ส้มโอ (Pomelo) สรรพคุณ และการปลูกส้มโอ

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ส้มโอ (Pomelo/Shaddock) เป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับส้ม ซึ่งเดิมทีเรามักมีความเข้าใจว่า ส้มโอเป็นส้มชนิดหนึ่งเหมือนกับส้มผลเล็ก (Grapefruits) หรือส้มชนิดกึ่งส้มโอกับส้มเกลี้ยงที่เรานิยมรับประทานในทุกวันนี้ที่ใช้คำเรียกว่า “Pomelo” หรือที่เรียกในคำไทย คือ ส้มโอฝรั่ง แต่ความจริงแล้ว ส้มโอ ต่างจาก Grapefruit ทั้งชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงลักษณะอื่นที่ต่างกัน อาทิ ส้มผลเล็กจะมีรสขมอมเปรี้ยว มีเนื้อเป็นกุ้งเล็กๆ และเรียวยาว เวลารับประทานนิยมใช้มีดผ่าครึ่ง แล้วใช้ช้อนตักรับประทาน ส่วนส้มโอ (Pummelo) จะมีรสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว เนื้อเป็นกุ้งใหญ่ และอวบนูน เวลารับประทานนิยมแกะเปลือกออกก่อนจนเหลือแค่กลีบเนื้อผล

การปลูกส้มโอในประเทศไทยในช่วงแรกๆจะมีการปลูกบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงพระนคร และฝั่งธนบุรี ต่อมาจึงส่งเสริม และแพร่กันปลูกมากทั่วภาคกลาง ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์ได้มากมาย โดยมีจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์ในแถบจังหวัดภาคกลาง

• วงศ์ : Rutaceae
• วิทยาศาสตร์ :
– Citrus maxima (Burm.) Merrill
– C. grandis (L.) Osbeck
• ชื่อสามัญ :
– Pomelo
– Pummel
– Shaddock
– Pumpelmoes
– Pomplemose
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

การแพร่กระจาย
ส้มโอเป็นไม้ผลที่พบปลูกในทุกภาคของไทย แต่มีจังหวัดที่ปลูกมาก ได้แก่
– ชุมพร
– นครปฐม
– นครศรีธรรมราช
– เชียงใหม่
– เชียงราย

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุ์ส้มโอที่มีมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด

ส้มโอ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นส้มโอมีลักษณะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และมีรูปทรงที่ไม่แน่นอน มีความสูงของลำต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้น และกิ่งมีหนามรูปทรงอ้วน ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ลำต้นมีทรงพุ่มบริเวณส่วนปลายของลำต้น ขนาดทรงพุ่มประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะเหนียว แต่ไม่แข็ง กิ่งหักได้ยาก

ใบ
ส้มโอเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงวนสลับกันบนกิ่ง ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม แผ่นใบหนา และเป็นเป็นมัน กว้าง 10-12 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยแผ่นใบ และก้านใบ โดยก้านใบจะมีแผ่นใบขนาดเล็กที่เรียกว่า wing ส่วนแผ่นใบจะรูปร่างคล้ายรูปไข่ยาว หรือรูปโล่ ฐานใบแหลมป้าน ปลายใบมน และมีรอยเว้าตรงกลางเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจะมีหยักเล็กๆ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันวาว ส่วนแผ่นใบด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และมีขนนุ่มปกคลุม

ดอก
ดอกส้มโอออกเป็นช่อหรือออกเป็นดอกเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายของกิ่งอ่อน ประกอบด้วยช่อดอกที่เกิดบริเวณปลายยอด และตายอดด้านข้าง แต่ละช่อมีดอก 1-20 ดอก ดอกมีขนาดใหญ่ และเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรในดอกตัวเอง แต่ละดอกมีขนาด 3-7 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่ฐานดอก 3-5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีสีขาว กลีบดอกมีรูปหอก จำนวน 4-5 กลีบ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.5-4.0 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกหนา ด้านในกลีบดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 20-25 อัน เรียงซ้อนกันเป็นวงกลมรอบรังไข่ และมีฐานเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 4-5 กลุ่ม ส่วนด้านในสุดเป็นรังไข่ที่แบ่งเป็นช่องๆ 11-16 ช่อง ทั้งนี้ ดอกส้มโอจะบานจากดอกส่วนปลายก่อน และทยอยบานในดอกโคนช่อ

ดอกส้มโอ

ขอบคุณภาพจาก www.biogang.net

ดอกส้มโอจะเริ่มออกเมื่อปลูกได้ประมาณ 4 ปี และให้ผลผลิตนานกว่า 10 ปี ถึง 20 ปี โดยจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และออกดอกมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะติดผล และเก็บผลได้หลังจากดอกบานประมาณ 8 เดือน หรือจะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ทั้งนี้ ส้มโอพันธุ์ขาวทองดีจะให้ผลสุกช้ากว่าพันธุ์ขาวพวง ซึ่งจะเก็บผลได้ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

ผล
ผลส้มโอมีรูปร่างค่อนข้างกลม บางพันธุ์มีขั้วผลเรียวแหลม ผลมีขนาดใหญ่ ขนาดผลประมาณ 10-13 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองทองตามสายพันธุ์ เปลือกหนาประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นนอกสุด เรียกว่า flavedo มีสีเขียวอมเหลือง มีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ชั้นต่อมา เรียกว่า albedo เป็นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มสีขาวที่มีความหนามาก และชั้นที่สามเป็นเนื้อเยื่อของพูที่หุ้มรอบเนื้อผล ส่วนเนื้อผลแบ่งออกเป็นกลีบๆเรียงติดกันเป็นวงกลม แต่แกะแยกออกจากกันง่าย เรียกลีบเนื้อผลว่า juice sac ภายในกลีบจะฉ่ำด้วยน้ำที่ให้รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว

เมล็ด
เมล็ดส้มโอเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดค่อนข้างน้อย แต่บางพันธุ์มีเมล็ดมาก เมล็ดรวมกันอยู่ตรงแกนกลางของผล มีจำนวนตั้งแต่ 0-265 เมล็ด/ผล เมล็ดมีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสุด เมล็ดมีรูปร่างแบน และผิวย่น เปลือกเมล็ดมีสีเขียวอมเหลือง และเป็นร่องลึก ขนาดเมล็ดกว้าง 0.6-1.2 เซนติเมตร

ประโยชน์ส้มโอ
1. เนื้อผลนำมารับประทาน ให้น้ำฉ่ำหวานหรือหวานอมเปรี้ยว
2. เนื้อผลนำมาแปรรูปเป็นน้ำปั่นหรือผสมทำไอศครีม
3. ใยสีขาวจากเปลือกนำมาสับ และตากให้ ก่อนบดให้ละเอียดจนเป็นผงอีกครั้ง ผงจากเปลือกส้มโอนี้นำมาใช้เป็นส่วนผสมของขนมหวาน เช่น ขนมบ้าบิ่น เป็นต้น
4. เปลือกด้านนอกของส้มโอนำมาบดผสมสำหรับทำธูปหอม ธูปไล่ยุง

ขอบคุณภาพจาก www.tiewpakklang.com

สรรพคุณส้มโอ
เนื้อส้มโอ
– สารโมโนเทอร์ปีนในเนื้อส้มโอช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยในการขับลม
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
– แก้อาการเมาสุรา
– แก้ลำคออักเสบ

เปลือกส้มโอ
– เปลือกด้านนอกนำมาบดทารักษาแผล
– ใช้ทาแก้อาการคันตามผิวหนัง
– ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง
– ใช้ทารักษาอาการปวดบวมจากแมลงกัดต่อย

ใบส้มโอ
– ใบนำมาขยี้ทาระงับอาการปวดบวมจากแมลงกัดต่อย
– ใบนำมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นชา แก้อาการปวดท้อง รักษาโรคลำไส้อักเสบ
– น้ำชาใบส้มโอช่วยในการขับลม
– แก้อาการปาก และลำคออักเสบ
– ช่วยขับเสมหะ

ราก เปลือก และแก่นลำต้น
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยขับลมในกระเพาะ
– ช่วยขับปัสสาวะ

เนื้อส้มโอ1

พันธุ์ และชนิดส้มโอตามสีเนื้อ
1. White or colorless pulp เป็นส้มโอที่มีเนื้อไม่มีสีหรือมีสีขาว ได้แก่
– พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง
– พันธุ์ขาวแป้น
– พันธุ์ขาวพวง
– พันธุ์ขาวใหญ่
– พันธุ์ขาวแตงกวา
2. Pigmented pulp เป็นส้มโอที่มีเนื้อสีแดงหรือสีชมพู ได้แก่
– พันธ์ขาวทองดี
– พันธ์ทับทิมสยาม
– พันธ์ท่าข่อย

ส้มโอที่มีเนื้อสีแดงหรือสีชมพู จะเป็นสีที่เกิดจากสารที่เป็นรงควัตถุของสารแคโรทีนอยด์ และไลโคพีน แต่พันธุ์ที่ตลาดต่างประเทศนิยมมาก คือ พันธุ์ขาวพวง พันธุ์ขาวทองดี และพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง

การปลูกส้มโอ
การปลูกส้มโอทำได้ด้วยวิธีเพาะเมล็ด การติดตา การตอน และการเสียบกิ่ง แต่ทั่วไปนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอนหรือการเสียบกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ไม่สูง และได้ผลส้มโอตามพันธุ์ดั้งเดิมที่ต้องการ

ต้นพันธุ์ส้มโอขาว

การเตรียมพื้นที่ปลูก
สำหรับพื้นที่ปลูกบนที่น้ำไม่ท่วมง่ายสามารถไถพรวนดินเป็นแปลงให้สม่ำเสมอทั่วไปได้เลย ส่วนพื้นที่น้ำท่วมง่าย เช่น จังหวัดในทางภาคกลางมักขุดยกร่องแปลงเป็นแนวยาวให้สูงขึ้น ขนาดสันร่องปลูกกว้างประมาณ 6-7 เมตร และเป็นร่องน้ำกว้างประมาณ 1-1.50 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร พร้อมกับทำคันกั้นน้ำรอบสวน

การเตรียมหลุม และวิธีการปลูก
ขุดหลุมปลูกขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมตากหลุมปลูก ดินที่ขุดขึ้นมานาน 10-14 วัน ส่วนระยะหลุมประมาณ 6-8 x 6-8 เมตร แต่ส่วนมากนิยมในระยะ 7×7 เมตร ทั้งนี้ 1 ไร่ จะปลูกส้มโอได้ประมาณ 25-40 ต้น

หลังจากที่ตากดิน และหลุมปลูกแล้ว ให้นำหน้าที่เกลี่ยลงหลุม พร้อมโรยปุ๋ยคอกหรือวัสดุอินทรีย์คลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก โดยให้ระดับดินในหลุมสูงกว่าระดับดินเดิมเล็กน้อย และโรยปิดด้วยฟางข้าวหรือเศษใบไม้ จากนั้นนำไม้หลักปัก และผูกรัดต้นพันธุ์ป้องกันไม่ให้ต้นโยกหรือโน้มเอียง

นอกจากการขุดหลุมปลูกแล้ว เกษตรกรบางที่มักนิยมปลูกด้วยการพูนหรือกองดินเป็นกองขึ้นเหนือพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร ขนาดกองประมาณ 40 เซนติเมตร แล้วค่อยนำต้นพันธุ์ลงปลูกตรงกลางกองดิน

การให้น้ำ
ในช่วงหลังการปลูกก่อนติดผล และระยะบำรุงต้น จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ช่วงก่อนออกดอกจะต้องให้น้ำน้อยลง และหลังจากที่แทงช่อดอก และติดผลจะต้องให้น้ำเพิ่มขึ้น

ในฤดูแล้งจะมีความถี่การให้น้ำประมาณ 7 วัน/ครั้ง ด้วยระบบน้ำหยดหรือสปริงเกอร์ ส่วนฤดูฝนให้ปล่อยรับน้ำฝนตามธรรมชาติ

การใส่ปุ๋ย
– ระยะอายุ 1-3 ปี ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือเศษวัสดุอินทรีย์อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15อัตรา 200 กรัม/ต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี
– ระยะบำรุงต้น ก่อนปล่อยให้ติดผลในปีที่ 4 ของช่วงเดือนตุลาคม ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น
– ระยะเร่งสร้างดอก และบำรุงดอก ในช่วงเดือนธันวาคม ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือสูตรที่ให้ฟอสฟอรัสสูง
– ระยะผลอ่อน ในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือใช้สูตรที่ให้โพแทสเซียมสูงเหมือนกับระยะบำรุงผล
– ระยะบำรุงผล ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 หรือสูตรที่ให้โพแทสเซียมสูง

การบังคับให้ออกดอก
– งดให้น้ำ 25-30 วัน จนใบเริ่มเหี่ยวเฉา
– กลับมาให้น้ำอย่างเต็มที่เหมือนเดิม 7-15 วัน ใบส้มโอจะเริ่มร่วง พร้อมแตกใบใหม่ และออกดอก

การกำจัดวัชพืช
ในช่วยการปลูก 1-2 ปีแรก จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชให้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง ด้วยวิธีการไถพรวนดิน ร่วมกับการใช้จอบถอกกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น แต่เกษตรกรบางรายมักใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ไม่แนะนำ โดยสารเคมีที่ใช้มักเป็นสารฆ่าหญ้าล้มลุกปีเดียว ให้ใช้สารในกลุ่มพาราควอต ซึ่งต้องระวังอย่างให้ละอองสารเคมีสัมผัสกับใบ เพราะสารชนิดนี้จะทำลายพืชทุกชนิดที่มีสีเขียว ละอองยาจะไปถูกกับใบส้มเพราะจะทำให้ใบส้มเสียหาย ส่วนหญ้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น หญ้าคา ให้ใช้สารในกลุ่มไกรโฟเสทฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยว
ส้มโอมักจะติดผลผลิตเมื่อปลูกแล้วประมาณ 3-4 ปี โดยจะเก็บผลได้หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 8 เดือน แต่สามารถเก็บผลได้ตั้งแต่อายุมากกว่า 7 เดือน ทั้งนี้ หากต้นส้มโอออกดอกและติดผลมากจะทำการเด็ดผดอก และผลทิ้งตามอายุของต้น และขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ดังนี้
– ส้มโออายุ 4 ปี จะปล่อยให้ติดผลประมาณ 10-15 ผล/ต้น
– ส้มโออายุ 5 ปี จะปล่อยให้ติดผลประมาณ 20-30 ผล
– ส้มโออายุ 6 ปี จะปล่อยให้ติดผลประมาณ 30-50 ผล
– ส้มโออายุ 10 ปี ขึ้นไป จะปล่อยให้ติดผลประมาณ 100-120 ผล

การเก็บเกี่ยวส้มโอเกษตรกรจะนับเวลาหลังติดผลหรือใช้การสังเกตผล ได้แก่
– เปลือกผลส้มโอมีสีเหลืองอมเขียวหรือเป็นสีเขียวอ่อน
– จุดสีน้ำตาลหรือจุดของต่อมน้ำมันบริเวณก้นผลจะห่างกัน
– ก้นผลจะมีนวล และเมื่อใช้มือกดก้นผลจะรู้สึกนิ่ม
– เมื่อทำให้เกิดรอยแผลที่ผิวผล และสูดดมจะได้กลิ่นฉุนน้อยมาก

การเก็บผลส้มโอบนกิ่งต่ำ เกษตรกรจะใช้กรรไกรตัดผลได้เลย แต่หากผลบนกิ่งสูง เกษตรกรจะใช้กรรไกรด้ามยาวตัดก้านขั้วผล ซึ่งอาจปีนต้นหรือใช้บันไดช่วย พร้อมใช้ถุงผ้าคอยรับด้านล่างรองรับ เพื่อป้องกันผลตกกระแทกกับพื้นดิน

หลังจากที่เก็บผลส้มโอมาแล้ว หากผลมีการเปื้อนดินหรือมีรอยตำหนิอื่นติดให้ล้างทำความสะอาดออก หลังจากนั้น อาจใช้สารเคลือบผิวเคลือบผลก็ได้ และหากเก็บก่อนการสุกเล็กน้อย แล้วนำมากผึ่ง 1-2 อาทิตย์ก่อนจำหน่ายจะช่วยให้เนื้อส้มโอมีรสฉ่ำหวานมากขึ้น