Last Updated on 22 สิงหาคม 2016 by puechkaset
ลิ้นจี่ (lychee) จัดเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานไม่แพ้ชนิดอื่น ทั้งรับประทานในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ เนื่องจาก มีเนื้อหนา เนื้อให้รสหวานฉ่ำ และอมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่มีให้ซื้อรับประทานในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น
ประวัติลิ้นจี่
ลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ ในแถบมณฑลกวางตุ้ง และฟุคเกี้ยน ซึ่งมีการปลูกมานานมากกว่า 3500 ปีที่แล้ว แล้วค่อยแพร่เข้าสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประวัติลิ้นจี่ในประเทศไทย พบมีการบันทึกหรือเขียนเกี่ยวกับลิ้นจี่ไว้โดย ปาลเลกัวซ์ ที่เขียนไว้ในปี พ.ศ. 2397 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแสดงว่ามีการแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี 2397 แล้ว โดยสันนิษฐานว่า น่าจะแพร่เข้ามาตั้งแต่ที่มีชาวจีนเข้ามาติดต่อค้าขายกับคนไทย ซึ่งอาจอยู่ในช่วงก่อนสมัยอยุธยาหรือในช่วงสมัยอยุธยาแล้ว โดยช่วงแรกๆจะมีพื้นที่ปลูกในแถบพระนคร และจังหวัดใกล้เคียง
อนุกรมวิธาน
สกุล : Nephelium
วงศ์ : Sapindaceae
• ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Litchi chinensis sonn.
• ชื่อสามัญ :
– Litchi
– Lichee
– Laichi
– Leechee
– Lychee
• ชื่อสามัญ :
– ลิ้นจี่ (ทุกภาค และทั่วไป)
– สีรามัญ (ตราด จันทบุรี และระยอง)
• ต่างประเทศ
– อินเดีย : ลิทจี
– เขมร : ตะเสรเมือน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลิ้นจี่เป็นไม้สกุลเดียวกับเงาะ และลำไย มีอายุได้นาน 5-25 ปี หรือมากกว่า เป็นไม้ไม่มีการพลัดใบ และมีความสูงขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างต่ำ กิ่งมีขนาดยาว แตกกิ่งออกจำนวนมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบเป็นทรงกลม เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา เปลือกลำต้นขรุขระ
ใบ
ใบลิ้นจี่เป็นใบประกอบ โดยมีก้านใบหลักยาว 10-20 ซม. แต่ละก้านใบมีใบย่อยแตกออกด้านข้างเรียงสลับกัน 2-10ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก เรียวยาว โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แผ่นใบหนา และเหนียวคล้ายหนัง ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีค่อนข้างแดง ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนท้องใบมีสีเขียวอมเทาที่จางกว่าแผ่นใบด้านบน
ดอก
ดอกลิ้นจี่แทงออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด มีก้านช่อดอกยาว 10-30 ซม. ก้านช่อดอกแตกแขนงกว้าง 10-30 ซม. แต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอกจำนวนมาก ดอกมีขนาด 3-5 มม. มีก้านดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกมีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ส่วนกลีบดอกจะไม่มี สีเหลืองอมเขียว เป็นรูปถ้วย ภายในมีเกสรตัวผู้ 5-10 อัน ส่วนชั้นในสุดเป็นเกสรตัวเมียที่มีก้านชูเกสร และรังไข่ โดยรังไข่มี 2 พู แต่จะติดเป็นผลเพียง 1 พู เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอม
ดอกลิ้นจี่เป็นดกไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีการแยกดอกออกเป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน โดยแบ่งดอกออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. ดอกเพศผู้
ดอกเพศผู้มีสีเหลืองอ่อนอมเขียว ชูก้านเกสรสูง โดยยอดเกสรมีอับละอองเกสรสีน้ำตาลอ่อน 6-7 อัน โดยดอกจะเริ่มบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งการบานของดอกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะพอดีกับการบานของเกสรเพศเมียที่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน
2. ดอกเพศเมีย
ดอกเพศเมียจะมีสีขาวอมเหลือง มีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ เมื่อดอกบาน และถึงเวลาผสมพันธุ์ ดอกจะมีน้ำ เมือกใสๆอยู่บนยอดเกสร น้ำเมือกนี้ทำหน้าที่จับละอองเกสรเพศผู้ที่เข้าผสมพันธุ์ ดอกเพศเมียจะเริ่มบานในเวลาไล่เลี่ยกับดอกเพศผู้
3. ดอกสมบูรณ์เพศ/ดอกกระเทย
ดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกกระเทย เป็นดอกที่ทำหน้าที่ได้ทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย แต่มีลักษณะดอกคล้ายดอกเพศเมีย
ผล และเมล็ด
ผลลิ้นจี่มีลักษณะหลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทั้งผลแบบกลม ทรงรี และรูปหัวใจ โดยใน 1 ช่อ จะมีผลตั้งแต่ 1-40 ผล หรือมากกว่า ผลมีเปลือกบาง ผิวเปลือกขรุขระ มีสีชมพูอมแดงหรือสีแดงสด เปลือกผลสามารถแกะแยกออกจากเนื้อได้ง่าย ถัดจากเปลือกจะเป็นเนื้อหุ้มเมล็ด สีขาวขุ่นที่ฉ่ำไปด้วยน้ำ เนื้อให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ถัดมาด้านในจะเป็นเมล็ดที่มีลักษณะรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ผิเปลือกเรียบ และเป็นมัน ขั้วเมล็ดมีเยื่อสีขาวที่เชื่อมกับขั้วผล
พันธุ์ลิ้นจี่
กลุ่มพันธุ์ลิ้นจี่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
1. พันธุ์ที่ปลูกมากในภาคกลาง และภาคตะวันตก
เป็นพันธุ์ที่ทน และเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็นน้อย ได้แก่
– พันธุ์ค่อม (ค่อมลำเจียก)
– พันธุ์กะโหลกใบยาว
– พันธุ์สำเภาแก้ว
– พันธุ์กระโถนท้องพระโรง
– พันธุ์เขียวหวาน
– พันธุ์ไทยใหญ่
– พันธุ์กระโหลกใบไม้
– พันธุ์กระโหลกในเตา
– ฯลฯ
2. กลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ
เป็นพันธุ์ที่เติบโตได้ดี และผลผลิตสูงในสภาพอากาศที่หนาวเย็น พันธุ์ที่นิยม ได้แก่
– พันธุ์ฮงฮวย
– พันธุ์จักรพรรดิ
– พันธุ์กิมเจง
– พันธุ์โอวเฮียะ
– พันธุ์กวางเจา
– พันธุ์บริวสเตอร์
– พันธุ์กิมจี๊
พันธุ์ลิ้นจี่ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์ฮงฮวย พันธุ์จักรพรรดิ และพันธุ์กิมเจ็ง ซึ่งนิยมปลูกทั้งในพื้นที่อากาศหนาวเย็นสั้น และหนาวเย็นนาน จะเก็บผลออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม
1. พันธุ์ฮงฮวย
พันธุ์ฮงฮวย จัดเป็นพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 10-12 เมตร ยอด และใบอ่อนมีสีเหลืองอ่อนปนเขียว ใบมีลักษณะยาวรี ขนาดใหญ่ โคนใบกว้าง ปลายใบแหลมน้อย ข้อใบยาว ผลมีขนาดใหญ่ รูปหัวใจ ผลกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.8 เซนติเมตร ผลหนักประมาณ 25-35 กรัม เปลือกผลบาง ผิวเปลือกสีแดงอมชมพูค่อนข้างจาง ตุ่มหนามเกิดห่าง ภายในมีเนื้อสีขาวขุ่น ให้รสหวานอมเปรี้ยว ส่วนเมล็ดค่อนข้างใหญ่ตามขนาดผล มีความหวานของเนื้อผลประมาณ 17 องศาบริกซ์ ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการแตกช่อดอก-ดอกบาน และเริ่มเก็บผลออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน
ขอบคุณภาพจาก www.tiggersound.com
2. พันธุ์จักรพรรดิ
พันธุ์จักรพรรดิ มีลำต้นสูงประมาณ 10-12 เมตร ใบค่อนข้างเล็ก และยาวรี โคนใบกว้าง และเรียวปลายใบ ข้อใบสั้น มีก้านช่อดอกสั้น ผลมีลักษณะรูปหัวใจ ผิวเปลือกสีแดงอมชมพู ผลมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ฮงฮวย แต่เปลือกหนากว่า ผิวเปลือกหยาบ ขรุขระ ฐานปุ่มหนามกว้าง เนื้อหนา มีสีขาวขุ่น ผลกว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.3 เซนติเมตร มีน้ำหนักผลประมาณ 40-50 กรัม ให้ความหวานประมาณ 18 องศาบริกซ์ ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ใช้เวลาการแทงช่อดอก-ดอกบาน 2 เดือน เริ่มเก็บผลในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
3. พันธุ์กิมเจ็ง
พันธุ์กิมเจ็ง แบ่งได้ 2 พันธุ์ย่อย คือ กิมแจงหนามแหลม และกิมเจงหนามราบ มีลักษณะลำต้นค่อนข้างเตี้ย และทรงพุ่มเล็ก โตช้ากว่าพันธุ์จักรพรรดิ และพันธุ์ฮงฮวย ใบมีขนาดเล็ก และสั้น ยอดอ่อน และใบอ่อนมีสีแดง ผลมีรูปร่างกลม เปลือกบาง เปลือกผลสีแดงอมชมพูหรือสีออกแดง ปุ่มหนามใหญ่ มีร่องหนามห่าง เนื้อผลสีขาวขุ่น เมล็ดค่อนข้างรี ขนาดผลเล็กกว่าพันธุ์จักรพรรดิ และพันธุ์ฮงฮวย ผลกว้างประมาณ 3.18 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3.12 เซนติเมตร น้ำหนักผลประมาณ 20-25 กรัม ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เริ่มเก็บผลประมาณกลางเดือนมิถุนายน ให้ความหวานประมาณ 18 องศาบริกซ์
ประโยชน์ลิ้นจี่
1. ผลลิ้นจี่ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดที่นิยมทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ
2. ผลลิ้นจี่นำมาแปรรูปเป็นลิ้นจี่กระป๋อง
3. เมล็ดนำมาสกัดน้ำมัน ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ ความสวยความงาม เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนากรของลิ้นจี่สด (100 กรัม)
– น้ำ (กรัม) : 81.76
– พลังงาน (กิโลแคลอรี่) : 66
– โปรตีน (กรัม) : 0.83
– ไขมันรวม (กรัม) : 0.44
– คาร์โบไฮเดรต (กรัม) : 16.53
– เส้นใยอาหารทั้งหมด (กรัม) : 1.3
– น้ำตาลทั้งหมด (กรัม) : 15.23
แร่ธาตุ
– แคลเซียม (มิลลิกรัม) : 5
– เหล็ก (มิลลิกรัม) : 0.31
– แมกนีเซียม (มิลลิกรัม) : 10
– ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) : 31
– โพแทสเซียม (มิลลิกรัม) : 171
– โซเดียม (มิลลิกรัม) : 1.0
– ตะกั่ว (มิลลิกรัม) : 0.07
วิตามิน
– วิตามิน C (กรดแอสคอร์บิก:มิลลิกรัม) : 71.5
– ไทอะมีน (มิลลิกรัม) : 0.011
– ไรโบฟลาวิน (มิลลิกรัม) : 0.065
– ไนอะซิน (มิลลิกรัม) : 0.603
– วิตามิน B6 (มิลลิกรัม) : 0.100
– โฟเลต (ไมโครกรัม) : 1.0
– วิตามิน E (แอลฟา-โทโคฟีรอล)(มิลลิกรัม) : 0.07
– วิตามิน K (ฟีลโลควิโนน)(ไมโครกรัม) : 0.4
ที่มา : USDA National Nutrient Database for Standard (2011)(1)
สรรพคุณลิ้นจี่
เนื้อผล
– ให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยบำรุง และฟื้นฟูกำลังร่างกาย
– ช่วยในการย่อยอาหาร
– แก้อาการเจ็บคอ ลดอาการไอ
– ช่วยรักษาอาการท้องเดิน
– ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด
– ป้องกันโรคเหน็บชา
เมล็ด
– สำหรับถ่ายพยาธิ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาโรคบิด
ราก และลำต้น
– รักษาอาการท้องร่วง
– รักษาโรคบิด
– ช่วยรักษาแผล ทำให้แผลแห้งเร็ว
– รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลือง
การปลูกลิ้นจี่
การเตรียมดิน และหลุมปลูก
สำหรับพื้นที่ที่เริ่มการปลูกลิ้นจี่ครั้งแรก จำเป็นต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชเสียก่อน แต่ยังไม่ต้องหว่านปุ๋ยรองพื้นเหมือนการปลูกพืชผัก หลังจากตากดิน และกำจัดวัชพืชแล้วให้รีบขุดหลุมปลูกทันที โดยขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 30-40 ซม. ในแต่ละด้าน และรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 2-3 กำมือ/หลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม พร้อมคลุกผสมดินก้นหลุมให้เข้ากัน
ส่วนระยะห่างระหว่างหลุม ให้พิจารณาตามขนาดทรงพุ่ม ได้แก่
– พันธุ์ทรงพุ่มใหญ่ ต้นโตเร็ว เช่น พันธุ์ฮงฮวย และพันธุ์เขียงหวาน ให้ขุดหลุมปลูกในระยะห่างของแถว และต้นประมาณ 12 เมตร
– พันธุ์ทรงพุ่มขนาดกลาง เช่น พันธุ์ค่อม และพันธุ์โอวเอี๊ยะ ให้ขุดหลุมปลูกในระยะห่างของแถว และต้นประมาณ 10 เมตร
– พันธุ์ทรงพุ่มเตี้ย ใบค่อนข้างสั้น เช่น พันธุ์จักรพรรดิ และพันธุ์กิมเจ็ง ให้ขุดหลุมปลูกในระยะห่างของแถว และต้นประมาณ 8 เมตร
การเก็บผล
หลังจากห่อผลแล้ว 20-25 วัน ผลลิ้นจี่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงเข้ม และสีแดงชมพู ไหล่ผลด้านขั้วผลกว้างขึ้น เปลือกมีปุ่มหนามยุบลง ฐานปุ่ม และร่องปุ่มขยายกว้างขึ้น ผิวเปลือกแห้ง ผลมีกลิ่นหอม เนื้อขยาย สีขาวอมชมพู ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม และเป็นมัน
การเก็บผลลิ้นจี่ หากต้นไม่สูงจะใช้กรรไกรตัด แต่หากต้นสูงจะใช้กรรไกรยาวตัด ซึ่งจะต้องทยอยเก็บเป็นช่อๆไปในแต่ละต้น 2-3 วัน/ครั้ง เพื่อไม่ให้ผลสุกมากเกินไป และสุกในระยะที่เหมาะแก่การเก็บ
การตลาดลิ้นจี่
1. ขายแบบเหมาสวน
เป็นวิธีขายลิ้นจี่ที่เกษตรกรจะทำการซื้อขายล่วงหน้าไว้ก่อน และเป็นการซื้อแบบเหมาทั้งสวน โดยราคาจะขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย ส่วนการจ่ายเงินจะมีการจ่ายเงินล่วงหน้าก่อน และจ่ายอีกครั้งเมื่อเก็บผลลิ้นจี่ตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน ทั้งนี้ วิธีนี้ผู้เก็บจะเป็นพ่อค้าคนกลาง โดยจะมีผลดีต่อเกษตรกร คือ เกษตรกรจะไต้องรับภาระเสี่ยงจากราคาลิ้นจี่ตกต่ำ ส่วนพ่อค้าคนกลางจะมีข้อดี คือ ได้ผลผลิตลิ้นจี่ต่อหน่วยราคาต่ำ และอาจสามารถส่งจำหน่ายในราคาที่สูงกว่า รวมถึงสามารถคัดเกรดลิ้นจี่จำหน่ายเพื่อเพิ่มราคา และส่งจำหน่ายในต่างประเทศได้
2. เกษตรกรขายเอง
เป็นวิธีขายที่เกษตรกรจะเป็นผู้เก็บลิ้นจี่ออกจากสวนมาขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่อาจมารับซื้อถึงสวนหรือนำส่งตลาดเอง ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้กำหนดราคาเป็นหลัก วิธีนี้ มีข้อดี คือ เกษตรกรสามารถคัดเกรดลำไย และตั้งราคาลำไยได้เอง
3. การฝากขาย
เป็นวิธีการขายลิ้นจี่ของเกษตรกรที่ต้องการส่งลิ้นจี่เข้าสู่ตลาดในกรุงเทพฯ อาจทำการส่งเองเข้าสู่กรุงเทพฯ และส่งมอบแก่ผู้รับฝากขาย หรือไม่ส่งเอง เพียงนำลิ้นจี่มาส่งมอบให้แก่ผู้รับฝากขายที่มารับในจุดรับที่จังหวัด ซึ่งวิธีนี้ จะไม่ได้รับเงินทันที แต่จะได้รับเงินหลังจากส่งลิ้นจี่แล้ว 2-3 วัน โดยการโอนผ่านบัญชี และจำนวนเงินที่ได้รับจะถูกหักค่าบริการฝากขายตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน
เอกสารอ้างอิง
1. USDA National Nutrient Database for Standard. (2011). Nutrient data for 09164, Litchis, raw.