Last Updated on 3 เมษายน 2017 by puechkaset
หญ้ารูซี่ หรือ หญ้าคองโก (Ruzi Grass) จัดเป็นหญ้าพื้นเมืองของแอฟริกาที่ไทยนำเข้ามาปลูกสำหรับเป็นพืชเลี้ยงโค กระบือ โดยนิยมปลูกมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว และให้ผลผลิตต่อไร่สูง รวมถึงมีคุณค่าทางด้านอาหารสัตว์สูงด้วยเช่นกัน
• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urochloa ruziziensis Crins
• ชื่อสามัญ :
– ruzi
– Kenedy ruzi
– Kennedy ruzi (ออสเตรเลีย)
– Congo signal (แอฟริกา)
– Prostrate signal (เคนยา)
• ชื่อท้องถิ่น : หญ้ารูซี่ หรือ หญ้าคองโก
• ถิ่นกำเนิด : ทวีปแอฟริกา
ประวัติ และการแพร่กระจาย
หญ้ารูซี่/หญ้างคองโก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบประเทศคองโก ซึ่งนิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงโค ปัจจุบันแพร่กระจายในทุกประเทศในเขตร้อน รวมถึงประเทศไทยด้วย
หญ้ารูซี่/หญ้าคองโก ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2511ใน 2 แห่ง คือ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อ. มวกเหล็ก จ. สระบุรี และอีกแห่ง คือ สถานีพืชอาหารสัตว์ปากช่อง ต่อมา ปี 2523 ศูนย์ส่งเสริมการขยายพันธุ์สัตว์ ได้นำหญ้ารูซี่จากประเทศไอเวอรีโคสเข้ามาปลูกเพิ่มอีก และกลายเป็นพันธุ์หญ้ารูซี่ที่นิยมปลูกมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ กองอาหารสัตว์ ได้ดำเนินการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดสำหรับส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และนิยมปลูกแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคอีสาน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้ารูซี่/หญ้าคองโก เป็นพืชอายุหลายปี มีลักษณะลำต้นทั่วไปคล้ายกับหญ้าขน แต่ใบจะเล็ก และดกกว่า โดยหญ้ารูซี่มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน และมีลำต้นอีกส่วนเจริญเหนือดิน โดยลำต้นเหนือดินจะแตกลำต้นเป็นกอ ความสูงของลำต้นประมาณ 150-300 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะทรงกลม เป็นข้อปล้อง ข้อปล้องบริเวณโคนต้นมีรากแตกออก ผิวลำต้นเกลี้ยง สีม่วงเข้ม และไม่มีขน
ใบ
หญ้ารูซี่/หญ้าคองโก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบที่ค่อนข้างบาง คล้ายกระดาษที่มีขนปกคลุม แผ่นกาบใบหุ้มลำต้น ยาวประมาณ 9-16 เซนติเมตร ตรงข้อต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบมีลิ้นใบเป็นขนแข็ง ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม และมีสีเขียวใบตอง แผ่นใบมีลักษณะแผ่กางออกแบนๆ ขนาดแผ่นใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบน และด้านล่างมีขนแข็งปกคลุม
ดอก
หญ้ารูซี่/หญ้าคองโก ออกดอกเป็นช่อ 5-7 ช่อ มีแกนกลางช่อเป็นรูปสามเหลี่ยมมีขนแข็งปกคลุม แต่ละช่อดอกย่อย ยาวประมาณ 4.5-6 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีลักษณะรูปไข่กลับ กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-6 มิลลิเมตร
ประโยชน์หญ้ารูซี่/หญ้างคองโก
1. หญ้ารูซี่นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงโค กระบือ ลำต้น และใบไม่หยาบแข็ง เป็นที่ชอบกินของโค กระบือ
2. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุม โดยเฉพาะขอบบ่อที่ขุดใหม่
คุณค่าทางอาหารสัตว์หญ้ารูซี่ (อายุ 45 วัน จากน้ำหนักแห้งที่ 17.38%)
– CP 11.62%
– EE 3.61%
– เถ้า 10.1%
– CF 28.75%
– NDF 65.67%
– ADF 37.69%
– ADL 3.85%
คุณสมบัติหญ้ารูซี่สำหรับพืชอาหารสัตว์
– เป็นหญ้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับเลี้ยงโค กระบือ
– ลำต้น และใบมีลักษณะอ่อนนุ่ม เนื้อลำต้นไม่แข็งมาก ทำให้เป็นที่ชอบกินของโค และกระบือ
– ลำต้นมีเหง้าสั้น สามารถเก็บเกี่ยวต้นได้ในระดับต่ำ
– ทนต่อการเหยียบย่ำ และแทะเล็มของสัตว์ได้ดี
– ลำต้นแตกกอ และเติบโตได้เร็ว สามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูง
– ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง
– เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน
– ทนต่อดินต่อดินเปรี้ยว และดินเค็มได้ดี
– ไม่ค่อยเกิดโรค หรือ มีแมลงศัตรูมากัดกิน
การปลูกหญ้ารูซี่
การเตรียมพื้นที่
แปลงปลูกจะต้องทำการไถกลบ และกำจัดวัชพืชออกก่อน 1 รอบ มีระยะการตากดินไว้นาน 7-14 วัน โดยก่อนไถให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในปริมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ ควรไถกลบในช่วงเดือนเมษายน เพื่อให้ทันหว่านเมล็ดในเดือนพฤษภาคม
ขั้นตอนการปลูก
หลังจากเตรียมแปลงจนได้ระยะเวลาแล้ว ให้ทำการหว่านเมล็ดลงแปลง พร้อมไถหรือคราดกลบเมล็ด อัตราเมล็ดที่ใช้ประมาณ 2 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนการปลูกด้วยหน่อจะปลูกในระยะห่าง 50×50 เซนติเมตร
การให้น้ำ
โดยทั่วไป เกษตรกรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และจะปล่อยให้หญ้ารูซี่เติบโตเอง โดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่หากถึงช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีฝนตกนาน ก็ควรให้น้ำแก่แปลงหญ้าเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เหง้าแห้งตาย
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยจะเริ่มใส่ตั้งแต่เตรียมแปลง และหลังจากที่เมล็ดงอกแล้วประมาณ 1 เดือน ให้หว่านปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีในอัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่
การเก็บแผ่นหญ้า
หลังจากที่หญ้ารูซี่เริ่มงอกหรือแทงต้นใหม่แล้ว 35-45 วัน จึงทำการตัดเก็บหญ้าได้ โดยควรตัดหญ้าในระดับต่ำ ให้เหลือโคนต้นสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ทั้งนี้ หญ้ารูซี่จะให้ผลผลิตน้ำหนักสด 10-18 ตัน/ไร่ และผลผลิตน้ำหนักแห้งประมาณ 2-2.5 ตัน/ไร่
ขอบคุณภาพจาก www.biogang.net, aagro.net