Last Updated on 17 ธันวาคม 2016 by puechkaset
ยอ (Yor) หรือ ยอบ้าน (Yor Ban) จัดเป็นพืชให้ผลที่นิยมนำผลหรือใบมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมหลายชนิดที่ช่วยป้องกันโรคต่างๆ อาทิ โรคในระบบประสาท และสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น โดยส่วนผลสุกนำมาคั้นน้ำดื่มเป็นน้ำผลไม้ ส่วนใบนำมาต้มน้ำหรือบดตากแห้งใช้ชงเป็นชาต้มดื่ม
• วงค์ : Rubiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda citrifolia วงค์ : Rubiaceae
• ชื่อท้องถิ่น :
– ยอ (ภาคกลาง และทั่วไปในทุกภาค)
– มะตาเสือ (เหนือ)
– แยใหญ่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
• ต่างประเทศเรียก :
– Noni
– Wild pine
– Hog apple
– Indian mulberry
1. ลำต้น
ยอเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 2-6 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่ 5-10 เซนติเมตร ขึ้นกับอายุ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เปลือกลำต้นบางติดกับเนื้อไม้ ผิวเปลือกออกสีเหลืองนวลแกมขาว หยาบสากเล็กน้อย แตกกิ่งน้อย 3-5 กิ่ง ทำให้แลดูไม่เป็นทรงพุ่ม
2. ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) แทงออกตรงข้ามกันซ้ายขวา มีรูปทรงรี หรือขอบขนาน ใบกว้างประมาณ 10-20 ซม. ยาวประมาณ 15-30 ซม. ใบอ่อนสีเขียวสด เมื่ออายุใบมากจะมีสีเขียวเข้ม ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. โคนใบ และปลายใบมีลักษณะแหลม ขอบใบ และผิวใบเป็นคลื่น ผิวใบมันเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านบนใบมักพบเป็นตุ่มที่เกิดจากแบคทีเรีย
3. ดอก
ดอกออกเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ สีขาว รูปทรงเหมือนหลอด ดอกแทงออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-4 ซม. ไม่มีก้านดอกย่อย จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย กลีบรองดอก และโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบดอกมีสีขาว เป็นรูปท่อ ยาวประมาณ 8-12 มม. ผิวดอกด้านนอกเรียบ ด้านในมีขน ดอกส่วนครึ่งปลายบนแยกเป็น 4-5 แฉก ยาวประมาณ 4-5 มม. เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ยาวประมาณ 15 มม. แยกเป็น 2 แฉก อับเรณูยาวประมาณ 3 มม.
4. ผล
ผลเป็นชนิดผลรวม (multiple fruit) เช่นเดียวกับน้อยหน่า และขนุน เชื่อมติดกันเป็นผลใหญ่ดังที่เราเรียกผลหรือหมาก ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาว 3-10 ซม. ผิวเรียบเป็นตุ่มพอง ผลอ่อนจะมีสีเขียวสด เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมเขียว และเมื่อสุกจะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีขาวจนเน่าตามอายุผล เมล็ดในผลมีจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะแบน ด้านในเมล็ดเป็นถุงอากาศทำให้ลอยน้ำได้ ผิวเมล็ดมีสีนํ้าตาลเข้ม (วิทย์, 2542)(1)
สายพันธุ์ยอ แบ่งเป็น 3 สายพันธุ์ คือ
1. M. citrifolia var. citrifolia เป็นสายพันธุ์ที่มีผลหลายขนาด พบได้บริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฮาวาย ตาฮิติ เป็นต้น
2. M. citrifolia var. bracteata เป็นสายพันธุ์ที่มีผลเล็ก พบมากในทวีปเอเชีย เช่น ไทย พม่า ลาว จีนตอนใต้ เวียดนาม มาเลียเชีย อินโดนีเซีย อินเดีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
3. M. citrifolia cultivar potteri เป็นสายพันธุ์ที่ใบมีทั้งสีเขียว และสีขาว พบทั่วไปบริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
คุณค่าทางโภชนาการใบยอ และลูกยอ
1. ใบยอ
– คาร์โบไฮเดรต : 11.1 กรัม
– โปรตีน : 3.8 กรัม
– ไขมัน : 0.8 กรัม
– เยื่อไยอาหาร : 1.9 กรัม
– แคลเซียม : 350 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 86 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 4.9 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ : 9,164 หน่วยสากล
– วิตามินบี 1 : 0.3 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 : 0.14มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 78 มิลลิกรัม
2. ผลดิบของยอ
– คาร์โบไฮเดรต : 7.5 กรัม
– โปรตีน : 0.5 กรัม
– ไขมัน : – กรัม
– เยื่อไยอาหาร : 1.1 กรัม
– แคลเซียม : 39 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 17 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.4 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ : – หน่วยสากล
– วิตามินบี 1 : 0.06 มิลลิกรัม
– วิตามินบี 2 : 0.04มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 208 มิลลิกรัม
ที่มา: สุภาภรณ์ (2545)(2)
สรรพคุณยอ
1. ใบ
ใบสดใช้ต้มน้ำดื่มหรือนำมาบดตากแห้งชงเป็นชาดื่ม รวมถึงใส่แคปซูลรับประทาน ช่วยแก้กระษัย แก้ปวดเมื่อยตามข้อมือข้อเท้า รักษาวัณโรค แก้ท้องร่วง ลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด แก้โรคมะเร็ง แก้โรคเกาต์ ช่วยขับประจำเดือน แก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียนศรีษะ นอกจากนั้น นำใบสดมาคั้นเอาน้ำมาสระผมฆ่าเหา นำมาทารักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง
2. ดอก
ดอกใช้ต้มน้ำดื่มหรือนำมาตากแห้งชงเป็นชาดื่ม แก้วัณโรค โรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด ต้านโรคมะเร็ง แก้ไอ ลดเสมหะ แก้ท้องร่วง
3. ผล
เนื้อผลมีรสเผ็ดร้อน มีสารออกฤทธิ์คือ asperuloside ใช้แก้อาเจียน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร และลำไส้ ช่วยขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยลดไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับนํ้าคาวปลา แก้เสียงแหบแห้ง แก้ร้อนใน แก้กระษัย แก้อาเจียน แก้โรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด ป้องกันโรคมะเร็ง ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาระบาย
4. ราก
รากนำมาต้มหรือดองเหล้ารับประทานเป็นยาระบาย แก้กระษัย ช่วยเจริญอาหาร ใช้รักษาวัณโรค แก้โรคเบาหวาน ป้องกันโรคมะเร็ง โรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงนำมาเป็นสีย้อมผ้า โดยเฉพาะเปลือกรากที่ให้สีแดง ส่วนเนื้อรากจะให้สีเหลือง หรือต้มรวมกันจะให้สีเหลืองปนแดง สีที่ได้จากรากยอจัดเป็นสีที่คงทนต่อซักรีด สีไม่ตกง่าย
ที่มา : วิทย์, 2542(1)
สารออกฤทธิ์ในผล และใบยอ
1. ซีโรนีน (Xeronine)
ซีโรนินเป็นสารอัลคาลอยด์ มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 16,000 ไม่ใช่สารที่เป็นน้ำตาล กรดอะมิโน หรือ กรดนิวคลีอิก สารนี้พบในลูกยอไม่มากนัก แต่มีสารตั้งต้นในการผลิตซีโีรนินจำนวนมาก คือ โพรซีโรนีน (Proxeronine) สารนี้มีกลิ่นรุนแรง จากสารประกอบในกลุ่ม Sulfhydryl โดยโพรซีโรนีนสามารถเปลี่ยนเป็นซีโรนีนได้โดยเอนไซม์โพรซีโรเนส (Proxeronase) สามารถเปลี่ยนได้บริเวณกระเพาะอาหารจากเปปซิน (Pepsin) และสภาพความเป็นกรด ซีโรนีนมีประโยชน์ ดังนี้ คือ
– ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเซลล์ เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มประสิทธิภาำการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์มีอายุยาวนาน
– ช่วยเพิ่มเซลล์ T-lymphocytes และ macrophages กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ รวมถึงการกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอทำให้ต้านโรคมะเร็งได้ดี นอกจากนั้น ยังช่วยบำรุงระบบประสาท ช่วยลดความเครียด และวิตกกังวลได้ดี
– ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกัน และรักษาโรคเบาหวาน โดยมี xeronine จะช่วยรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในภาวะปกติ
– ช่วยปรับสมดุลความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงอาการสมองขาด oxygen (stroke) ได้
– สาร xeronine, terpene และ scopoletin ช่วยกระตุ้นการหลั่ง endorphin ของร่างกาย ทำให้ลดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และลดไขข้ออักเสบ
– ช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร โดยเฉพาะไขมัน ทำให้ลดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยลดความอ้วน
สารซีโรนิน (Xeronin) ที่ทำงานร่วมกับซีโรโทนิน (Serotonin) และสโคโปเลติน (Scopoletin) สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางได้
ซีโรนินมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างโมเลกุลโปรตีนหลายชนิด เช่น เอนไซม์ (Enzyme) ตัวรับ(Receptor) หรือสารชักนำสัญญาณ (Signal transducer) ทำให้โปรตีนเหล่านี้ทำงานได้ตามปกติ
2. ซีโรโทนิน (Serotonin)
ซีโรโทนิน (Serotonin, 5-Hydroxytryptamine, 5-HT) เป็นสารสื่อประสาท Monoamine ที่พบได้ในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนย่อย เช่น สมอง กล้ามเนื้อเรียบ หลอดเลือด การกลืนอาหาร การนอนหลับ และความทรงจำ เป็นต้น
ดังนั้น การรับประทานลูกยอหรือน้ำลูกยอจะช่วยเพิ่มสารซีโรโทนินให้แก่ร่างกาย ช่วยกระตุ้น และบำรุงระบบประสาท และกล้ามเนื้อได้ ช่วยลดอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ป้องกัน และลดอาการของโรคไมเกรน
3. Scopoletin
– เป็นสารช่วยขยายหลอดเลือด และลดความดันโลหิตได้ดี
– เป็นสารช่วยลดการหลั่งสาร histamine ช่วยลดอาการบวม และอักเสบของกล้ามเนื้อ รวมถึงลออาการหอบหืดได้ดี
– เป็นสารกระตุ้นต่อมใต้สมองให้หลั่ง serotonin ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่ง melatonin และ endorphin มากขึ้น ช่วยลดความเครียด มีอารมณ์ดี และช่วยในการนอนหลับ
4. Anthraquinones
เป็นสารที่มีรสขม ช่วยกระตุ้นการอยากอาหาร กระตุ้นการทำงานของระบบการย่อยอาหาร เพิ่มการหลั่ง Enzymes ในกระเพาะอาหาร และน้ำดี นอกจากนั้น ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของท้องร่วง
5. Damnacanthal
ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Anthraquinone ให้ผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งเปลี่ยนกลับเป็นเซลล์ปกติได้
นอกจากนี้ยังมีสารอีกมากมายหลายชนิดที่มีสมบัติในด้านต่าง ๆ เช่น กรดไขมัน Caproic acid ซึ่งเป็นสารแต่งกลิ่นที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร และ Caprylic acid ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเจริญ
ของเชื้อรา นอกจากนี้ ยังพบ ß-Sitosterol และสารต่อต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ เช่น เซเลนียม และวิตามินซี เป็นต้น
การศึกษาของ Wang และ Su ปี 2001 ที่ทดสอบการต้านมะเร็ง และต้านอนุมูลอิสระของน้ำลูกยอ พบว่า น้ำลูกยอมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระที่มีผลในการต่อต้านมะเร็งได้ดี รวมถึงการศึกษาของ Phatthanawan (2002) ได้ศึกษาสารสกัดจากยอต่อการกลายพันธุ์ พบว่า สารสกัดจากยอสามารถต้านการกลายพันธุ์ในแมลงหวี่ได้ ทั้งนี้ Zin et al. (2002) ได้ศึกษาสารจากราก ใบ และผลของยอ พบว่า สารที่พบในรากยอเป็นสารที่มีขั้ว(Polar) และไม่มีขั้ว (Non polar) ส่วนสารต้ในผล และใบยอเป็นสารที่ไม่มีขั้วเท่านั้น
ที่มา : ชฎาธาร, 2527(3)
ผลการทดลองดื่มน้ำลูกยอเพื่อบำบัดรักษาโรค
1. Cancer
จำนวนผู้ป่วย 1,058 ราย อาการดีขึ้น 67%
2. Heart disease
จำนวนผู้ป่วย 983 ราย อาการดีขึ้น 80%
3. Stroke
จำนวนผู้ป่วย 2,434 ราย อาการดีขึ้น 58%
4. Diabetes, Type 1 and 2
จำนวนผู้ป่วย 7,931 ราย อาการดีขึ้น 83%
5. Low Energy
จำนวนผู้ป่วย 1,545 อาการดีขึ้น 91%
6. Suboptimal sexually
จำนวนผู้ป่วย 709 ราย อาการดีขึ้น 88%
7. Building body muscle
จำนวนผู้ป่วย 2,638 อาการดีขึ้น 71%
8. Obesity
จำนวนผู้ป่วย 721 ราย อาการดีขึ้น 72%
9. High blood pressure
จำนวนผู้ป่วย 447 ราย อาการดีขึ้น 87%
10. Smoking
จำนวนผู้ป่วย 673 ราย อาการดีขึ้น 58%
11. Arthritis
จำนวนผู้ป่วย 3,785 อาการดีขึ้น 80%
12. Pain
จำนวนผู้ป่วย 781 ราย อาการดีขึ้น 87%
13. Depression
จำนวนผู้ป่วย 851 ราย อาการดีขึ้น 77%
14. Allergy
จำนวนผู้ป่วย 1,509 ราย อาการดีขึ้น 85%
15. Digestive problems
จำนวนผู้ป่วย 2,727 ราย อาการดีขึ้น 89%
16. Respiratory problems
จำนวนผู้ป่วย 1,148 ราย อาการดีขึ้น 78%
17. Sleep problems
จำนวนผู้ป่วย 301 ราย อาการดีขึ้น 72%
18. Fuzzy thinking
จำนวนผู้ป่วย 3,716 ราย อาการดีขึ้น 89%
19. Increased feeling of well-being
จำนวนผู้ป่วย 2,538 ราย อาการดีขึ้น 79%
20. Increased alertness & mental acuity
จำนวนผู้ป่วย 2,127 ราย อาการดีขึ้น 73%
21. Kidney problems
จำนวนผู้ป่วย 3,273 ราย อาการดีขึ้น 66%
22. Stress
จำนวนผู้ป่วย 847 ราย อาการดีขึ้น 71%
ที่มา: Solomon (1998)(4)
ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับน้ำลูกยอ
1. สารโพรซีโรนินต้องการน้ำย่อยเปปซิน (Pepsin) และสภาพความเป็นกรดในกระเพาะ เพื่อเปลี่ยนเป็นซีโรนิน ดังนั้น หากรับประทานน้ำลูกยอขณะที่ท้องอิ่มแล้วจะทำให้มีผลทาเภสัชของซีโรนินน้อยลง
2. คุณค่า และสรรพคุณน้ำลูกยอจะลดลงเมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์
3. การบดหรือการสกัดน้ำลูกยอไม่ควรทำให้เมล็ดยอแตก เพราะสารในเมล็ดยอมีฤทธิ์เป็นยาระบายอาจทำให้ถ่ายบ่อยได้
การปลูก
การปลูกยอนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด แต่สามารถขายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นได้เช่นกัน เช่น การปักชำ การตอน โดยการเพาะเมล็ดจะใช้วิธีการบีบแยกเมล็ดออกจากผลสุก แล้วล้างด้วยน้ำ และกรองเมล็ดออก ผลที่ใช้ต้องเป็นผลสุกจัดที่ร่วงจากต้นที่มีสีขาว เนื้อผลอ่อนนิ่ม ซึ่งจะได้เมล็ดที่มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม
เมล็ดที่ได้ต้องนำไปตากแห้ง 3-5 วันก่อน และนำมาเพาะในถุงเพาะชำให้มีต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ก่อนนำลงปลูก
การแปรรูปลูกยอ
1. ชาลูกยอ
ชาลูกยอเป็นวิธีการแปรรูปลูกยอ โดยการใช้ลูกยอดิบหรือห่าม ฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง และนำมาบดเป็นผงสำหรับชงเป็นชาลูกยอดื่ม ใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยขับลม
บำรุงร่างกาย และช่วยการเจริญอาหาร
2. น้ำลูกยอสด
การทำน้ำลูกยอสดสำหรับดื่มรับประทานเพียงอย่างเดียวมักไม่นิยมนัก เนื่องจากน้ำลูกยอที่ได้จะมีกลิ่น และรสฉุน ไม่น่ารับประทาน จึงนิยมนำน้ำลูกยอสดผสมกับน้ำผลไม้ชนิดอื่นเพื่อให้มีรส และกลิ่นที่น่ารับประทานขึ้น เช่น ผสมกับน้ำสับประรด น้ำส้ม น้ำองุ่น เป็นต้น
3. ไวน์ลูกยอ
เป็นการแปรรูปลูกยอที่ผ่านกระบวนการหมักซึ่งในปัจจุบันมีผลิตไวน์ลูกยอจำหน่ายมากในระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากไวน์ลูกยอจะมีกลิ่นของไวน์ที่ถูกปรับปรุงจากกระบวนการหมักแล้ว ทำให้ดื่มง่ายไม่เหมือนน้ำลูกยอสด โดยมีวิธีทำดังนี้
1. นำผลยอห่ามหรือสุก 3-5 กิโลกรัม ล้างน้ำให้สะอาด และฝานเป็นแผ่น ๆ
2. อบลูกยอให้แห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลซียส หรือนำมาตากแดดให้แห้ง
3. นำผลยอแห้งต้มกับน้ำสะอาด 20 ลิตร ผสมน้ำตาลทราย 2-4 กิโลกรัม หรือปรับระดับความหวานให้ได้ 20°brix
4. เติมไนโตรเจน เช่น ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต 0.5%(w/v) และแบ่งน้ำหมักไว้ประมาณ 5% สำหรับทำหัวเชื้อ
5. เติมยีสต์น้ำหมักสำหรับทำหัวเชื้อไวน์ และหมักไว้ 6-12 ชม.
6. นำน้ำหมักอีกส่วนไปฆ่าเชื้อด้วยการต้มหรือโพแตสเซียมเมตาไบซัลไฟต์ (KMS)
7. นำน้ำหมักที่ฆ่าเชื้อแล้วเทใส่ถังหมักไม่ให้เกิน 3/4 ของถัง
8. เติมน้ำหมักหัวเชื้อลงในถังหมัก กวนให้ผสมกัน และปิดฝาที่มีรูระบายอากาศ
9. คอยตรวจสอบระดับน้ำตาล และเมื่อระดับน้ำตาลต่ำกว่า 20°brix (ประมาณ 7 วัน) ให้แยกกากน้ำหมักออก และหมักต่อ 1-2 อาทิตย์ หรือให้มีระดับแอลกอฮอล์ที่ต้องการ
10. เติม KMS เข้มข้น 200 ppm เพื่อหยุดกระบวนการหมัก หลังจากนั้นบรรจุขวดพร้อมดื่ม
4. น้ำลูกยอหมัก/น้ำโนนิ
น้ำลูกยอหมักหรือน้ำโนนิเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากปัจจุบัน การผลิตน้ำโนนิแบบดั้งเดิมนั้นเพื่อการบำบัดรักษาโรคเท่านั้น โดยมีการผลิตเริ่มแรกโดยชาวพื้นเมืองโพลินิเชียน ต่อมามีการพัฒนาเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า โดยเพิ่มกระบวนการทำให้ใส และการต้มฆ่าเชื้อเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่สามารถจดทะเบียนทางการค้าได้ วิธีการทำ ดังนี้
1. ละลายน้ำตาลทรายแดง 1 กก. ต่อน้ำสะอาด 10 ลิตร
2. นำลูกยอห่ามหรือสุก 3 กก. ล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดหรืออบให้แห้ง และฝานเป็นชิ้นเล็ก ๆ
3. นำลูกยอแห้งผสมในถังหมักที่ผสมน้ำตาลทรายแดง และปิดฝา
4. ระยะเวลาการหมักนาน 3 เดือน
5. น้ำหมักลูกยอที่พร้อมนำมาดื่มรับประทานได้จะมีสีน้ำตาลเข้มออกดำ มีกลิ่นหอมเอียนรุนแรงคล้ายเนย และมีรสฝาด
6. การดื่มสามารถนำมาปรุงรสหรือผสมกับน้ำผลไม้อื่นเพื่อให้น่าดื่มมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง