เห็ดโคน/เห็ดปลวก และวิธีการเพาะเห็ดโคน

Last Updated on 7 ธันวาคม 2015 by puechkaset

เห็ดโคน หรือที่เรียก เห็ดปลวก เป็นเห็ดป่าที่มีราคาสูง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีเพาะได้ ซึ่งต้องออกเก็บในป่าตามธรรมชาติเท่านั้น ประกอบกับเป็นเห็ดที่ขึ้นได้ในบางจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงจะออกได้เพียงในช่วงฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่มีช่วงดอกสั้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

สาเหตุที่เห็ดโคนหายาก และมีราคาแพง
1. เห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตสั้น ใช้เวลาเพียง 3-5 วัน ตั้งแต่ออกดอกจนเหี่ยวเฉา และตายไป
2. เห็ดโคนมีการเสื่อมสภาพหลังจากเก็บมาที่ค่อนข้างรวดเร็ว ในสภาพที่เห็ดสดเพียง 5 ชม. เห็ดก็จะเริ่มเน่าเสีย และในสภาพเห็ดสดที่เปียก เพียง 2-3 ชม. เห็ดก็จะเน่าเสียไป
3. พื้นที่เหมาะสมที่เห็ดโคนจะขึ้นได้มีอย่างจำกัด เนื่องจาก ต้องเป็นดินที่มีปลวก หรือ จอมปลวก อุณหภูมิต้องเหมาะสม ความชื้นต้องเพียงพอ จึงทำให้ในประเทศไทยมีไม่กี่จังหวัดที่มีเห็ดโคนขึ้น ได้
4. พื้นที่เห็ดโคนออกดอก มักถูกเก็บเป็นความลับ เนื่องจากคนที่รู้แหล่งกลัวคนอื่นเข้าไปคอยเก็บก่อน
5. เห็ดโคนในปัจจุบันนี้ยังเพาะเลี้ยงไม่ได้ จึงทำให้มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

เห็ดโคน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Termitomyces sp.
ชื่อสามัญ : termite mushroom

อนุกรมวิธาน
Kingdom : Fungi
Phylum : Basidiomycota
Class : Basidiomycetes
Subclass : Agaricomycetidae
Order : Agaricales
Family : Tricholomataceae
Genus : Termitomyces
Species : Termitomyces sp.

ลักษณะทั่วไปของเห็ดโคน
ลักษณะโดยทั่วไปของเห็ดโคนจะมีหมวกดอกมีรูปทรงกระทะคว่ำ หรือ คล้ายร่ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2-30 เซนติเมตร ขึ้นกับความสมบูรณ์ของดอกเห็ด สีของหมวกดอกมีตั้งแต่สีน้ำตาลปนดำ สีน้ำตาลปนแดง หรือสีน้ำตาล ส่วนปลายยอดของหมวก

ดอกมีลักษณะหลายแบบ มีทั้งแบบปลายแหลม และปลายมน แต่ส่วนใหญ่ในไทยมักพบแบบปลายแหลม เพราะเหมาะสำหรับการแทงโผล่ขึ้นมาเหนือดิน ผิวดอกเห็ดอาจเรียบหรือมีรอยย่น เนื้อเยื่อดอกภายในมีสีขาว ครีบดอกใต้หมวกมีลักษณะเป็นแผ่นบางสีขาวทำหน้าที่สร้างสปอร์ และเมื่อดอกบานเต็มที่ หมวกเห็ดด้านบนจะมีรอยแตกยาวเข้าถึงกลางดอก (ศจิษฐา ประเสริฐกุล, 2547)(1)

ชนิด และการแพร่กระจายของเห็ดโคน
เห็ดโคนในเขตร้อนและเขตอบอุ่นใน แอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าทั่วโลกมีเห็ดโคนประมาณ 30 ชนิด ส่วนในประเทศไทยอาจพบได้มากกว่า 16 ชนิด แต่ในรายงานส่วนมากจะกล่าวถึงเพียง 4 ชนิด ได้แก่
1. Termitomyces clypeatus Heim เป็นเห็ดโคนที่พบได้ในทุกภาคของไทย ซึ่งจะขึ้นบริเวณจอมปลวกเป็นกลุ่มใหญ่
2. Termitomyces globulus Heim et Gooss เป็นเห็ดโคนที่พบได้ในทุกภาคของไทย ซึ่งจะขึ้นบริเวณจอมปลวกเป็นดอกเดี่ยว
3. Termitomyces fuliginosus Heim เป็นเห็ดโคนที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านเรียก เห็ดโคนข้าวตอก มีก้านดอกแทงออกมาจากโพรงปลวก (สวนเห็ดรา) จนโผล่เหนือผิวดิน ดอกเห็ดเมื่อบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 5-20 ซม. มีขนาดก้านดอกประมาณ 1-2 ซม. ยาวประมาณ 5-30 ซม. หมวกเห็ดมีลักษณะแหลม มีสีน้ำตาลปนดำ

fuliginosus

4. Termitomyces mammiformis Heim เป็นเห็ดโคนที่ขึ้นบนจอมปลวก และรอบๆจอมปลวก

แต่ชื่อเห็ดโคนตามภาษาท้องถิ่น มีประมาณ 7 ชื่อ คือ
1. เห็ดปลวกปี เป็นเห็ดโคนที่เป็นรุ่นแรกของปี ขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน เดือนมิถุนายน
2. เห็ดโคนขาไก่ มีลักษณะก้านดอกเห็ดพองออกมาคล้ายกับน่องไก่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ รวมถึงชื่อพ้อง เห็ดโคนใหญ่
3. เห็ดโคนใหญ่ เป็นชื่อพ้องของเห็ดโคนขาไก่
4. เห็ดโคนข้าวตอก เห็ดนี้ภาคอีสาน เรียกว่า เห็ดปลวกจิก
5. เห็ดปลวกไฟ มีลักษณะเฉพาะที่หมวกเห็ดมีสีแดงอิฐ ส่วนก้านดอกมีสีขาวนวล พบมากในภาคกลาง และภาคอีสาน
6. เห็ดปลวกน้ำท่วม เป็นเห็ดที่ขึ้นราวประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงน้ำหลากหรือมีน้ำท่วม
7. เห็ดโคนไก่น้อย ที่แบ่งได้เป็น 2 ชนิด เป็นเห็ดปลวกที่มีขนาดเล็กสุด ดอกเห็ด และก้านเห็ดมีสีขาว สูงประมาณ 2-4 เซนติเมตร ขึ้นตามผิวดินที่มีปลวกอยู่ด้านล่าง มีลักษณะขึ้นเป็นกระจุกเป็นกลุ่มใหญ่

ทั้งนี้ ทั้ง 7 ชื่อ มีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Termitomyces fuliginosus และเรียกเป็นชื่อท้องถิ่นเดียว คือ เห็ดโคนข้าวตอก โดยเห็ดโคนชนิดนี้มีลักษณะก้านดอกที่ยาวมาก ก้านดอกแทงออกมาตั้งแต่ส่วนของรังปลวก และค่อยโผล่ขึ้นผิวดิน

นอกจากนั้น การแบ่งชนิดของเห็ดโคนยังสามารถจำแนกตามลักษณะดินของแหล่งเกิด ได้แก่
1. เห็ดโคนจอมปลวกสูง เป็นเห็ดโคนที่ขึ้นตามฐานหรือบนยอดจอมปลวกที่สร้างรังเป็นกองสูงขึ้นเหนือผิวดิน เช่น เห็ดโคนขาไก่ และเห็ดปลวกน้ำท่วม
2. เห็ดโคนจอมปลวกใต้ดิน เป็นเห็ดโคนที่ขึ้นบริเวณดินทั่วไปที่ด้านล่างมีรังปลวกใต้ดิน เช่น เห็ดโคนข้าวตอก เห็ดโคนไก่น้อย เห็ดปลวกปี และเห็ดปลวกไฟ

แหล่งแพร่กระจาย
แหล่งที่พบเห็ดโคนมากในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ แต่พบมากที่สุดจะอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี และพบได้ในทุกจังหวัดของประเทศ ซึ่งจะออกในช่วงฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และบางพื้นที่อาจออกจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะในปีที่มีฤดูฝนยาว เห็ดโคนในจังหวัดทางภาคเหนือ อาจออกดอกติดต่อกันถึงเดือนธันวาคม ส่วนทางภาคใต้ เห็ดโคนสามารถเกิดได้ถึง 2 ครั้งในหนึ่งปี ตามฤดูฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ

บริเวณที่เห็ดโคนขึ้นทุกปี มักจะมีชาวบ้านมาคอยเก็บดอกเห็ด แต่จะไม่ขึ้นทุกครั้งเสมอไป โดยชาวบ้านก็จะทราบล่วงหน้าจากการสังเกตสภาพภูมิอากาศ โดยอุณหภูมิของอากาศช่วงที่มีฝนตก และกลิ่นของไอดินและตามมาด้วยกลิ่นของเห็ดโคน ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ ถ้าตามกลิ่นนี้ไปจะได้พบเห็ดโคนเกิดขึ้นบนลานดินเป็นจำนวนมาก เช่น ในจังหวัดกาญจนบุรี จะมีชาวบ้านเข้าเก็บเห็ดในป่าเข้ามาขายภายในตัวตลาด ซึ่งจะมองหาแหล่งที่เห็ดโคนชอบขึ้น ซึ่งมักเป็นดินเหนียวปนดินร่วนหรือ ดินร่วนปนทราย และเป็นดินที่มีความชื้นสูง ส่วนบนดินจะปกคลุมด้วยเศษไม้ใบไม้  และหากตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์จะพบว่า อุณหภูมิบริเวณนั้นจะประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ดินเป็นกรดด่างประมาณ pH 5.5 – 6.5 และความชื้นสัมพันธ์ประมาณ 70-80%

สรรพคุณเห็ดโคน
รายงานทางการแพทย์ของ Appetorgbor และคณะ (2005)(2) กล่าวถึงสรรพคุณของเห็ดโคนสำหรับการรักษาโรคต่างๆ ได้แก่
– โรคความดันโลหิตต่ำ (Low pressure),
– โรครูมาตอยด์ (Rheumatism),
– โรคขาดสารอาหารในเด็กที่เรียกว่า ควาชิวากอร์ (Kwashiorkor)
– โรคอ้วน (Obesty)
– โรคท้องเสีย (Diarrhea) และอาการท้องผูก (Purgative)

วิธีเพาะเห็ดโคน
ถึงแม้ว่าเห็ดโคนจะไม่สามารถเพาะก้อนเชื้อได้ แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ใช้เทคนิคเลียนแบบธรรมชาติที่อาศัยเชื้อมาจากจอมปลวก ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ผล หรืออาจได้ผล หากเกิดสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งยังมิได้ถูกพิสูจน์ให้แน่ชัด
การเพาะเห็ดโคนจากเชื้อรังปลวก
– เตรียมวัสดุเพาะ ได้แก่ ดินเหนียวหรือดินรังปลวก ผสมกับ ขี้เลื่อยหมัก (หมักนาน 1-3 เดือน) อัตราส่วน 3:1
– นำรังปลวกที่มีเส้นใยราสีขาวมาบดเป็นก้อน คลุกผสมกับวัสดุเพาะ บรรจุใส่ถุงเปิด แล้วเก็บในที่ร่มหรือโรงเรือน หรืออาจทำเป็นกองในหลุมดินภายใต้โรงเรือน และให้รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน
– การเพาะ ควรเพาะในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน เพื่อให้มีอุณหภูมิที่ใกล้เคียง และที่สำคัญในช่วงนั้น รังปลวกจะเริ่มเกิดเส้นใยของเชื้อเห็ดแล้ว

ทั้งนี้ อาจใช้วิธีเลี้ยงรังปลวกเพื่อให้เกิดดอกเห็ด แต่เป็นวิธีที่ค่อนข้างยุงยาก และมีโอกาสเกิดดอกเห็ดน้อยมาก

เอกสารอ้างอิง
untitled