลายน้ำรดบนแปลง

3. การพรวนดิน และกำจัดวัชพืช
การพรวนดินจะพรวนหลังการปลูกแล้ว 7-10 วัน แต่ให้พรวนดินก่อนการใส่ปุ๋ย ทั้งนี้ การปลูกด้วยการหว่านเมล็ดจะต้องต้องพรวนดิน เนื่องจากมีลำต้นถี่กันมาก แต่ให้ใช้วิธีถอนวัชพืชแทน ส่วนการหยอดเมล็ดจะยังพอมีช่องห่างให้พรวนดินบ้าง

การเก็บเกี่ยว
ผักบุ้งจีนจะสามารถเก็บลำต้นได้หลังการปลูก 20 – 25 วัน ซึ่งจะมีความสูงประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร ด้วยวิธีการเก็บแบบถอนทั้งต้น ทั้งนี้ ให้รดน้ำก่อนการถอน และการถอนไม่ควรให้รากขาดมาก หลังจากนั้นนำมาล้างรากให้สะอาด วางกองให้สะเด็ดน้ำ ก่อนบรรจุถุงส่งตลาด

ผักบุ้งจีน1

แมลง/โรคและการป้องกัน
1. เพลี้ยอ่อน
ลักษณะ : ระยะตัวอ่อนมักสีซีดเหลืองเกือบขาว ลำตัวเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร
การทาลาย : เข้าทำลายใบ และดูดกินน้ำเลี้ยง
การป้องกัน : ใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่แนะนำควรเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ หรือ สมุนไพร

2. หนอนผีเสื้อหัวกระโหลก
ลักษณะ : เป็นระยะตัวหนอนของผีเสื้อ ลำตัวมีสีเขียว มีแถบสีเหลืองเหลือบฟ้าข้างลำตัว ขนาดลำตัวยาว 10-12 เซนติเมตร
การทาลาย : ตัวหนอนเข้ากัดกินใบ
การป้องกัน : ใช้สารเคมีฉีดพ่น

3. โรคราสนิมขาว White Rust
สาเหตุ : เชื้อรา Albugo ipomoea
อาการ : พบจุดสีเหลืองซีดบนใบ ด้านล่างใบที่จุดเดียวกันกับจุดสีเหลืองด้านบนเป็นตุ่มนูน ขนาด 1-2 มิลลิเมตร และอาจพบลำต้น และก้านใบมีปุ่มพองโต
การป้องกัน : ฉีดพ่นสารเคมี เช่น เมตาแล็กซิล (matalaxy) หรือ แมนโคเซ็บ (mancozeb)

4. โรคใบไหม้
สาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas compestris pv.
อาการ : พบตุ่มใสเล็กๆใต้ใบ ต่อมากลายเป็นแผลสีน้ำตาลดำขยายออก ทำให้ใบเหลืองซีด แห้งและร่วงจากต้น
การป้องกัน :  ให้เก็บทำลายทิ้งทั้งแปลง ก่อนปลูกให้หว่านโรยด้วยปูนขาว อัตรา 500กิโลกรัม/ไร่

เอกสารอ้างอิง
1. พัชราภรณ์ แสงโยจารย์, 2532. การยืดอายุการเก็บรักษาผักบุ้งจีน.
2. กองโภชนาการ, (2513). ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.