Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
หัวใจสีม่วง หรือ หัวใจราหู (Purple Heart) เป็นไม้ประดับที่กำลังนิยม มีลักษณะเด่นที่ลำต้น และใบมีสีม่วงทั้งต้น นิยมปลูกในลงแปลง และในกระถางสำหรับฟอกอากาศในห้อง อีกทั้งมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ และกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย
• วงศ์ : COMMELINACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tradescantia pallida (Rose) D.R.Hunt.
• ชื่อสามัญ : Purple Heart, Tradescantia pallida
หัวใจสีม่วง มีชื่อสามัญว่า Purple Heart ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่า หัวใจสีม่วง นั่นเอง สาเหตุที่ตั้งชื่อ Purple Heart ในภาษาอังกฤษ หรือ หัวใจสีม่วง ในภาษาไทย สันนิษฐานว่า กลีบดอกมีลักษณะสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ และมีสีม่วง อีกทั้ง ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ก้านใบ แผ่นใบทั้งด้านล่างด้านบน และตัวดอก มีสีม่วงทั้งหมด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่น แลแตกต่างกับพืชชนิดอื่นๆ
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หัวใจสีม่วง มีถิ่นกำเนิดแถบภาคตะวันออกของประเทศเม็กซิโก นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ จากนั้น จึงแพร่เข้ามาสู่เอเชียเพื่อการปลูกเป็นไม้ประดับเช่นกัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หัวใจสีม่วงเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นกลม อาบน้ำ และเป็นข้อปล้อง เปลือกลำต้นเป็นเยื่อหุ้มบางๆ สีเขียวอมม่วง ลำต้นในระยะแรกจะตั้งตรง แต่เมื่อลำต้นยาวขึ้นจะโน้มลงดิน และเลื้อยตามดิน
ใบ
ใบหัวใจสีม่วงมีรูปหอกหรือรูปขอบขนาน ออกเยื้องตรงข้ามกันซ้าย-ขวา ตามความยาวของลำต้น แผ่นใบมีลักษณะอวบน้ำ ชูตั้งเฉียงกับลำต้น ขอบใบเรียบตรง โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม แผ่นใบงุ้มเข้าหากลางใบ แผ่นใบทั้งด้านล่าง และด้านบนมีสีม่วง และมีขนปกคลุมทั่วทั้งแผ่นใบ
ดอก
ดอกหัวใจสีม่วงออกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กบริเวณซอกใบที่ปลายยอด ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอก 3 กลีบ โคนกลีบเรียงซ้อนทับกัน กลีบดอกมีลักษณะ 3 เหลี่ยม ปลายกลีบแหลม แผ่นกลีบดอกทั้งด้านบนด้านล่างมีสีชมพูอมม่วงทั้งหมด ตรงกลางมีเกสรตัวผู้สีเหลือง 6 อัน เกสรตัวเมียสีขาว 1 อัน ทั้งนี้ หัวใจสีม่วงจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน
ประโยชน์หัวใจสีม่วง
1. หัวใจสีม่วง มีเอกลักษณ์เด่นที่ดอกมีสีม่วงอ่อนหรือชมพูอมม่วง และทุกส่วนทั้งใบ และลำต้นมีสีม่วง และดูสวยงามแปลกตา และไม่มีไม้ประดับชนิดใดเหมือน จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในกระถาง และปลูกลงแปลงจัดสวน
2. พบรายงานงานวิจัยด้านการใช้เพื่อฟอกอากาศ ละดูดสารพิษในอาคาร พบว่า หัวใจสีม่วงมีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศหรือดูดสารมลพิษในอาคาร อาทิ สาร VOCs หรือ สารอินทรีย์ระเหยง่ายชนิดต่างๆที่อยู่ในอาคารได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ
3. นอกจากเป็นการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว หัวใจสีม่วงสามารถแตกหน่อ และเติบโตได้เร็ว ทำให้แพร่คลุมแปลงได้รวดเร็วเช่นกัน จึงประโยชน์ในการเป็นไม้คลุมดินได้อีกด้วย
สรรพคุณหัวใจสีม่วง
• ลำต้น และใบ (ใช้ภายนอก)
– ใบนำขยำ ใช้ประคบดวงตาสำหรับแก้อาการเจ็บตา
– ประเทศไต้หวัน ใช้ใบต้มน้ำดื่มเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิต และต้านการอักเสบ และขับสารพิษออกจากร่างกาย
– ใบนำมาตำบด หรือ ขยำ ใช้ประคบหรือพอกบริเวณร่างกาย แก้อาการฟกช้ำดำเขียวหรือบวม
• ลำต้น และใบ (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ
การปลูก และขยายพันธุ์
หัวใจสีม่วง เป็นพืชที่มีดอก แต่ไม่ค่อยติดผลหรือเมล็ดให้เห็น ดังนั้น ตามธรรมชาติจึงมีการแพร่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ แต่การขยายพันธุ์ที่นิยมใช้จะใช้วิธีการปักชำเป็นหลัก
การปักชำกิ่งหัวใจสีม่วงจะหมายถึงการปลูกขยายพันธุ์ใหม่นั่นเอง ทั้งการปลูกในกระถาง และปลูกลงแปลงจัดสวน
การปลูกหัวใจสีม่วง นิยมปลูกทั้งการปลูกในกระถาง และการปลูกลงแปลงจัดสวน โดยการปลูกในกระถางสามารถปลูกด้วยกิ่งปักชำได้โดยตรง และสามารถนำไปตั้งไว้ทั้งในแปลงจัดสวน และในอาคารหรือที่ร่มได้เช่นกัน
ส่วนการปลูกลงแปลงจะใช้วิธีการปักชำกิ่งลงแปลงได้โดยตรงเช่นกัน ทั้งแปลงปลูกหัวใจสีม่วงชนิดเดียวทั้งแปลง หรือ ปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่หรือไม้ประดับยืนต้นชนิดอื่นที่มีลำต้นสูงกว่า
การปลูกโดยวิธีปักชำทำได้โดยตัดกิ่งหัวใจสีม่วงให้มีความยาว 10-15 เซนติเมตร อาจตัดปลายยอดทิ้งหรือไม่ตัดก็ได้ จากนั้น ปลิดใบโคนกิ่งทิ้ง 1-2 ใบ ให้เหลือเฉพาะตัวกิ่ง แล้วค่อยปักชำปลูกลงกระถางหรือแปลงปลูก
หลังปลูกปักชำ ให้รดน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน และประมาณ 7-10 วัน กิ่งปักชำจะเริ่มแทงราก และเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ และจากนั้น ค่อยรดน้ำ 3-7 วัน/ครั้ง ก็ได้เช่นกัน