หนอนใยผัก

Last Updated on 12 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

หนอนใยผัก เป็นศัตรูพืชที่เป็นตัวอ่อนในระยะดักแด้ของผีเสื้อ พบระบาด และทำความเสียหายอย่างรุนแรงกับพืชชนิดผักตระกูลกะหล่ำ (Cruciferae) โดยชอบแทะกินผิวใบด้านล่าง และปล่อยเหลือผิวใบด้านบนไว้เป็นเยื่อโปร่งแสงเป็นวงกว้าง หากมีการระบาดมากจะกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบหรือใบแหว่งเหี่ยวตายได้ง่าย หากมีสิ่งรบกวนจากภายนอกหนอนใยผักจะดิ้น และสร้างใยทิ้งตัวห้อยลงบนพื้น

ชื่อสามัญ Diamondback moth
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plutella xylostella Linnaeus.
อันดับ Lepidoptera
วงศ์ Plutellidae

ลักษณะหนอนใยผัก

• ตัวเต็มวัย
ระยะตัวเต็มวัยของหนอนใยผักจะเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามใบพืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชผัก ลำตัวมีสีเทาอ่อน ปีกจะแนบติดลำตัวเวลาเกาะจับ ปีกคู่หน้ามีแถบสีเหลืองขาวในแนวยาวของลำตัว ด้านข้างลำตัวมองเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม 3 อัน โดยทั่วไปเพศผู้จะมีสีเข้มกว่าเพศเมีย โดยเฉพาะบริเวณปีกคู่หลังที่มีแถบสีเหลืองอยู่บริเวณขอบปีก ลักษณะสภาพอากาศ และอุณหภูมิมีผลต่อการเติบโต และขยายพันธุ์ โดยพบว่าระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ คือ 10 – 30 องศาเซลเซียส สามารถเพิ่มจำนวนรุ่นผีเสื้อได้ตั้งแต่ 2 – 10 รุ่น

• ไข่
ไข่มีขนาดเล็ก สีขาวออกเหลืองอ่อน มีลักษณะค่อนข้างกลมรี ผิวเรียบ ขนาด 3.5 ? 4.5 มม. ในระยะก่อนใกล้ฟักตัวจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน หากอุณหภูมิ 25 – 26 องศาเซลเซียส พบว่า อัตราการฟักออกจากไข่ได้มากกว่า 94% ในช่วงเวลา 3 – 6 วัน สำหรับผีเสื้อเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 20-360 ฟอง ขึ้นอยู่กับช่วงแสง อุณหภูมิ อาหาร อายุ และสายพันธุ์

• ระยะหนอน

เมื่อใกล้ระยะฟักตัวเปลือกผิวไข่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ตัวหนอนจะใช้ฟันแทะเปลือกไข่เป็นวงกลมพอหลวมตัวออกมา สำหรับระยะหนอน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วยตัวอ่อนระยะที่ 1 และ 2 มีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก ผิวสีซีด ส่วนหัวสีน้ำตาลอ่อน และระยะที่ 3 และ 4 จะมีสาร cuticle ปกคลุมลำตัวหนามากขึ้นทำให้ลำตัวมีความแข็งแรงขึ้น ทั้ง 4 ระยะ จะใช้เวลาประมาณ 10-30 ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อาหาร ความชื้น และอุณหภูมิ

หนอนใยผัก

เมื่อโตเต็มที่จะมีลำตัวสีเขียว และหัวสีน้ำตาล ลำตัวจะยาวขึ้นประมาณ 1 เซนติเมตร มีลักษณะส่วนหัวและส่วนท้ายแหลม ส่วนท้ายบริเวณด้านบนจะมีปุ่มยื่นเป็น 2 แฉก สีลำตัวสามารถเปลี่ยนสีไปตามสภาพความชื้น และอาหารเป็นสีเขียวอ่อน หรือ เขียวปนเหลืองได้ หลังจากหนอนเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะเริ่มเข้าสู่การชักใยเพื่อปกคลุมตัวสำหรับเข้าสู่ระยะดักแด้ต่อไป โดยใช้ระยะเวลาการชักใยประมาณ 1 – 2 วัน

• ระยะดักแด้
ระยะดักแด้ในช่วงแรก ตัวดักแด้จะสร้างใยบางๆ หุ้มตัวเองหลายชั้นเกาะติดบริเวณใต้ใบพืช เมื่อเวลาผ่านไปสีของเส้นใยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจนถึงดำ ระยะดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 4 – 15 วัน ขึ้นอยู่กับฤดู และอุณหภูมิ สำหรับฤดูร้อน และฤดูฝนจะมีระยะดักแด้ประมาณ 4-5 วัน ส่วนฤดูหนาวจะใช้เวลาประมาณ 5 – 6 วัน สำหรับประเทศไทยระยะดักแด้ใช้เวลาเพียง 3 – 5 วัน ขึ้นอยู่กับฤดู และอุณหภูมิ

• ระยะผีเสื้อ
เมื่อดักแด้โตเต็มที่จนพัฒนาลำตัวมีปีก ผีเสื้อจะเจาะรังไหมออกมา โดยลักษณะตัวผู้ และตัวเมียจะมีขนาดเท่ากัน ปีกมีลักษณะสีเทา ส่วนเพศผู้จะมีจุดสว่างบนปีกคู่แรก ในประเทศอินเดียอายุของผีเสื้อจะอยู่ได้ประมาณ 13-20 วัน แต่บางสายพันธุ์ และบางพื้นที่อาจมีชีวิตอยู่ได้มากถึง 58 วัน โดยเฉพาะผีเสื้อเพศเมียที่มีอายุมากกว่าเพศผู้

ชีวิตในช่วงผีเสื้อตัวเต็มวัยจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางคืนสำหรับออกหากินอาหารซึ่งเริ่มตั้งแต่ออกจากรังไหมจนถึงวัยผสมพันธุ์ สำหรับการผสมพันธุ์จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเพศเมียจะเริ่มวางไข่หลังผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว

การแพร่ระบาด และฤดูการแพร่ระบาด

รายงานของกองกีฏ และสัตววิทยา พบว่า หนอนใยผักพบมากตามแปลงปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ อาทิ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า เป็นต้น โดยในประเทศไทยพบมีการระบาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในเกือบทุกพื้นที่ และมักพบการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์

พืชอาหารหนอนใยผัก

อาหารหลักของหนอนใยผักเป็นพืชตระกลูผักที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กวางตุ้ง ผักกาดเขียว คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหัว เป็นต้น เนื่องจากพืชตระกูลนี้มีสาร mustard oil และ glucosides ที่หนอนใยผักต้องการสำหรับการเจริญเติบโต

การป้องกัน และกำจัด

การป้องกัน และกำจัดหนอนใยผัก สามารถทำได้หลายวิธี แต่หนอนใยผักมีช่วงชีวิตสั้น และมียีนที่สามารถพัฒนาความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้ ดังนั้น การป้องกัน และกำจัดจึงควรใช้วิธีหลากหลายร่วมกัน
1. การควบคุมโดยวิธีธรรมชาติ
แตนเบียนชนิดต่างๆในประเทศไทยสามารถใช้เป็นแมลงกำจัดศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะศัตรูพืชที่อยู่ในระยะหนอนกัดกินใบ แตนแบนที่เป็นศัตรูธรรมชาติของหนอนใยผัก ได้แก่ แตนเบียนหนอน และแตนเบียนดักแด้ ทั้งสองชนิดจะจับกินหนอนใยผักในระยะหนอน และระยะดักแด้เป็นอาหาร

การกำจัดโดยใช้ราก็เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมในปัจจุบัน เชื้อราที่นิยมได้แก่ เชื้อราบิวเวอร์เรีย เป็นเชื้อราที่สามารถทำลายหนอนใยผักได้ทุกระยะ รวมถึงในระยะผีเสื้อด้วย ปัจจุบันมีการผลิต และจำหน่ายตามท้องตลาดในกลุ่มเกษตร นอกจากนั้น อาจใช้วิธีการกำจัดด้วยเชื้อแบคทีเรีย ที่ปัจจุบันมีการผลิตออกจำหน่ายตามท้องตลาดเช่นกัน ผลิตภัณฑ์จำพวกนี้อาจอยู่ในรูปผงหรือสารละลายของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะใช้โดยวิธีการฉีดพ่นในรูปของสารละลายน้ำ

การการควบคุมด้วยวิธีธรรมชาติในด้านอื่น ได้แก่การใช้สัตว์กินหนอน กินผีเสื้อต่างๆ เช่น ค้างคาว แมงมุม นกชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้จะอาศัยสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อยู่โดยรอบแปลงเกษตรเป็นตัวควบคุม แต่การที่จะใช้ประโยชน์จากสัตว์เหล่านี้ได้จำเป็นต้องมีสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอาศัย

2. การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม
การควบคุมโดยวิธีเขตกรรม ได้แก่

– การกำจัดพืชผักที่มีการระบาดของหนอนใยผักออกให้หมด ด้วยการฝัง การเผา การหมักน้ำ หรือการทำปุ๋ยหมัก วิธีนี้จะช่วยหยุดการระบาดของหนอนไปสู่แปลงอื่นๆได้

– การให้น้ำด้วยระบบ sprinkler แทนระบบน้ำหยดสามารถเป็นวิธีหนึ่งที่ควบคุมหนอนใยผักได้ เนื่องจากการให้น้ำเป็นฝอยหรือหยดจากด้านบนของแปลงผักสามารถทำให้ไข่หรือหนอนใยผักในระยะอ่อนร่วงลงด้านล่างหรือจมน้ำได้ อีกทั้งทำให้ไม่เอื้อต่อการวางไข่ของผีเสื้อกลางคืน

3. การควบคุมโดยใช้พันธุ์ต้านทาน
เป็นวิธีการเลือกใช้พันธุ์พืชในการปลูก สำหรับบางพันธุ์จะมีความต้านทานต่อการแพร่ระบาดของหนอนใยผัก หรือเป็นพันธุ์ที่หนอนใยผักไม่ชอบกัดกิน ลักษณะพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ พันธุ์ผักที่มีใบมันเงา สามารถสร้างไข (wax) เคลือบผิวใบได้มาก ทำให้หนอนตัวอ่อนไม่สามารถกัดกินใบได้

4. การใช้กับดักแมลง
การใช้กับดักแสงไฟ เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ประโยชน์ทั้งในด้านการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะชนิดที่เป็นผีเสื้อ และประโยชน์ในด้านเป็นกับดักแมลงที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แมงดานา จิ้งหรีด เป็นต้น วิธีนี้มักใช้หลอดเรืองแสงสีน้ำเงินขนาด 20หรือ40 วัตต์ เปิดไว้ในเวลากลางคืนบริเวณบ้านหรือแปลงผัก โดยด้านล่างหลอดไฟจะมีตุ่มหรือภาชนะใส่น้ำคอยรองรับแมลงที่ร่วงลงมา

การใช้กับดักกาว เป็นวิธีที่ใช้กาวเหนียวเป็นกำดัก ด้วยการทากาวบนแผ่นไม้ ท่อนไม้ ปักทิ้งไว้ตามแปลงผัก หรือ ใช้ร่วมกับกับดักแสงไฟ เมื่อแมลงบินมาจับ แมลงจะติดกับกาวแน่นไม่สามารถขยับได้

5. การควบคุมโดยสารเคมี
วิธีการใช้สารเคมีในปัจจุบันพบว่าหนอนใยผักสามารถสร้างความต้าน และทนต่อสารเคมีบางชนิดได้ ทำให้สูญเสียค่าสารเคมีโดยเปล่า กลุ่มสารเคมีในปัจจุบันที่หนอนใยสามารถต้านทานได้ ได้แก่ teflubenzuron กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (synthetic pyrethroid) และ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) ส่วนสารที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด เช่น abamectin อัตรา 2.88 กรัม ใช้สลับกันกับ diafenthiuron อัตรา 120 กรัม สามารถกำจัดหนอนใยผักให้ผลดี

พิสมัย และคณะ (2526) ได้ทดลองใช้สารฆ่าแมลง พบสารเคมีที่ให้ผลดี ได้แก่ cypermethrin(Cymbush 25 % E. C.) และ IKI 7899 5 % E.C. ในอัตรา 8 และ 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยฉีดเว้นช่วง 3 วันต่อ/ครั้ง ส่วนการทดสอบสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น deltamethrin, permethrin และcyflythrin สารในกลุ่มคาร์บาเมต BPMC และสาร organotin เช่น fentin acetate พบว่าให้ผลสามารถยับยั้งการกินของหนอนใยผักได้ 45 – 66 เปอร์เซ็นต์

การใช้สารระงับการลอกคราบ เช่น trifulumuron (อัลซิสตัน 25 % WP), diflubenzuron (ดิมิลิน 25 % EC), tefluron (แซค – คิลเลอร์ 15 % SC) และ chlorfluazuron (อาทาบรอน 5 % EC) โดยการฉีดพ่นในอัตรา 30 – 40 กรัม หรือ 20 – 30 กรัม หรือ ผสมสาร 5 – 10 ซีซี หรือ 15 – 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถควบคุม และกำจัดหนอนใยผักได้ดีเช่นกัน

การใช้สารล่อ หรือ sex pheromone สำหรับเป็นกับดักล่อให้ผีเสื้อหนอนใยผักเข้ามาติด โดยอาจใช้ร่วมกับกับดักกาวหรือเป็นกรงขัง สารล่อที่ใช้ ได้แก่ สารล่อ Takeda ซึ่งมีส่วนผสมของ cis – 11 – hexadecenol จำนวน 0.1 mg สามารถล่อให้ผีเสื้อบินมาเข้ากับดักได้

6. การควบคุมโดยใช้สารสกัดจากพืช (Plant extracts)
สารสกัดจากพืชที่ฤทธิ์ในการกำจัดหนอนใยผัก ได้แก่ สารสกัดหยาบจากเมล็ดน้อยหน่า เมล็ดทุเรียนเทศ และรากของหนอนตายหยาก ส่วนสารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการไล่หนอนใยผัก ได้แก่ หนุมานประสานกาย และตะไคร้หอม นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรชนิดอื่น ได้แก่

สุรพล (2544) รายงานว่า สาร 4, 11- selinnadien – 3 – one ที่ได้จากแห้วหมู พบว่า มีค่าความเป็นพิษ LD50 อยู่ระหว่าง 7 – 12 ppm และพบว่า การใช้สาร piperonyl butoxide (PB) และ triphenyl phosphate (TPP) เป็นสารเพิ่มประสิทธิภาพ (synergists) พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดได้ 2 – 6 เท่า

กฤษกนธ์ (2530) ได้ศึกษาประสิทธิภาพสารสกัดจากสะเดา พบว่าสารสกัดสะเดาจาก deoiled methanol ให้ผลดีกว่าสารสกัดด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ โดยมีค่า LC50 และเมื่อใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพ (synergist) piperonyl butoxide ร่วมกับสารสกัดจากสะเดา พบว่า อัตราการตายของหนอนใยผักเพิ่มขึ้นถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ที่เวลา 24 ชั่วโมง