น้อยหน่า(Custard Apple) สรรพคุณ และการปลูกน้อยหน่า

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

น้อยหน่า (Custard Apple/Sugar Apple) จัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเนื้อนุ่ม หอมหวาน และให้เนื้อมาก นอกจากนั้น ส่วนอื่นๆของน้อยหน่า อาทิ เมล็ด ใบ เปลือก ราก และลำต้น ยังสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้หลายทาง

น้อยหน่า เป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนของทวีปอเมริกากลาง นำเข้ามาปลูกในประเทศแถบเอเชียครั้งแรกโดยชาวสเปน และชาวโปรตุเกส ส่วนในประเทศไทยมีการนำเข้าน้อยหน่าครั้งแรกในสมัยลพบุรี

ปัจจุบันการ ปลูกน้อยหน่าในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน และมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคกลาง เรียก น้อยหน่า ภาคตะวันออก เรียก นอแฟ, มะนอแฟหรือมะแฟ ภาคอีสาน เรียก มักเขียบ ภาคใต้ เรียก น้อยแน่ ลาหนัง (ปัตตานี) ชื่ออื่นๆ เตียม, น้อยแน่, มะลอแน่, มะออจ้า ส่วนประเทศเขมรเรียกน้อยหน่าว่า เตียบ

น้อยหน่า

เนื่องจากการปลูก น้อยหน่านิยมใช้เมล็ด จึงทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย น้อยหน่าในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 พันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่ พันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ฝ้าย และพันธุ์น้อยหน่าหนัง มีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
น้อยหน่าจัดเป็นไม้ผลยืนต้นผลัดใบ มีทรงพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นแท้สูงประมาณ 1 เมตร และจะแตกกิ่งก้านออกเป็นกิ่งหลัก กิ่งรอง กิ่งแขนง และกิ่งย่อย โดยจะแตกกิ่งอยู่ในระดับต่ำถัดจากลำต้นแท้ การแตกกิ่งจะไม่เป็นระเบียบ ลำต้น และทรงพุ่มอาจสูงมากกว่า 5 เมตร ลักษณะเปลือกลำต้นบาง ผิวเปลือกสากหยาบ สีน้ำตาลถึงดำ

2. ใบ
ใบน้อยหน่าจัดเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันบนกิ่ง สีใบเมื่ออ่อนจะออกสีขาวปนเขียว ใบแก่จะออกสีเขียวเข้มปนน้ำตาล มีลักษณะใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลมหรือค่อนข้างเรียวแหลม ส่วนโคนใบก็มีลักษณะเป็นรูปลิ่ม เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะตัว

3. ดอก
ดอกน้อยหน่าจะแทงออกเป็นตาดอกตามกิ่ง ทั้งกิ่งแก่หรือส่วนของลำต้น ซึ่งมักจะออกดอกในฤดูใบไม้ผลิหลังจากผลัดใบแล้ว หรือในช่วงต้นฤดูฝน หลังได้รับความชื้นหรือน้ำแล้ว ดอกของน้อยหน่าจะแทงออกเป็นกลุ่มๆ ละ 2-5 ดอก บริเวณจุดเดียวกัน ต้นน้อยหน่าขนาดกลางหนึ่งต้นจะออกดอกประมาณ 1,000-1,500 ดอก

ดอกน้อยหน่า

ดอกจัดเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศที่มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียในดอกเดียวกัน ดอกมีสีน้ำตาลปนขาว ดอกเกสรตัวผู้จะมีก้านช่อ และกระเปาะละอองเกสร รวมกันอยู่รอบเกสรตัวเมีย ที่มีรังไข่ 1 อัน การผสมเกสรจะผสมแบบผสมข้าม เนื่องจากเกสรมีความพร้อมในการผสมไม่พร้อมกัน ซึ่งการผสมเกสรจะติดดีในช่วงเวลา 9.00-12.00 น. และอีกช่วง 14.30-17.30 น. มีระยะผลิดอกถึงดอกบานประมาณ 31-45 วันขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปัจจัยการดูแลรักษา

ดอกน้อยหน่าในระยะดอกตูมที่แล้วบานจะอยู่ได้ 3-4 วัน ซึ่งจะบานทั้งกลางวัน และกลางคืนโดยดอกจะบานจากปลายกลีบดอกสู่ส่วนโคนดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะเห็นเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้อย่างชัดเจน การบานของดอกจะบานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความชื้น หากมีความชื้นสูงดอกจะบานมาก ส่วนอุณหภูมิต่ำ ดอกจะบานได้ดีกว่าอุณหภูมิสูง

4. ผล
ผลมีลักษณะเป็นผลรวม เกิดจากดอกเดียว แต่ประกอบด้วยรังไข่หลายอัน หลังจากที่ผสมเกสร และเติบโตสักระยะจะเห็นมีเมล็ดอยู่ในรังไข่ 1 เมล็ด ในแต่ละรังไข่ โดยมีเนื้อของน้อยหน่าที่เป็นส่วนรับประทานจะเป็นส่วนที่เจริญที่ด้านใน และผนังของรังไข่จะเจริญไปเป็นเปลือก ซึ่งจะมีรูปร่าง และขนาดของผลแตกต่างกันไปตามพันธุ์ และการดูแล โดยมากผลจะมีลักษณะกลมรี ขึ้นอยู่กับพันธุ์ และการดูแลรักษา ผิวเปลือกน้อยหน่าจะมีลักษณะเป็นตานูน มีสีเขียว และเขียวอ่อนแกมเหลืองเมื่อสุก เนื้อจะมีลักษณะนุ่ม ชุ่มน้ำ มีรสชาติหวาน หอม

ผลน้อยหน่า

สารสำคัญที่พบ
เมล็ดน้อยหน่ามีสารที่เป็นน้ำมันประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ มีโปรตีนในเมล็ดประมาณ 14.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสกัดด้วยเฮกเซนจะได้น้ำมันที่ประกอบด้วย free fatty acid 3.7 เปอร์เซ็นต์ และสารประกอบที่เป็นน้ำมันหอมระเหย นอกจากนั้น ในเมล็ดน้อยหน่ายังประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด เช่น acetylcholine, annonastatin, alkaloids, annacins, annonin I (squamocin), annonaine, annonin VI, carbohydrate, citric acid และ enzyme ส่วนกลุ่มของไขมัน ได้แก่ ไขมัน, glycoside, linoleic acid, neoannonin , oleic acid และ palmitic acid ในกลุ่มของโปรตีนได้แก่ เรซิน, β– sitosterol, steroid และ stearic acid

– เมล็ด : Alkaloid, Glycosides, Steroid, Resins มีน้ำมัน 45% Anonanine, Anonaine
– เปลือก : Alkaloid anonaine
– ใบ : Hydroyanimic acid, Anonaine
– ราก : Hydroyanicmic acid

สารประกอบในส่วนของเมล็ดที่สำคัญ และนิยมนำมาใช้ประโยชน์ คือ สาร annonaine ที่มีมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ดเป็นสารในกลุ่ม isoquinolone ซึ่งสาร annonaine ประกอบด้วย organic acid, resin, steroid และ alkaloid โดยสาร alkaloid ถือเป็นสาร annonaine ที่เป็นอินทรีย์สารที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ (organic nitrogen compound) มีคุณสมบัติเด่น คือ มีรสขม ไม่ละลายน้ำ ละลายได้ในสารละลายอินทรีย์ (organic solvent) ที่เป็นด่าง

ประโยชน์น้อยหน่า
1. การใช้ประโยชน์ทั่วไป
น้อยหน่าถือเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทาน มีเนื้อมาก เนื้อนุ่มหวาน มีรสหอม เนื้อน้อยหน่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในน้อยหน่า 1 ผล จะประกอบด้วยน้ำ (73.5%), คาร์โบไฮเดรท(23.9%) โปรตีน(1.6%), ไขมัน(0.3%), แคลเซียม( 0.02%), ฟอสฟอรัส(0.04%) ธาตุเหล็ก และวิตามินซี

เนื้อน้อยหน่า

คุณค่าทางโภชนาการโดยเฉลี่ยของน้อยหน่า ( ต่อส่วนที่บริโภคได้ 100 กรัม )
– โปรตีน 1.4 กรัม
– ไขมัน 0.2 กรัม
– คาร์โบไฮเดรท 21.4 กรัม
– ไฟเบอร์ 1.2 กรัม
– แคลเซียม 7.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 27.0 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม
– วิตามิน เอ 21 ไอ. ยู
– วิตามิน บี 1 0.09 มิลลิกรัม
– วิตามิน บี 2 0.09 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 1.0 มิลลิกรัม
– วิตามิน ซี 107.0 มิลลิกรัม

2. ยาสมุนไพร
การใช้น้อยหน่าเป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรค พบว่า มีการนำส่วนต่าง ๆ ของน้อยหน่ามาใช้ เช่น ราก นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย, เปลือกนำมาฝนกับหินใช้เป็นยาสมานแผล, ใบ ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ขับพยาธิลำไส้ โดยนำมาโขลกให้ละเอียดใช้พอกแก้ฟกช้ำ รักษาโรคกลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังอื่นๆ รวมถึงช่วยในการรักษาแผล, เมล็ด และใบ ใช้เป็นยาฆ่าเหา (โดยนำเมล็ด 10 เมล็ด หรือ ใบสด 1 กำมือ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งมาตำให้ละเอียดผสมน้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ แล้วนำมาชโลมผมให้ทั่ว ใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงล้างออก) นอกจากนั้นเมล็ด สามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันทำสบู่หรือใช้ประโยชน์ในด้านบำรุงผิวหรือความสวย ความงาม ส่วนกากที่เหลือสามารถทำปุ๋ยได้

3. ยาป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช
การใช้เป็นยาป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช นิยมนำส่วนของเมล็ด และใบมาใช้ โดยนำเมล็ด 1 กิโลกรัม มาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำ 20 ลิตร และแช่ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วันจากนั้น กรองเอาน้ำไปฉีดพ่นในแปลงเกษตร น้ำหมักที่ได้มีฤทธิ์ป้องกัน และกำจัดเพลี้ยอ่อนได้

จากรายงานการ ศึกษาโครงการสำรวจวิทยาการทดแทนสารเคมี (2531) พบว่า เมื่อนำเมล็ดน้อยหน่าบดละเอียดครึ่งกิโลกรัม ผสมน้ำแล้วนำไปต้มสามารถฆ่าแมลงวันทองตายได้ 50% ขณะที่น้ำจากเปลือกสดทำให้แมลงวันทองตาย 73 % ภายใน 24 ชั่วโมง

แสงแข น้าวานิช (2542) ศึกษาพบว่า สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่ความเข้มข้น 5 และ 10 %(w/v) สามารถควบคุมด้วงงวงข้าวโพดได้ และมีประสิทธิภาพควบคุมการเกิดในลูกรุ่น F1 ของด้วงงวงข้าวโพดได้

Norman and Nuntawan, (1992) รายงานข้อมูลด้านประสิทธิผลของสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่า ดังนี้
– ออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง โดยเมล็ดน้อยหน่าตากแห้งที่สกัดด้วยอีเธอร์ มีผลยับยั้งตัวเต็มวัยของ Musca nebulo และ Tribolium castaneum โดยมีค่า LD50 เท่ากับ 0.09 % และ 0.22 % ตามลำดับ
– สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตในระยะตัวหนอน และระยะไข่ของผีเสื้อไหม มีค่า LD50 เท่ากับ 0.20 % และ 0.14 % ตามลำดับ สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่ายังสามารถกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียว ที่ใช้ความเข้มข้น 5, 10, 20, 30 และ 50 เปอร์เซ็นต์
– สาร annonaine และ neoannonin ซึ่งสกัดได้จากส่วนของเมล็ดน้อยหน่ามีความเป็นพิษสูงต่อไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ (Drosophilla melanogaster)

สรรพคุณน้อยหน่า
ราก
ใช้เป็นยาระบาย ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้เกิดการอาเจียน และแก้พิษงูได้

เปลือกต้น และเนื้อไม้
เปลือกต้นแก้ฟกช้ำบวม แก้กลาก เกลื้อน มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิผิวหนัง ขับพยาธิลำไส้ ฆ่าเหาแก้หิด เส้นใยของเปลือกใช้ทำกระดาษ ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองของสาร Morin ใช้ย้อมผ้าไหม ผ้าแพรหรือผ้าอื่นๆ

ผล และส่วนของเปลือกผล
ใช้แก้พิษงู แก้ฝีในคอ ขับพยาธิ ฆ่าพยาธิผิวหนัง หรือใช้กินสดหรือต้มน้ำหรือเชื่อมกินก็ได้ เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ ขับเสมหะ ลดเสมหะ

เมล็ด
เป็นยาฆ่าเหา ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด และแก้บวม สกัดเอาน้ำมันมาใช้ประโยชน์

ใบ
ใช้ใบอ่อนหรือใบแก่ ทำเป็นชาเขียวสำหรับชงน้ำดื่ม ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดความดันโลหิต เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ ทำยาต้ม ใช้อมแก้คอเจ็บ แก้ไอ ทำให้เยื่อชุ่มชื่น นอกจากนั้น ยังใช้เลี้ยงไหม หรือนำใบอ่อนปรุงเป็นอาหาร

สาร alkaloid มีประโยชน์ในการรักษาโรคได้หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นยาระงับปวดยาชา ใช้เป็นยาแก้ไอ ยาแก้หอบหืด ยารักษาแผลในกระเพาะ และลำไส้ ยาลดความดัน ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

ณรงค์ จึงสมานญาติ (2539) ศึกษาพบว่า เมล็ดน้อยหน่าที่บดเป็นผง แล้วแช่ด้วยน้ำผสมแอลกอฮอล์ 10% (แอลกอฮอล์ 95% 1 ขวด ผสมน้ำ 9 ขวด) ให้ท่วมผงเมล็ดน้อยหน่าเล็กน้อย โดยแช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วกรองเอาส่วนน้ำสำหรับเป็นหัวเชื้อ ก่อนใช้จะผสมน้ำหรือแอลกฮอล์ 10 % ประมาณ 6 เท่า แล้วใช้ฆ่าเห็บด้วยการฉีดพ่นที่ตัวเห็บ ซึ่งพบว่าสามารถฆ่าได้ทั้งเห็บตัวอ่อน เห็บตัววัยรุ่น และเห็บตัวแก่

ปอง ทิพย์ และ ปิยธิดา (2540)ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าเหาของสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า ที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์ พบว่า สารสกัดที่ความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ สามารถฆ่าเหาให้ตายได้หมดในเวลา 60 นาที นอกจากนี้ สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่ความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม/ลิตร มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกหนูตะเภา และที่ความเข้มข้น 0.3 มิลลิกรัม มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกได้เท่ากับ oxytocin

ความเป็นพิษข้องน้อยหน่า
สารสกัดเมล็ดน้อยหน่าจากอีเธอร์สามารถทำให้ตาของกระต่ายบวม และสร้างความเป็นพิษต่อตาที่ความเข้มข้น 50 มิลลิกรัม/ลิตร และทดสอบกับผิวหนังกระต่าย เมื่อเปรียบเทียบความเป็นพิษจากสารสกัดต่างๆ พบว่า สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่สกัดจากตัวทำละลายชนิดต่างๆ ให้ความเป็นพิษต่างกัน โดยสารสกัดที่ให้ความเป็นพิษมากไปถึงน้อยที่สุด คือ ปิโตรเลียมอีเธอร์ อีเธอร์ คลอโรฟอร์ม และเอธานอล ตามลำดับ

การปลูกน้อยหน่า
การปลูกน้อยหน่านิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดมากที่สุด รองลงมาเป็นการปลูกจากกิ่งพันธุ์ตอนที่ต้องการให้ผลเหมือนต้นแม่พันธุ์หรือต้องการรักษาต้นแม่ให้เพื่อให้ผลนำมาขยายพันธุ์จากเมล็ดต่อ

กล้าน้อยหน่า

พันธุ์น้อยหน่า
น้อยหน่าในประเทศไทยนิยมปลูกโดยการใช้เมล็ด จึงทำให้เกิดการกลายพันธุ์จากพันธุ์เดิมได้ง่าย การแบ่งแยกพันธุ์น้อยหน่าจะดูจากลักษณะของสีผิว สีเนื้อ สีของใบ แบ่งตามลักษณะของผลทั้งภายในและภายนอก เป็น 2 พันธุ์ คือ
1. น้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่าฝ้าย มี 2 สายพันธุ์ ตามลักษณะของผล คือ น้อยหน่าฝ้ายเขียวที่มีผลสีเขียว และน้อยหน่าฝ้ายครั่งที่มีผลสีม่วงเข้ม
2. น้อยหน่าหนังหรือน้อยหน่าญวน มี 3 สายพันธุ์ คือ
– น้อยหน่าหนังเขียว จะมีผลสีเขียว
– น้อยหน่าหนังทอง ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของน้อยหน่าหนังเขียวจากการการเพาะเมล็ด โดยผลจะมีสีเหลืองทอง
– น้อยหน่าหนังครั่ง ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของน้อยหน่าหนังเขียวจากการการเพาะเมล็ดเช่นเดียว กับหนังทอง โดยมีผลสีม่วงเข้มคล้ายน้อยหน่าฝ้ายครั่ง

ส่วนพันธุ์ น้อยหน่าในต่างประเทศ เช่น พันธุ์ Washington, Balangar, Barbados, British Guiana, Crimson, Kakarlapahad, Mammoth, Red-specked, และ White-stemmed เป็นต้น (Morton, 1987b) ในฟลอริดามีการปลูกน้อยหน่าไม่มีเมล็ด พันธุ์ Brazilian Seedless และ Cuban Seedless ที่มีผลสีม่วง มีเนื้อออกม่วงหรือชมพู แต่มีข้อเสีย คือ ผลมักแตกเมื่อแก่ ส่วนที่ไต้หวันมีการปลูก 7 พันธุ์ คือ ไถตงอีเฮ่า, จื่อเซ่อจง, ต้ามู่จง, ซี่หลิงจง, หร่วนจือจง, ซูหลิงจง และจูหลาน แต่พันธุ์ที่นิยมมากที่สุด คือ ซูหลิงจง และต้ามู่จง

การเก็บผลผลิต
น้อยหน่าจะสามารถให้ผลได้เมื่อมีอายุประมาณ 2-3 ปี ขึ้นไป การเก็บผลผลิตของน้อยหน่า โดยทั่วไปมีระยะเวลาการเก็บตั้งแต่ดอกบานจนถึงเก็บผลได้ ประมาณ 120-125 วัน