Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
ลูกเดือย (Job’s tears) เป็นจัดธัญพืชในพืชตระกูลหญ้าที่นิยมปลูกมากในภาคอีสาน เนื่องจากนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ น้ำลูกเดือย ใส่น้ำเต้าหู้ แปรรูปเป็นแป้งทำขนม และอื่นๆ จึงถือเป็นธัญพืชที่นิยมรับประทานเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณที่สามารถต้านเซลล์มะเร็งอย่างได้ผล
• วงศ์ : Gramineae/Poaceae
• ตระกูล : Andropogoneae
• สกุล : Coix
• จำนวนโครโมโซม 2n = 20
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coix lacryma-jobi Linn. Coix มีฐานศัพท์ดั้งเดิมมาจากภาษากรีก หมายถึง พืชที่มีดอกเป็นช่อคล้ายพวงหรีด
• ชื่อสามัญ :
– Job’s tears
– Coix
– Hatomogi
– Pearl Barley
– Adlay
• ชื่อท้องถิ่น :
– ลูกเดือย (ทุกภาค)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลูกเดือยเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลักษณะลำต้นเหมือนกับหญ้าทั่วไป คือ มีลำต้นทรงกลม และตั้งตรง ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน สูงประมาณ 1-3.5 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้อง มีใบแตกออกบริเวณข้อ ผิวลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมเทา และมีนวลขาวปกคลุม เมื่อลำต้นเริ่มตั้งต้นได้หรือมีอายุตั้งแต่ 2 เดือน แล้ว ก็จะจะแตกลำต้นหรือเหง้าเพิ่มเป็น 4-5 ลำต้น
ใบ
ใบลูกเดือย มีลักษณะเป็นแผ่นเรียวยาว สีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า ประกอบด้วยกาบใบที่หุ้มลำต้น ถัดมาเป็นโคนใบที่เป็นหยัก และต่อมาเป็นแผ่นใบ ขนาดประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร ปลายใบแหลม แผ่นใบมีเส้นกลางใบชัดเจน ขอบใบเรียบ และมีความคม บาดมือได้ง่าย
ดอก
ดอกลูกเดือยแทงออกเป็นช่อตรงปลายยอดของลำต้นคล้ายกับดอกของหญ้าทั่วไป มีช่อดอกยาว 3-8 เซนติเมตร ดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละดอกแต่อยู่บนช่อดอกเดียวกัน จำนวนดอกต่อประมาณ 10-20 ดอก หรือมากกว่า แต่ดอกทั้ง 2 ชนิด มักบานไม่พร้อมกันจึงมักทำให้มีการผสมเกสรข้ามต้นกัน
ดอกลูกเดือยแต่ละดอกจะมีลักษณะเป็นกระเปราะที่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งต่อมาจะพัฒนากลายเป็นผล หรือเมล็ด โดยดอกลูกเดือยตัวเมียจะมีก้านเกสรสีแดงคล้ำ 2 อัน ซึ่งจะยื่นโผล่ออกมาให้เห็นจากส่วนปลายของกระเปาะสำหรับรับการผสมละอองเกสรตัวผู้ ส่วนดอกตัวผู้แต่ละช่อจะมีประมาณ 10 ดอก ซึ่งจะมีรูปร่างสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่จะค่อนข้างเรียวยาว ขนาดดอกยาว 7-8 เซนติเมตร ตัวดอกประกอบด้วยกาบดอกชั้นนอก 2 อัน ถัดมาภายในจะเป็นกลีบดอก 1 อัน และ และอับเกสร 3 อัน
ผล และเมล็ด
ผลของลูกเดือยจะเรียกว่า ผลปลอม เพราะมีเฉพาะเมล็ดที่อยู่ด้านใน ซึ่งจะประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล เปลือกหุ้มนี้ค่อนข้างบาง แต่แข็งติดกับเมล็ด ถัดมาด้านในสุดจะเป็นเมล็ดที่มีลักษณะรูปหัวใจ ซึ่งจะมีร่องเว้าตรงกลางของเมล็ด ขนาดกว้าง และยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ลูกเดือย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเทือกเขาหิมาลัย โดยแพร่เข้าสู่ประเทศแถบยุโรปผ่านทางชาวอาหรับ และแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกผ่านทางชาวจีน ปัจจุบันพบการปลูกทั่วโลกในแถบประเทศอบอุ่น ส่วนประเทศไทยพบการปลูกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่เขตนิคมสร้างตนเองของ จ.สระบุรี ลพบุรี และนครราชสีมา และในช่วงปี พ.ศ. 2513 ได้แพร่ไปยัง จ.ชัยภูมิ และเลย จนถึงภาคเหนือในปี พ.ศ. 2523
ปัจจุบันพบปลูกมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเลยที่ปลูกมากเป็นอันดับหนึ่งจากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในประเทศ บริเวณอำเภอภูหลวง วังสะพุง และอำเภอเมือง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกต่างประเทศ
ชนิดของลูกเดือยตามรูปร่างเมล็ด
1. Typical : เมล็ดมีลักษณะทรงกลม ค่อนข้างรี ออกรูปไข่ ผิวเมล็ดเรียบ แต่แข็ง เปลือกเมล็ดมีสีฟ้าอมขาว ผิว
2. Stenocarpa : เมล็ดมีมีลักษณะกลม และรียาว ซึ่งจะรีมากกว่าชนิด Typical ส่วนผิวเปลือกจะคล้ายกัน
3. Monilifer : เมล็ดมีลักษณะกลม และมีรูปแบน ส่วนผิวเปลือกจะมีสีขาวขุ่นคล้ายสีน้ำนม หรือาจพบเป็นสีชมพู สีน้ำตาล และสีดำ เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ ไม่นิยมรับประทาน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ ใช้ร้อยเป็นสร้อยคอ
4. Ma-yuen : เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างยาว และมีร่องที่ผิวเปลือกตามแนวยาว เปลือกมีสีขาวขุ่นถึงสีน้ำตาล และบางมาก เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้นิยมนำมารับประทานเช่นกัน
ชนิดของลูกเดือยในประเทศไทย
1. ลูกเดือยหิน
เป็นชนิดลูกเดือยที่พบมากในภาคเหนือ โดยเฉพาะบนภูเขาสูง ลำต้นไม่สูงมาก เป็นชนิดลูกเดือยที่ไม่นำมารับประทาน เนื่องจากมีแป้งน้อย เปลือก และเนื้อเมล็ดแข็งมาก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำเครื่องประดับ เนื่องจากเปลือกมันวาว และมีหลายสี
2. ลูกเดือยหินขบ
เป็นลูกเดือยที่พบปลูกในทางภาคเหนือ ลำต้นสูงประมาณ 2 เมตร เป็นชนิดเดือยที่รับประทานได้ แต่นิยมรับประทานเฉพาะในท้องถิ่น เมล็ดลูกเดือยมีรูปร่างกลม ขนาดเมล็ดใหญ่ ประมาณ 10-12 มิลลิเมตร เปลือก และเนื้อเมล็ดแข็งปานกลาง เมล็ดมีสีน้ำตาลอมเทา
3. ลูกเดือยทางการค้า
เป็นชนิดลูกเดือยที่ปลูก และนิยมรับประทานกันในปัจจุบัน มีลักษณะเมล็ดคล้ายข้าวสาลี ขนาดเมล็ด 8-12 มิลลิเมตร มีเปลือกบาง สีขาวขุ่นหรืออมสีน้ำตาล เมล็ดมีร่องตามแนวยาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
– ลูกเดือยข้าวเหนียว (glutinous type) ลูกเดือยชนิดนี้มีลำต้นสีเขียวอมเหลือง และลำต้นเตี้ยกว่าลูกเดือยข้าวเจ้า เมล็ดมีลักษณะกลม ค่อนข้างป้อม และสั้น มีสีเทาอ่อน ซึ่งจะมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่าเดือยข้าวเจ้า เปลือกเมล็ดบาง และปริแตกง่ายกว่าเมล็ดเดือยข้าวเจ้า เมื่อต้มจะให้แป้งสุกที่เหนียวลื่น และเป็นเมือก คล้ายกับแป้งข้าวเหนียว เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ มักแตกหักง่ายขณะสีเปลือก แต่เป็นชนิดที่นิยมรับประทานมากที่สุด
– ลูกเดือยข้าวเจ้า (nonglutinous type) ลูกเดือยชนิดนี้ลำต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าเดือยข้าวเหนียว และมีนวลขาวปกคลุม ลูกเดือยชนิดนี้มีรูปค่อนข้างยาว และมีขนาดผลเล็ก เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม เปลือก และเนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เมื่อต้มสุกจะให้แป้งที่ไม่เหนียว และไม่เป็นเมือกเหมือนชนิดแรก เมล็ดลูกเดือยชนิดนี้ ไม่แตกหักง่ายขณะสีเปลือก
ที่มา : 4)
ประโยชน์ลูกเดือย
1. ลูกเดือยนิยมนำมาต้มรับประทานคู่กับน้ำกะทิ และน้ำตาล รวมถึงนิยมต้มสุกเพื่อนำไปผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆ อาทิ น้ำเต้าหู้ เป็นต้น
2. ลูกเดือยนำมาแช่น้ำ และนำไปหุงพร้อมกับข้าวสวยรับประทาน
3. ลูกเดือยนิยมใช้ทำแป้งลูกเดือยสำหรับทำขนมของหวาน
4. ลูกเดือยใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมสำหรับบำรุงสุขภาพ
5. เมล็ดลูกเดือยนำมาตากแห้ง ก่อนบดเป็นผงชงเป็นชาหรือน้ำเมล็ดธัญพืชดื่ม
6. สารสกัดจากลูกเดือย โดยเฉพาะ coxenolide ใช้เป็นส่วนผสมทางยาสำหรับต้านเซลล์มะเร็ง
7. ลูกเดือยใช้เป็นส่วนผสมในอาหาสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์
8. ลูกเดือยหินใช้ทำเครื่องประดับ อาทิ ห้อยร้อยเป็นสร้อยข้อมือ ตกแต่งบ้าน ตกแต่งเสื้อผ้า
เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง เป็นมันวาว และมีหลายสี
คุณค่าทางโภชนาการของลูกเดือย
– โปรตีน 17.58 %
– ไขมัน 2.03 %
– คาร์โบไฮเดรต 51.58%
– ซิลิคอนไดออกไซด์ 0.1%
– แคลเซียม 0.04%
– แมกนีเซียม 0.06%
– โซเดียม 0.006%
– โปรแตสเซียม 0.14%
– ฟอสฟอรัส 0.15%
กรดไขมัน ได้แก่
– Palmitic Acid 14.6-15.8%
– Stearic acid 1.1-1.7%
– Oleic acid 49.3-59%
– Linoleic acid 22.7-33.7%
– Linoleic acid เล็กน้อย
ที่มา : 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
สาระสำคัญที่พบ
ผลลูกเดือย
– coxenolide (ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และลดไขมันคอเลสเตอรอล)
– Coixol
– 1,2-ethanediol
– 1,2-propanediol
– 1,3-propanediol
– 1,3-butanediol
– 1,4-butanediol
– 2,3-butanediol
รากลูกเดือย
– Lignin
– Coixol
– Palmitic Acid
– Stearic Acid
– Stigmeaterd
– B-Sitosterol
– แป้ง และน้ำตาล
ที่มา : 1), 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
สรรพคุณลูกเดือย
ผลหรือลูกเดือย
– ลูกเดือย เป็นธัญพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งพลังงาน โปรตีน และวิตามิน ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ
– ลูกเดือยมีฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูก
– ลูกเดือยมีมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา
– ลูกเดือยมีวิตามิน B1 ช่วยแก้อาการเหน็บชา
– ลูกเดือยมีคาร์โบไฮเดรตสูง ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และช่วยให้คนไข้พักฟื้นตัวได้เร็ว
– ต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวหยาบแห้ง
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยลดอาการเป็นไข้ ลดอาการปวดหัว
– ช่วยบำรุงอวัยวะภายใน อาทิ ตับ ไต กระเพาะอาหาร และม้าม
– ช่วยบำรุงเลือดในสตรีหลังคลอดใหม่
– ช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
– ช่วยแก้อาการท้องร่วง
– ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้
– ช่วยแก้อาการบวมน้ำ
– ช่วยแก้อาการปวดข้อเรื้อรัง
– ช่วยในการย่อยอาหาร
– ช่วยบำรุงเส้นผม และผิวหนัง
– แก้อาการเหน็บชา
– แก้อาการกล้ามเนื้อชักกระตุก
– รักษาการตกขาวผิดปกติในสตรี
– แก้อาการหลอดลมอักเสบ
– ช่วยลดน้ำคั่งในปอด
– แก้ฝีในลำไส้
– ช่วยรักษาอาการเอ็นตึงรั้ง
– รักษาโรครูมาติซึม
– ใช้รักษาวัณโรค
– ช่วยในการขับเลือด ขับหนอง
– ใช้รักษาโรคหูด
ใบ และลำต้น
– ใบใช้ชงเป็นยาดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ
– นำทั้งต้น และใบมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง ลดอาการผื่นคัน
– แก้ปัสสาวะเหลืองขุ่น
รากลูกเดือย (มีรสขมเล็กน้อย)
– การหมุนเวียนของเลือดที่ผิวหนัง
– ช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ดำดก
– น้ำต้มช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยแก้ไข้
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้อาการดีซ่าน
– แก้อาการบวมน้ำ
– แก้โรคหนองใน
– แก้ข้อเข่าเสื่อม ลดอาการปวดตามข้อต่างๆ
– แก้อาการตกขาว
– กระตุ้นประจำเดือนให้มาปกติ
ที่มา : 1), 2), 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ฤทธิ์สำคัญทางยาที่พบ
– กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– ขับปัสสาวะ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก และใบ
– ลดอุณหภูมิในร่างกาย : ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixenolide
– ฤทธิ์ต้านการอักเสบจากการติดเชื้อ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– ต้านการอักเสบที่ผิวหนัง : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixenolide ในผล
– ลดความดันโลหิต : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– ใช้เป็นยานอนหลับ และระงับอาการปวด : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– ลดน้ำตาลในเลือด : ส่วนที่ใช้ คือ สาร Coixan A.B,C ในผล
– ยับยั้ง Trypsin : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– ฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– ลดโคเลสเตอรอล : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– กระตุ้นการเจริญ และตกไข่ในสตรี : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– กระตุ้นการสร้างอสุจิ : ส่วนที่ใช้ คือ ผล
– ขับพยาธิในเด็ก : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา : ส่วนที่ใช้ คือ ราก ใบ และลำต้น
– บำรุง และกระตุ้นการงอกของผม : ส่วนที่ใช้ คือ ราก
– เป็นพิษต่อเม็ดเลือดขาว : ส่วนที่ใช้ คือ เปลือกเมล็ด
เพิ่มเติมจาก : 4)
การปลูกลูกเดือย
ลูกเดือยเป็นพืชไร่ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน พื้นที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะง่าย การปลูกนั้นจะใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ดเพียงอย่างเดียว ด้วยการหว่านเมล็ดลงบนแปลง ซึ่งจะหว่านในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนา และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกลูกเดือยชื่อพันธุ์ เดือยข้าวเหนียวพันธุ์เลย ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึงร้อยละ 11
ลักษณะลูกเดือยข้าวเหนียวพันธุ์เลยกับพันธุ์พื้นเมือง
1. ความสูง 196 เซนติเมตร ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองสูง 203 เซนติเมตร
2. ทรงพุ่มกว้าง ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองทรงพุ่มแคบ
3. ดอกออกทุกซอกใบ เหมือนกับพันธุ์พื้นเมือง
4. จำนวนแขนงประมาณ 11 แขนง/กอ เท่ากัน
5. เมล็ด 609 ต่อกอ ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง 546 ต่อกอ
6. น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.7 กรัม ขณะที่พันธุ์พื้นเมือง 15.6 กรัม
7. ร้อยละหลังการกะเทาะ 55.6 ส่วนพันธุ์พื้นเมืองร้อยละ 49.2
8. ผลผลิตต่อปี 299 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์พื้นเมือง 266 กก./ไร่
9. น้ำหนักหลังกะเทาะ 167 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์พื้นเมือง 133 กก./ไร่
ที่มา : 4)
การเตรียมแปลง
การปลูกเพื่อการค้า เกษตรกรนิยมปลูกในพื้นที่ไร่บนแปลงใหญ่ ซึ่งจะต้องเตรียมแปลงคล้ายกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป คือ ให้ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช 1 รอบ พร้อมตากดินนานอย่างน้อย 10-15 วัน
วิธีการปลูกลูกเดือย
การปลูกสามารถปลูกได้ทั้งวิธีการหว่านเมล็ด และการหยอดเมล็ด แต่ทั่วไปจะใช้วิธีการหยอดเมล็ด เพราะหารหว่านจะควบคุมระยะห่างยาก และลำต้นของลูกเดือยแตกแขนงเป็นกอได้กว้าง
การหยอดเมล็ดจะใช้วิธีการไถคราดให้เป็นร่องตามยาวก่อน พร้อมโรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ และหลังหยอดเมล็ดแล้วค่อยคราดกลบร่อง โดยมีระยะห่างของร่องหรือแถวประมาณ 75 เซนติเมตร จากนั้น จะหยอดเมล็ดเป็นหลุมๆหรือจุดๆ หลุมละ 5-6 เมล็ด แต่ละจุดห่างกันประมาณ 75 เซนติเมตร หลังจากที่เมล็ดงอกแล้วประมาณ 1 เดือน จึงถอนต้นลูกเดือยให้เหลือ 3-4 ต้น
การให้น้ำ
หลังจากหยอดเมล็ดแล้วก็จะปล่อยให้เมล็ดงอก และเติบโตตามธรรมชาติ โดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูก็เพียงพอ
การใส่ปุ๋ย
หลังการถอนต้นแล้ว ประมาณ 1 เดือน (เดือนที่ 2) ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 หรือสูตร 15-15-15 ในอัตราเดียวกันในตอนรองพื้น โดยจะใส่พร้อมกับการกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืช
ในช่วงที่เริ่มทำการถอนต้นลูกเดือยทิ้ง ให้กำจัดวัชพืชด้วยการใช้จอบถากไปพร้อมด้วย
ผลผลิต
หลังจากที่ดอกเริ่มออกประมาณเดือนตุลาคม ลูกเดือยก็จะเริ่มติดเมล็ด และจะเริ่มแก่พร้อมเก็บเมล็ดได้ประมาณกลางเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งจะสังเกตได้จากลำต้น และใบเหลือง และเริ่มแห้งแล้ว
วิธีเก็บเมล็ดนั้น เกษตรกรจะนิยมใช้มีดหรือเคียวตัดลำต้นเดือยทั้งต้น และแบกมากองรวมกันเป็นชั้นบนผ้าตาข่ายหรือผ้าลาน และตากเมล็ดให้แห้งนาน 2-3 วัน ก่อนจะใช้เครื่องนวดแยกเมล็ดออก ก่อนจะนำเมล็ดส่งโรงงานรับซื้อ
ความคุ้มทุน
สำนักงานเกษตร จังหวัดเลยได้รายงานความคุ้มทุนในการปลูกลูกเดือยของเกษตรกรพบว่า เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตต่อไร่ประมาณ 3,360 บาท หลังจากเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตประมาณ 600 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนราคารับซื้อขณะนั้นประมาณ 15 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะขายได้เงินประมาณ 9,000 บาท/ไร่ คำนวณแล้วจะได้กำไรประมาณ 5,640 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ราคารับซื้ออาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
เอกสารอ้างอิง