Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
แมคคาเดเมีย (Macadamia) เป็นพืชที่นิยมนำเมล็ดมาบริโภคกันทั่วโลก และมีความต้องการทางตลาดสูง เนื่องจากเมล็ดมีรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่หอมมัน อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยลดอัตราการเป็นโรคหัวใจ
มะคาเดเมีย จัดเป็นพืชเคี้ยวมัน หรือ nut มีชื่อวิทยาศาสตร์ Macadamia inte grifolia
Maiden and Betche อยู่ในวงศ์ Proteaceae มล.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงให้เขียนเป็นภาษาไทยว่า “มะคาเดเมีย” และคนไทยชอบเรียกชื่อสั้นๆ ว่า “มะคา”
มะคาเดเมียเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถวชายฝั่งของตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ และทางตอนเหนือของรัฐนิวเซาส์เวล ประเทศออสเตรเลีย ชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย เรียกแมคคาเดเมียว่า kindal kindal และมีชื่ออื่ ๆ เช่น Australian nut, Bopple nut, Queensland nut และ Baupplenut ซึ่งมีมากกว่า 10 ชนิด แต่มี 2 ชนิด ที่รับประทานได้ คือ
– แบบผิวเรียบ (Smooth-shelled Macadamia: Macadamia integrifolia Maiden & Betche) – แบบผิวขรุขระ (Rough-shelled Macadamia :M.tetraphylla L.Johnson)
ชนิดที่นิยมปลูกมากเพื่อการค้า และนำมาบริโภค คือ Macadamia integrifolia
ประวัติแมคคาเดเมีย สิงห์คาน แสนยากุล (2553)1
มะคาเดเมีย ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1843 ที่ประเทศออสเตรเลีย บริเวณอ่าวมอร์ตัน เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ โดยชาวเยอรมัน ชื่อ Friedrich Wilhelm Ludwig Leichhardt และได้เก็บตัวอย่างพืชไว้ในพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) ที่สวนพฤกษศาสตร์ เมืองเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย
ปี ค.ศ. 1857 Boron Sir Ferdinand Jacob Heinrich von Mueller ชาวเยอรมัน ร่วมกับ Walter Hill ชาวสก็อต ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์เมืองบริสเบน ได้สำรวจพบมะคาเดเมียบริเวณแม่น้ำไพน์ อ่าวมอร์ตัน รัฐควีนส์แลนด์ เป็นมะคาเดเมียแบบผลเล็ก จึงได้จดทะเบียนเป็นพืชสกุลใหม่ ชื่อว่า “Macadamia” เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์สอนวิชาเคมี คือ Dr. John Macadam
ปี ค.ศ. 1881 William Herbert Purvis ชาวสก็อตแลนด์ ที่ทำงานในโรงงานน้ำตาลเกาะฮาวาย ได้นำเมล็ดแมคคาเดเมียชนิดผลผิวเรียบจากออสเตรเลียไปปลูกที่ฮาวาย และในปี ค.ศ. 1892 Edward Walter และ Robert Alfred Jordan สองพี่น้องที่นิยมพืชแปลกๆ ไปปลูกที่ฮาวายเป็นชุดที่ 2 จนมีการปลูกมะคาเดเมียกันจนทั่วหมู่เกาะฮาวาย
ประวัติแมคคาเดเมียในไทย
เมล็ดแมคคาเดเมียเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกจากองค์การยูซ่อม (USOM) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเมล็ดพันธุ์แมคคาเดเมียให้แก่กรมกสิกรรมของไทยในอดีต โดยนำมาปลูกที่สถานี
กสิกรรมบางกอกน้อย และส่งไปปลูกที่สถานีอื่นๆ เช่น กสิกรรมพลิ้ว (ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี) จำนวน 4 ต้น, สถานีกสิกรรมแม่โจ้ (ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่) จำนวน 3 ต้น, สถานีกสิกรรมฝาง (สถานีทดลองพืชสวนฝาง) จำนวน 10 ต้น และสถานีกสิกรรมดอยมูเซอ (สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ) จำนวน 8 ต้น
ต่อมา ปี พ.ศ. 2511 นายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เจ้าของไร่ชาระมิงค์ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ติดต่อขอพันธุ์แมคคาเดเมียจากมหาวิทยาลัยฮาวาย และอีกท่าน ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ปลัดกระทรวงเกษตรในขณะนั้น ก็ได้เจรจาขอพันธุ์มะคาเดเมียจากมหาวิทยาลัยฮาวายให้กระทรวงเกษตรของไทย โดยขอผ่านนายบารอนโกโด้ ทำให้ได้กิ่งพันธุ์แมคคาเดเมียมา 3 พันธุ์ พันธุ์หมายเลข 246, 333 และ 508 โดยมีตัวแทนนายฟูกะนากะ เป็นผู้นำกิ่งพันธุ์มามอบให้
ต่อมา นายฟูกะนากะ ได้ส่งกิ่งพันธุ์มาให้อีก และกระทรวงเกษตรได้มอบให้กรมกสิกรรมไปเสียบกิ่งที่สถานีต่าง ๆ คือ สถานีกสิกรรมฝาง เป็นกิ่งหมายเลข 660, 333 และ 695 ที่ไร่ชาระมิงค์ ของนายประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เป็นกิ่งพันธุ์หมายเลข 246, 333 และ 508 จึงเริ่มมีการขยายพันธุ์ มากขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร
ปี พ.ศ. 2515 นายไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ กองค้นคว้า และทดลอง กรมกสิกรรมได้ติดต่อขอพันธุ์แมคคาเดเมียที่เสียบกิ่งแล้ว จากมหาวิทยาลัยฮาวาย อีก 4 พันธุ์ หมายเลข 246, 333, 508 และ 660 โดยนำมาทดลองปลูกที่สถานีกสิกรรมฝาง
ปี พ.ศ. 2526 บริษัท JFB จำกัด โดยนายอวยชัย วีรวรรณ ได้สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์แมคคาเดเมียจากออสเตรเลีย ประมาณ 200 กิโลกรัม แบ่งให้กรมวิชาการเกษตร 150 กิโลกรัม และให้นายประภัตร สิทธิสังข์ เจ้าของสวนมะม่วงที่เชียงใหม่ 50 กิโลกรัม
ปี พ.ศ. 2527 กรมวิชาการเกษตร ได้ขอความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญแมคคาเดเมีย จากรัฐนิวเซาท์เวล ออสเตรเลีย มาช่วยศึกษา และค้นคว้าการปลูกในไทย โดยมี นายทิม โทรคูลิส ถูกส่งให้เป็นตัวแทน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2527 และได้สั่งพันธุ์แมคคาเดเมียเข้ามาปลูกอีก 8 พันธุ์ รวม 1,200 ต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพแมคคาเดเมียที่จะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต โดยให้นำแมคคาเดเมียที่สั่งเข้ามาครั้งหลังสุดไปปลูกที่ศูนย์การเกษตรที่สูงแม่เหียะ จ.เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยพืชสวน สถานีทดลองพืชสวน สถานีทดลองเกษตรที่สูง สถานีทดลองยาง รวมทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริ รวม 15 แห่ง ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีแปลงต้นพันธุ์แมคคาเดเมียขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จ.เชียงราย, สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จ.เชียงใหม่ และสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ จ.เลย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
แมคคาเดเมีย เป็นพืชยืนต้นเขียวชอุ่มตลอดปี ลำต้นสูงตั้งตรง เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 20 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะคล้ายปิรามิด แผ่ออกกว้างประมาณ 13 เมตร
ใบ
ใบมีลักษณะเหมือนหอกหัวกลับ ใบแก่สีเขียวเข้ม ขอบใบมีหนามเล็กน้อย
ดอก
ออกดอกเป็นช่อยาว ติดผลเป็นช่อยาวประมาณ 7-12 นิ้ว (20-30 ซม.) ดอกมีสีขาวหรือสีชมพู มีกลิ่นหอม ดอกแมคคาเดเมีย มีเกสรตัวผู้แตกก่อนเกสรตัวเมีย ประมาณ 2 วัน โดยดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียจะอยู่บนก้านดอกเดียวกัน กิ่งหนึ่งจะมีดอกประมาณ 300-600 ดอก ติดผลเป็นช่อ ช่อละประมาณ 20 ผล
ผล
ผลมีเปลือกแข็งหนา สีเขียว มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว (2.5 ซม.) เนื้อในมีเปลือกแข็งหุ้ม เรียกว่า กะลา ภายในกะลามีเมล็ดเป็นเนื้อแน่นสีขาว รับประทานได้ ลักษณะเปลือกแมคคาเดเมีย มี 2 ลักษณะ คือ Rough and Smooth shell
ประโยชน์แมคคาเดเมีย
– เมล็ดของผลแมคคาเดเมียที่อบแห้งแล้วนิยมนำมารับประทาน นอกจากนั้น ยังนิยมนำไปใส่ในขนมต่างๆ เช่น ขนมเค้ก ไอศกรีม นำไปเคลือบช็อกโกแลตเป็นขนมหวาน
– กะลาแมคคาเดเมียนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก
– เปลือกนอก และกะลาใช้ทำปุ๋ยหมัก หรือหว่านในแปลงเกษตรสำหรับบำรุงดิน
– กะลาใช้เผาทำถ่านกัมมันต์สำหรับใช้ในระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำหรือระบบบำบัดน้ำเสีย
อาทิตย์ วาณิชอดิศักดิ์ (2546)2 ได้สกัดน้ำมันจากเมล็ดแมคคาเดเมีย พบว่า สามารถนำมารับประทานได้ เนื่องจากมีโอเมก้า 3 มากถึง 3.9 เปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบน้ำมันส่วนใหญ่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
คุณค่าทางอาหารแมคคาเดเมีย จุฑามาศ นิวัฒน์ (2543)3
– พลังงาน 702.00 แคลอรี
– น้ำ 2.88 กรัม
– โปรตีน 8.30 กรัม
– ไขมันรวม 73.72 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 13.73 กรัม
– เส้นใย 5.28 กรัม
– เถ้า 1.36 กรัม
• วิตามิน
– ไทอามีน 0.35 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน 0.11 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 2.14 มิลลิกรัม
• แร่ธาตุ
– แคลเซียม 70.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 2.41 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม 116.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 136.00 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 368.00 มิลลิกรัม
– โซเดียม 5.00 มิลลิกรัม
– สังกะสี 1.17 มิลลิกรัม
– ทองแดง 0.29 มิลลิกรัม
สรรพคุณแมคคาเดเมีย
– เมล็ดแมคคาเดเมียไม่มีคอเลสเตอรอล และน้ำมันในเมล็ดมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิก กรดสเตียริก กรดไลโนเลอิก กรดไมริสติก กรดโดโคเฮกซะอีโนอิก กรดปาล์มิโตเลอิก กรดปาล์มิติก เป็นต้น ที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล
– ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ
– มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคมะเร็ง
– น้ำมันแมคคาเดเมียช่วยบำรุงสมอง และบำรุงหัวใจ
พันธุ์แมคคาเดเมีย
สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำพันธุ์แมคคาเดเมีย จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่
1. พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660)
– มีลักษณะทรงต้นตั้งตรง คล้ายปิรามิด ความสูงประมาณ 15-20 เมตร พุ่มแน่นกว้างประมาณ 10-15 เมตร
– ขนาดผลเล็กถึงปานกลาง ทรงกลม กะลาบาง ผิวกะลาเรียบ เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน มีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งทั้งกะลาประมาณ 5-8 กรัม จำนวนเมล็ด/กก. ที่ 175-190 เมล็ด
– เนื้อเมล็ดรูปร่างกลม สีขาว น้ำหนัก 1.5-2.7 กรัม/เมล็ด เปอร์เซ็นต์เนื้อหลังกะเทาะประมาณ 34 – 42 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เมล็ด เกรด 1 สูงที่ 35 – 41 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เนื้อลอยน้ำ 93-100 เปอร์เซ็นต์
– ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 11 – 17 กก.
– เหมาะสมสำหรับพื้นที่ปลูกเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร ขึ้นไป ถ้าพื้นที่ต่ำ 400-600 เมตร ต้องอยู่ในเขตเส้นรุ้ง (ละติจูด) ที่ 19.8 องศาเหนือ ขึ้นไป พื้นที่ที่เหมาะสม ได้แก่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เป็นต้น
2. พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741)
– ทรงต้นต้นตรง พุ่มแน่น คล้ายปิรามิด ความสูงประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 10-15 เมตร
– ขนาดผลปานกลาง กะลาบาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน มีจุดลายประ น้ำหนักเมล็ดแห้งรวมกะลา 6 – 8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 135 – 150 เมล็ด
– รูปร่างเนื้อในกลม น้ำหนักเนื้อในสูง และสม่ำเสมอ ดีกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 400 น้ำหนัก 1 เมล็ดประมาณ 2.0-2.9 กรัม เนื้อสีขาวสวย เปอร์เซ็นต์เนื้อหลังกะเทาะเปลือก 32-39 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เกรด 1 ที่ 31-37 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์ เกรดเนื้อในลอยน้ำได้ที่ 90-10 เปอร์เซ็นต์
– ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 13-21 กก. เจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่สูง 700 เมตร ขึ้นไป
3. พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508)
– ทรงต้นกึ่งต้นตรง ทรงพุ่มแน่น แผ่กว้างกว่าทุกพันธุ์ ความสูงต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่ม กว้างประมาณ 12-15 เมตร
– ขนาดผลปานกลาง เมล็ดรูปร่างกลม ผิวเรียบสีน้ำตาลอ่อน มีจุดประ มีรอยแตกสีดำชัดเจน
– กะลาหนาเล็กน้อย ขนาดเมล็ดเล็กปานกลาง น้ำหนักแห้งทั้งกะลา 5 – 8 กรัม จำนวนเมล็ดต่อกิโลกรัม 148-170 เมล็ด
– รูปร่างเนื้อทรงกลม น้ำหนักประมาณ 107-205 กรัม/เมล็ด เนื้อสีขาว เนื้อหลังกะเทาะเปลือก 32-39 เปอร์เซ็นต์ เกรด 1 ที่ 30-38 เปอร์เซ็นต์ เนื้อในลอยน้ำที่ 84-100 เปอร์เซ็นต์
– ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 21-33 กก. เนื้อในมีคุณภาพยอดเยี่ยม เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่อากาศหนาว ที่ระดับความสูง 1,000 เมตรขึ้นไป
– เป็นพันธุ์ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนร้อน หากปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 700 เมตร มักมีอาการแพ้ความร้อน คือ ใบเหลืองซีด ขอบใบไหม้ ช่วงออกดอก ติดผลและเก็บเกี่ยว
พื้นที่ปลูก
พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก ควรสูงจากระดับน้ำทะเลไม่น้อยกว่า 700 เมตร ตามลักษณะสายพันธุ์ที่ปลูก พื้นที่ต้องมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดปี ควรเป็นดินโปร่ง ระบายน้ำได้ดี มีค่าความเป็นกรดเล็กน้อย ที่ 5.5-6.5 อุณหภูมิในช่วง 10-25 °C มักให้ผลผลิตได้เมื่อ อายุ 4-5 ปี และให้ผลต่อเนื่องจนถึงอายุ 50 ปี เก็บผลได้หลังออกผลประมาณ 6 เดือน
การปลูกแมคคาเดเมีย
แมคคาเดเมีย Macadamia intergrifolia เป็นพืชที่ปลูกมากในภาคเหนือของประเทศ ระยะปลูกระหว่างต้น และแถว 8×10 เมตร สามารถปลูกพืชอื่นแซมได้ในช่วง 1-4 ปีแรก เช่น กาแฟ , สตรอเบอรี, มันสำปะหลัง เป็นต้น ควรขุดขนาดหลุม 75 x 75 x 75 เซนติเมตร ถึง 1 x 1 x 1 เมตร ให้รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตราหลุมละ 1-2 กิโลกรัม ปุ๋ยคอกหรือแกลบหรือปุ๋ยหมัก อัตราหลุมละ 3-5 กิโลกรัม
การให้นํ้า
ควรให้น้ำสม่ำเสมอ ตั้งแต่หลังการปลูก ระยะ 1-2 ปี แรก 2-3 วัน/ครั้ง และหลัง 2 ปี อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และระยะออกดอก และติดผล ต้องให้อย่างต่อเนื่อง
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 500 กรัม/ต้น ทุก 2 ครั้ง/ปี และ สูตร 12-12-24 อัตรา 500 กรัม/ต้น ก่อนระยะออกดอก และติดผล (ต.ค.-พ.ย. และ ก.ค. – ส.ค. ) ของทุกปีเมื่อเริ่มให้ผลผลิต ทั้งนี้ ควรให้ปุ๋ยคอกร่วมด้วยในอัตรา 10-30 กก./ต้น ทุกๆ 2 ครั้ง/ปี ในระยะเดียวกันกับปุ๋ยเคมี
การเก็บเกี่ยว
บนพื้นที่สูงแมคคาเดเมียจะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วง พ.ย. – ธ.ค. และ ก.ค. – ส.ค. ผลจะพร้อมกเก็บ ประมาณ 6 – 9 เดือน หลังดอกบานถึงแก่ ผลแมคคาเดเมียที่ร่วงลงพื้น หลังเก็บผลต้องรีบกะเทาะเปลือกออก เพราะหากเก็บกองรวมกันมากจะเกิดความร้อนทำให้เนื้อในคุณภาพไม่ดี
ผลผลิต
หลังปลูก 4-5 ปี ต้นแมคคาเดเมียจะเริ่มให้ผลผลิต ในปีแรกจะให้ผลผลิตน้อยเพียง 1-3 กิโลกรัม/ต้น และเพิ่มขึ้นทุกปี ต้นที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตที่ 20-30 กิโลกรัม/ต้น อายุ 20 ปี ขึ้นไปจะให้ผลผลิตที่ 40 – 60 กิโลกรัม/ต้น
โรค และสัตว์ศัตรู
– โรคโคนเน่าหรือเปลือกผุ ใช้สารพวก แคปเทนพ่นที่ต้น
– หนู และสัตว์จำพวกแทะเมล็ด กำจัดโดยใช้ที่ดักสัตว์หรือใช้สังกะสีโอบรอบโคนต้น
– แมลงค่อมทอง ชอบกัดกินยอดอ่อน ใช้ยาเซฟวินฉีดพ่นก่อนระบาด และช่วงระบาด
– หนอนกัดกินเปลือกลำต้น มักเข้าทำลายต้นที่มีอายุ 1-3 ปี
– เพลี้ยอ่อน
การแปรรูปแมคคาเดเมีย
เมื่อเก็บผลแมคคาเดเมียแล้วให้รีบเอาเปลือกนอกออกทันที เนื่องจากผลแมคคาเดเมียสดมีเปลือกนอกสีเขียวที่มีความชื้นสูง หลังจากนั้น นำเมล็ดตากแดดหรืออบแห้งให้เหลือประมาณ 3.5% และนำเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกออก และนำเนื้อในไปอบแห้งภายใน 24 ชั่วโมง ให้เหลือความชื้นไม่มากกว่า 1.5 %
เนื้อเมล็ดหลังอบแห้งสามารถนำมาจำหน่ายได้ รวมถึงนำมาใช้ประกอบทำขนมหวานได้หลายชนิด เช่น ผสมในไอศครีม เป็นต้น
มาตรฐานเมล็ด
• ลักษณะตรงตามพันธุ์
• เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 7/8 นิ้ว
• ปราศจากแมลง และสิ่งปลอมปน
• เมล็ดสะอาด และแห้ง
• เมล็ดไม่มีรอยการทำลายของหนูหรือแมลง
• เมล็ดหรือเนื้อใน ไม่เกิดเชื้อรา ไม่มีการแตก ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
• ความชื้นเมล็ดไม่เกิน 3% โดยน้ำหนัก และความชื้นเนื้อเมล็ดหลังอบไม่มากกว่า 1.5 %
• เนื้อเมล็ดมีสีขาวนวล
เอกสารอ้างอิง