สาบเสือ ใบสาบเสือ และสรรพคุณสาบเสือ

Last Updated on 12 พฤษภาคม 2016 by puechkaset

สาบเสือ (Siam weed) จัดเป็นพืชรุกรานต่างถิ่นที่สามารถเติบโต และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีเมล็ดจำนวนมาก และเมล็ดสามารถลอยตามลมได้ แต่ทั้งนี้ สาบเสือก็มีประโยชน์ในทางยาที่สำคัญ คือ ช่วยทำให้เลือดจากบาดแผลแข็งตัวได้เร็วขึ้น

อนุกรมวิธาน

Kingdom : Plantae
Subkingdom : Tracheobionta
Superdivision : Spermatophyta
Division : Magnoliophyta
Class : Magnoliopsida
Subclass : Asteridae
Order : Asterales
Family : Asteraceae
Genus : Chromolaena
Species : Chromolaena odorata L. King and H.E. Robins.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eupatorium odoratum L.
ชื่อพ้อง : E. odoratum (L.f.) Koster ; Chromolaena odorata (L.) King & Robins.
วงศ์ : Compositae หรือ Asteraceae
ชื่อสามัญ : Siam weed, Bitter bush, Devil weed
ชื่อท้องถิ่นไทย :
– สาบเสือ (ทุกภาค)
• ภาคกลาง และตะวันตก
– บ้านร้าง
– ผักคราด
– เสือหมอบ
– ฝรั่งเหาะ
– ฝรั่งรุกที่
– หญ้าดงรั้ง
– หญ้าสิริไอสวรรค์

• อีสาน
– หญ้าลืมเมือง
– มุ้งกะต่าย
– หญ้าเลาฮ้าง
– สะพัง
– หญ้าเมืองฮ้าง
– หญ้าเหม็น

• ภาคตะวันออก
– หมาหลง
– เบญจมาศ
– หญ้าฝรั่งเศส
– หญ้าพระศิริไอยสวรรค์

• ภาคเหนือ
– นองเส้งเปรง
– ไช้ปู่กุย
– เซโพกวย
– หญ้าดอกขาว
– หญ้าเมืองฮ้าง
– บ่อโส่
– เพาะจีแค
– พาทั้ง
– หญ้าค่าทั้ง
– มนหน/มนทน
– หญ้าฝรั่งเศส
– หญ้าเครื่องบิน
– ปวยกีเช่า
– เฮียงเจกลั้ง

• ภาคใต้
– ยี่สุ่นเถื่อน
– รำเคย
– หญ้าเมืองวาย

สาบเสือเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา ถูกนำเข้ามาสู่ประเทศอินเดียประมาณปี ค.ศ. 1840 จากนั้น จึงมีการแพร่กระจายสู่อ่าวเบงกอล พม่า และไทยตามมา ส่วนข้อสันนิษฐานหนึ่งจากสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กล่าวถึงการแพร่กระจายของสาบเสือว่า สาบเสือเริ่มเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังสงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ที่อาจเกิดจากมีการปะปนของเมล็ดสาบเสือติดมากับเรือสินค้าจากหมู่เกาะเวสต์ อินดีส และแพร่เข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2483

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สาบเสือเป็นไม้ขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น ทำให้มองเห็นเป็นทรงพุ่มหนาทึบ และกิ่งมีลักษณะยาวมากกว่าลำต้น ตามลำต้น และกิ่งมีขนนุ่มปกคลุม ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ทั้งลำต้น และกิ่งมีลักษณะค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ค่อนข้างเปราะ และหักง่าย เปลือกลำต้นมีสีขาวนวลแกมเขียว

ใบ
ใบสาบเสือ แตกออกบริเวณข้อกิ่ง ออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลม โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม มีเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ตัวใบด้านล่าง และด้านบนมีขนปกคลุม ใบมีสีเขียวสด ใบกว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 6 ซม.

สาบเสือ

ดอก
ดอกสาบเสือออกดอกเป็นช่อเป็นกระจุกคล้ายร่ม แทงออกบริเวณปลายยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ดอกมีสีม่วงแกมน้ำเงินหรือสีม่วงอ่อน หากมองในระยะไกลจะออกสีขาว ช่อดอกย่อยมีดอกขนาดเล็ก 20-25 ดอก มีลักษณะรูปทรงกระบอกกึ่งรูประฆังคว่ำ  ดอกมีชั้นใบประดับ 4-5 ชั้น ดอกวงนอกมีลักษณะเป็นเส้นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด และตรงปลายจะแยกออกเป็น 5 กลีบ ดอกจะออกในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

ดอกสาบเสือ

ผล และเมล็ด
ผลสาบเสือ 1 ผล มาจากดอก 1 ดอก ผลมีขนาดเล็ก เรียวยาว และบางสีดำ  ผลมีลักษณะเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนปลายผลมีขนสำหรับทำหน้าที่พยุงผลให้ลอยตามลมได้

การแพร่กระจาย
สาบเสือเป็นไม้ล้มลุกอายุนานมากกว่า 1 ปี เป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในที่ราบ และเชิงเขา สามารถเติบโต และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในสภาพที่แห้งแล้ง และที่ชื้นแฉะ ประกอบกับเป็นพืชที่มีเมล็ดจำนวนมาก และเมล็ดสามารถลอยตามลมได้

ประโยชน์สาบเสือ
• สารสกัดจากใบใช้เป็นยาป้องกัน และกำจัดแมลงในแปลงเกษตร เช่น หนอนกระทู้ ด้วง และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น
• ใช้ทาบริเวณแมลงกัดต่อย ลดอาการปวด คันของแผล
• ใบใช้ขยี้ทาตามร่างกายสำหรับป้องกันยุงกัด
• ถ่านจากต้นสาบเสือใช้เป็นตัวดูดวับสารโลหะหนักในน้ำเสีย
• ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน

ผลเสียของสาบเสือ
สาบเสือจัดเป็นพืชรุกรานต่างถิ่นที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก ออกเมล็ดจำนวนมาก และเมล็ดสามารถลอยตามแรงลมได้ รวมถึงเป็นพืชที่ทนต่อทุกสภาพได้ดีทั้งภาวะแห้งแล้ง และน้ำท่วม

สารสำคัญที่พบ
ส่วนของลำต้น และใบสาบเสือพบสารประกอบหลายชนิด ได้แก่
• polysaccharides
• fat
• oil
• terpenoids
– triterpene epoxide ได้แก่ epoxy lupeol และ 13-epoxy lupeol
– savigenin
– lupeol
– beta-amyrin
• phenolics
•  alkaloids
– napthoquinone
– tannin
– saponin
• n-oxides

ลำต้นสาบเสือ
– eupatol
– coumarin
– 1-eupatene
– lupeol
– beta-amyrin
– flavone
– salvigenin

ใบสาบเสือ
– ceryl algohol
– betasitosterol
– terpenoids
– p-anisic acid
– trihydric algohol
– isosa kuranetin
– odaratin
– tannin
– phenils
– saponin
• นํ้ามันหอมระเหย (volatile oil) ในใบพบสารต่างๆ ได้แก่
– alpha-pinene 19.32%
– cadinene 19.09%
– camphor 15.46%
– limonene 10.22%
– beta-caryophyllene 7.05%
– cadinol 6.36%

รวบรวมจาก กรมส่งเสริมการเกษตร (2537)(1), Inya-Agha et al., (1987)(4), อุดมลักษณ์ และคณะ (2535)(2)

สรรพคุณสาบเสือ
• ลำต้น
– เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

• ใบสาบเสือ
– ช่วยในการห้ามเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น
– บรรเทาอาการไข้
– ลดอาการเจ็บคอ
– ต้านการอักเสบ และติดเชื้อของแผล
– รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
– แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ
– แก้ริดสีดวงทวารหนัก

• ดอก
– เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้า
– ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย
– ช่วยบำรุงหัวใจ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
สารประกอบ 4,5,6,7-Tetramethoxy flavone จากใบสาบเสือมีฤทธิ์ช่วยให้เลือดจากบาดแผลแข็งตัวได้เร็วขึ้นที่ช่วยส่งเสริมการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ ทำให้แผลหายได้เร็วขึ้นตามมา

มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภา แต่ลดการบีบตัวของลำไส้เล็กที่แยกออกจากตัวของกระต่าย น้ำต้มสกัดและผลึกสารที่สกัดได้จากต้นนี้ ไม่มีผลอย่างเด่นชัดต่อมดลูกที่แยกออกจากตัวของกระต่าย หากนำไปฉีดเข้าช่องท้องของหนูเล็ก พบมีความเป็นพิษ
เพียงเล็กน้อย

รวบรวมจาก ศุภลักษณ์ มะโนธรรม (2556)(3)

เอกสารอ้างอิง
1