ป่านศรนารายณ์ (Sisal) ประโยชน์ และการปลูกป่านศรนารายณ์

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ป่านศรนารายณ์ หรือ ไซซอล (Sisal) เป็นพืชให้เส้นใยที่นิยมปลูกมากในสมัยก่อนเพื่อใช้ผลิตเป็นเส้นใยป่านสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เชือก หมวก รองเท้า กระเป๋า ผ้าปูพรม รวมถึงใช้เป็นวัสดุขัดเงาโลหะ

• วงศ์ : Agavaceae
• สกุล : Agave
• ชนิด : Sisalana
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agave sisalana L.
• ชื่อสามัญ : Sisal
• ชื่อท้องถิ่น :
– ป่านศรนารายณ์ [1]

ประวัติ ถิ่นกำเนิด
ป่านศรนารายณ์ มีถิ่นกำเนิดบริเวณอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ใช้คำเรียกว่า ไซซอล (Sisal) ตามชื่อท่าเรือในแคว้นยูคาตัน เปอริลซัล ประเทศเม็กซิโก ที่เป็นแหล่งค้าป่านศรนารายณ์แห่งแรก

ในราวพ.ศ. 2382 มีการนำป่านศรนารายณ์ ไปปลูกบริเวณตอนใต้ของมลรัฐฟลอลิดา สหรัฐอเมริกา จากนั้น มีขยายพันธุ์ และนำไปปลูกในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อน และกึ่งร้อน ทั้งในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา อินเดีย และเอเซียตะวันออก ส่วนประเทศในยุโรปมีการปลูกป่านศรนารายณ์แห่งแรกในประเทศเยอรมนี ในช่วงปี พ.ศ. 2436 ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปลูกแห่งแรกในประเทศมาเลเซีย ในช่วงปี พ.ศ. 2448 ณ สถานีการเกษตรกัวลาลัมเปอร์

หลวงอินทร์ชาติสังหาร เป็นผู้นำป่านศรนารายณ์มาปลูกในไทยเป็นคนแรก ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปลูกบนที่ดินส่วนตัวในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากหน่อที่นำมาจากต่างประเทศ จากนั้นได้นำหน่อไปแจกจ่ายให้ให้แก่ชาวบ้านรอบข้างปลูก เพื่อผลิตเป็นเส้นใยสำหรับใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ [2]

ในปี พ.ศ. 2480 มีการทดลองปลูกป่านศรนารายณ์ ณ สถานีทดลองและส่งเสริมเขต 3 จ.นครราชสีมา

ในปี 2486 พ่อค้าชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งโรงงานทำเชือกป่านขึ้นที่หมู่บ้านเขาตะเกียบ โดยรับซื้อวัตถุดิบป่านจากชาวบ้านในพื้นที่รอบจ้าง แต่ไม่นานก็ล้มเลิกกิจการ หลังจากนั้น ชาวบ้านค่อยหันมาปลูกพืชอย่างอื่นแทน

ต่อมาในปี 2505 กรมวิชาการเกษตรได้ทดลองปลูกป่านศรนารายณ์ที่สถานีทดลองพืชไร่โนนสูง อ. สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้หน่อพันธุ์ป่านประมาณ 1330 หน่อ ซึ่งพบว่าสามารถเก็บผลผลิตได้หลังปลูกประมาณปีที่ 3 และเก็บผลผลิตได้นานประมาณ 6 ปี (2513-2518)

ต่อมามีการปลูกป่านศรนารายณ์เพิ่มมากขึ้น จนมีการตั้งโรงงานผลิตเชือกป่านศรนารายณ์ขึ้นในปี 2517 ชื่อโรงงานเบญจพรเกษตรกรรม จำกัด มีกำลังการผลิตประมาณ 960 ตัน/ปี

ในปี 2518 ได้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมลูกบัฟ ชื่อบริษัทอุตสาหกรรมลูกบัฟ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกป่านศรนารายณ์เพื่อใช้สำหรับขัดเงาโลหะจำพวกเหล็กไร้สนิมขึ้น

ในปี 2528 ได้มีการตั้งโรงงานผลิตเชือกป่านศรนารายณ์ ชื่อบริษัทสนเขียว จำกัด ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำหลังการผลิตประมาณ 480 ตัน/ปี [1]

ปัจจุบันมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่
– อ. สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
– อ. ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ชนิดป่านศรนารายณ์ [4],[5]
1. ป่านไซซอล หรือ ป่านศรนารายณ์ (Agave Sisalana)
มีลักษณะเด่นคือ ใบมีขนาดใหญ่ หนา และแข็ง แผ่นใบมีเขียวเข้ม มีไขปกคลุม ขอบใบมีหนามาก ปลายใบไม่มีหนาม เส้นใยมีสีเขียวเข้ม ละเอียด มีความเหนียว และแข็งแรง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วโลก
2. ป่านสับปะรด (Agave Fourcroydes : Henequen)
มีลักษณะเด่นคือ ใบมีลักษณะอวบหนา แผ่นใบมีสีอ่อนกว่าชนิดแรก เป็นนวล ทนโรค และแมลงได้ดี เส้นใยมีลักษณะหยาบ มีสีขาวกว่าชนิดแรก
3. ป่านมาเดียว (Agave Contala)
มีลักษณะเด่นคือ ใบค่อนข้างบาง มีสีเขียวอ่อน ขอบใบมีหนามเป็นระยะ ให้ผลผลิตต่ำ เส้นใยมีความแข็งแรงน้อย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ป่านศรนารายณ์ มีลำต้นกลม สั้น เป็นปล้องถี่ที่ถูกหุ้มด้วยใบเป็นวง มีความสูงของลำต้น และใบรวมกันสูงประมาณ 1 – 3 เมตร โคนลำต้นแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้หลังลำต้นมีอายุ 1 ปี ส่วนระบบรากเป็นระบบรากฝอย ไม่มีรากแก้ว หยั่งลึกได้ประมาณ 30-40 เซนติเมตร และมีความยาวไปตามหน้าดินได้มากถึง 1.5-3 เมตร

ใบ
ป่านศรนารายณ์ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบสลับเวียนเป็นวงล้อมลำต้น ใบแตกออกตั้งแต่ระดับล่างของโคนต้นจนถึงยอด ใบแก่อยู่วงนอกด้านล่างสุด ใบอ่อนอยู่วงในด้านบน ไม่มีก้านใบ แผ่นใบแบนหนา อวบฉ่ำน้ำ เรียวยาว ริมขอบใบมีหนามขนาดเล็ก ปลายใบเป็นติ่งแหลมหรือหนามแหลมสีดำ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ สีเขียวสดถึงเขียวเข้ม มีไขปกคลุม กว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2 เมตร ภายในประกอบด้วยเส้นใยจำนวนมากเรียงตามแนวยาวของใบ แต่ละใบมีน้ำหนักประหนักประมาณ 200 กรัม และให้เส้นใยประมาณร้อยละ 2

ดอก
ป่านศรนารายณ์จะเริ่มออกดอกเมื่อต้นอายุได้ประมาณ 7-20 ปี ดอกแทงออกตรงกลางของยอด มีก้านดอกยาว สูงประมาณ 4.5-7.5 เมตร ส่วนปลายก้านเป็นช่อแตกแขนง และมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ดอกจะเริ่มบานจากด้านล่างขึ้นปลายช่อดอก หลังออกดอกแล้ว ใบจะเหลือง แห้ง และหลังดอกบาน ทั้งนี้ จะพบเห็นป่านศรนารายณ์ติดฝักน้อยมากหรือไม่พบติดฝักเลย แต่จะเกิดต้นอ่อนจากก้านดอกย่อยที่ไม่ใช่เกิดจากเมล็ด ก่อนจะหลุดร่วง แล้วเติบโตเป็นต้นใหม่ จากนั้น ลำต้นแม่จะเริ่มแห้งตายไป

ประโยชน์ป่านศรนารายณ์
1. การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
– การผลิตเชือก ผลิตถุงกระสอบ
– ใช้ผลิตเยื่อกระดาษ
– ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ในงานก่อสร้าง อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา หรือใช้เป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์
– ผลิตลูกขัดโลหะต่างๆ หรือใช้ขัดเงาโลหะให้เงางาม เพราะป่านศรนารายณ์มีสารพวกขี้ผึ้งเกาะอยู่จำนวนมาก
– นำมาหมักด้วยยีสต์เพื่อผลิตแอลกอฮอล์
2. การผลิตในภาคครัวเรือนผลิตเป็นเครื่องจักสานหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ หมวก รองเท้า เข็มขัด กระเป๋า ผ้าปูพรม และไม้กวาด เป็นต้น
3. ผสมในวัสดุก่อสร้างเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา เช่น ฝ้า เพดาน และฝาผนัง
4. ใช้ทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน
5. ใช้สกัดสารสเตียรอยด์เพื่อใช้เป็นส่วนผสมของยาเม็ดคุมกำเนิด ครีมทาผิวเพื่อการแก้การอักเสบ ยาแก้แพ้ ยาปฏิชีวนะ และอื่นๆ
6. นำมาสกัดสารอื่นๆ เช่น กรดออกซาลิค (Oxalic acid) ขี้ผึ้งคาร์มัวบา (Camauba wax)
7. ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งการนให้สดหรือบดผสมกับอาหารหยาบชนิดอื่น

คุณสมบัติของเส้นใยป่านศรนารายณ์
เส้นใยป่านศรนารายณ์มีสมบัติเด่น คือ ไม่ลื่น มีการยืดหดตัวน้อย มีทนทานมากเมื่อถูกน้ำ และมีความแข็งแรงเชิงกลดีกว่าเส้นใยจากพืชชนิดอื่น เช่น ปอกระเจา (jute) ปอลินิน (flax) กัญชง (hemp) และ ฝ้าย (cotton) โดยมีความทนต่อแรงดึง (tensile strength) 511-635 MPa มีค่ามอดุลัสของยังก์ (Young’s modulus) 9.4-22.0 GPa และสามารถยืดได้ก่อนขาด (elongation at break) 2.0-2.5% [3]

องค์ประกอบทางเคมีของเส้นใยป่านศรนารายณ์ [3] อ้างถึงใน Bledzki และ Gassan (1999)

องค์ประกอบ ปริมาณ (%)
เซลลูโลส 65.8
เฮมิเซลลูโลส 12.0
ลิกนิน 9.9
เพกติน 0.8
องค์ประกอบที่ละลายน้า 1.2
แวกซ์ (wax) 0.3
น้ำ 10.0

สมบัติทางกายภาพของเส้นใยป่านศรนารายณ์ [3] อ้างถึงใน บุรฉัตร ฉัตรวีระ และคณะ

คุณสมบัติ
ความถ่วงจำเพาะ 1.327
ความยาว  (มิลลิเมตร) 1200-1500
เส้นผ่าศูนย์กลาง  (มิลลิเมตร) 0.15-0.20
ความชื้น (%) 8.7-10
การดูดซับน้ำ (%) 170

การปลูกป่านศรนารายณ์
ป่านศรนารายณ์นิยมปลูกด้วยหน่อจากต้นแม่ ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้หลังปลูกประมาณ 3 ปี ส่วนหน่อที่เกิดจากฐานรองดอกไม่นิยมนำมาปลูก เพราะเติบโตช้า สามารถเก็บผลผลิตหลังปลูกประมาณ 4 ปี ทั้งนี้ ป่านศรนารายณ์ 1 ต้น จะให้หน่อได้ประมาณ 5-10 หน่อ/ปี สามารถให้หน่อได้สูงสุดเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี โดยการปลูกจะใช้หน่อปลูกลงหลุมระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร

ผลผลิตใบ
ป่านศรนารายณ์ สามารถตัดใบได้หลังปลูกประมาณ 2-3 ปี ต่อเนื่องจนกว่าต้นจะตาย ประมาณ 4-5 ปี หรือจนกว่าต้นจะตาย ทั้งนี้ การตัดใบครั้งแรก ควรให้ใบป่านเหลือไม่น้อยกว่า 25 ใบ ครั้งต่อไปประมาณ 20 ใบ แต่ละครั้งของการตัด ควรห่างกันประมาณ 10 เดือน – 1 ปี

ขอบคุณภาพจาก serbal-almeria.com/, ga-mineragrex.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] กฤตพร ชูเส้ง, 2556, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์มัดย้อมสำหรับ-
กลุ่มสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด.
[2] ยุพา ศีติสาร, 2538, ป่านศรนารายณ์, สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.
[3] วิมลลักษณ์ สุตะพันธ์, 2558, การศึกษาผลการดัดแปรด้วยความร้อนต่อ-
ลักษณะจำเพาะของเส้นใยป่านศรนารายณ์-
ที่ปลูกในนครราชสีมา.
[4] พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส และคณะ, 2551, รายงานการวิจัย ศึกษาสารช่วยติดสีในกระบวนการฟอกย้อมป่านศรนารายณ์จากเปลือกต้นกระโดน.
[5] สราวุธ สมบัติสวัสดิ์, 2549, การศึกษาและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์หัตกรรมจากเส้นใยป่านศรนารายณ์ตำบลสนามจันทร์จังหวัดนครปฐม.