สมอพิเภก ประโยชน์ และสรรพคุณสมอพิเภก

Last Updated on 17 ธันวาคม 2016 by puechkaset

สมอพิเภก (Belleric Myrobalan) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปในป่า พบมากบริเวณที่ชุ่มข้างริมน้ำหรือแหล่งน้ำ นิยมใช้ประโยชน์จากผล และเปลือก ในด้านสมุนไพรทางยา และในด้านอื่นๆที่ได้จากต้น อาทิ การแปรรูปไม้ การให้ร่มเงา เป็นต้น

• วงศ์ : Combretaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia belerica Roxb.
• ชื่อพ้อง :
– Myrobalanus bellerica Gaertn.
– T. belerica Roxb.
– T. bellerica (Gaertn.) Roxb
– T. laurinoides Teijsm & Binn.

• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– สมอพิเภก, สมอแหน (ภาคกลาง)
– แหน, แหนขาว, แหนต้น, ลัน(ภาคเหนือ และภาคอีสาน)
– สะคู้ (กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
– ซิบะดู่ (กระเหรี่ยง-เชียงใหม่)

• ชื่อภาษาอื่น :
– ภาษาอังกฤษ : Belleric Myrobalan, Bastard Myrobolan, Bedda Nuts
– ภาษาฮินดู : Bahera, Behara, Behra, Bhaira, Bhairach, Bharla, Bulla, Sagona
– ภาษาสันสกฤต : Vibhitaka
– ภาษาศรีลังกา : Tanti
– ภาษามาเลเซีย : Jilawei

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สมอพิเภกเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีความสูง 25-50 เมตร ส่วนยอดแผ่กว้าง บริเวณโคนต้นมักมีรากค้ำยัน (พูพอน) ขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีดำแกมขาวประปราย และมีรอยแตกเป็นร่องตามยาว

ใบ
ใบสมอพิเภกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน รูปไข่กลับ กว้าง 2-10 เซนติเมตร ยาว 4-16
เซนติเมตร ปลายใบมนกลมหรือแหลม โคนใบสอบแคบ เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน มีเส้นใบ 6-8 คู่ ก้านใบมีความยาว 3-9 เซนติเมตร และมักมีตุ่มหูดเล็กๆอยู่กลางก้านใบหรือใกล้ๆโคนใบ

ดอก
ดอกสมอพิเภกมีสีเหลืองมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 3-15 เซนติเมตร เป็นดอกย่อยไม่มีก้านดอก ดอกเพศผู้จะอยู่ที่ปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ที่โคนช่อ มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกัน มีขน ตอนล่างเป็นรูปท่อยาว 1.5-3 มิลลิเมตร ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้นๆ กว้าง 0.4 เซนติเมตร ยาว 0.1 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้มี 10 อัน และก้านเกสรตัวผู้ยาว 3 มิลลิเมตร รังไข่มี 1 ช่อง โดยท่อเกสรตัวเมียมีลักษณะเกลี้ยง ยาว 4 มิลลิเมตร

ผล
ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือรูปกลมรีออกรวมกันเป็นพวงโตๆ กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร มีสันให้เห็นรางๆ 5 สัน เปลือกผลมีลักษณะแข็งและมีขนละเอียดขึ้นเล็กน้อย เมล็ด มีลักษณะเรียวยาวรูปวงรี กว้าง 0.5 เซนติเมตร และยาว 1.2 เซนติเมตร โดยสมอพิเภกจะออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน และผลจะแก่จัดในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

ลูกสมอพิเภก

ประโยชน์สมอพิเภก
–  ผลดิบสด มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นผลไม้ แก้ง่วงนอน
– ผลสุกหรือผลแห้ง ทุบกินเนื้อผล
– ผลใช้สกัดสารสำหรับฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา ป้องกันแมลงในแปลงเกษตร อาทิ สารสกัดจากผลสมอพิเภกสามารถยับยั้งเชื้อ R. solanacearum ที่เป็นสาเหตุของโรคเหี่ยวในมะเขือเทศได้ (ศศิธร และสุพจน์, 2549)(2)
– เปลือก แก่นไม้ ใช้ต้มเป็นน้ำย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีน้ำตาลหรือสีเหลืองน้ำตาล
– ลำต้น และกิ่งใช้ทำฟืนหรือเผาถ่าน
– เนื้อไม้แปรรูปใช้เป็นไม้ตกแต่งบ้าน เช่น ฝ้า ราวบันได ขอบเสา เป็นต้น
– สมอพิเภกมีใบดกเขียวสามารถให้ร้มเงาได้ดี

สารสำคัญที่พบ
ผล
• Tannin:
– egallic acid
– gallic acid
– chebulic acid
• Sugar:
– mannitol
– glucose
– galactose
– fructose
– rhamnose
• β-sitosterol

เปลือกหุ้มเมล็ด
• gallic acid

เมล็ด
• linoleic acid
• myristic acid
• hexadecenoic acid

เปลือกไม้ และแก่นไม้
• ellagic acid

ลำต้น
• oxalic acid
• ajungenin and arjunglucoside I
• belleric acid and bellericoside
• ajungenin
• belleric acid
• bellericagenin A, B
• bellericaside A, B

สรรพคุณสมอพิเภก
ลูกสมอพิเภกอ่อน (เกือบสุก)
– มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาระบาย ยาถ่าย
– ช่วยบรรเทาอาการไข้

ลูกสมอพิเภกแก่
– มีรสเปรี้ยวฝาดหวาน ใช้เป็นยาขับเสมหะ ยาละลายเสมหะ
– แก้ท้องเสีย
– ลดไข้
– รักษาโรคภูมิแพ้
– ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง
แต่ถ้าหากรับประทานในปริมาณมากจะเป็นยาเสพติดและอาจทำให้หลับได้

เมล็ด
– เมล็ดมีรสฝาด ใช้แก้โรคบิด บิดมูกเลือด

ใบ
– ใบมีรสฝาด ใช้บดทาแผลสด แผลเปื่อย แก้อาการอักเสบ

ดอก
– ดอกมีรสฝาดเย็น ใช้แก้โรคตา และอาการตาเปียกแฉะ

ราก
– รากมีรสฝาดเย็น ใช้แก้โลหิตร้อน และโลหิตเป็นพิษ

เปลือก
– เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

แก่น
– แก่นไม้มีรสฝาด ใช้แก้โรคริดสีดวง
– ต้มน้ำดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ

เพิ่มเติมจาก : วชมพูนุช ไทยบุญรอด, (2549) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์
ผล
• แบคทีเรีย
– Bacillus subtilis
– Vibrio cholerae
– Escherichia coli
– Shigella dysenteriae
– Salmonella Typhi
– Staphylococus aureus

• เชื้อรา
– Trichophyton
– Candida albicans

• ไวรัส
– Poliovirus I
– Measle virus

เอกสารอ้างอิง
untitled