Last Updated on 2 ตุลาคม 2016 by puechkaset
ไม้กวาดดอกหญ้า เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่จำเป็นมากในทุกครัวเรือน โดยมักพบใช้มากกว่า 1 ด้าม ในแต่ละครัวเรือน ทั้งนี้ ไม้กวาดดอกหญ้าจะทำได้จากช่อดอกหญ้าตองกง หรือที่เรียก หญ้าไม้กวาด รวมถึงหญ้าชนิดอื่น เช่น อ้อ และแขมหรือแขมใหญ่ ด้วยการนำช่อดอกมาตากให้แห้ง พร้อมสลัดดอกให้ร่วงหมดด้วยเครื่อง ก่อนนำมามัดร้อยให้เป็นผืน และถักติดกับด้ามไม้ไผ่
ตองกง หรือ หญ้าไม้กวาด
• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อสามัญ : Bamboo grass
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thysanoleana maxima Kuntze
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– หญ้าไม้กวาด
ภาคอีสาน
– หญ้ากาบไผ่ใหญ่ (เลย)
ภาคเหนือ
– ตองกง
– ก๋ง
– เค้ยหลา (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน)
– เลาแล้ง (สุโขทัย)
ภาคใต้
– หญ้าไม้กวาด
– หญ้ายูง (ยะลา)
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย
การแพร่กระจาย
ตองกง/หญ้าไม้กวาด พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูง ตั้งแต่ 45 – 1,058 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งพบตามเนินเขา ริมแม่น้ำลำธาร เช่น จังหวัดสตูล เพชรบูรณ์ เลย แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ จะพบแพร่กระจายมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นแตกกอคล้ายกอไผ่ ลำต้นมีลักษณะทรงงกลม แบ่งเป็นข้อปล้องชัดเจน มีความสูงของลำต้นประมาณ 3 – 4 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 7.5 – 18 มิลลิเมตร
ใบ
ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกใบเดี่ยวบริเวณข้อลำต้น มีกาบใบสีเขียวอมขาว ยาวประมาณ 7.5 – 22 เซนติเมตร มีลิ้นใบเป็นแผ่นบางๆสีน้ำตาลอ่อนบริเวณโคนแผ่นใบ ส่วนใบมีลักษณะรูปหอก ลำใบเรียวยาว ยาวประมาณ 40 – 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบสีเขียวอ่อน แผ่นใบทั้งด้านบน และด้านล่างมีขนปกคลุม ส่วนขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม
ดอก
ต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด ออกดอกเป็นช่อแขนงบริเวณปลายยอดของลำต้น ช่อดอกมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 70 – 115 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขนอ่อนปกคลุม แต่ละช่อแขนงมีดอกย่อยจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 2 ดอก โดยดอกล่างสุดจะเป็นเยื่อบางๆ และดอกเป็นหมัน ส่วนดอกด้านบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งจะเติบโตติดเป็นเมล็ดต่อไป
ผล และเมล็ด
เมล็ดต้นตองกง/หญ้าไม้กวาด มีขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดธัญพืชทั่วไป เมื่อลำต้นแก่ เมล็ดก็จะเริ่มร่วงในช่วงฤดูแล้ง
พันธุ์ตองกง/หญ้าไม้กวาด
1. พันธุ์ดอกใหญ่ เป็นพันธุ์ที่พบมาก และมีการส่งเสริมการปลูกมาก มีลักษณะเด่น คือ มีก้านช่อดอกใหญ่ และยาว ก้านช่อดอกเมื่อตากแห้งจะมีความแข็งแรง ซึ่งจัดเป็นพันธุ์ที่นิยมใช้ทำไม้กวาดดอกหญ้ามากที่สุด
2. พันธุ์ดอกเล็ก เป็นพันธุ์ที่ไม่นิยมใช้ทำไม้กวาดดอกหญ้า เนื่องจาก ก้านช่อดอกเล็ก และสั้น เปราะหักง่าย
3. พันธุ์ไต้หวัน และพันธุ์ญี่ปุ่น เป็นพันธุ์หญ้าไม้กวาดที่บริษัทส่งออกไม้กวาดนำเข้ามาจากไต้หวัน และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกในกลุ่มของเกษตรกร และบริษัทรับซื้อก้านช่อดอก ก่อนนำมาแปรรูปเป็นไม้กวาดดอกหญ้าส่งออกต่างประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกในจังหวัดต่างๆ ได้แก่
– เชียงราย
– นครราชสีมา
– เพชรบูรณ์
– ระยอง
– เพชรบุรี
ประโยชน์ตองกง/หญ้าไม้กวาด
1. ช่อดอกนิยมใช้ทำไม้กวาด หรือที่เรียก ไม้กวาดดอกหญ้า ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับทุกครัวเรือน ซึ่งมีการผลิตจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ทั้งในรูปของเกษตรในครัวเรือน หรือรวมกลุ่มกันในชุมชน รวมถึงผลิตในระดับอุตสาหกรรมสำหรับส่งจำหน่ายต่างประเทศ
2. ยอดอ่อน และหน่ออ่อนนำมารับประทานสดคู่กับน้ำพริกหรือนำไปประกอบอาหารจำพวกเมนูผัดหรือแกงต่างๆ
3. ลำต้น ใบ และยอดอ่อนใช้สำหรับเป็นอาหารหยาบให้แก่โค กระบือ
คุณค่าทางโภชนาการยอดอ่อนตงกง/หญ้าไม้กวาด
– โปรตีน 10.9%
– เยื่อใย 15.9%
– ไขมัน 2.7%
– เถ้า 5.6%
– แคลเซียม 0.10%
– ฟอสฟอรัส 0.38%
– แทนนิน 1.01%
ที่มา : 1)
ไม้กวาดดอกหญ้า
ประวัติไม้กวาดดอกหญ้า
จากการสืบค้นเอกสารที่ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำไม้กวาดดอกหญ้า พบว่า มีการริเริ่มทำครั้งแรกที่เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพระศรีพนมมาศเป็นผู้ริเริ่ม และส่งเสริมให้ราษฎรทำเป็นอาชีพ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงการรับราชการของพระศรีพนมมาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444-2451 หรือหลังจากนั้น
พระศรีพนมมาศ คนไทยเชื้อสายจีน เกิดในปี พ.ศ. 2404 ซึ่งมีชื่อเดิม คือ นายทองอิน ทำอาชีพพ่อค้าหาบเร่ และต่อมาค่อยผันอาชีพเข้ามารับราชการในตำแหน่งนายอาการสุราโดยในปี พ.ศ. 2444 ได้ชักชวนราษฎรในพื้นที่ร่วมกันสร้างถนนจากเมืองลับแลไปถึงบางโพ (ท่าอิฐ) รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างนั้นไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย
ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงทราบถึงความดี จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ขุนพิศาลจีนะกิจ” และในปี พ.ศ. 2447 ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีพนมมาศ” และหลังจากนั้น ได้พัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรือง จนในปี พ.ศ. 2451 จึงได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็น “พระศรีพนมมาศ” ซึ่งพระศรีพนมมาศ ถือเป็นนายอำเภอคนแรกของเมืองลับแล หรือ อำเภอลับแล ในปัจจุบัน และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2464 สิริอายุได้ 60 ปี และชาวเมืองได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ไว้บริเวณทางแยกตลาดลับแล เพื่อให้ผู้คนได้สักการะ และระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้
สำหรับไม้กวาดดอกหญ้าเมืองลับแล ถือเป็นไม้กวาดดอกหญ้าดั้งเดิมที่ผลิตกันมาช้านาน โดยมีเอกลักษณ์ประจำ คือ จะมีผ้าแดงผูกติดกับปลายด้ามไม้กวาด เพราะในช่วงแรกนั้น ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ไม้กวาดถือเป็นของต่ำ ไม่เป็นสิริมงคลที่จะเก็บไว้ในบ้าน ดังนั้น ชาวบ้านจึงแก้เคล็ดด้วยการนำผ้าแดงมาผูกติดที่ปลายด้าม ซึ่งเปลี่ยนความเชื่อเป็นว่า ผู้ใดที่ได้ไม้กวาดดอกหญ้าจากเมืองลับแลที่มีผ้าแดงผูกติดนี้ ถือว่าผู้นั้นจะมีโชคลาภ และเรื่องสิริมงคลตามมา
ที่มา : 2)
วิธีทำไม้กวาดดอกหญ้า
– ตัดก้านดอกตองกงที่ยังมีความเขียวอยู่ ด้วยการตัดยาวประมาณ 80 เซนติเมตร จากนั้น นำมาตากแดดให้แห้งประมาณ 2-5 วัน
– นำก้านดอกหญ้ามาฟาดหรือเข้าเครื่องเพื่อแยกปุยดอกออกให้หมด ก่อนนำไปตากอีก ประมาณ 7 วัน ทั้งนี้ หากใช้วิธีฟาด ควรฟาดในช่วงวันที่แดดออกมาก และควรสวมผ้าปิดจมูก และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพราะจะทำให้เกิดฝุ่น และปุยดอกลอยฟุ้งมาก
– นำก้านดอกหญ้าประมาณ 1 กำมือ มามัดรวมกันให้เป็นวงกลม
– นำเข็มที่ร้อยเชือกฟางแทงเข้ากลางมัด พร้อมร้อยพัน 3 รอบ ไม่ให้แน่นมากก่อนคลี่ และจัดเรียงให้ก้านดอกหญ้าแผ่เป็นผืนแบน และมัดโคนก้านให้แน่น
– นำมัดดอกหญ้าผัดรัดเข้ากับด้ามไม้กวาดที่เจาะรูไว้ให้แน่น หรือตอกตะปูยึดให้แน่น ทั้งนี้ ต้องจัดเรียงแผ่นดอกหญ้าให้สวยงามก่อน
– นำชัน 2 ส่วน และผสมกับน้ำมันกาด 1 ส่วน โอบทาบริเวณเชือกถัก และบริเวณโดยรอบ เพื่อให้ก้านดอกหญ้าติดกับด้ามไม้กวาดได้แน่นขึ้น
ทั้งนี้ วิธีทำไม้กวาดดอกหญ้าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งมักใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่าง อาทิ ใช้เครื่องตีดอกหญ้า ใช้แผ่นประกบแทนชัน เป็นต้น นอกจากนั้น เทคนิคการเข้าก้านดอกหญ้ากับด้ามไม้กวาดยังแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
การตัดช่อดอกหญ้า
การตัดช่อดอกหญ้า ในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกัน แต่ทั่วไปช่อดอกหญ้าจะแก่ และพร้อมตัดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม หรือบางที่อาจอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งจะตัดช่อดอกหญ้าขณะที่ช่อดอกยังมีสีเขียวอยู่ และเลือกตัดก้านช่อดอกที่มีขนาดใหญ่
ราคาไม้กวาดดอกหญ้า
ราคาไม้กวาดดอกหญ้าที่เกษตรกรหรือกลุ่มชุมชนทำจำหน่ายในแหล่งผลิตจะมีราคาประมาณด้ามละ
10-12 บาท ซึ่งมักมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงแหล่งผลิต ก่อนมาขายต่อตามร้านค้าในเมือง ซึ่งจะตกที่ราคาประมาณด้ามละ 20-35 บาท รวมถึงส่งจำหน่ายต่อต่างประเทศ ซึ่งจะได้ราคาที่สูงกว่ามาก
ส่วนการจำหน่ายก้านดอกตองกงที่ยังไม่ได้แยกปุยดอกออกจะมีราคามัดละประมาณ 12 บาท และที่แยกปุยดอกออกแล้วจะอยู่ที่มัดละประมาณ 25 บาท โดยแต่ละมัดจะมีเส้นรอบวงยาวประมาณ 1 ฟุต
วิธีใช้ไม้กวาดดอกหญ้าที่ถูกต้อง
1. สำหรับไม้กวาดดอกหญ้าที่ถักเป็นข้อยาว ให้จับด้ามไม้กวาดด้วยการหันปลายแหลมของส่วนถักหันออกจากตัว
2. การกวาดพื้นที่มีความสูงไม่เท่ากันจะต้องกวาดจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
3. ไม่กดด้ามไม้กวาดมากเกินไปจนทำให้ปลายดอกหญ้าโค้งงอ
4. ขณะกวาดจะต้องค่อยกวาด ไม่ควรเหวี่ยงด้ามไม้กวาดอย่างรวดเร็ว เพราะจำทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย
5. ไม่ใช้ไม้กวาด กวาดวัสดุขนาดใหญ่ หรือมีน้ำหนักมาก เพราะจะทำให้ผืนดอกหญ้าแยกเป็นร่องได้ รวมถึงไม่กวาดพื้นที่มีน้ำอยู่ เพราะจะทำให้ก้านดอกหญ้าเปราะหักได้เร็วขึ้น
6. หลังจากกวาดวัสดุมากองรวมกันแล้ว ไม่ควรใช้ไม้กวาด 2 อัน มาประกบสำหรับตักเก็บ แต่ควรใช้ที่ตักแทน
วิธีเก็บรักษาไม้กวาดดอกหญ้า
1. สำหรับด้ามไม้กวาดที่มีเชือกแขวน หลังจากใช้แล้วให้แขวนไว้ โดยมีความสูงที่ผืนดอกหญ้าไม่พับวางบนพื้น
2. หากด้ามไม้กวาดไม่มีเชือกห้อย ให้วางด้ามไม้กวาด โดยให้ผืนแผ่นหญ้าตั้งขึ้นอยู่ด้านบน เพราะหากวางผืนดอกหญ้าพับบนพื้นจะทำให้ก้านดอกหญ้างอพับได้ แต่บางตำรามองว่า การชันตั้งขึ้นอาจทำให้ฝุ่น และเชื้อโรคมาติดกับด้ามได้ และบางครั้งอาจทำให้ก้านดอกหญ้าโค้งงอลงด้านล่างได้เช่นกัน
3. ไม่ควรเก็บไม้กวาดด้านนอกที่เสี่ยงต่อน้ำฝน และหากก้านดอกหญ้าถูกน้ำจนเปียก จะต้องนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้
ขอบคุณภาพจาก : www.thongthailand.com, www.biogang.net, pantip.com
เอกสารอ้างอิง