Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
มันเทียน หรือ มันเสา เป็นมันป่า ลำต้นเป็นเถาเลื้อย หัวมันมีลักษณะทรงกลม เรียวยาว สีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวมีสีขาว เมื่อทำสุกจะเป็นแป้งเนื้อละเอียด มีรสหวานเล็กน้อย เหมาะสำหรับทำอาหาร ขนมหวาน หรือทำแป้งทำขนมต่างๆ
คำว่า มันเทียน เรียกตามลักษณะหัวที่มีลักษณะทรงกระบอกตรง เปลือกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล คล้ายต้นเทียน ส่วนคำว่า มันเสา เรียกตามลักษณะหัวเช่นกัน คือ เป็นทรงกระบอกตั้งตรง แทงลึกลงดิน คล้ายกับเสาไม้
• วงศ์ : Dioscoreaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea filiformis [1]
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– มันเทียน
– มันเสา
– เครือมัน
– ผักแมวแดง (สุราษฎร์ธานี)
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มันเทียน มันเสา มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค พบแพร่กระจายป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง แต่พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับมันชนิดอื่น และเป็นมันชนิดที่หารับประทานได้ยากมาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และหัว
มันเทียนมีรากพัฒนากลายเป็นหัว ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก หัวอาจตรงหรือโค้งไปมา หรืออาจแตกแขนงเป็น 2 แง่ง แต่ทั่วไปพบเป็นทรงกระบอก ไม่แตกแง่ง ขนาดหัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ปลายหัวเป็นรากแทงลึกลงดินต่อ และอาจลึกได้ถึง 1 เมตร เปลือกหัวบาง เปลือกหัวอ่อนมีสีขาว เปลือกหัวแก่มีสีน้ำตาล มีรากฝอยกระจายอยู่ทั่วหัว เนื้อหัวด้านในมีสีขาว มียางเมือก ทั้งนี้ หัวจะเริ่มพัฒนา และเก็บสะสมอาหารในช่วงต้นฤดูฝน และจะพร้อมเก็บในช่วงปลายฝนจนถึงฤดูหนาว
ลำต้น
มันเทียนเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย พาดอิงตามพืชชนิดอื่น ยาวประมาณ 2-5 เมตร เถามีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก สีแดงอมเขียว มีตุ่มเล็กสากมือปกคลุมเถา ไม่มีหนาม แตกกิ่งสาขาน้อย ทั้งนี้ ลำต้นจะเติบโตในช่วงหน้าฝน และจะเริ่มเหี่ยวแห้งในหน้าแล้ง จากนั้น เมื่อเข้าสู่หน้าฝนจะแทงหน่อขึ้นมาอีกครั้ง
ใบ
มันเทียนเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบเดี่ยวๆ เรียงเวียนสลับกันบนเถา มีก้านใบเป็นเหลี่ยม โคนก้านใบมีสีค่อนข้างแดง ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร โคนใบกว้าง และมน ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เป็นมัน แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอ่อน แผ่นใบมีเส้นกลางใบ 1 เส้น และ 2 เส้น ด้านข้างแยกยาวออกจากโคนใบโค้งจรดขอบใบ รวมเป็น 3 เส้น
ดอก
มันเทียนออกดอกเป็นช่อแขนงบริเวณซอกใบตามลำต้น แต่ละช่อประกอบด้วยช่อย่อย ช่อย่อยมีดอกย่อย 10-20 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก
ผล
ผลมันเทียน มีลักษณะทรงกลม ไม่มีก้านผล ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล เพิ่มเติมจาก [2],[3]
ประโยชน์มันเทียน/มันเสา
1. หัวมันเทียน มันเสา ใช้ต้มหรือนึ่งเพื่อรับประทานสุก รับประทานใส่น้ำตาล หรือใช้บวชใส่น้ำกะทิ
2. หัวมันเทียนใช้ประกอบอาหารคาว อาทิ แกงมัสมัน แกงไตปลา เป็นต้น
3. หัวมันเทียนนำมาปอกเปลือก และสับเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง จากนั้น นำมาบดเป็นแป้ง ใช้ประกอบอาหาร ทำขนมหวาน หรือหมักแอลกอฮอล์ เป็นต้น
4. หัวมันเทียนใช้เลี้ยงหมูบ้านหรือหมูป่า แต่ควรทำให้สุกก่อน เพราะหัวมันมียางที่ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
สรรพคุณมันเทียน/มันเสา
หัว
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
– ช่วยบรรเทาอาหารท้องเสีย
– ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
– แป้งสุกที่ถูกย่อยจะมีลักษณะเป็นเจล เคลือบบริเวณผนังลำไส้ ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล และไขมัน ทำให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย ช่วยลดไขมันสะสม และเผาผลาญพลังงานที่สะสมในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายสมส่วน และลดความอ้วนได้
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– หัวดิบนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้ประคบแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว
– หัวดิบนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้ประคบแผลแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการปวดบวม
ใบ
– ใบต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– น้ำต้มจากใบ ช่วยลดความดันเลือด
– น้ำต้ม แก้อาการไอ ลดอาการคออักเสบ
– ใบนำมาขยำ ก่อนใช้ประคบแผล ช่วยในการห้ามเลือด
– ใบนำมาต้มอาบ ช่วยรักษากลาก เกลื้อน และผดผื่นคัน
การขุดเก็บหัว
มันเทียนจะเริ่มแทงหน่อในช่วงต้นฤดูฝน หลังจากฝนลงแล้ว 2-3 ครั้ง แล้วลำต้นจะพัฒนา และเติบโตตลอดช่วงฤดูฝน ควบคู่ไปกับการสะสมแป้งในรากให้ขยายใหญ่หรือที่เรียกว่า หัว จากนั้น ปลายฤดูฝนจะมีการสะสมอาหารในหัวมากจนหัวขยายใหญ่ แล้วลำต้น และใบจะค่อยๆเริ่มเหลืองในช่วงฤดูหนาว และแห้ง ตายในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงพักตัว รอการแทงต้นใหม่ ดังนั้น ระยะการขุดเก็บหัวมันเทียนที่เหมาะสม คือ ช่วงที่หัวมีการสะสมแป้งไว้มาก ประมาณช่วงปลายฝนจนถึงฤดูหนาว
ขอบคุณภาพจาก bedo.or.th/, bansuanporpeang.com/, isan.clubs.chula.ac.th
เอกสารอ้างอิง
[1] วิกิพีเดีย : th.wikipedia.org/, มันเทียน, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://th.wikipedia.org/wiki/มันเทียน/.
[2] สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เครือมัน เครือมันเทียน มันเทียน มันนก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=12106/.
[3] สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, พืชกินได้ในป่าสะแกราช.