Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
หอมแดง (Shallot) เป็นพืชผักที่ปลูกเพื่อบริโภคส่วนของหัวหรือบัลบ์ เป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่นิยมปลูก และรับประทานกันมากของคนไทย นิยมใช้ในการประกอบอาหาร และเป็นสมุนไพร เนื่องด้วยมีสาร Allicin และ n-propyl disulphide ที่ทำให้มีกลิ่นฉุน
หอมแดงจะสร้างกลุ่มหัวแยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเชื่อมติดกันบริเวณฐานของหัว เมื่อปลูกจาก 1 หัว จะสามารถเติบโตแยกเป็นหัวใหม่ได้ประมาณ 2-10 หัวต่อกอ ขึ้นอยู่กับการปลูก การดูแลรักษา และสภาพแวดล้อม
• วงศ์ : llidaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium ascalonicum Linn.
• ชื่อสามัญ : Shallot
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลางหรือเรียกทั่วไป :
– หอมแดง
– หอมไทย
– หอมหัว
– หอมเล็ก
ภาคเหนือ
– หอมหัว
– หอมไทย
– หอมบัว/หอมปั่ว
ภาคอีสาน
– หอมแดง
– หอมปั่ว
ภาคใต้ : หัวหอมแดง
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน : ปะเซ้ส่า
กะเหรี่ยง-ตาก : ปะเซอก่อ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ใบ
ใบแทงออกจากลำต้นหรือหัว มีลักษณะเป็นหลอดกลม ด้านในกลวง มีสารสีนวลเป็นไขเคลือบผิวใบ ใบมีลักษณะตั้งตรงสูงประมาณ 15-50 ซม. แตตกออกเป็นชั้นถี่ 5-8 ใบ ใบอ่อนสดของหอมแดงใช้ในการบริโภค
2. ส่วนหัวหรือบัลบ์
หัวหรือบัลบ์เป็นส่วนของกาบใบที่เรียงซ้อนกันแน่นจากด้านในของหัวออกมา เป็นแหล่งสะสมอาหาร และน้ำ มีลักษณะเป็นกระเปาะ เรียกว่า Bulbs มีลำต้นภายใน มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆสีขาว ซึ่งเป็นที่เกิดของหัวหอม หัวหอมจะแตกใหม่ออกมาจากหัวเดิม โดยเฉลี่ย 2-10 หัวต่อกอ เส้นผ่านศูนย์กลางของหัวประมาณ 1.5-3.5 ซม.
3. ต้น
ต้นที่มองเห็นเหนือดินเป็นส่วนที่อยู่ต่อจากบัลบ์ จัดเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงอัดกันแน่น ถัดมาจึงเป็นส่วนของใบ
4. ราก
รากหอมแดงเป็นระบบรากฝอยจำนวนมาก งอกออกจากด้านล่างของต้น มีลักษณะเป็นกระจุกรวมกันที่ก้นหัว และแพร่ลงดินลึกในระดับตื้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร
พันธุ์หอมแดง
พันธุ์หอมแดงที่ปลูกในประเทศไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากโดยเฉพาะพันธุ์ศรีสะเกษ พันธุ์บางช้าง และพันธุ์เชียงใหม่ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์นี้ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่เดียวกันติดต่อกันหลายๆครั้ง จะไม่สามารถจำแนกได้
1. พันธุ์ศรีสะเกษ เปลือกหัวนอกหนา มีสีม่วงแดง หัวมีลักษณะกลมป้อม มีกลิ่นฉุน ให้รสหวาน ใบเขียวเข้มมรกต มีนวลจับเล็กน้อย
2. พันธุ์บางช้าง มีลักษณะคล้ายกับพันธุ์ศรีสะเกษ แต่สีเปลือกนอกจางกว่า หัวมีลักษณะกลมป้อม ใบสีเขียวเข้ม มีนวลจับเล็กน้อย เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าทุกพันธุ์
3. พันธุ์เชียงใหม่ มีเปลือกบาง สีส้มอ่อน หัวมีลักษณะกลมรี กลิ่นไม่ฉุนเหมือนพันธุ์อื่น ให้รสหวาน หัวจะแบ่งเป็นกลีบชัดเจน ไม่มีเปลือกหุ้ม ใบสีเขียวมีนวลจับเล็กน้อย
4. พันธุ์สีขาว มีเปลือกบางสีขาวหรือขาวอมเหลือง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพันธุ์ หัวมีลักษณะกลมป้อม กลิ่นไม่ฉุนเหมือนพันธุ์อื่น ให้รสหวาน ใบเรียวยาว สีเขียวแกมน้ำเงิน มีนวลจับมาก
สารสำคัญในหอมแดง
สารเคมีที่สำคัญที่พบในหอมแดง ส่วนมากเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Ethanol, Acetonc, methyl Ethyl, Methyl Disulfide, Methyl, Methyl Trisulfide, Methyl I-propyl Trisulfide, I-propyl Trisulfide, Ketone, I-propanol, 2 – propanol, Methanol, I-butanol, Hydrogen Sulfidc, I-propanethiol, I-propyl Disulfide, Thioalkanal-S-oxide, di-n- propyl Disulfide, n- propyl-allyl Disulfide, Diallyl Disulfide, Dithiocarbonate และ Thiuram Sulfidc
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือ ต้นหรือหัว พบสารสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย (coumarins) มีรสขม เผ็ดร้อน เนื่องจากมีองค์ประกอบของกำมะถัน น้ำมันนี้ มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกระคายเคืองตา ทำให้แสบจมูก และอาจเป็นพิษต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน ปวดแสบปวดร้อน
สารสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่น คือ Propyl Disulfide ส่วนสารสำคัญที่ช่วยลดปริมาณไขมัน และน้ำตาลกลูโคสในเลือด คือ Propyl-allyl Disulfide และ Dipropyl Disulfide
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ คือ Allicin แต่ปกติหัวหอมแดงไม่มีสารนี้ แต่จะมีสาร Alliin ที่เมื่อเซลล์หัวหอมแดงถูกกระทบหรือทำให้แตก Alliin เปลี่ยนเป็น Allicin จากทำงานของเอนไซม์ Alliinase สาร Allicin เป็นสารไม่มีความเสถียรสามารถเปลี่ยนเป็น Diallyl Disulfide และซัลไฟด์อื่นๆได้ตลอดเวลา ซึ่งสารเหล่านี้สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี
ประโยชน์หอมแดง
1. คุณค่าทางอาหาร
สารอาหารของหอมแดงในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม
• พลังงาน 63 กิโลแคลอรี่
• โปรตีน 2.7 กรัม
• ไขมัน 0.2 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต 12.6 กรัม
• เส้นใย 0.6 กรัม
• แคลเซียม 16 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม
• วิตามินเอ 28 ไมโครกรัม
• ไทอามีน 0.09 มิลลิกรัม
• ไรโบฟลาวิน 0.03 มิลลิกรัม
• ไนอาซิน 0.5 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
• เถ้า 0.6 กรัม
ที่มา: กองโภชนาการ, 2544(1)
2. ใช้ทางการแพทย์
หอมแดงเป็นยาเร่งขับปัสสาวะ ขับเสมหะและขับประจำเดือน เป็นยาแก้ไข้ลดความร้อน หัวแก่ ๆ ของหอมแดงยังเป็นยารับประทานขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้หวัดคัดจมูก การตำหอมแดงสุมหัวเด็กเป็นการแก้หวัด ขยี้ดมแก้ซางชัก ส่วนน้ำมันหอมใช้ดมเวลาเป็นลม เป็นยาบำรุงหัวใจและหยอดแก้ปวดหู เป็นยาบำรุงความรู้สึกทางเพศ การเอาหัวหอมมาย่างไฟใช้พอกแผล ฝี แผลช้ำ ใช้ได้ทั้งรับประทานและใช้ทาภายนอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ยาแก้ลมพิษ ทำให้ระบบการย่อยอาหารดี เจริญอาหาร และแก้อาการอักเสบต่าง ๆ อีกด้วยโรค ยาแก้ลมพิษ ทำให้ระบบการย่อยอาหารดี เจริญอาหาร และแก้อาการอักเสบต่าง ๆ อีกด้วย
สรรพคุณหอมแดง
– ใช้รักษาโรคเลือดแข็งตัวในเส้นเลือดแดงได้เป็นอย่างดี
– ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ แก้สะอึก ลดเสมหะ แก้ไข้ และพิษต่างๆ
– ใช้ขับลม ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย
– บำรุงเส้นผมให้ดกดำ แก้ผมร่วง
– บดหรือตำนำไปประคบที่กระหม่อมเด็ก ช่วยลดอาการปวดศีรษะในเด็ก น้ำมูลไหล ตัวร้อน มือ และเท้าเย็น
– นำหัวหอมสดทุบให้แตก แล้วนำไปต้มกับน้ำร้อนรับประทาน หรือทุบให้แตกนำมาสูดดมช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ดี เช่น โรคคอ และหลอดลมอักเสบ
– ใช้ทารักษากลากเกลื้อน
– ใช้ต้มน้ำดื่มช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ
– ใช้ต้มน้ำดื่มใช้เป็นยาปลุกกำหนัด (Aphrodisiac) หรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ
– ใช้ฆ่าพยาธิ
– ใช้ต้มน้ำดื่มหรือรับประทานสดหรือปรุงอาหาร ช่วยรักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดคอลเลสเตอรอลในเส้นเลือด เพราะในหัวหอมมีกรดลีโลอิก (Lenoleic Acid) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และยังช่วยขยายเส้นเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้สะดวกขึ้น
– น้ำสกัดจากหัวหอมหรือการนำมารับประทาน ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ดีกว่ากระเทียม
การปลูกหอมแดง
หอมแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วน ดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดของดินประมาณ 5.0-6.8 และต้องการความชื้นในดินสูง สม่ำเสมอ แต่ขณะหัวหอมแตกหัวใหม่ จะต้องการสภาพดินแห้งหรือดินร่วน ไม่แน่น ชอบอากาศชุ่มชื้น และได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน ชอบอากาศเย็น ช่วงอุณหภูมิประมาณ 13-24 องศาเซลเซียส เกษตรกรส่วนมากมักปลูกหัวหอมในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ใช้ระยะเพาะปลูกประมาณ 45-50 วัน
1. การเตรียมพันธุ์หอมแดง
การคลุกพันธุ์หอมแดง เป็นวิธีที่สะดวก ประหยัดและได้ผลดี เนื่องจากเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถจับติดหัวหอมแดง สามารถป้องกันการทำลายของเชื้อโรคที่ติดมากับหัวพันธุ์หอมแดง และเชื้อโรคในดินได้อย่างดี เช่น โรคเมล็ดเน่า และโรครากเน่าระดับดิน นอกจากนี้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เจริญสามารถแผ่ขยายติดสู่ระบบรากของหอมแดง ช่วยปกป้องระบบรากจากเชื้อโรค ป้องกันโรครากเน่า วิธีการคลุกหัวพันธุ์หอมแดงมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ หัวพันธุ์หอมแดงที่ผ่านการคลุกเชื้อแล้วต้องนำไปใช้ปลูกทันที ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานๆ
วิธีการคลุกหัวพันธุ์หอมแดง คือ ใช้ผงเชื้อไตรโคเดอร์มา ชนิดผงแห้ง เช่น ยูนิกรีน ยูเอ็น-1 หรือเชื้อสดบนเมล็ดพืช คลุกหัวพันธุ์ในอัตรา 10-20 กรัม ต่อหอมแดง 1 กิโลกรัม อาจเติมน้ำสะอาดหรือสารจับติด (Sticker) ลงไปเล็กน้อยในขณะคลุกเพื่อช่วยให้ผงเชื้อจับติดหัวพันธุ์หอมแดงได้ดีขึ้น
การเตรียมแปลงปลูก
หอมแดงเป็นพืชที่มีระบบรากสั้น มีขอบเขตรากลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดังนั้น ในระดับความลึกนี้ หอมแดงจึงต้องการหน้าดินร่วนซุย และมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ มีการระบายน้ำ และอากาศดี ไม่ต้องการดินแน่น โดยเฉพาะระยะที่มีการแตกหัวใหม่ การเตรียมดินให้ร่วนซุยจะช่วยให้หอมแดงเจริญเติบโตได้ดี ด้วยการไถพรวนดินครั้งแรก ลึก 20 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช ตากแดดทิ้งไว้ 7-15 วัน หลังจากนั้น ไถพรวนดินให้ร่วนด้วยผานที่เล็กลง ลึก 20-30 เซนติเมตร และตากดินก่อนปลูก 3-7 วัน ก่อนไถพรวนครั้งที่ให้หว่านปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่
การเตรียมแปลงเพาะปลูกโดยการไถพรวนและย่อยดินให้เป็นก้อนขนาดเล็ก และปรับให้ผิวหน้าของแปลงที่จะปลูกหอมแดงเรียบสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรย่อยให้ละเอียดมากเพราะจะทำให้น้ำซึมผ่านได้ยาก ดินจะแน่นทึบ ในฤดูฝนแปลงปลูกหอมแดงจะต้องยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้น้ำฝนระบายออกได้ ระยะห่างระหว่างแปลงจะเว้นไว้ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อเป็นทางเดินในการให้น้ำหรือกำจัดวัชพืช ส่วนดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นดินร่วนปนทรายจึงไม่จำเป็นต้องยกร่อง เพราะจะทำให้เสียแรงงานมาก และจะทำให้ดินแห้งเร็ว ในพื้นที่ที่มีดินกรดควรใส่ปูนมานหรือปูนขาว
วิธีการปลูก
หอมแดงปลูกได้ 2 วิธี
1. ใช้หัวพันธุ์ เป็นวิธีของเกษตรกรที่นิยมปฏิบัติกันมานาน หัวหอมแดงที่จะปลูกต้องผ่านการพักตัวมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะปลูกได้
2. ใช้เมล็ดพันธุ์ เป็นวิธีที่ลดต้นทุนในการผลิตในการซื้อหัวพันธุ์ที่มีราคาแพง
ก่อนปลูก 1-3 วัน ควรให้น้ำในแปลงให้ชุ่มก่อน ขั้นตอนการปลูก นำหัวพันธุ์ที่พักตัวดีแล้วหรือหัวพันธุ์ที่เก็บไว้นาน 2-4 เดือนหลังจากเก็บเกี่ยว มาตัดรากแห้งออก แยกหัวออกจากกันให้เป็นหัวเดี่ยวๆ แล้วฝังหัวลงไปในดินให้ปลายของหัวอยู่เสมอผิวดิน ระยะปลูกที่ 15 x 15 ซม. ปิดฟางหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อหอมแดงงอกได้ประมาณ 15 วัน จึงหว่านปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21% อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ แล้วให้น้ำเช้าเย็นหรือวันละครั้ง แล้วแต่สภาพความชุ่มชื้นของผิวดิน
เบลเยี่ยม และคณะ (2534) ทำการทดลองหอมแดงในระยะ 10×10, 15×10, 15×15, 20×10, 20×15 ซม. และ 20×20 ซม. โดยใช้กล้าหอมแดงอายุ 45 วัน พบว่า ระยะ 15 x15 ซม. ให้ผลผลิตสูง
หอมแดงเป็นพืชรากตื้น อยู่ที่ชั้นดินลึกประมาณ 10 ซม. ซึ่งความลึกที่ความชื้นสูญเสียได้อย่างรวดเร็วจากการระเหยน้ำ ซึ่งแปลงปลูกหอมแดงไม่ควรมีวัชพืช และดินแปลงปลูกต้องมีความชุ่มชื้นอย่างต่อเนื่อง ระวังอย่าให้ดินผิวแปลงแตกระแหง เพราะจะทำให้ต้นหอมแดงชะงักการเจริญเติบโต และปลายใบเหลือง ดังนั้น การปลูกหอมแดงจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุคลุมดินเพื่อรักษาให้หน้าดินให้ชื้นมากที่สุด และช่วยกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ วัสดุคลุมดินที่ใช้ ได้แก่ ฟางข้าวหรือใช้แกลบ
การดูแล
1. การให้น้ำ
หอมแดงต้องการน้ำตลอดช่วงเพาะปลูกประมาณ 250-400 มิลลิเมตร การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ดินแน่น มีน้ำขัง ดินขาดอากาศ ทำให้รากเน่าได้
– ให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกถึงอายุ 7 วัน ทุกวัน
– อายุ 7-20 วัน ให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง เพราะเป็นระยะที่หัวเริ่มแตก ต้องเว้นการให้น้ำ เพื่อให้ดินมีช่วงที่แห้งเหมาะสำหรับการขยายจำนวนหัว
– อายุ 21-70 วัน ให้น้ำ 1-2 วัน/ครั้ง
– หยุดให้น้ำหอมแดงก่อนการเก็บเกี่ยว 10-15 วัน และให้น้ำก่อนถอนหอมแดง 1 วัน เพื่อให้ง่ายตอนถอน
2. การใส่ปุ๋ย
– ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ขี้อ้อย อัตราไร่ละ 3-5 ตัน โดยการหว่านก่อนไถพรวนดินครั้งสุดท้าย
– ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตราไร่ละ 30-50 กิโลกรัม รองพื้นก่อนปลูก และในระยะแตกกอ ทั้งนี้ ในระยะแตกยอดให้ใส่ปุ๋ยยูเรียไร่ละ 10 -15 กิโลกรัม
3. การควบคุมแมลงศัตรูพืช
หนอนกระทู้ผักหรือหนอนกระทู้หลอดหอม เป็นหนอนที่เป็นศัตรูสำคัญที่สุดในการปลูกผัก เนื่องจากสามารถสร้างความต้านทานยาหรือเรียกว่าหนอนดื้อยา หนอนกระทู้หอมชอบซ่อนตัวตามใต้ใบยอด ซอกกาบใบ กัดกินใบหอม การทำลายพบทั้งกลางวัน และกลางคืน
ลักษณะของวงจรชีวิต ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง แม่ผีเสื้อจะมีสีน้ำตาลแก่ปนเทา ลักษณะเด่นคือ ตรงกลางปีกคู่หน้ามีจุด 2 จุด สีน้ำตาลอ่อน ปีกคู่หลังบางกว่าปีกคู่หน้า ปีกคู่หลังสีขาว ปีกคู่หน้าสีเข้มกว่าปีกคู่หลัง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม หลบอยู่ตามใบพืช ใบผัก ตามที่รกพุ่มวัชพืชหรือใต้เศษพืช ตัวแก่ชอบวางไข่ตามโคนไข่ มีการวางไข่ตอนหัวค่ำ (18.00-20.00 น.) เป็นกลุ่ม ๆสีขาว จำนวนประมาณกลุ่มละ 20 ฟอง
ตัวอ่อนเป็นตัวหนอน ลักษณะอ้วน ผนังลำตัวเรียบมีสีหลายสีตามสภาพแวดล้อมหรือสีใบพืชที่เกาะ (ปรับตัวพลางให้เข้ากับสีที่มันเกาะอยู่) ด้านข้างมีแถบสีขาวข้างละแถบ พาดตามยาวของลำตัว ระยะตัวหนอนประมาณ 14-17 วัน แล้วเข้าดักแด้ประมาณ 5-10 วัน ดักแด้อยู่ใต้ดินบริเวณโคนต้น ลึกประมาณ 1 นิ้ว เติบโตโดยการลอบคราบ (ประมาณ 5 ครั้ง) หลังจากการลอกคราบ 1-2 ครั้ง แล้วเข้าทำลายพืชผักได้รุนแรงมาก โดยมีวงจรชีวิต 25-36 วัน
วิธีป้องกัน และกำจัดศัตรูหอมแดง
1. คอยระวัง และควบคุมมิให้เพิ่มจำนวนด้วยการกำจัดวัชพืช และพืชอาศัยอื่นๆ ควรสลับปลูกพืชชนิดอื่นบ้างหรือเว้นระยะปลูก 1-2 ปี เพื่อตัดวงจรการระบาด เช่น เปลี่ยนไปปลูกผักพวกถั่วหรือข้าวโพดฝักอ่อน
2. ทำลายผีเสื้อก่อนวางไข่ โดยใช้หลอดไฟสีล่อให้บินมาเล่นแสงบริเวณหลอดไปเบลคไลค์หรือหลอดไฟนีออนหรือตะเกียงเจ้าพายุก็ได้ เนื่องจากตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืนชอบเล่นแสงไฟเวลากลางคืนช่วงหัวค่ำประมาณ 19.00-23.00 น.
3. ใช้เชื้อแบคทีเรียบีที (Bt) ผสมกับสารจับใบ ฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นทุก 5 วัน จนกว่าการระบาดจะลดลง
การเก็บเกี่ยว
ต้นหอมแดงเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 45 วัน หอมแดงที่ปลูกจากหัวเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 60 วัน หอมแดงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวต้องแก่จัด มีใบแห้งตามธรรมชาติ โดยห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นบังคับให้ใบแห้ง เพราะหัวหอมอาจเน่าเสียหายหรือมีอายุเก็บไว้บริโภคสั้น ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 10-15 วัน จะต้องงดให้น้ำ และให้น้ำอีทีก่อนเก็บเกี่ยว 1 วัน เพื่อให้หอมแดงถอนได้ง่าย การเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการมือถอนหรือใช้จอบหรือเสียมขุดร่วมด้วย หลังการเก็บเกี่ยว หอมแดงจะเก็บได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวบนแปลง ถ้าเกิน 6 เดือน หัวหอมแดงจะฝ่อไม่สามารถรับประทานและไม่สามารถนำไปเพาะปลูกได้
การเก็บเกี่ยวหอมแดงมีพิจารณา ดังนี้
1. อายุหอมแดง
เบลเยี่ยม และคณะ (2534) ได้ศึกษาระยะการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของหอมแดง ที่อายุ 60,70,80,90,100 และ 110 วัน ระยะปลูก 20×20 ซม. พบว่า หอมแดงที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 80 วัน จะให้ผลผลิตสูงสุด คือ 6,570 กิโลกรัม/ไร่ และได้ศึกษาวิธีปลูกหอมแดงที่เหมาะสมโดยใช้กล้าปลูกด้วยเมล็ด อายุ 45 วัน ในระยะปลูก 15×15 ซม. พบว่า ที่ระยะปลูก 60 วัน ใบเริ่มเหี่ยว การแตกกอประมาณ 3.9 หัว ขนาดของหัว 3.3 ซ.ม. มีความสูงประมาณ 35 ซ.ม.
2. ลักษณะลำต้น ใบ และหัว
หอมแดงที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยว โคนใบจะอ่อน และหักพับ ใบสีเหลือง สีเปลือกด้านนอกของหัวเข้ม
3. สีของหัวหอมมีสีแดงเข้ม
4. ลักษณะหัวหอมอวบ เต่งตึง เปลือกนอกมันวาว มีขนาดหัวใหญ่
เอกสารอ้างอิง
1. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2544. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.