การปลูกพริก

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

พริก (chilli) ถือเป็นพืชผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นแทบขาดไม่ได้สำหรับการประกอบ อาหารหลายชนิด เนื่องจากให้รสเผ็ดทำให้เพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี ถือเป็นพืชที่นิยมปลูกมากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งปลูกเพื่อบริโภคเอง และส่งจำหน่ายในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรในบางพื้นที่มีรายได้หลักมาจากการปลูกพริก

การจำแนกพริกตามความเผ็ด
สารแคปไซซิน เป็นสารที่ให้ความเผ็ดในพริก มีหน่วยเป็นสโควิลล์ (Scoville) โดยพริกที่มีความเผ็ดร้อยละ 1 จัดเป็นพริกที่มีความเผ็ดมากที่ 100% หรือมีค่าเท่ากับ 175000 สโควิลล์ ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. พริกเผ็ดมาก เป็นพริกที่มีความเผ็ดในช่วง 70000-175000 สโควิลล์ พบได้ในพริกขนาดเล็ก มักนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่นพันธุ์ตาบาสโก

2. พริกเผ็ดปานกลาง เป็นพริกที่มีความเผ็ดในช่วง 35000-70000 สโควิลล์ พริกชนิดนี้มักนำมาประกอบอาหาร เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกสีทน พริกช่อ มข. เป็นต้น

3. พริกเผ็ดน้อยหรือไม่เผ็ด เป็นพริกที่มีความเผ็ดในช่วง 0-35000 สโควิลล์ มักเป็นพริกที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหนา ผลมีลักษณะกลม สั้น มักนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่น พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น

พริก

การจำแนกพริกตามขนาดผล
1. พริกใหญ่
เป็นพริกที่มีความยาวของผลมากกว่า 5 เซนติเมตร ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
– ผลยาวขนาดมากกว่า 5-10 เซนติเมตร ได้แก่ พริกมัน พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง พริกบางช้าง ปลูกมากในจังหวัดเชียงใหม่ นครปฐม ราชบุรี และพื้นที่ภาคกลาง
– ผลยาวมากกว่า 10 เซนติเมตร ได้แก่ พริกหนุ่ม พริกสิงคโปร์ ปลูกมากในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และพื้นที่ภาคกลาง

2. พริกขี้หนู
เป็นพริกที่มีความยาวของผลไม่เกิน 5 เซนติเมตร พริกขี้หนูแบ่งตามความยาวของผลเป็น 2 ชนิด คือ
– พริกที่มีขนาดผลยาวมากกว่า 2-5 เซนติเมตร ลักษณะผลมีทั้งชี้ขึ้น และลง ได้แก่ พริกห้วยสีทน พริกจินดา พริกหัวเรือ พริกชลบุรี เป็นต้น
– พริกที่มีขนาดผลยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกกะเหรี่ยง พริกขี้หนูหอม พริกขี้นก

พริกขี้หนูแบ่งตามลักษณะการปลูกเป็น 2 ชนิด คือ
– พริกขี้หนูสวน เป็นพริกที่พบปลูกตามสวน ปลูกในปริมาณน้อย มีอายุมากกว่า 1 ปี มีขนาดทรงพุ่มเล็ก ลำต้นแข็งเป็นเหลี่ยม สูงประมาณ 1 ฟุต กิ่งแตกออกมาก ใบกว้าง 2-3 นิ้ว ยาว 4-5 นิ้ว ดอกจะออก 1-3 ดอก ตรงจุดรวมของใบที่สาม ผลมีลักษณะชูตั้งตรง เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.2-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร
– พริกขี้หนูไร่ เป็นพริกที่มากในพื้นที่ไร่ในปริมาณมาก มีอายุมากกว่า 1 ปี สามารถเก็บผลได้หลายครั้ง มีลักษณะลำต้นใหญ่ และสูงกว่าพริกขี้หนูสวนที่ประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นมีลักษณะแข็ง ใบมีขนาดเล็กกว่าพริกขี้หนูสวน ยาว 3-4 เซนติเมตร มีลักษณะเรียวแหลม แผ่น และขอบใบเรียบ ออกดอก 1-3 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่ และยาวกว่าพริกขี้หนูสวนเล็กน้อย

สภาพที่เหมาะสมต่อการปลูก
1. อุณหภูมิ โดยพริกถือเป็นพืชที่ทนต่ออากาศร้อนได้ดี แต่ไม่ทนต่อสภาพอากาศหนาว อุณหภูมิที่ทำให้พริกเจริญเติบโต และติดดอก ติดผลได้ดีที่ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียส

2. ความชื้นดิน โดยพริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินชุ่มชื้น และระบายน้ำดี เหี่ยวตายได้ง่ายในสภาพน้ำขัง ปริมาณน้ำที่พริกควรได้รับอย่างต่ำที่ 100 มิลลิเมตร/เดือน

3. แสง เป็นส่วนที่มีผลน้อยต่อพริกในประเทศไทย เนื่องจากช่วงแสงในบ้านเรามีมากกว่า 12 ชั่วโมง จึงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพริก

4. ความเป็นกรด-ด่างของดิน ซึ่งสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินที่เหมาะสมต่อพริกจะอยู่ช่วงประมาณ 6-7 มีลักษณะเป็นกรดเล็กน้อย แต่สามารถทนต่อสภาพดินเค็มได้ดี แต่หากสภาพดินเป็นกรดจัดอาจปรับสภาพดินด้วยปูนขาวทุกครั้งก่อนปลูก

5. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งพริกมักเจริญเติบโตไดดีในสภาพดินที่มีความร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุ และระบายน้ำได้ดี รวมถึงแร่ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่เพียงพอ

การปลูก
การเพาะกล้า
การปลูกพริกจำเป็นต้องเลือกพันธุ์พริกที่ต้องกับความต้องการบริโภคหรือตามความต้องการของตลาด ซึ่งอาจต้องพิจารณาความนิยม และราคาเป็นสำคัญ เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น

การเพาะเป็นขั้นแรกของการเริ่มปลูก ซึ่งจำเป็นต้องเพาะกล้าในแปลงเพาะหรือกะบะเพาะชำเพื่อให้ได้ต้นกล้าอ่อนก่อนย้ายออกปลูกในแปลงปลูก โดยนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำไว้ 1 คืน และวางในร่ม 1-2 วัน พร้อมทำการเพาะตามขั้นตอน ดังนี้
– เตรียมดินเพาะหรือแปลงเพาะด้วยการผสมดินกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น มูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนระหว่าดินกับวัสดุ 2:1
– แปลงเพาะอาจเตรียมในแปลงดินที่ว่าง โดยการยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร หากเพาะในแปลงให้คลุกดินกับวัสดุในแปลง แต่หากเพาะในกะบะให้เตรียมด้านนอกก่อน
– การเพาะในแปลงให้หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 30 กรัม/ตารางเมตร
– การเพาะในกะบะเพาะให้หยอดเมล็ดพันธุ์ 3-4 เมล็ด/หลุม ขึ้นอยู่กับขนาดหลุมกะบะ พร้อมโรยดินกลบเล็กน้อย เมื่อกล้าโต 5-10 เซนติเมตร ให้ถอนเหลือหลุมละต้น
– หลังการหว่านหรือหยอดเมล็ดให้รดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

การเตรียมดิน
แปลงที่ใช้ปลูกควรไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และสามารถระบายน้ำได้ดีหากฝนตก ซึ่งให้เตรียมแปลง ดังนี้
– หากเป็นแปลงใหม่ ควรไถตากดินพร้อมกำจัดวัชพืช นาน 1 สัปดาห์
– ทำการหว่านปุ๋ยคอกในอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หากดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบยกร่องแปลงสูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 40-60 เซนติเมตร
– แปลงกว้างขนาด 30-50 สำหรับปลูกแถวเดี่ยว แปลงกว้าง 80-100 สำหรับปลูกแถวคู่ ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์
– ปรับระดับแปลง พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินพร้อม 2-3 วัน

วิธีการปลูก
เมื่อต้นกล้ามีอายุ 30-40 วัน สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบจริง 5-7 ใบ และให้งดน้ำต้นกล้า 2-3 วันก่อนย้อยปลูก โดยมีขั้นตอนปลูก ดังนี้
– ขุดหลุมในระยะห่างระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับทรงพุ่มของแต่ละพันธุ์
– นำกล้าที่ถอนเตรียมไว้ลงหลุมปลูก พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ
– รดน้ำให้ชุ่ม และรดทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง

สวนพริก

การดูแลรักษา
– เมื่อกล้าตั้งต้นได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ให้คลุมแปลงรอบโคนต้นพริกทั้งหมดด้วยผ้าพลาสติกหรือฟางข้าว
– การให้น้ำควรให้ทุกวันในระยะแรก 1-2 ครั้ง และวันเว้นวันในช่วงผลแก่
– การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500 กิโลกรัม/ไร่ ทุก 3 เดือน ร่วมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-21 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ และระยะออกดอกให้ใส่สูตร 12-12-24 อัตรา 15 กิโลกรัม/ไร่
– การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดทุกๆ 1 เดือน โดยเฉพาะบริเวณรอบโคนต้น

การเก็บผลผลิต
การเก็บผลพริกจะเริ่มเก็บเมื่อพริกเริ่มเปลี่ยนสี ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ปลูก โดยทั่วไปพริกจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 เดือน หลังย้ายปลูกในแปลง