Last Updated on 3 กุมภาพันธ์ 2017 by puechkaset
แห้วหมู ( Cyperus rotundus Linn.) จัดเป็นอยู่ในกลุ่มวัชพืช (weed) ที่ยากแก่การควบคุม พบได้ทั่วไปในทุกภาค มักขึ้นตามข้างทุ่งนา สนามหญ้า และพื้นที่ว่างทั่วไป โดยจะพบขึ้นเป็นหย่อมๆหรือกระจายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากมีระบบรากเป็นเถาในดิน
แห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus rotundus Linn. ชื่อภาษาอังกฤษ nut grass หรือ nutsedge นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างๆ ในแต่ละประเทศ และแต่ละท้องถิ่น เช่น อินเดียเรียก mutha, musta, mustuka ญี่ปุ่นเรียก ko-bushi ส่วนประเทศไทยเรียก หญ้าแห้วหมู บางจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอนเรียก หญ้าขนหมู
แห้วหมูจัดเป็นพืชล้มลุก อยู่ในวงศ์กก เป็นวัชพืชอายุมากกว่า 1 ปีหรือหลายฤดู (perennial weed) เติบโต และออกดอก ผลได้หลายครั้ง เป็นพืช C4 ที่ตรึงคาร์บอนจากการสังเคราะห์แสงเป็นสารประกอบที่มีคาร์บอน 4 อะตอม มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ และแบบอาศัยเพศ
ลักษณะพฤกษศาสตร์
หัว และราก
แห้วหมูมีหัวใต้ดิน เชื่อมต่อด้วยไหลขยายจากต้นเดิมเป็นหัวใหม่ และสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ หัวมีขนาดเล็ก ปกคลุมด้วยเปลือกสีดำ เนื้อด้านในมีสีเหลืองขาว มีรสเผ็ดปร่า ส่วนไหลมีลักษณะสีน้ำตาลดำ ต้นแห้วหมูพันธุ์ขนาดเล็กจะให้รสเผ็ดมากกว่าต้นแห้วหมูพันธุ์ใหญ่
ลำต้น
ลำตั้นมีลักษณะตั้งตรง ผิวลำต้นมันเรียบ ไม่แตกแขนง รูปทรงสามเหลี่ยม มีสีเขียวแก่ มีความสูงประมาณ 10 -60 เซนติเมตร ตามลักษณะสายพันธุ์ เนื้อเยื่อด้านในอ่อน มีลักษณะเป็นเส้น
ใบ
ใบมีลักษณะเรียวแคบ และยาว ปลายแหลม กลางใบมีสันร่อง ขนาดใบกว้าง 2-5 มิลลิเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนมีสารจำพวก cutin เคลือบ ไม่มีปากใบ ส่วนผิวใบด้านล่างมี cutin เคลือบเช่นกัน แต่มีปากใบ
ดอก
ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ดอกออกเป็นช่อสีน้ำตาล ประกอบด้วยก้านชูดอก มีลักษณะเป็นก้านแข็งรูปสามเหลี่ยม ตั้งตรง มีดอกเชิงลด ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 3-8 เซนติเมตร มีใบประดับรองรับช่อดอก 1 ช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อย 3-10 ช่อ ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ภายในดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 3 อัน อับเรณูยาว 1 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศเมีย 3 อัน เกสรตัวผู้มี 3 อัน อับเรณูยาวแคบ ปลายท่อรังไข่มี 3 แฉก
ผล และเมล็ด
ผลมีเปลือกแข็งรูปยาวเรียว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลม มีหน้าตัดเป็นรูป 3 เหลี่ยมขนาดยาว 1.3-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-0.7 มิลลิเมตร สีน้ำตาล เป็นที่สะสมอาหารประเภทแป้ง และสารสำคัญหลายชนิด เช่น alkaliods, cardiac glycoside, flavonoides, polyphenols, vitamin C, essentail oils ทำให้เกิดกลิ่นฉุนเล็กน้อย
Koomai และ Ueki (1981) ได้ศึกษาแห้วหมูในสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น พบว่าสามารถแบ่งแห้วหมูเป็น 3 chemmotypes คือ
1. H-type ประกอบด้วย Alpha-Cyperone และ Beta-Sellinene พบในประเทศญี่ปุ่น
2. M-type ประกอบด้วย Alpha-Cyperone และ Beta-Sellinene , cyperone และ cyperonone พบในประเทศจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่นไต้หวัน และเวียดนาม
3. O-type ประกอบด้วย cyperone และ cyperonon พบในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และฟิลิปปินส์
นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาพบ type ที่ 4 คือ K-type โดยพบได้ในฮาวาย โดยพบสาร patcoulenyl acetate และ sugeonyl acetate เข้มข้นมากกว่า 3 type แรก
สารประกอบสำคัญ
สารสกัดจากส่วนหัวแห้วหมู พบสารออกฤทธิ์ทางยา และสารเคมีต่างๆหลายชนิดเป็นส่วนประกอบ และมีน้ำมันหอมระเหย เช่น essential oil เป็นส่วนประกอบด้วย สารต่างๆที่พบ ได้แก่ สารประกอบพวก Alpha-cyperone (4,11- selinadiene-3-one) และterpene สารประกอบ alkaloids, wax, casnaubic acid, glycerol, flavonoid นอกจากนั้น ยังพบ fatty oil ที่เป็นกรดไขมันจำเป็น และกรดไขมันไม่จำเป็น น้ำตาล, albuminous matters สารประกอบ sesquiterpenoids เช่น cyperene และ cyperol สารจำพวก isocyperol และ cyperolone
Subhuti (2005) รายงานว่าพบสารประกอบหลายชนิดในหัวแห้วหมู เช่น cyperene, sugenol, cyperotundone, sugetriol, kobusone, cyperenone และ isokobusone
Wanauppathamkul (1968) ได้ศึกษาพบสารบางชนิดในหัวแห้วหมูที่สามารถต้านเชื้อมาลาเรียได้ เช่น caryophyliene oxide, patchoulenone, 10,12-peroxycalamenene และ 4,7-dimethyl-1-tetralone ซึ่งเรียกว่า antimalarial compound
สรรพคุณหญ้าแห้วหมู
หัวแห้วหมูได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน ทั้งใช้เป็นทาภายนอก ใช้เป็นอาหาร ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ยารักษาโรคภายในที่ถูกเขียนหรือปรากฏในตำรับยาแผนโบราณของไทย และต่างประเทศหลายขนาน
การใช้ประโยชน์จากหญ้าแห้วหมู นิยมนำส่วนหัวใต้ดินมาใช้มากที่สุด เพราะประกอบด้วยสารหลายชนิดดังที่กล่าวข้างต้น สารสกัดที่ได้จากหัวแห้วหมูหรือการนำหัวแห้วหมูมาใช้นั้น นิยมใช้รักษาโรคต่างๆ ได้แก่
ยารักษาภายใน : ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการแน่นจุกเสียด แก้โรคบิด ขับปัสสาวะ ใช้ในการรักษาโรคบาดทะยัก มะเร็ง ยาลดไข้ แก้กระหายน้ำ รักษาโรคตับอักเสบ ยาถ่ายพยาธิตัว แก้ชัก เชื้อมาลาเรียลดฤทธิ์อะฟาทอกซิน ลดความเป็นพิษที่มีต่อตับ ลดฤทธิ์แอลกอฮอล์ รักษาแผลในกระเพาะอาหารเพิ่มความดันโลหิต กระตุ้นประสาท กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ลดอาการหดเกร็งของลำไส้ กล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อเรียบ บำรุงหัวใจ กระตุ้นระบบหายใจ ลดการอักเสบ ยับยั้งเอนไซม์ Glutamate pyruvate transaminase, Prostaglandin synthetase , Aldose reductase , gamma– glutamyl transpeptidase ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน Estrogen ช่วยลดระดับไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ และ chlolesteral ในเลือด เพิ่มความเข้มข้นของ Plasma protein และยับยั้งการชีวสังเคราะห์ Prostaglandin
ยารักษาภายนอก : ใช้รักษากลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังชนิดต่างๆ ใช้ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รักษาแผล ฝีหนอง แผลติดเชื้อ
ทางเกษตร : ใช้เป็นสารต้านแมลงศัตรูพืช ป้องกันเชื้อรา ฆ่าไรทะเล
Mansour และคณะ (2004) ได้ศึกษานำสารสกัดจากหัวแห้วหมู สกัดด้วยเอธานอล 70% มากำจัด spider mite พบว่า สารสกัดที่ได้สามารถลดจำนวนครั้งการวางไข่ spidermite ได้อย่างมีนัยสำคัญ
Dadang และคณะ (1996) ได้ศึกษานำสารสกัดจากหัวแห้วหมู ด้วยวิธีการสกัด
ซอกซ์เลต (Soxhlet) พบว่า สารสกัดหัวแห้วหมู ความเข้มข้น 5.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร ทำให้ตัวอ่อนของ diamondback moth ตายได้ 60 % มีค่า LD50 และ LD95 ที่ 1, 3, 8 และ 24 ชั่วโมง ที่ 0.30 และ 1.20, 0.11 และ 0.73, 0.11 และ 0.47, 0.09 และ0.27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ตามลำดับ และพบคุณสมบัติของสาร Alpha-cyperone (4,11- selinadiene-3-one) มีผลยับยั้งการสร้างไคติน ทำให้แมลงไม่สามารถสร้างผนังลำตัวให้แข็งได้ จนตายในที่สุด
สารสกัดจากหัวแห้วหมูออกฤทธิ์ต้านการบีบตัวกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้หนูขาวได้ แต่ไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของกระต่าย มีผลลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดอาการปวดเกร็งได้
สารสกัดจากหัวแห้วหมูด้วยเมธานอล พบว่า ไม่เกิดปฏิกิริยากับ Bacillus subtillis H-17
(Dec + ) และสารสกัดที่เป็น essential oil เป็นสารกำจัดแมลง Rhizoptera dominica และ Stegobium paniceum และใช้เป็นสารขับไล่แมลง Sitophillus oryzae และ Brachus chinensis ได้
ตำรับยา
1. ใช้ส่วนหัวประมาณ 50-100 หัว ที่ล้างน้ำทำความสะอาด และลอกขุยเปลือกออกแล้ว นำมาทุบให้แตก และต้มน้ำดื่ม หรือนำส่วนหัวมาบดเป็นผงอัดใส่แคปซูลรับประทาน สำหรับลดไข้ แก้ไอ ปวดแน่นหน้าอก แน่นท้อง ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ แก้ปวดประจำเดือน แก้ท้องร่วง บำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ
2. ใช้ส่วนหัวแห้งที่ทำความสะอาดแล้ว นำมาบดหรือทุบเป็นผง ผสมน้ำทาแผล ทาโรคผิวหนัง
3. เมื่อมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟื้อ ให้นำส่วนหัวแห้งหรือหัวสด ประมาณ 1 กำมือ ทุบให้แตกนำมาต้มน้ำดื่มหรือบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน
ความเป็นพิษ
พบรายงานการศึกษาความเป็นพิษจากสารสกัดจากส่วนหัวของหญ้าแห้วหมูด้วยอีเทอร์ที่ทำให้หนูถีบจักรตายมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 2 กรัม/น้ำหนักกิโลกรัม ส่วนการใช้เอทานอลเป็นสารสกัด และฉีดเข้าท้องหนู พบว่า มีค่าสารสกัดที่ทำให้หนูตายมากกว่าครึ่งของหนูทั้งหมดมีค่ามากกว่า 0.5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว
การทดสอบการกลายพันธุ์ (mutagenic activity) พบว่า สารสกัดด้วยน้ำ และเมธานอล ขนาด 100 มิลลิกรัม/ซีซี ไม่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการกลายพันธุ์กับ Samonella typhimurium TA 988 และ TA 100 ในจานเพาะเชื้อ
การขยายพันธุ์
หญ้าแห้วหมูพบเกิด และขยายพันธุ์ได้ดีตามพื้นที่ต่างๆ ตามธรรมชาติ มีการขยายพันธุ์ด้วยการแตกต้นใหม่จากส่วนหัวที่เกิดจากไหลใต้ดินแพร่กระจายตามความยาวของไหล ส่วนไหลแก่จะตายเมื่อมีอายุมาก นอกจากนั้น ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่หล่นเมื่อแก่