ไม้ผลรับประทาน

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ไม้ผล หมายถึง กลุ่มของพืชจำพวกไม้ยืนต้นหรือพืชล้มลุกที่ให้ผลผลิตเป็นผล ฝักหรือเมล็ดสำหรับรับประทานเป็นอาหารว่างหรือของหวานที่ไม่ใช่อาหารหลัก

ไม้ผลแบ่งตามเขตอุณหภูมิ
1. ไม้ผลเมืองร้อน
เป็นไม้ผลที่มีการเจริญเติบโต และสามารถให้ผลผลิตทั้งปี ต้องการอุณหภูมิ และความชื้นสูง เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ และใต้ ไม้ผลในประเทศไทยถือว่าเป็นไม้ผลเมืองร้อน เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น

2. ไม้ผลกึ่งเขตร้อน
เป็นพันธุ์ไม้ผลที่ต้องการอุณหภูมิสูงขณะเจริญเติบโต และมีบางช่วงที่ต้องการอุณหภูมิต่ำสำหรับการออกดอก และติดผล มักเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในระหว่างเส้นรุ้งที่ 20-35 องศาเหนือ และใต้ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ที่มีในประเทศไทยส่วนมากมีปลูกในภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ องุ่น เป็นต้น

3. ไม้ผลเมืองหนาว
เป็นพันธุ์ไม้ผลที่ต้องการอุณหภูมิต่ำประมาณ 2-3 เดือน เพื่อการออกดอก และติดผล มักเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกในเส้นรุ้งตั้งแต่ 35 องศาเหนือ และใต้ พบมากในแถบยุโรป และเขตเมืองหนาว เช่น แอบเปิล สาลี่ ท้อ เป็นต้น

ไม้ผล

ไม้ผลแบ่งตามขนาดทรงพุ่ม
1. ไม้ผลทรงพุ่มใหญ่ เป็นไม้ผลที่เมื่อโตเต็มที่มีขนาดทรงพุ่มตั้งแต่ 8 เมตร ขึ้นไป เช่น มะม่วง ทุเรียน มะขาม ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น

2. ไม้ผลทรงพุ่มกลาง เป็นไม้ผลที่เมื่อโตเต็มที่มีขนาดทรงพุ่ม 4 – 8 เมตร เช่น มังคุด น้อยหน่า ละมุด มะนาว เป็นต้น

3. ไม้ผลทรงพุ่มเล็ก เป็นไม้ผลที่เมื่อโตเต็มที่มีขนาดทรงพุ่มน้อยกว่า 4 เมตร เช่น ทับทิม กล้วย เป็นต้น

ไม้ผลแบ่งตามลักษณะลำต้น
1. ไม้ผลประเภทไม้ยืนต้น เป็นชนิดไม้ผลที่มีมากที่สุด มีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีลีกษณะเป็นเป็นเลี้ยงคู่ เช่น มะม่วง ทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นต้น

2. ไม้ผลประเภทไม้ล้มลุก เป็นชนิดของไม้ผลที่มีลักษณะอายุปีเดียวหรือหลายปี โดยมีลักษณะไม่เป็นเยื่อไม้ เช่น มะละกอ สัปปะรด เป็นต้น

3. ไม้ผลประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว มีเพียงไม่กี่ชนิด มีลักษณะของลำต้นอวบน้ำ เป็นข้อหรือปล้อง มีกาบใบรอบลำต้น และเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวเพียงใบเดียว เช่น กล้วย เป็นต้น

4. ไม้ผลประเภทเครือ มีลักษณะลำต้นเป็นเครือ เลื้อยตามดิน หรือตามกิ่งไม้ เช่น แตงโม แคนตาลูป ฝักข้าวสตอเบอรี่ เป็นต้น

การออกดอก
การออกดอกของพืชให้ผลชนิดต่างๆมักขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ได้แก่
1. น้ำ และความชื้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาของดอกทั้งในด้านการแบ่งเซลล์ และการเจิรฺยเติบโตของดอก และการกระตุ้นการออกดอกหากเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น การกระตุ้นให้มะนาวออกผลนอกฤดู เป็นต้น

2. แสง ถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับกระตุ้นการออกดอก ซึ่งโดยธรรมชาติของพืชให้ผลมักมีความไวต่อช่วงแสงที่เปลี่ยนตามฤดูกาลทำให้พืชเกิดการกระตุ้นการสร้างดอก ซึ่งลักษณะการออกดอกนี้มักผลในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีช่วงเวลากลางวันที่ได้รับแสงเปลี่ยนไป

3. ปริมาณแร่ธาตุอาหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการกระตุ้นการออกดอกของพืช ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การใส่สารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) ให้แก่ลำไยเพื่อเร่งการออกดอกนอกฤดู

การติดผล
การติดผลของไม้ผลชนิดต่างๆจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ได้แก่
1. ความสมบูรณ์ของดอก โดยดอกที่มีความอุดมสมบูรณ์จะประกอบด้วยเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ในดอกเดียวกันครบ หากมีดอกที่สมบูรณ์มาก โอกาสติดผลในช่อดอกก็ย่อมมีมาก ซึ่งบางครั้งความไม่สมบูรณ์ของต้นพืชจะส่งผลทำให้ดอกมีเพียงเกสรชนิดใดชนิดหนึ่งทำให้โอกาสติดดอกน้อยลง

2. ระยะเวลาการถ่ายละอองเกสร โดยปกติการรับละอองเกสรเพื่อการติดผลจะมีช่วงรับเป็นระยะเวลาอันสั้นภายในไม่กี่วัน เช่น มะม่วงจะรับละอองเกสรตัวผู้ได้ในช่วงเวลา 6.00-8.00 น. ประมาณ ไม่เพียงกี่วันเท่านั้น

3. แมลงดูดน้ำหวาน ถือเป็นสิ่งช่วยเพิ่มอัตราการติดผลจากการอาศัยแมลงในการถ่ายละอองเกสรไปยังดอกอื่นๆ

4. ลม ฝน แสงแดด และอุณหภูมิ ถือเป็นปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งล้วนมีผลต่อโอกาสการติดผล เช่น การเกิดลมหรือฝนในช่วงที่มีการถ่าย และรับละอองเกสร ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อดอก เช่น ดอกร่วง หรือมีแสงแดดมากจนทำให้ดอกเหี่ยวแห้ง และร่วงตามมา

ไม้ผลที่นิยมปลูก แบ่งตามลักษณะลำต้น ได้แก่
1. ประเภทไม้ยืนต้น
– ทุเรียน
– มะม่วง
– ลองกอง
– ลำไย
– มังคุด
– มะพร้าว
– ขนุน
– ชมพู่
– ส้ม
– ส้มโอ
– เงาะ
– น้อยหน่า

2. ประเภทไม้ล้มลุก
– มะละกอ
– สัปปะรด

3. ประเภทใบเลี้ยงเดี่ยว
– กล้วย
– จาก
– หมาก
– สละ
– มะพร้าว
– อินทผลัม
– ตาลตะโนด

4. ประเภทเครือ
– แตงโม
– แตงช้าง
– แคนตาลูป
– แก้วมังกร
– สตรอว์เบอรี่