Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
หม่อน (mulberry) หรือมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน มีอายุนานได้มากกว่า 100 ปี หากไม่มีปัจจัยด้านโรคมารบกวน สำหรับประเทศไทยพบมีการปลุกมากในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อการผลิตเส้นใยไหม และผ้าไหม มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคอีสานเรียก มอน ภาษาจีนเรียก ซังเยี่ย เป็นต้นลักษณะเด่นของหม่อนเป็นไม้ทรงพุ่ม สูงประมาณ 2-5 ม. ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง 8-15 ซม. ยาว 10-15 ซม. ด้านขอบใบมีรอยหยัก ใบมีลักษณะสาก ส่วนดอกมีสีขาวหม่นหรือแกมเขียว ออกเป็นช่อ ผลมีลักษณะเป็นผลรวม เมื่อสุกจะมีแดง สีม่วงแดง สุกมากจะมีสีดำ ตามลำดับ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว
คุณค่าทางโภชนาการ
– โปรตีน 1.68 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 21.35 กรัม
– ไขมัน 0.47 กรัม
– เส้นใย 2.03 กรัม
– แคลเซียม 0.21 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 0.07 มิลลิกรัม
– เหล็ก 43.48 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 25 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ 50.65 มิลลิกรัม
– วิตามินบีหนึ่ง 3.66 มิลลิกรัม
– วิตามินบีสอง 930.10 มิลลิกรัม
– วิตามินบีหก 6.87 มิลลิกรัม
– กรดโฟลิก 3.42 มิลลิกรัม
– ความเป็นกรด-ด่าง (pH) 5.90
– ความชื้น 72.91%
ประโยชน์หม่อน
1. ใบสดเมื่อนำใบมาเคี้ยวสดๆจะมีรสหวานอมขมเย็นเล็กน้อย บางท้องถิ่นนำมากินสด
2. ปัจจุบันนิยมนำใบมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน ซึ่งจะให้กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ และรสชาติเหมือนชา แต่อมหวานเล็กน้อย
3. บางท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ นิยมใบมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้มต่าง ซึ่งจะเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
4. ในส่วนของผลสุก สามารถกินเป็นผลไม้หรือเป็นอาหารนกได้
5. บางท้องที่ที่มีการปลูกหม่อนมากจะนำผลหม่อนมาหมักเป็นไวน์จำหน่าย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามสถาน Otop ต่างๆ ลักษณะไวจากผลหม่อนจะเป็นสีม่วงอมแดง หรือนำผลสุกมารับประทานสดซึ่งจะให้รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย ในบางท้องที่มีการจำหน่ายลูกหม่อนสุกสามารถเป็นรายได้เสริมอีกทาง
ข้อแนะนำการนำไปใช้
1. การเลือกใบหม่อนเพื่อทำยา ควรเลือกใบเขียวสด ดูอวบทั่วทั้งใบ และไม่มีรอยกัดกินของแมลง
2. การนำใบหม่อนมาทำยาสามารถทำด้วยวิธีการตากแห้งใบ แล้วบดอัดใส่แคปซูลรับประทานหรือการนำใบแห้งมาต้มดื่มเป็นชาใบหม่อน
3. ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่อง และในปริมาณที่มากๆ เพราะอาจได้รับสารแทนนินที่มีผลต่อระบบการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้
4. หากพบมีอาการแพ้หรือมีผลผิดปกติในร่างกาย ให้หยุดการใช้ทันที
สารสำคัญที่พบ
ผลหม่อน
– anthocyanin
ใบหม่อน
– flonoid phytoestrogen
– triterpene
– ceramide
– mulberroside
– kuwanon L
– mulberrofuran A
– sangenone C
– น้ำมันหอมระเหย
กิ่ง และลำต้น
– 2-oxyresveratrol
– mulberroside F
สรรพคุณหม่อน
ผลหม่อน
– ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– แก้อาการกระหายน้ำ
– ช่วยป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
ใบหม่อน (ต้มน้ำหรือใบแห้งชงเป็นชาดื่ม)
– ช่วยในการผ่อนคลาย
– แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
– ช่วยลดไข้หวัด และอาการปวดหัว
– ช่วยแก้อาการวิงเวียนศรีษะ
– แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้คอแห้ง
– ต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อมสภาพของเซลล์
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และช่วยทุเลาอาการจากโรคเบาหวาน
– ลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด
– ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– ช่วยลดความดันเลือด
– ต้านแบคทีเรีย ช่วยแก้อาการท้องเสีย
กิ่ง และลำต้น
– บรรเทาอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ
– ลดอาการมือเท้าเป็นตะคริว
งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
หม่อนเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่มีการศึกษา และวิจัยถึงสรรพคุณของหม่อนที่ได้จากใบ และผลหรือลำต้น พบสรรพคุณมากมาย ได้แก่
จินตนาภรณ์ และคณะ (2551) ได้ศึกษาฤทธิ์ผลหม่อนที่มีต่อเซลล์สมองต่อการเรียนรู้ และความจำในหนูขาว พบว่า สารสกัดจากผลหม่อนสามารถทำให้หนูทดลองมีความจำ และมีศักยภาพการเรียนรู้มากขึ้น โดยการให้ผลหม่อนขนาด 2 และ 10 มก./น้ำหนักตัวกิโลกรัม พร้อมพบว่า สารสกัดผลหม่อนสามารถลดปริมาณอนุมูลอิสระลดลงได้
ในต่างประเทศ มีการศึกษาส่วนประกอบทางเคมีของผลหม่อนขาว (Morus alba L.) ผลหม่อนแดง (Morus rubra L.) และผลหม่อนดำ (Morus nigra L.) พบสารประกอบฟีนอล และเคอร์ซีทิน ในปริมาณสูงตามระยะความสุก โดยพบในผลหม่อนดำสูงสุด ส่วนกรดไขมันที่พบ ได้แก่ กรดลิโนเลอิก (54.20%) กรดปาล์มมิติก (19.80%) และกรดโอเลอิก (8.41%) ปริมาณความหวานในช่วง 15.90-20.40 องศาบริกซ์ และพบวิตามินซี ประมาณ 0.19-0.22 มิลลิกรัม/กรัม
จากการวิจัยที่โรงพยาบาลสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีการให้ยาปัจจุบันร่วมด้วยกับแคปซูลใบหม่อน ขนาด 20 กรัม/วัน นาน 8 สัปดาห์ พบว่า มีผลช่วยในการลดน้ำตาลในเลือด ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับยาร่วมกับใบหม่อนไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ลูกหม่อน mulberry (มัลเบอร์รี่) เป็นผลหม่อนมีลักษณะสีแดง สีม่วงแดง และสุกจัดจะออกสีม่วงดำหรือสีดำ พบสารในกลุ่ม anthocyanin ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ต่อต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นยังพบวิตามิน C ในปริมาณสูง ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย
ในส่วนของกิ่ง ลำต้น พบสารหลายชนิดที่กล่าวในข้างต้น ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการสร้างเมลานินที่เป็นสารสร้างเม็ดสี จึงมีการสกัดสารดังกล่าวมาใช้ในเครื่องสำอางเพื่อความสวยความงามทำให้ผิวขาวนวล ผลจากฤทธิ์ทางยาอย่างอื่นมีการศึกษาพบช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้าเป็นตะคริว
การปลูกหม่อน
การขยายพันธุ์หม่อนนิยมใช้วิธีการปักชำกิ่งมากที่สุด เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถให้ต้นหม่อน และใบหม่อนที่สมบูรณ์เต็มที่ได้
กิ่งพันธุ์หม่อนที่ใช้ในการปักชำ ควรเป็นกิ่งแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี ขึ้นไป จนถึง 2 ปี ไม่ควรใช้กิ่งที่มีอายุมากเกินกว่า 2 ปี ลักษณะกิ่งออกสีเขียวปนเทา สีเทาหรือสีน้ำตาลปนเทา โดยการตัดกิ่งควรตัดความยาวประมาณ 15-20 ซม. โดยให้มีตายอดหรือตาใบติดประมาณ 2-3 ตา และควรตัดกิ่งทั้งสองด้านเป็นรูปปากฉลาม
การปักชำจะใช้วิธีการปักทั่วไป โดยการเสียบกิ่งลงดินลึกประมาณ 7-10 ซม. โดยให้ตายอดตั้งขึ้น ในแนวเอียงประมาณ 40-50 องศา
ระยะการปักชำในแปลงประมาณ 1.5-2 เมตร หลังจากการปักชำอาจรดน้ำหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ การปักชำที่ให้ได้ผลดีควรปักชำในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพราะกิ่งจะอาศัยน้ำฝนเติบโตได้เอง
โรค และแมลง
1. โรคของหม่อน ได้แก่ โรครากเน่า โรคใบด่าง เป็นต้น
2. แมลงศัตรูที่สำคัญ แมลงประเภทปากดูด และปากกัด ได้แก่
– แมลงประเภทปากดูด ได้แก่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยชนิดต่างๆ ไรแดง เป็นต้น ซึ่งแมลงเหล่านี้ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้น ใบ และยอดอ่อนทำให้หม่อนหยุดการเจริญเติบโต หรือเติบโตช้า จนถึงใบหงิกงอ และแห้งตาย
– แมลงประเภทปากกัด ที่สำคัญได้แก่ แมลงค่อมทอง ด้วงเจาะลาต้น ปลวก เป็นต้น เป็นแมลงที่ชอบกัดกินลำต้น ใบ และใบอ่อน ทำให้ต้นหรือกิ่งหม่อนแห้งตาย