Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
ลองกอง (longkong) เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของไทย นิยมปลูกเพื่อรับประทานเป็นผลไม้เป็นหลัก รวมถึงการแปรรูปอื่นบ้าง อาทิ ไวน์ลองกอง แยมลองกอง เป็นต้น
• วงศ์ : Meliaceae (วงศ์เดียวกับลางสาด และดูกู)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aglaia dookkoo Griff.
• ชื่อท้องถิ่น :
– ลองกอง (ทุกภาค)
การแพร่กระจาย
ลองกอง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเชีย และทางภาคใต้ของไทย ปัจจุบันมีการปลูกมากในภาคใต้ และจังหวัดทางภาคตะวันออก รวมถึงบางจังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นลองกอง
ลองกองเป็นไม้ใบเลี้ยงคู่ มีลำต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มเป็นทรงกรวยแหลม ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีลำต้นทรงกลม เปลือกสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อต้นมีอายุมากเปลือกแตกเป็นสะเก็ด ลำต้นแตกกิ่งบริเวณค่อนข้างสูง แต่ต้นที่ปลูกจากกล้าตอนกิ่งหรือเสียบยอดจะแตกกิ่งเตี้ยเป็นทรงพุ่มกว้าง
ใบลองกอง
ใบลองกองเป็นใบประกอบที่มีก้านใบหลักแตกออกจากส่วนปลายของกิ่ง ยาว 25-50 เซนติเมตร แต่ละก้านใบหลักจะมีใบย่อยประมาณ 6-8 ใบ หรือมากกว่า เรียงสลับข้างกัน แต่ละใบจะมีลักษณะรูปไข่ค่อนข้างรียาว ปลายสุดของใบแหลม เป็นติ่ง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายใบลางสาด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า และใบไม่มีรสขม ใบกว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ไม่มีขน แผ่นใบมองเห็นเส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจน ระหว่างเส้นแขนงใบจะโค้งนูนทำให้มองเห็นเป็นลูกคลื่น ส่วนเนื้อใบค่อนข้างหนา และเหนียว
ดอกลองกอง
ดอกลองกองออกเป็นช่อ ทั้งบนลำต้น และกิ่ง โดยจะมีตาดอกแทงออกที่ผิวเปลือก ตาดอกนี้ในระยะแรกจะเป็นตุ่มแข็ง สีน้ำตาลอมเขียว ต่อมาค่อยๆแทงออกให้เห็นเป็นก้านช่อดอกยาวขึ้น โดยแต่ละตาดอกจะมีก้านช่อดอกแตกออกเป็นกระจุกจำนวนมาก บนก้านช่อดอกจะมีดอกเรียงสลับกันจำนวนมาก ซึ่งมักจะแทงตาดอกในช่วงเดือนเมษายน
ดอกย่อยแต่ละดอกจะไม่ มีก้านดอก ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสร และติดผลได้เอง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้ม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นพูไม่แยกกันเหมือนกลีบดอกไม้ทั่วไป กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเมื่อบานจะสีขาวอมเหลือง ส่วนด้านในจะเป็นเกสรตัวผู้ และตรงกลางสุดเป็นเกสรตัวเมียที่ด้านล่างเป็นรังไข่ ซึ่งรังไข่จะมีประมาณ 4-5 ห้อง ทำให้เนื้อของลองกองแบ่งออกเป็นพูๆ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ก้านดอกเริ่มแทงออกจนถึงเวลาที่ดอกเริ่มบานจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน และดอกจะบานนานประมาณ 10 วัน
ผล และเมล็ดลองกอง
ผลลองกองเป็นผลเดี่ยว ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีเปลือกค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับเปลือกลางสาด แต่เปลือกลองกองจะมียางน้อยกว่าหรือไม่มียางเมื่อสุกเต็มที่ โดยเปลือกผลอ่อนหรือผลดิบมีสีเขียวเข้ม และเมื่อแก่หรือสุกจะมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ถัดมาด้านในจะเป็นเนื้อผลแบ่งเป็นกลีบๆ 4-5 กลีบ เนื้อผลมีสีขาวใสหรือออกขาวขุ่น เนื้อมีลักษณะหนา และฉ่ำไปด้วยน้ำ ซึ่งให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยตามระยะการสุก ทั้งนี้ ระยะตั้งแต่หลังดอกบานจนถึงผลเริ่มสุกจะใช้เวลาประมาณ 13-15 สัปดาห์ และการสุกจะเริ่มสุกจากผลบริเวณโคนช่อผลก่อน
เมล็ดลองกองจะถูกหุ้ม ด้วยเนื้อผล โดยในแต่ละกลีบจะมี 1 เมล็ด หรือบางกลีบอาจมีเมล็ดลีบหรือไม่มีเมล็ด โดยเมล็ดลองกองจะมีรูปร่างรี มีสีเหลืองอมน้ำตาล ทั้งเปลือก และเนื้อเมล็ดจะมีรสขม
ประโยชน์ลองกอง
1. ผลลองกองสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่มีเนื้อฉ่ำน้ำ และให้รสหวาน
2. เนื้อผลลองกองนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผลไม้ อาทิ ไวน์ลองกอง น้ำลองกอง หรือแยมจากลองกอง เป็นต้น
3. เนื้อผลลองกองนำสกัดสารที่ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางประเภทลดการอักเสบของสิว ลดรอยด่างดำ และรอยกะฟ้าบนใบหน้า
4. เปลือกลองกองนำมารวมกันใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
5. เมล็ดลองกองนำมาบดแช่น้ำหรือต้มน้ำ ใช้สำหรับฉีดพ่นพืชผัก ช่วยป้องกันโรครา และแมลงกัดกินใบ
6. เมล็ดลองกองใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
คุณค่าทางโภชนาการผลลองกอง (เนื้อผล 100 กรัม)
– พลังงาน 57 แคลอรี่
– โปรตีน 0.90 มิลลิกรัม
– ไขมัน 0.20 มิลลิกรัม
– คาร์โบไฮเดรต 15.2 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 19.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 25.0 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 27.5 มิลลิกรัม
– เหล็ก 1.10 มิลลิกรัม
– วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม
– วิตามินบีสอง 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 3.0 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 1.0 มิลลิกรัม
ที่มา : 1) อภิชัย (2541)
สรรพคุณลองกอง
เนื้อผลลองกอง
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– ช่วยย่อยอาหาร และกระตุ้นให้เจริญอาหาร
เปลือกลองกอง
– ช่วยรักษาแผล ลดน้ำหนองหรือน้ำเหลืองไหล
– ต้านเชื้อรา ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
– แก้อาการท้องเสีย
– รักษาโรคบิด
เมล็ดลองกอง
– ช่วยขับพยาธิ
– ต้านการติดเชื้อ และการอักเสบของแผล
สายพันธุ์ลองกอง
1. ลองกองแห้ง
ลองกองแห้ง หมายถึง พันธุ์ลองกองที่มีเปลือกค่อนข้างแห้ง หยาบ และหนา เปลือกไม่นุ่มหรือยุบตัวง่าย จึงป้องกันเนื้อด้านในให้คงอยู่ได้ดี ส่วนสีเปลือกจะเป็นสีเหลือง และสุกมากจะเป็นเหลืองคล้ำ ส่วนเนื้อด้านในมี 5 กลีบ เนื้อค่อนข้างใสเหมือนแก้ว มีเนื้อมาก เมล็ดเล็กหรือลีบมาก เนื้อให้รสหวานพอดี มีรสเปรี้ยวน้อย จึงเป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลมีคุณภาพ นิยมปลูก และรับประทานมากที่สุด โดยสายพันธุ์ดั้งเดิม และเป็นที่นิยมปลูกในปัจจุบันจะมาจากบ้านซีโป ต. เฉลิม อ. ระแงะ จ. นราธิวาส หรือเรียกพันธุ์นี้ว่า ลองกองซีโป
2. ลองกองน้ำ
ลองกองน้ำ หมายถึง พันธุ์ลองกองที่มีเปลือกค่อนข้างบางกว่าลองกองแห้ง เปลือกยุบหรืออ่อนตัวง่ายกว่า ทำให้ไม่สามารถเก็บผลไว้ได้นาน และเนื้อผลไม่ค่อยหวาน สู้ลองกองแห้งไม่ได้ ทั้งนี้ พันธุ์ลองกองน้ำจะมีลักษณะลำต้น และใบคล้ายกับลองกองแห้งมากจนเกือบแยกแยะไม่ออก แต่จะแยกแยะได้ง่ายที่ผล คือ สีเปลือกของลองกองน้ำเมื่อสุกเต็มที่แล้วจะมีสีจางหรือเป็นสีเหลืองซีดกว่า ลองกองแห้ง และเมื่อกดหรือบีบผลจะทำให้เปลือกยุบบุ๋มลงได้ง่ายกว่า ส่วนเนื้อผลมี 5 กลีบ มักเป็นสีขาวขุ่น
3. ลองกองแกแลแม
ลองกองแกแลแม หรือมีชื่อเรียกหลายอย่าง อาทิ ลองกองแปร์แม หรือ ดูกูแปร์แม ซึ่งท้องที่จัดให้เป็นพันธ์หนึ่งของดูกู/ลูกู แต่บางท้องที่จัดให้อยู่ในกลุ่มของลองกอง เพราะลักษณะผล และเนื้อผลต่างจากดูกูมาก โดยลองกองแกแลแมจะมีช่อผลยาว ลักษณะผลค่อนข้างกลม เปลือกผลบาง มีสีเหลืองนวล ไม่มียาง ส่วนเนื้อผลค่อนข้างนิ่มเหลว และมีกลิ่นฉุน
การปลูกลองกอง
ลองกองเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในดินที่ค่อนข้างชื้นตลอดปี หรือ เป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุก แต่ควรเป็นที่ราบ และสามารถระบายน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เพราะหากมีน้ำท่วมจะทำให้ลองกองยืนต้นตายง่าย ส่วนพันธุ์ที่ใช้ปลูกแนะนำเป็นพันธุ์ลองกองแห้ง และควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
แปลงปลูกลองกองจำเป็นต้องไถกลบหรือไถวัชพืชออกก่อน และไถกลบดินไว้นานประมาณ 1 เดือน ก่อนจะขุดหลุมปลูกเตรียมไว้เป็นแถวๆ ขนาดหลุม 50 เซนติเมตร ทั้งด้านกว้าง ยาว และลึก โดยมีระยะปลูกระหว่างหลุมหรือต้นประมาณ 6-8 x 6-8 เมตร ซึ่ง 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 20-32 ต้น ทั้งนี้ ให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือวัสดุอินทรีย์ประมาณ 1 ถังน้ำ พร้อมเกลี่ยดินลงคลุกผสมเล็กน้อย
วิธีการปลูกลองกอง
ต้นกล้าลองกอง ควรเป็นกล้าที่ได้จากการเสียบยอด เพราะจะได้ต้นลองกองที่ไม่สูงมาก และให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งมักหาซื้อได้ตามสวนลองกองหรือตามร้านตัวแทนขายกล้าพันธุ์
การปลูก ลองกองจะต้องกรีดถุงเพาะชำออกให้หมด และขณะกรีดจะต้องระวังไม่ให้ก้อนดินแตกออก หลังจากนั้น นำต้นลองกองลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบให้สูงจากพื้นเล็กน้อย ตามด้วยการปักข้างลำต้นด้วยไม้ไผ่ค้ำยัน และรัดด้วยเชือกพอหลวมๆ
การให้น้ำ
หลังจากการปลูก หากฝนไม่ตกติดต่อหลายวัน ให้รดน้ำเป็นประจำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง แต่หากมีฝนตกสม่ำเสมอก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ซึ่งจะปล่อยให้ลองกองเติบโตโดยอาศัยน้ำจากน้ำฝนเป็นหลักจนมีอายุประมาณ 3-4 ปี ซึ่งจะเริ่มให้ดอกลองกองติดผลครั้งแรก
ในระยะที่ปล่อยให้ดอกลองกอง ติดผลครั้งแรก จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากขาดน้ำอาจทำให้ดอก และผลอ่อนร่วงได้ง่าย ดังนั้น ในระยะตั้งแต่ออกดอกจนถึงติดผล เกษตรกรจะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนการบังคับการออกดอกก่อนระยะออก ดอกปกติ เกษตรกรจะต้องงดให้น้ำเป็นช่วงๆ คือ ไม่ให้น้ำนาน 9-15 วัน ต่อจากนั้นค่อยให้น้ำ แต่ให้ปริมาณน้อยเท่านั้น จนต้นลองกองเริ่มมีใบเหลือง และเหี่ยวร่วงบ้างแล้ว จึงให้น้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะที่ใบร่วงนี้จะเริ่มมีตาดอกแทงออกมา หลังจากนั้นจึงให้น้ำปริมาณเท่าเดิมที่เพียงพอ และต้องให้อย่างสม่ำเสมอ
การกำจัดวัชพืช
หลังจากที่ปลูกลองกองไปแล้ว จำเป็นต้องคอยกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในปีแรกที่ต้นยังไม่โตนัก ซึ่งมักจะมีหญ้าเติบโตเร็วกว่า โดยในระยะแรกหลังการปลูกอาจใช้จอบถากรอบโคนต้นก่อน แต่หากต้นโตมากจึงค่อยใช้การไถกลบรอบโคนต้น ทั้งนี้ ไม่แนะนำการใช้สารเคมีฉีดพ่น
การตัดช่อดอก
การตัดช่อดอกที่มีมากเกินไปจะช่วยแก้ปัญหาดอกหรือผลอ่อนร่วงได้ เพราะหากปล่อยให้มีช่อดอกมากจะทำให้ดอก และผลมีการแย่งอาหารกันมาก แต่หากมีจำนวนช่อดอกที่เหมาะสมก็จะช่วยให้ดอกเจริญเป็นผลที่สมบูรณ์ได้ทุกผล ทั้งนี้ การตัดช่อดอกทิ้งจะตัดออกประมาณร้อยละ 10-20 หรือในแต่ละจุดจะให้มีช่อดอกเหลือประมาณ 1-3 ช่อเท่านั้น
ปุ๋ย และการใส่ปุ๋ย
1. ปีที่ 1 หลังการปลูกลองกองแล้ว 3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอกเป็นหลัก อัตรา 5-10 กำมือ/ต้น โดยหว่านรายรอบๆโคนต้น และควรถากกำจัดวัชพืชออกก่อนพร้อมพรวนดินรอบกลบ หลังจากนั้น อีกประมาณ 2-3 เดือน ให้กำจัดวัชพืชรอบโคนต้น พร้อมใส่ปุ๋ยคอกเหมือนเดิมกับครั้งแรก และเพิ่มปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ร่วมด้วย ในอัตรา 100-150 กรัม/ต้น หรือประมาณ 1 กำมือ และอีก 2-3 เดือนต่อมา หรือในช่วงที่อายุการปลูกครบ 1 ปี ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีตามอัตราข้างต้นอีกครั้ง
2. ปีที่ 2-3 หรือก่อนให้ต้นเริ่มติดผล จะให้ปุ๋ยเหมือนในปีที่ 1 และแบ่งให้ 3 ระยะ/ปี แต่ทั้งนี้อาจให้ติดผลบ้างเล็กน้อยสำหรับรับประทานเองก็ได้
3. ระยะลองกองเริ่มติดผลครั้งแรก หรือหลังจากปลูกไปได้ประมาณปีที่ 3-4 ซึ่งลำต้นจะเติบโต และแตกกิ่งจำนวนมากแล้ว จึงค่อยปล่อยให้ดอกติดผล แบ่งเป็นระยะการให้ปุ๋ย ดังนี้
– ในช่วงก่อนระยะลองกองออกดอก ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ให้ใส่ปุ๋ย 1 ครั้ง และระยะที่เริ่มติดผลช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ให้ใส่ปุ๋ยอีก 1 ครั้ง ด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24 อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น ร่วมด้วยกับปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ถัง/ต้น
– หลังการเก็บเกี่ยวแล้ว 10-20 วัน ควรให้ปุ๋ยบำรุงต้นทันที ด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น และปุ๋ยคอกประมาณ 1 ถัง เพื่อป้องกันต้นลองกองโทรมเร็ว
การเก็บผลลองกอง
ลองกองเป็นผลไม้ที่ไม่สามารถเก็บผลดิบนำมาบ่มได้ เพราะเป็นผลไม้ที่มีอัตราการหายใจต่ำ หากเก็บผลในระยะที่ยังไม่สุกจะทำให้ผลที่เด็ดมาสุกได้ แต่ยังให้รสเปรี้ยวเหมือนเดิม และเน่าได้ง่าย นอกจากนั้น ยังพบปัญหาการเก็บลองกองอีก คือ ช่อผล และผลลองกองมักสุกไม่พร้อมกัน จึงจำเป็นต้องเข้าเก็บผลในทุกวันด้วยการใช้ทักษะที่เชี่ยวชาญในการเก็บแต่ละช่อผลไป ซึ่งจะมีข้อพิจารณาในการเก็บผลลองกอง ดังนี้
1. เปลือกผลลองกองเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้มทั่วช่อ
2. เนื้อผลลองกองมีความใสทั่วทุกกลีบ และทดลองชิมเนื้อผลดู หากมีรสหวานมากกว่าเปรี้ยว แสดงว่าสามารถเก็บผลได้
3. ผลจะเริ่มเก็บได้หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 180-220 วัน
4. หลังจากที่ผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบ้างแล้ว 15-25 วัน
ทั้งนี้ ผลที่เก็บจะพิจารณาระยะเวลาการขนส่งด้วย คือ หากส่งใกล้ภายในจังหวัดรอบข้างจะเก็บผลที่สุกแล้วกว่าร้อยละ 90 แต่หากส่งไกลหลายจังหวัด เช่น ใต้ขึ้นเหนือ จะเก็บผลที่สุกแล้วกว่าร้อยละ 80