สะระแหน่ สรรพคุณ และการปลูกสะระแหน่

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

สะระแหน่ (mint) เป็นพืชผักพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง แต่มีหลายสายพันธุ์ที่พบแพร่กระจายในประเทศเขตอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งถือเป็นผักสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มาก โดยเฉพาะใบสะระแหน่ที่นิยมใช้ทั้งใบสดมาเป็นส่วนผสมของอาหาร และที่สำคัญ คือ ใบสดถูกนำมาสกัดน้ำมันหอระเหยที่มีบทบาทมากในวงการอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และยารักษาโรค

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mentha cordifolia Opiz.
• ชื่อสามัญ :
– Mint
– Kitchen mint
• วงศ์ : Labiatae
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
กลาง และทั่วไป
– สะระแหน่
– สะระแหน่สวน
เหนือ
– หอมด่วน
– หอมเดือน
ใต้
– มักเงาะ
– สะแน่
อีสาน
– ขะแยะ
– สาระแหน่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
สะระแหน่มีลักษณะลำต้นพร้อมเลื้อย มีเฉพาะรากฝอย ขนาดเล็ก และสั้น ลำต้นสูงประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผิวลำต้นมีสีแดงอมม่วงจนถึงปลายยอด ลำต้นสามารถแตกเหง้าเป็นต้นใหม่จนขยายเป็นกอใหญ่ และลำต้นแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก

สะระแหน่

ลำต้นทอดเลื้อยแผ่ไปตามดิน ลำต้นเป็นเหลี่ยม สีเขียวแกมม่วงน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยวมีสีเขียว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย พื้นใบขรุขระ มีกลิ่นหอมฉุน ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ

ใบ
ใบสะระแหน่ ออกเป็น ใบเดี่ยว และออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันบนกิ่ง ลำต้น ใบมีสีเขียว รูปทรงรี กว้างประมาณ 1.5 – 3.5 ซม. และยาวประมาณ 2 – 7 ซม. ผิวใบย่นเป็นลูกคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมนหรือแหลม

ดอก
ดอกสะระแหน่ออกเป็นช่อ เหนือซอกใบบริเวณปลายยอด แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกมีสีชมพูอมม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกที่เชื่อมติดกันเป็นกรวยตื้น 4 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะไม่ค่อยพบ

ดอกสะระแหน่

ผล
ผลสะระแหน่มีสีดำ ขนาดเล็ก มีรูปผลเป็นรูปกระสวย เปลือกผลเกลี้ยงมัน ทั้งนี้ ผลสะระแหน่มักไม่ติดผลให้เห็นบ่อยนัก เพราะมีดอกที่เป็นหมันเป็นส่วนใหญ่

ประโยชน์
1. ใบอ่อน/ยอดอ่อนสะระแหน่ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารจำพวกลาบ น้ำตก ซุปหน่อไม้ เป็นต้น
2. นำใบสดมาบี้เพื่อสูดดมจะได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้สดชื่น แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
3. นำใบสดมาล้างน้ำให้สะอาด และนำมาตากแห้ง 5-7 แดด สำหรับใช้ชงเป็นชาดื่ม
4. ใบตากแห้ง นำมาบดเป็นผง ใช้บรรจุในแคปซูลรับประทานเป็นยาสมุนไพร
5. น้ำต้มใบสะระแหน่ใช้รดแปลงผัก ป้องกันแมลงศัตรูพืช
6. น้ำมันหอมระเหยใบสะระแหน่ใช้ผสมในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สำหรับเป็นสารให้กลิ่น ตัวทำละลาย และใช้เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์
7. น้ำมันหอมระเหยใช้ผสมในอาหารเพื่อยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ทำให้อาหารเก็บไว้ได้นาน รวมทั้งเพื่อปรับปรุงกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น
8. น้ำมันหอมระเหยใช้ทานวด แก้อาการปวดเมื่อย

คุณค่าทางโภชนาการ (ใบ 100 กรัม)
– พลังงาน : 47 แคลอรี
– ความชื้น : 86.3 กรัม
– โปรตีน : 3.7 กรัม
– ไขมัน : 0.6 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 6.8 กรัม
– เถ้า : 1.4 กรัม
– แคลเซียม : 40 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 7 มิลลิกรัม
– ธาตุเหล็ก : 4.8 มิลลิกรัม
– ไทอะมิน(วิตามิน B 1) 0.13 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) : 0.29 มิลลิกรัม
– วิตามิน เอ : 16,585 หน่วย
– วิตามิน ซี : 88 มิลลิกรัม
ไนอะซิน : 0.7 มิลลิกรัม

ที่มา : ยุวดี จอมพิทักษ์, (2545)(1)

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ ได้แก่
– ลูกอม
– หมากฝรั่ง
– น้ำหอม
– ยาสีฟัน
– น้ำยาบ้วนปาก

น้ำหมักชีวภาพ และน้ำสะระแหน่ ช่วยพืชเติบโต ป้องกันศัตรู และโรคพืช
– น้ำต้มสะระแหน่ : นำลำต้น และใบสะระแหน่ จำนวน 1 กิโลกรัม มาต้มในน้ำ 15 ลิตร น้ำต้มที่ได้นำไปฉีดพ่นแปลงผัก ช่วยไล่แมลง และกำจัดเชื้อราได้
– น้ำหมักสะระแหน่ : นำลำต้น และใบสะระแหน่ จำนวน 1 กิโลกรัม มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำใส่ถังหมัก 20 ลิตร เทน้ำปริมาณ 17 ลิตร เข้าผสม หลังจากนั้น ใส่กากน้ำตาลจำนวน 1 ลิตร หมักทิ้งไว้นาน 1-2 เดือน ก่อนกรองแยกน้ำไปใช้ฉีดพ่นในแปลงผัก ช่วยไล่แมลงศัตรูพืช และจุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน

สารสำคัญที่พบ
น้ำมันหอมระเหย ในใบสะระแหน่ มีสีเหลืองใส มีความหนาแน่นประมาณ 0.904 มี ระเหยให้กลิ่นหอมได้ง่าย ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด ได้แก่
– menthol 63.5 %
– p-menthone19.5 %
– pluegone 42.9-45.4 %
– isomenthone12.9 %
– piperitone12.2 %
– Menthone 15-32 %
– Menthyl acetate3-10 %
– piperitone 38.0 %
– piperitenone 33.0 %
– α-terpeneol 4.7%
– limonene
– hexenolphenylacetate
– enthyl amylcarbinal
– neo methol

จุลินทรีย์ และปริมาณน้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งได้
Haemophilus influenza
– 12.5 mg/L
Staphylococcus aureus
– 25 mg/L
Escherichia coli NIHJ
– มากกว่า 1600 mg/L
Staphylococcos aureus
– 0.5 mg/ml
Escherichia coli
– 4.0 mg/ml
Salmonella typhi
– 20,000 mg/L
Vibrio parahaemolyticus
– 5,000 mg/L
Staphylococcus aureus
– 1,000 mg/L
Escherichia coli
– 2%
Pseudomonas aeruginosa
– 4%

ที่มา : เกวลิน รัตนจรัสกุล, (2555)(2)

สรรพคุณสะระแหน่
ใบสด/ใบแห้ง (รับประทานสดหรือต้ม/ชงน้ำดื่ม)
– รักษาอาการท้องอืด ลดอาการเลอ อาหารไม่ย่อย
– อาเจียน และ ยังนำมาใช้เป็นยาทา ภายนอก
– ลดอาการร้อนใน
– ช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการเจ็บหรืออักเสบในคอ
– บรรเทาอาหารหวัด
– ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร
– ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี
– ลดอาการปวดท้อง
– ขับเหงื่อ
– ช่วยขับลม
– ช่วยลดกลิ่นปาก กลิ่นบุหรี่
– อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
– บรรเทาอาการเกิดลมพิษหรือมีผื่นคัน
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ตา
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
ใบสด (ใช้สูดดม)
– ลดอาการหวัด
– ลดน้ำมูก
– ลดอาการแสบในลำคอ ทำให้รู้สึกเย็น
– บรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด และปวดศรีษะ
ใบสด (ใช้บี้ทาหรือประคบ)
– ลดอาการปวดของแผลสดหรือแผลจากแมลงกัดต่อย
– ต้านเชื้อ ช่วยลดอาการอักเสบของแผล ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– ลดการลุกลามของเชื้อโรคผิวหนัง
– บรรเทาอาการคันตามผิวหนัง แก้ผื่นคันหรือลมพิษ
– นำใบบดขยี้ แล้วใช้อุดจมูกสำหรับลดอาการเลือดกำเดาออก
น้ำมันหอมระเหย
– ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดบวม
– ใช้ทาผิวหนังลดอาการเป็นผื่นคัน

การปลูกสะระแหน่
1. การปลูกสะระแหน่เพื่อการค้าหรือเป็นแปลงใหญ่
การเตรียมดิน
การปลูกสะระแหน่ในแปลงจำเป็นต้องยกร่องแปลงให้สูง เนื่องจากสะระแหน่เป็นผักที่ไม่ชอบน้ำขัง ก่อนนั้น จำเป็นต้องไถกลบดิน ตากดิน และกำจัดวัชพืชออกก่อน และก่อนไถยกร่องให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ระยะร่องกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร สูงประมาณ 15-20 ซม. ระยะความยาวตามความเหมาะสม

สะระแหน่4

การเตรียมกิ่ง/เหง้าพันธุ์
การปลูกสะระแหน่ นิยมปลูกด้วยเหง้าหรือการปักชำลำต้น ซึ่งควรเลือกลำต้นที่มีความยาวประมาณ 8-10 ซม. แล้วให้เด็ดยอดทิ้ง ก่อนนำลงปลูก ซึ่งควรปลูกทันทีหลังการถอนต้นหรือตัดต้นมา แต่เกษตรกรบางพื้นที่ใช้เทคนิคเพื่อเร่งรากให้งอกเร็ว ด้วยการนำลำต้นมาแช่น้ำจนมีรากเกิดก่อนนำปลูกในแปลง

ขั้นตอนการปลูก
ระยะการปลูกในแต่ละต้นประมาณ 10-15 ซม. โดยปักลำต้นลงดินประมาณ 3 ซม. ซึ่งต้องระวังให้ปักส่วนโคนต้นลง หลังการปลูกแล้วรดน้ำให้พอชุ่ม

การให้น้ำ
สะระแหน่ เป็นผักที่ชอบดินชื้นตลอด แต่ห้ามมีน้ำขัง ดังนั้น หลังการปลูกต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง จนถึงระยะที่กิ่งพันธุ์ตั้งตัวได้ ค่อยลดการให้น้ำที่วันเว้นวัน

การใส่ปุ๋ย
หลังการปลูกได้ประมาณ 1 อาทิตย์ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15หรือปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 20 กิโลกรัม แล้วหลังจากนั้น อีก 2 อาทิตย์ ให้สูตร 24-12-12 ในอัตราเดียวกัน เพื่อเร่งให้ใบเขียวดก และหากเก็บแล้ว 5-7 วัน ให้ใส่ปุ๋ยอีกครั้ง นอกจากนี้ ควรหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกร่วมด้วยเป็นประจำ ในระยะปลูกของสัปดาห์ที่ 2 และในระยะหลังการตัดทุกครั้งร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตราปุ๋ยคอกที่ใส่ประมาณ 2-3 ตัน/ไร่

การเก็บยอด
หลังการปลูกแล้วประมาณ 45-50 วัน สะระแหน่จะเริ่มเก็บยอดได้ การเก็บแต่ละครั้งควรใช้กรรไกรตัด เพราะหากใช้มืออาจทำให้ลำต้นถอนได้ และจะเก็บได้อีกครั้งประมาณ 15-20 วัน

2. การปลูกเพื่อรับประทานเอง
การปลูกเพื่อรับประทานภายในครัวเรือน จะปลูกในแปลงหลังบ้านหรือปลูกในกระถางก่ออิฐ กระถางพลาสติก หรือกระถางประดิษฐ์

สะระแหน่3

การปลูกในแปลงนั้น มักนิยมเตรียมแปลงขนาดเล็ก พอให้เก็บยอดได้สะดวก ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืช ซึ่งอาจตากดินหรือไม่ต้องตากดินเลย หลังจากนั้น จะตีดินให้แตก และร่วนซุย พร้อมกับทำร่องหรือยกแปลงให้สูงเล็กน้อย ก่อนนำต้นพันธุ์มากปลูก โดยระยะปลูกประมาณ 10-15 ซม. หรืออาจห่างกว่านี้

ส่วนการปลูกแบบอื่นที่นิยม ได้แก่ การปลูกในอิฐบล๊อก หรือ กระถางประดิษฐ์ และกระถางพลาสติก ซึ่งมีพื้นที่จำกัด และต้องใช้ดินที่ผสมกับแกลบดำหรือแกลบดิบ หรือผสมกับวัสดุอื่น เช่น ขุยมะพร้าว แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ปุ๋ยคอก โดยอัตราส่วนดิน ปุ๋ยคอก และวัสดุอื่นที่ผสม 1:2:1

สำหรับจำนวนต้นที่ปลูกในกระถางนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ซึ่งควรมีระยะห่างของต้นประมาณ 5-10 ซม.

เอกสารอ้างอิง
1