ขี้ไก่ย่าน/ขี้เหล็กย่าน ประโยชน์ และสรรพคุณน่ารู้

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ขี้ไก่ย่าน/ขี้เหล็กย่าน จัดเป็นวัชพืชประเภทเถาเลื้อย พบได้ทั่วทุกภาค พบได้ตามที่รกร้าง ริมชายป่า และตามแดนรั้ว มีประโยชน์เป็นไม้คลุมดิน ส่วนสรรพคุณเด่นจะใช้เป็นยาภายนอกรักษาโรคผิวหนังต่างๆ

• วงศ์ : ASTERACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mikania micrantha Kunth.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob.
• ชื่อสามัญ :
– Mile a minute
– Chinese Creeper
– African mile a minute
• ชื่อท้องถิ่น:
ภาคกลาง
– ขี้ไก่ย่าน
ภาคใต้
– ขี้เหล็กย่าน
– สาลาปุ๊ตูโงะ

แหล่งที่พบ
ขี้ไก่ย่าน เป็นพืชล้มลุกที่พบแพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ พบได้มากตามพื้นที่รกร้าง ตามรั้วบ้าน รั้วเขตแดน และชายป่า ชอบเลื้อยปกคลุมไม้พุ่มอื่นๆ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รวมถึงรั้วหรือกำแพงเขตแดน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นขี้ไก่ย่าน
ต้นขี้ไก่ย่านมีลักษณะลำต้นเป็นเถาเลื้อย เถาหลักสามารถแตกเถาย่อยจำนวนมาก เถามีความยาวมากกว่า 2 เมตร เถามีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน เป็นข้อปล้องห่างๆ และมีขนปกคลุม เถามีความเหนียวปานกลาง

ใบขี้ไก่ย่าน
ใบขี้ไก่ย่านออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับออกตรงข้ามกันบริเวณข้อของเถา ประกอบด้วยก้านใบ ยาว 3-5 เซนติเมตร ตัวใบมีรูปหัวใจ แผ่นใบเว้าบริเวณโคนใบ โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ แผ่นใบเป็นร่องตามเส้นใบ และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งแผ่นใบด้านบน และด้านล่าง

ดอกขี้ไก่ย่าน
ขี้ไก่ย่านออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ทั้งซอกใบบริเวณกลางเถาจนถึงเกือบถึงปลายเถา ซึ่งจะไม่พบออกที่ปลายเถา เพราะปลายเถาจะเป็นยอดอ่อน ตัวดอกประกอบด้วยก้านดอกยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ปลายก้านช่อดอกประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ตัวดอกมีลักษณะเป็นกรวย มีกลีบดอกสีขาวเชื่อมติดเป็นแผ่นเดียวกัน เมื่อดอกบาน กลีบดอกส่วนปลายจะแผ่ออก ปลายกลีบเว้าเป็นแฉก 5 แฉก ตรงกลางมีเกสรตัวเพศผู้ และเกสรตัวเมีย โดยปลายเกสรบิดโค้งแยกเป็น 2 แฉก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม

ผลขี้ไก่ย่าน
ผลขี้ไก่ย่านมีขนาดเล็ก มีรูปขอบขนาน เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ โคนเมล็ดใหญ่ ปลายเมล็ดเล็กแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร โคนเมล็ดมีปีกเป็นขนนุ่ม และยาวปกคุลม ซึ่งขนนี้ทำหน้าที่พยุงเมล็ดให้ปลิดลอยไปกับลมได้

ทั้งนี้ ทุกส่วนของขี้ไก่ย่านจะมีกลิ่นฉุนแรง เป็นคุณสมบัติที่ดีของสมุนไพรที่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี

ลักษณะโดดเด่นที่สังเกตได้ง่ายของต้นขี้ไก่ย่าน คือ เมื่อมองไกลๆ จะเห็นเป็นพุ่มไม้เลื้อยสีเขียวปกคลุมหนาแน่น และมีดอกสีขาวออกเป็นกระจุกปกคลุมทั่วพุ่ม

ประโยชน์ขี้ไก่ย่าน
1. เนื่องจากเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ง่าย จึงใช้ปลูกหรือปล่อยให้ขึ้นตามธรรมชาติเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ช่วยป้องกันวัชพืชอื่นขึ้นปกคลุม โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ต้องการให้ไม้ยืนต้นหรือไม้ที่แผ่วถางยากเติบโตขึ้น
2. ในบางประเทศ อาทิ อินเดีย มาเลเชีย และฟิจิ มีการนำทั้งต้น โดยเฉพาะใบมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น แกะ โค และกระบือ
3. เนื่องจากทั้งลำต้น ใบ และดอก มีกลิ่นฉุนแรง ตามชนบทจึงใช้ประโยชน์นำมาชุมรมควันเพื่อไล่เหลือบยุงให้กับโค กระบือ

สรรพคุณขี้ไก่ย่าน
ใบ (ใช้ภายนอก)
– ใบใช้ตำพอกรักษาแผล ทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลมีน้ำหนอง ช่วยในการสมานแผล รักษาแผลให้หายเร็ว
– ใบใช้ตำพอกรักษาอาการบวม ปวด และฟกช้ำ
– ใบตำพอกตา รักษาอาการเจ็บตา ตาบวม ตาอักเสบ
– ใบใช้ตำหรือขยำ ก่อนใช้ทารักษาโรคผิวหนัง อาทิ กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า และโรคหิด เป็นต้น
– ใบใช้ตำพอก แก้พิษ และลดอาการปวดจากแมลงกัดต่อย พิษงู และพิษแมงป่อง

ราก (ต้มดื่ม)
– ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงตับ รักษาตับอักเสบ

ที่มา : เพิ่มเติมจาก [1]

เอกสารอ้างอิง
[1] ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.