Last Updated on 24 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
เสาวรส หรือเรียก กะทกรกฝรั่ง (passion fruit) จัดเป็นไม้ผลต่างประเทศที่เริ่มได้รับความนิยม เนื่องจาก เยื่อหุ้มเมล็ดฉ่ำไปด้วยน้ำที่มีรสเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมาปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนผสมของน้ำผลไม้ชนิดอื่นๆ นอกจากนั้น เปลือกเสาวรสยังนิยมนำมาแช่อิ่มหรือดองรับประทาน
อนุกรมวิธาน
Family : Passifloraceae
Genus : Passiflora
Species : Passiflora foltida
• ชื่อสามัญ : Passion fruit
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foltida Linn.
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– เสาวรส
– กะทกรกฝรั่ง
• อังกฤษ : Granadilla
• ฝรั่งเศส : Grenadille
• อินโดนีเซีย :
– Buah negeri (JAVA)
– Pasi (Sunda)
– Konyal
• มาเลเซีย
– Buah susu
– Markisa
• ฟิลิปปินส์
– Pasionnaria (Tagalog)
– Maraflora (Ilkano)
• ลาว : Linmangkon
• เวียดนาม : Chum bap
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
เสาวรสหรือกะทกรกฝรั่ง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ประเทศบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา ปัจจุบัน จัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, อเมริกาใต้ และบราซิล
สำหรับไทย เสาวรสถูกนำเข้ามาทดลองปลูกครั้งแรกในภาคเหนือ ประมาณปี พ.ศ. 2498 ปัจจุบัน พบปลูกมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออก ในแถบจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ระยอง และชลบุรี (1), (2)
พันธุ์เสาวรสที่นิยมปลูก (5)
1. พันธุ์ผลสีเหลืองทอง (Goden passion fruit)
พันธุ์ผลสีเหลืองทอง ตามธรรมชาติพบขึ้นตามพื้นที่สูงในแถบประเทศชายฝั่งทะเล ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ผลมีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดผลประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร น้ำหนักผลประมาณ 72+7 กรัม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองทอง เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
2. พันธุ์ผลสีม่วง (Purple passion fruit)
พันธุ์ผลสีม่วงในธรรมชาติพบได้มากในที่สูงเช่นกัน และมักพบบนพื้นที่ที่สูงกว่าพันธุ์สีเหลืองทอง คือ ประมาณ 1,000-2,000 เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดเวลา ทำให้ผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์สีเหลืองทอง ขนาดผลประมาณ 4-5 เซนติเมตร น้ำหนักผลประมาณ 36+5 กรัม นอกจากนั้น เปลือกผลจะบางกว่าพันธุ์สีเหลืองทอง และให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า
3. พันธุ์ผสมสีม่วงกับสีเหลืองทอง (Hybrid passion fruit)
พันธุ์ผสมสีม่วงกับสีเหลืองทอง เป็นพันธุ์ผสมที่รวมลักษณะเด่นของทั้ง 2 พันธุ์เข้าด้วยกัน นอกจากนั้น น้ำคั้นที่ได้ยังมีรสหวานมากขึ้น และหวานมากกว่ารสเปรี้ยว ส่วนขนาดผลมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง และให้ผลผลิตต่อไร่สูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เสาวรส เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ มีอายุประมาณ 4-5 ปี มีลำต้นเป็นเถาคล้ายกับกะทกรกไทย เถาแตกกิ่ง และมีหนามขนาดเล็กขึ้นปกคลุมห่างๆ เถาแตกมือเกาะบริเวณซอกใบ
ใบ
ใบเสาวรสแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันบนเถา แผ่นใบมีสีเขียว แยกเป็น 3 แฉก ปลายแฉกแหลม แผ่นใบค่อนข้างหนา สากมือและกรอบ
ดอก
ดอกเสาวรสจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรด้วยตนเองได้ดี ตัวดอกแทงออกเป็นดอกเดี่ยว ดอกแทงออกบริเวณซอกใบตามเถา ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง ด้านนอกกลีบเลี้ยงมีสีเขียว ด้านในมีสีขาว และกลีบดอกสีครีมอมม่วง 5 กลีบ กลีบดอกเรียงสลับเป็น 2 ชั้น ถัดมาด้านในมีฝอยเป็นเส้นล้อมเป็นวงกลมจำนวนมาก โคนฝอยมีสีม่วง ปลายฝอยมีสีขาว ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมีปลายแยกเป็น 3 แฉก เมื่อบานจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ
ผล
ผลเสาวรสออกเป็นผลเดี่ยว ผลมีรูปทรงกลมหรือรูปไข่ และอวบน้ำ ขนาดผลประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีน้ำหนักผลประมาณ 35-115 กรัม ขึ้นอยู่กับขนาดผล ส่วนสีเปลือกแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์สีม่วงจะมีเปลือกสีม่วงเข้ม ส่วนพันธุ์สีเหลืองจะมีเปลือกสีเหลืองสด เปลือกผลทุกพันธุ์ค่อนข้างหนา และ เป็นมัน ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก
เมล็ด
เมล็ดเสาวรสมีลักษณะเป็นรีรูปไข่ เมล็ดจะมีถุงคัพภะที่เป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองอมส้ม และฉ่ำน้ำห่อหุ้มเมล็ดไว้ ส่วนเมล็ดด้านในมีสีดำ ทั้งนี้ เยื่อหุ้มเมล็ดจะให้รสเปรี้ยวจัด แต่บางพันธุ์ในปัจจุบันจะมีรสหวานมากกว่ารสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม เยื่อหุ้มเมล็ด และเมล็ดเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ทำน้ำผลไม้บริโภค
ประโยชน์เสาวรส/กะทกรก
1. เมล็ดพร้อมเยื่อหุ้มเมล็ดนำมาคั้นหรือปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม ให้รสเปรี้ยวจัด หรือปั่นผสมกับผลไม้อื่นที่มีรสหวาน เพื่อเพิ่มความหวาน อาทิ ประเทศทางแถบอเมริกาใต้นิยมนำเยื่อหุ้มเมล็ด และเปลือกมาปั่นผสมกับน้ำตาล ได้เครื่องดื่มที่เรียกว่า refresco
2. เปลือกเสาวรสใช้รับประทานสดหรือนำมาแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เปลือกเสาวรสแช่อิ่ม และเปลือกเสาวรสดอง เป็นต้น นอกจากนั้น ทั้งเปลือก และเยื่อหุ้มเมล็ดยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ เสาวรสผง แยมเสาวรส และเยลลี่เสาวรส เป็นต้น
3. น้ำคั้นเสาวรสมีรสเปรี้ยวจัด ซึ่งให้รสเปรี้ยวมากกว่าน้ำส้มคั้นถึง 3 เท่า ดังนั้น อุตสาหกรรมผลิตน้ำผลไม้จึงนำน้ำเสาวรสมาเป็นส่วนผสมของน้ำผลไม้ชนิดอื่นเพื่อเพิ่มความเปรี้ยว อาทิ น้ำสับปะรด น้ำสตรอเบอรี่ น้ำมะละกอ และน้ำฝรั่ง เป็นต้น
4. เปลือกเสาวรสมีคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน สามารถนำมาตากแห้งหรือใช้สดเป็นอาหารเลี้ยงโค กระบือ แกะ แพะ และหมู เป็นต้น
5. น้ำเสาวรสมีสาร Spermicidal จึงนำมาใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้
6. เสาวรสนำมาสกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง โดยเฉพาะครีมบำรุงผิว เพราะประกอบด้วยสารที่สามารถสะท้อนรังสียูวีได้
ที่มา : เพิ่มเติมจาก (3), (4) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
สาระสำคัญที่พบ
สารให้กลิ่นในเมล็ด และเยื่อหุ้มเมล็ด (3) อ้างถึงใน (Chan, 1978; Engel and Tress, 1983)
– Ethyl
– Butyric acid
– Hexanoic acid
– Secondary alcohol
– Unsaturated alcohol
– Monoterpene alcohols
เปลือกเสาวรส (3) อ้างถึงใน (Jagendra, 1980)
– Pectin 15-20%
– Galacturonic acid 76-78%
– Methoxyl group 8.9-9.2%
สรรพคุณเสาวรส/กะทกรก
– ต้านโรคมะเร็ง อาทิ มะเร็งทรวงอก และมะเร็งลำไส้
– เสาวรสมีวิตามินซีสูง ช่วยต้านทานโรคหวัด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
– เสาวรสมีสารประกอบฟีนอลิก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อของเซลล์ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส และแลดูอ่อนเยาว์
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้โรคท้องเสีย
– ช่วยลดความดัน
– ป้องกันโรคต่างๆของวัยทอง
ที่มา : (3), (4) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
การปลูกเสาวรส/กะทกรกฝรั่ง
เสารส เป็นไม้ที่เติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงที่มีอากาศอากาศหนาวเย็น เช่น ที่ราบเชิงดอยหรือบนดอยสูง ๆ โดยนิยมปลูกจากต้นกล้าที่เพาะเมล็ด รวมถึงต้นกล้าที่ได้จากการปักชำหรือการตอนเถา แต่ส่วนมากนิยมปลูกจากเมล็ดมากที่สุด
การเตรียมเมล็ด
เมล็ดที่ใช้เพาะกล้า ควรเลือกจากผลเสาวรสที่มีผลขนาดใหญ่ ผลมีความสมบูรณ์ เปลือกผลเป็นมันวาว ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง
เมื่อเลือกผลได้แล้ว ให้ผ่าครึ่งผล จากนั้น ใช้ช้อนตักเมล็ดออกรวมกันใส่ถ้วย จากนั้น นำเมล็ดมาใส่ผ้าขาวบาง แล้วนำไปขยี้ให้น้ำ และเยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกจากเมล็ด จากนั้น นำเมล็ดมาล้างทำความสะอาด พร้อมขยำในน้ำอีกรอบ ก่อนจะนำเมล็ดมาตากผึ่งแดดให้แห้ง นาน 5-7 วัน ก่อนจะห่อด้วยผ้าขาวเก็บพักไว้ในที่ร่มนาน 1-2 เดือน ค่อยนำมาเพาะ (พักไว้เพื่อให้เมล็ดเข้าสู่ระยะพักตัว) ทั้งนี้ เสาวรส 1 ผล จะแยกเมล็ดได้ประมาณ 150-200 เมล็ด
การเพาะเมล็ด
การปลูกเสาวรสด้วยต้นกล้าจากเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะสะดวก รวดเร็ว และได้ต้นกล้าจำนวนมาก อีกทั้ง ต้นที่เติบโตสามารถแตกกิ่งได้มาก และลำต้นมีความแข็งแรงมากกว่าต้นที่ได้จาการตอนกิ่งหรือการปักชำ
หลังจากพักเมล็ดไว้ 1-2 เดือนแล้ว ก่อนเพาะให้นำเมล็ดมาแช่น้ำไว้ 1 คืน การเพาะเมล็ดอาจเพาะในถุงเพาะชำได้โดยตรง หรือหยอดเพาะในกระบะเพาะก่อน แล้วค่อยแยกลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ
การเตรียมแปลงปลูก
การปลูกเสาวรสในแปลงใหญ่จำนวนหลายต้นจำเป็นต้องเตรียมแปลงก่อน โดยการไถพรวนดิน 1-2 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้น ขุดหลุมปลูก ขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 2-3 เมตร ระยะห่างระหว่างต้นหรือหลุม ประมาณ 2-3 เมตร เช่นกัน จากนั้น ปล่อยหลุมตากแดดไว้ 3-5 วัน
วิธีการปลูก
ก่อนปลูก ให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 หยิบมือ ก่อนคลุกหน้าดินลงผสม ก่อนฉีกถุงดำออก แล้วนำต้นกล้าเสาวรสลงปลูกในหลุม พร้อมกลบดินให้แน่นพอประมาณ จากนั้น นำไม้ไผ่มาปักข้างหลุม เพื่อให้ลำต้นอิงเติบโตสักระยะ
การทำค้าง
การทำค้าง เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเสาวรสเป็นไม้เถาเลื้อย จำเป็นต้องเกาะเลื้อยตามวัสดุต่างๆ การเตรียมค้าง ควรเตรียมหลังการขุดหลุมปลูกเสร็จหรือทำร่วมกับการขุดหลุมปลูก หรืออาจทำหลังการปลูก แต่พึงระวังไม่ให้ต้นพันธุ์ได้รับอันตรายขณะทำค้าง
การเตรียมค้างทำได้โดยการใช้เสาคอนกรีตหรือเสาไม้มาฝังใกล้กับต้นเสาวรสตามแนวยาวของแถว จากนั้น ใช้ลวดขึงโยงแต่ละเสาตามแนวยาว แล้วค่อยขึงโยงตัดตามแนวขวางให้เป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 50×50 เซนติเมตร
การเก็บผลเสาวรส/กะทกรก
หลังจากดอกผสมเกสรแล้ว ดอกจะพัฒนาเป็นผลขนาดเล็ก และเจริญจนผลสุกพร้อมเก็บ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 50-70 วัน หลังการติดผล
เสาวรสสุกที่เก็บมาแล้ว หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องจะสามารถเก็บได้นาน 3-7 วัน และหากเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นาน 1-2 สัปดาห์
ขอบคุณภาพจาก http://hkm.hrdi.or.th/, NanaGarden.com, http://news.voicetv.co.th/, suanattaporn.com/, BlogGang.com
เอกสารอ้างอิง
(1) ธิดารัตน์ ไชยเสน, 2532, อุตสาหกรรมน้ำเสาวรส, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.
(2) ประเสริฐ สายสิทธ์, 2531, น้ำเสาวรส:น้ำผลไม้ของโลกเขตร้อน. วารสารอาหาร 18: 165-177.
(3) อัจฉริยา สอางชัย, 2551, การผลิตน้ำเสาวรส Passiflora edulis,-
var. flavicarpa เสริมเวย์โปรตีนเข้มข้น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
(4) ณัฐยา เหล่าฤทธิ์, 2556, เครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดเสารส.
(5) ปิ่นสุภา ปุณโณทก, 2535, การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการ-
อุลตร้าพิลเตรชั่นมาใช้ในการเพิ่มความเข้มข้นน้ำเสาวรส, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.