ลูกสำรอง (Malva nut) สรรพคุณ และการปลูกลูกสำรอง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ลูกสำรอง (Malva nut) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งของต้นสำรอง เนื้อผลสามารถดูดซับน้ำกลายเป็นวุ้นที่ให้พลังงาน และไขมันต่ำ นิยมรับประทานเป็นอาหารเสริม ช่วยลดไขมัน ลดความอ้วน รวมถึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

• วงศ์ : Sterculiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scaphium scaphigerum (G. Don) Guib & Planch
• ชื่อสามัญ : Malva nut
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ลูกสำรอง
ภาคตะวันออก
– พุงทะลาย (จันทบุรี)
ภาคอีสาน
– บักจอง
– หมากจอง
จีน
– ฮวงไต้ไฮ้
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น
– ท้ายเภา
– ท้ายเภาขาว
– เปรียง
– โปรง

ที่มา : [1], [10]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ลูกสำรอง พบแพร่กระจายทั่วไปในป่าดงดิบ และป่าพื้นราบ พบได้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย และพบได้ในประเทศจีน ในประเทศไทยพบมากในทางภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนภาคอีสานพบมากในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ. อุบลราชธานี [2] อ้างถึงใน (Yamada et al., 2000)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นลูกสำรอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นกลม และเพลาตรง สูงประมาณ 20 – 40 เมตร เปลือกลำต้นแตกสะเก็ดเป็นแผ่นขนาดใหญ่ สีน้ำตาล เปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง

ใบ
ใบลูกสำรอง ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันเป็นวงตามความยาวของกิ่ง ใบมีรูปไข่ กว้างประมาณ 5-18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 12.5-21 เซนติเมตร โคนใบป้านมน ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ หนา มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขอบใบเป็นลูกคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ ชัดเจน และมีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบ 3 เส้น และเส้นแขนงใบออกจากเส้นกลางใบข้างละ 6 เส้น

ดอก
ลูกสำรอง จะเริ่มออกดอกพร้อมกับการผลิใบอ่อน ดอกลูกสำรองออกดอกเป็นช่อบริเวณกิ่ง ประกอบด้วยก้านดอกหลัก ยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร และแตกก้านดอกแขนงสั้นๆล้อมรอบ ตัวดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 7.8-8.0 มิลลิเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกมีสีขาว จำนวน 5 กลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรแยกเพศ เป็นเกสรตัวผู้มีสีเหลือง และเกสรตัวเมีย มีสีแดง ทั้งนี้ ลูกสำรองจะออกดอกประมาณเดือนมกราคม

ผล และเมล็ด
ผลลูกสำรอง มีรูปไข่ เปลือกผลดิบมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะมีรอยย่น ท้ายผลมีแผ่นบางๆสีน้ำตาลคล้ายเรือ ซึ่งเรียกว่า ปีก ปีกนี้ ทำหน้าที่ร่องตามลมขณะผลร่วงจากต้น ทำให้ผลหล่นปลิวไปได้ไกลจากต้นแม่ได้

เมล็ดลูกสำรองมีรูปทรงกลมรี คล้ายกระสวย เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีน้ำตาล ทั้งนี้ ผลลูกสำรองจะแก่ และร่วงหล่นประมาณเดือนเมษายน

ผลลูกสำรอง เมื่อแห้ง เปลือกผลจะมีสีน้ำตาล และมีสารเมือกจำนวนมาก เมื่อนำมาแช่น้ำจะพองตัวออก สามารถอุ้มน้ำได้ 40-45 มิลลิลิตร/กรัม ทำให้เกิดเป็นวุ้น สีน้ำตาลอมแดงเรื่อ สามารถรับประทานได้ [10] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ประโยชน์ลูกสำรอง
1. ผลลูกสำรองแห้ง เมื่อแช่น้ำจะพองออกเป็นวุ้นสีน้ำตาลอมแดงเรื่อ ใช้รับประทานเป็นอาหารหรือขนมหวาน สามารถรับประทานได้ ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ โพลีแซคคาไรด์ [5]
2. วุ้นจากผลลูกสำรองแปรรูปเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
3. วุ้นจากผลลูกสำรองใช้ปั่นเป็นเครื่องดื่ม เรียกว่า น้ำลูกสำรอง (malva nut drink)
4. ลูกสำรองเป็นสินค้าที่ขายดีทั้งในประเทศ และต่างๆประเทศ เนื่องจาก เป็นอาหารเสริมทดแทนได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง มีน้ำตาล และไขมันน้อย เหมาะสำหรับผู้ต้องการลดหุ่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
5. เปลือกต้นลูกสำรองใช้ฟอกย้อมแห อวนหรือตาข่าย ทำให้เกิดสีน้ำตาลแดง ช่วยให้มีความเหนียว และคงทนมากขึ้น
6. เนื้อไม้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง ไม้แป ไม้แผ่น ไม้วงกบ เป็นต้น รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์

คุณค่าทางโภชนาการลูกสำรอง

คุณค่าทางอาหาร ประมาณที่พบ (%)
ความชื้น 15.31
ไขมัน 0.41
โปรตีน 8.45
คาร์โบไฮเดรต 68.59
ใยอาหาร 76.45
เถ้า 5.84
โซเดียม 0.12
โพแทสเซียม 0.14
แคลเซียม 0.25
ฟอสฟอรัส 0.20
เหล็ก 0.007

ที่มา : [7], [9] อ้างถึงใน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2549)

สารสำคัญที่พบ
องค์ประกอบของของวุ้นจากผลลูกสำรองประกอบด้วยน้ำตาลโมโนแซกคาไรด์ (monosaccharide) เป็นหลัก ได้แก่

องค์ประกอบของโมโนแซกคาไรด์ที่พบ ประมาณที่พบ (%)
Arabinose 31.9
Galactose 29.2
Rhamnose 29.4
Glucose 2.7
Xylose 2.1
Manose 4.8

ที่มา : [6] อ้างถึงใน Soomboon panyakul และคณะ (2006)

สรรพคุณลูกสำรอง
ผล และเมล็ดลูกสำรอง
– แก้โรคเบาหวาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
– ช่วยให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่ยากอาหารบ่อย
– ช่วยลดไขมัน ลดความอ้วน กระชับหุ่นให้ดีขึ้น
– ช่วยลดความดันโลหิต
– ป้องกันโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยบรรเทาอาการไข้
– แก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ
– บรรเทาอาการไอ แก้อาการเจ็บคอ
– แก้ตานขโมยในเด็ก
– ใช้เป็นยาช่วยขับลม
– ช่วยบำรุงสำไส้
– กระตุ้นระบบขับถ่าย
– แก้อาการท้องเดิน
– แก้อาการท้องเสีย
– วุ้นใสจากลูกสำรองใช้พอกรอบดวงตา ช่วยบรรเทาอาการตาอักเสบ แก้อาการบวมแดงได้

ใบ
– ใช้เป็นยาช่วยขับลม
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

เปลือก และแก่นลำต้น
– ใช้เป็นยาแก้ไข้
– แก้กามโรค
– แก้โรคเรื้อน
– แก้อาการท้องเสีย

ราก (มาบดหรือฝนทาภายนอก)
– ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ไอ
– แก้อาการท้องเสีย
– ใช้เป็นยาแก้ลม
– แก้พยาธิผิวหนัง

ที่มา : [2], [3], [4], [6] อ้างถึงใน มติชนสุดสัปดาห์, [8]

การทำลูกสำรอง
1. นำลูกสำรองล้างน้ำให้สะอาด 2-3 น้ำ
2. นำลูกสำรองแช่น้ำอุ่นนาน 8-12 ชั่วโมง พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำ เพื่อให้เนื้อผลดูดซับน้ำได้ทั่วถึง
3. เมื่อลูกสำรองพองออกจนเป็นวุ้นแล้ว ให้หยิบเลือกเมล็ด และเปลือกออก
4. นำวุ้นที่ได้กรองแยกเนื้อวุ่นในตะแกรงตาถี่
5. นำเนื้อวุ้นปรุงหรือแปรรูปรับประทาน หรือ นำเข้าตู้อบเพื่อเก็บรักษาเป็นวุ้นแห้ง

การปลูกลูกสำรอง
การปลูกต้นลูกสำรอง ปลูกได้ด้วยการใช้เมล็ด แต่วิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะกว่าจะออกดอก และติดผลต้องใช้เวลานานหลายปี ส่วนวิธีอื่นที่ติดดอก ออกผลเร็วกว่า ได้แก่ การเสียบยอด การตอนกิ่ง และการปักชำ


ขอบคุณภาพจาก NanaGarden.com/, thainaturalproducts/, pharmacy.mahidol.ac.th/, panmaithai.com/ , arshadahmad.wordpress.com/, instarix.com /, คุณ mou ; http://siamensis.org/

เอกสารอ้างอิง
[1] เอื้อมพร วีสมหมาย, 2547, ไม้ป่ายืนต้น.
[2] กนกวรรณ การเจริญดี, 2553, การพัฒนาผลิตภัณฑ์สาหร่ายแผ่นผสมลูกสำรอง.
[3] สุทธิวัสส์ คำภา, 2549, กินเป็นลืมป่วย.
[4] รัตติยา วีระนิตินันท, 2548, ผลทางคลินิกของการบริโภคน้ำสำรอง-
ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่โรงพยาบาลสองพี่น้อง-
จังหวัดจันทบุรี.
[5] พร้อมจิตต์ ศรลัมพ์, 2535, สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.
[6] บงกชมาศ โสภา, 2553, ผลของปริมาณกัมสกัดจากลูกสำรอง เกลือ-
และฟอสเฟตต่อลักษณะคุณภาพของไส้กรอกเวียนนา-
ลดไขมันที่เก็บถนอมโดยใช้ปัจจัยร่วม.
[7] วรัญญา ศุภมิตร และคณะ, 2549, การศึกษาสมบัติทางกระแสของผงกัมจากผลสำรอง.
[8] เกศริน มณีนูน, 2549, สำรอง : สมุนไพรเพ่อสุขภาพ.
[9] ประภาศรี เทพรักษา, 2547, การใช้ลูกสำรองทดแทนไขมันในผลิตภัณฑ์หมูยอ.
[10] ญษมณ ละทัยนิล, 2553, ผลของลูกสำรองต่อการลดไขมันหน้าท้อง-
และน้ำหนักตัวในคนไทยที่มีภาวะอ้วน.