มังคุด สรรพคุณ และการปลูกมังคุด

Last Updated on 18 ธันวาคม 2016 by puechkaset

มังคุด (Mangosteen) ถือเป็นผลไม้ที่โดเด่น และมีชื่อเสียงของประเทศไทย ด้วยรูปลักษณ์ และสีสันที่สวยงาม มีเนื้อนุ่ม มีรสหวาน (ประมาณ 18.6 Brix) จนได้รับการขนานนามว่า “ราชินีแห่งผลไม้” เป็นที่นิยมบริโภค และส่งขายในต่างประเทศ

• วงศ์ : Guttiferae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia mangostana Linn.
• ชื่อสามัญ : Mangosteen

มังคุดเป็นไม้ผลเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบปลูกมากในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และ ฟิลิปปินส์ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตมังคุดมากที่สุดในโลก รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยแหล่งปลูกมังคุดที่สำคัญของไทยจะอยู่บริเวณพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยภาคใต้คิดเป็นพื้นที่ปลูก และให้ผลผลิตมากที่สุด

มังคุด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
มังคุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นทรงกลม สูงประมาณ 7-25 เมตร แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น มีทรงพุ่มแบบกรวยคว่ำหรือแบบพีระมิด เปลือกลำต้นมีสีดำ มีทรงพุ่มหนาทึบ ส่วนรากจะประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง ซึ่งมีระบบรากค่อนข้างลึก ประมาณ 70-120 เซนติเมตร ดังนั้น มังคุดที่โตเต็มที่จึงสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว ไม่พลัดใบ ออกใบดก เขียวตลอดทั้งปี ใบแทงออกตามกิ่งตรงข้ามกัน ใบมีลักษณะเป็นวงรีหรือรูปไข่ กว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ใบมีลักษณะค่อนข้างหนา เป็นมัน เนื้อใบเหนียวคล้ายหนังสัตว์ ใบมีสีเขียวถึงเขียวอมเหลือง ใบมียางสีเหลือง

ดอก
ดอกออกเป็นคู่หรือเดี่ยว แทงออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ซึ่งจะออกจากกิ่งที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ดอกมีกลีบแดงสีแดงฉ่ำ ทั้งนี้ มังคุดจะออกดอกได้เมื่อต้นผ่านเข้าหน้าแล้งได้ 20-30 วัน และหลังจากนั้น ได้รับน้ำกระตุ้นก็พร้อมที่จะออกดอก ระยะหลังจากแทงตาดอกถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 30 วัน

ผล
มังคุดมีผลทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.2-7 เซนติเมตร เปลือกมังคุดหนาประมาณ 0.7-1.0 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีเขียว เขียวเข้ม เขียวอมม่วง สีม่วง และสีดำเมื่อสุกจัด เปลือกด้านนอกมีลักษณะแข็ง เป็นมัน เปลือกด้านในอ่อน มีสีม่วงแดง ถัดมาเป็นเนื้อผล มีลักษณะเป็นรอน 4-8 รอน แต่ละรอนห่อหุ้มเมล็ด 1 เมล็ด เนื้อผลมีสีขาว อ่อนนุ่มคล้ายวุ้น มีเส้น vein สีชมพูติดอยู่ ให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ทั้งนี้ ผลสามารถเก็บได้หลังดอกบานแล้ว 11-12 สัปดาห์

ต้นมังคุด

พันธุ์มังคุด
มังคุดมีเพียงชนิดเดียวหรือมีพันธุ์เดียว ซึ่งมักทั่วไปว่า มังคุด เนื่องจาก ดอกมังคุดมีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน ไม่สามารถผสมกับเกสรตัวเมียของดอกมังคุดได้ แต่ผลมังคุดที่ติดเป็นผลได้จะเกิดจากการพัฒนาของฐานดอกให้กลายเป็นผล ทำให้ไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่แตกต่างขึ้น แต่หากมีการผสมพันธุ์ของเกสรได้ ก็ย่อมทำให้มังคุดมีสายพันธุ์ต่างๆได้ตามมา นั่นเอง ทั้งนี้ อาจมีชื่อเรียกมังคุดที่เข้าใจกันกันว่าเป็นพันธุ์ที่แตกต่างกัน อาทิ มังคุดเมืองนนท์ มังคุดปักษ์ใต้ มังคุดภาคตะวันออก เป็นต้น ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นมังคุดสายพันธุ์เดียวกัน แต่อาจจะมีลักษณะผลแตกต่างกันบ้างเล็ก เพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

สารที่พบในผลมังคุด และเปลือก
1. xanthone
2. cyaniding-3-O-beta-D-sophoroside
3. 8-deoxygartanin
4. 6(H)-pyrano-(3,2,6)-xanthen-6-one
5. cis-hex-3-enyl acetat
6. 3-isomangostin
7. 3-isomangostin hydrate
8. 1-isomangostin
9. 1-isomangostin hydrate
10. mangostin-3,6-di-O-gulcoside
11. BR-xanthone-A
12. kolanone
13. mangostin
14. beta-mangostin
15. alpha-mangostin
16. normangostin
17. calabaxanthone
18. mangostanol
19. maclurin
20. chrysanthemin
21. garcinone A, B, C, D, E
22. gartanin
23. น้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโตส

สรรพคุณมังคุด
1. สารสกัดจากเปลือกมังคุดสามารถใช้รักษาโรคผิวหนังชนิดต่างๆ เช่น กลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุต เป็นต้น
2. สารสกัดจากเปลือกมังคุดนำมาใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อในปากหรือน้ำยาบ้วนปาก
3. สารในกลุ่มฟีนอลิกในเปลือกมังคุด เช่่น แอนโธไซยานิน แซนโทน และแทนนิน ออกฤทธิ์ทางยาหลายด้าน อาทิ
– ออกฤทธิ์บรรเทาอาการท้องเดิน
– ช่วยในการสมานแผล และต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันแผลติดเชื้อ แผลอักเสบ
– ป้องกันความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง
– ออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันมะเร็ง และการเสื่อมสภาพของเซลล์
4. สารในกลุ่มแซนโทนจากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ทางยาสามารถนำมาใช้ในด้านต่างๆ ได้แก่
– สารแมงโกสตินมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาเพนนิซิลิน โดยเฉพาะสามารถต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของท้องร่วงได้เป็นอย่างดี
– สารแมงโกสตินที่ได้จากเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสีย Shigella dysentertae เป็นต้น
– สารแมงโกสติน และอนุพันธ์ของสารแซนโทน มีประสิทธิภาพยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้ เช่น เชื้อ Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis
– สารแมงโกสตินใช้สำหรับการรักษาแผล แผลเป็นหนอง และลดการอักเสบของแผลหรือจากการติดเชื้อ
– ต้านการออกซิเดชั่นของไขมัน ลดความเสี่ยงต่อโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด
– บรรเทาอาการแพ้หรืออาการภูมิแพ้ และช่วยลดอาการบวมแดงจากหลอดเลือดขยายตัว หลอดเลือดบวม และลดการหลั่งของเมือก
– สามารถยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อ HIV จากโรคเอดส์ได้
– ต้านเซลล์มะเร็ง และอาการเป็นพิษของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ เป็นต้น
– สารแมงโกสตินใช้เป็นส่วนผสมของครีมป้องกันผิวสำหรับป้องกันผิวจากแสงแดด
– ป้องกันการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง และโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และหลอดเลือด
– ลดอาการบวมน้ำ และอาการปวดจากการบวมของแผลหรือรอยฟกช้ำ
– ป้องกันการสั่นบริเวณปลายประสาทของโรคพาร์กินสัน
– มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง และเพิ่มความดันโลหิต
– เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

• ข้อควรระวัง
สารหลายชนิดในเปลือกมังคุดออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง กดระบบการทำงานของกระแสประสาท รวมไปถึงทำให้เพิ่มความดันเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคความดันเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดที่ได้จากเปลือกมังคุด

คุณค่าทางอาหารของมังคุด
ผลมังคุดจะมีเนื้อประมาณร้อยละ 25-30 เนื้อมังคุดจะมีความชื้นประมาณร้อยละ 80 มีนํ้าตาลประมาณร้อยละ 17.5 ประกอบด้วยน้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส และซูโครส และสารอาหารต่างๆหลายชนิด

คุณค่าทางโภชนาการของมังคุด (เนื้อผล 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 80.94
พลังงาน กิโลแคลอรี 73
โปรตีน กรัม 0.41
ไขมัน กรัม 0.58
คาร์โบไฮเดรต กรัม 17.91
เส้นใย กรัม 1.8
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 12
เหล็ก มิลลิกรัม 0.30
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 13
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 8
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 48
โซเดียม มิลลิกรัม 7
สังกะสี มิลลิกรัม 0.21
Vitamins
วิตามิน C, (กรมแอสคอบิค) มิลลิกรัม 2.9
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.054
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.054
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.286
วิตามิน  B-6 มิลลิกรัม 0.018
โฟเลต, DFE ไมโครกรัม 31
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 2
วิตามิน A, IU IU 35
วิตามิน D IU 0
Lipids
กรดไขมัน กรัม 0
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0

ที่มา : USDA Nutrient Database

การปลูกมังคุด
มังคุดนิยมปลูกด้วยต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ดเป็นหลัก แต่สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากวิธีอื่น เช่น ต้นพันธุ์จากการตอน และการเสียบยอด เป็นต้น ทั้งนี้ มังคุดที่ปลูกในไทยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามพื้นที่ปลูก คือ
1. มังคุดเมืองนนท์ มีลักษณะเด่น คือ ใบค่อนข้างเรียว ผลเล็ก และเล็กกว่ามังคุดทางใต้ และมังคุดตะวันออก มีขั้วที่ผลเรียวยาว และเล็ก เปลือกค่อนข้างบาง มีกลีบผลที่ขั้วสีแดง เมื่อผลสุกมีสีม่วงดำ เนื้อให้รสหวานอมเปรี้ยว
2. มังคุดปักษ์ไต้ และมังคุดตะวันออก มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ใบค่อนข้างอ้วน และป้อม ผลมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่ และใหญ่กว่ามังคุดเมืองนนท์ ผลมีนํ้าหนักมาก เปลือกค่อนข้างหนา ขั้วผลสั้น กลีบผลมีสีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดงออกชมพู นอกจากนั้น สีของเปลือกผล และการสุกจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่ามังคุดเมืองนนท์

การเตรียมวัสดุเพาะ
– วัสดุเพาะในระยะแรกหรือการเพาะในกระบะเพาะ ควรเป็นดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วนผสมที่ 1:3 หรืออาจใช้ปุ๋ยคอกแทนแกลบดำก็ได้
– วัสดุเพาะในระยะที่ 2 หรือการเพาะต่อในถุงเพาะพลาสติก ควรเป็นดินผสมกับปุ๋ยคอก อัตราการประมาณ 1:2

การคัดเลือกเมล็ดเพาะ
เมล็ดที่ใช้สำหรับเพาะกล้า ควรเป็นเมล็ดที่ได้จากผลที่แก่จัดหรือมีเปลือกเป็นสีดำเข้ม เริ่มด้วยนำผลที่สุกจัดมาแกะแยกเมล็ดออก และเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ จากนั้น นำเมล็ดมาล้างน้ำ และใช้แปลงขัดเส้นใยออกเบาๆ แล้วนำเมล็ดลงเพาะในกระบะเพาะทันที แต่หากไม่เพาะหลังเอาเมล็ดออก ให้นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติกแช่ตู้เย็นไว้ หรือนำไปตากแห้งก่อนเก็บใส่ถุงพลาสติก

การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ดในระยะแรกจะเพาะลงกระเพาะก่อน ค่อยย้ายลงถุงเพาะขนาดใหญ่ โดยพื้นที่เพาะควรเป็นเรือนเพาะชำที่มีตาข่ายพรางแสงให้แสงแดดส่องรำไร

การเพาะเมล็ด เริ่มจากบรรจุดินเพาะลงกระบะเพาะให้เกือบเต็ม ก่อนนำเมล็ดมังคุดปักลง และกลบดินให้คลุมเมล็ด หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น

หลังจากเพาะแล้ว 15-20 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกให้เห็น จากนั้น 20-25 วัน ให้ย้ายกล้าพันธุ์ลงเพาะในถุงพลาสติกเพาะชำต่อ ซึ่งไม่ควรปล่อยกล้าให้มีอายุนานกว่า 1 เดือน เพราะรากต้นกล้าจะขยายมากแล้ว อาจทำให้รากเสียหายในช่วงย้ายได้ ทั้งนี้ ให้คัดเลือดเฉพาะต้นกล้าที่เติบโตดี และขณะย้ายให้ระวังอย่าทำต้นหัก และวางถุงเพาะชำไว้ในโรงเรือนเพาะชำเหมือนเดิม หลังจากนั้น ดูแล และให้น้ำต่อเนื่องจนต้นกล้ามีอายุได้ 1-2 ปี ซึ่งมีความสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร และมีการแตกกิ่งแล้ว 1-2 กิ่ง ค่อยนำลงปลูกในแปลง ต่อไป

การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
แปลงที่ใช้ปลูกครั้งแรกที่ไม่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน ควรไถ และกำจัดวัชพืชออกให้โล่งก่อน พร้อมไถพรวนแปลง และตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน ส่วนแปลงที่ปลูกพืชอ่อนมาก่อน และไม่ค่อยรกนัก ให้ไถพรวนแปลง และตากดินไว้นานเท่ากัน

การปลูกมังคุดในพื้นที่สูงจำเป็นต้องขุดหลุมปลูก โดยขุดหลุมกว้าง และลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร และควรตากหลุมไว้ก่อน 3-5 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคหน้าดิน โดยระยะหลุม และระยะแถวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกด้วยกล้าพันธุ์จากเมล็ด คือ 9×9 เมตร หรือ 10×10 เมตร ส่วนกล้าพันธุ์จากการตอนหรือการเสียบยอดมีระยะการปลูกที่ 6×6 เมตร จากนั้น นำปุ๋ยคอกประมาณ 5 กำมือ หว่านโรยก้นหลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกผสมให้เข้ากัน ส่วนการปลูกในพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่มีฝนตกชุก เกษตรมักปลูกด้วยการโพนโคน ไม่ใช้การขุดหลุม เพราะจะช่วยระบายน้ำได้ดี ลดโอกาสที่รากมังคุดเน่าได้

กล้ามังคุด

ขั้นตอนการปลูก
การปลูกมังคุด ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพราะจะช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็ว โดยแบ่งวิธีปลูกออกเป็น 2 แบบ คือ
1. การปลูกแบบโพนโคน ซึ่งนิยมมากในภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มหรือมีฝนตกชุก ด้วยการขุดดินกองให้สูงจากพื้น แล้ววางต้นพันธุ์ตั้งกับกองดิน และขุดดินกลบโคนต้นให้แน่น ก่อนนำไม้ไผ่มาปักด้านข้าง พร้อมผูกรัดด้วยเชือกฟาง
2. การปลูกแบบหลุม เป็นวิธีที่ใช้สำหรับพื้นที่สูงหรือไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง โดยทำหลังจากที่คลุกผสมปุ๋ยกับดินแล้ว ก่อนนำต้นพันธุ์ลงหลุม และเกลี่ยดินกลบ ให้พูนดินสูงกว่าผิวแปลงเล็กน้อย ก่อนใช้ไม้ไผ่ปัก และผูกรัดต้นไว้

การให้น้ำ
โดยทั่วไปการปลูกมังคุดนิยมลงกล้าพันธุ์ในแปลงในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อที่จะทำให้ต้นพันธุ์ติด และเติบโตได้ง่ายด้วยอาศัยน้ำจากฝน แต่หากปลูกในช่วงฤดูแล้งควรมีระบบให้น้ำที่เพียงพอแก่ต้นพันธุ์ ส่วนหลังการปลูกควรติดตั้งระบบให้น้ำที่เป็นระบบน้ำหยดหรือแบบสปริงเกอร์สำหรับให้น้ำในช่วงที่ไม่มีฝนตก

การใส่ปุ๋ย
– การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นหลังการปลูกจนถึงก่อนการออกดอกครั้งแรกของต้น ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น
– การใส่ปุ๋ยบำรุงดอก และผล ให้ใช้สูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น
– การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นหลังการเก็บเกี่ยว ให้ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 1-3 กิโลกรัม/ต้น
– การใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวมักมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินในด้านปริมาณอินทรีย์วัตถุ และความหลากหลายทางชีวภาพของดิน รวมถึงลักษณะทางกายภาพของดินที่มักเสื่อมลงไม่ดีต่อการเจริญเติบโตของมังคุด ดังนั้น ควรใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพร่วมด้วย รวมถึงปุ๋ยพืชสดหรือมูลสัตว์ที่หาได้ตามท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยบำรุงดินให้เหมาะสมมากขึ้น

การควบคุมวัชพืช
1. การกำจัดวัชพืชจะทำปีละประมาณ 2 ครั้ง โดยใช้เครื่องตัดหญ้า การไถพรวนดิน และการตัดเศษวัชพืชปกคลุมพื้นที่ เป็นต้น
2. การปลูกพืชคลุมดิน ได้แก่ การปลูกถั่วพร้าคลุมดิน และคลุมวัชพืชในช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ ในระยะแรกของการปลูกที่ต้นมังคุดยังเล็กมักพบวัชพืชขึ้นปกคลุมรอบต้นเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการตัด และกำจัดอย่างสม่ำเสมอ แต่ทัั้งนี้ ไม่แนะนำให้สารสารเคมีเพราะอาจมีผลต่อการเติบโตของต้นหรือคุณภาพดิน แต่เมื่อต้นมังคุดโตเต็มที่ และแตกกิ่งมากแล้วจะทำให้ปัญหาวัชพืชน้อยลงเอง

การเก็บผลมังคุด
มังคุดที่ปลูกด้วยเมล็ดจะติดผลให้เก็บได้ครั้งแรกเมื่อมีอายุประมาณ 7 ปี ซึ่งระยะ 7-10 ปี จะติดผลไม่มากนัก และจะติดผลอย่างเต็มที่เมื่อต้นมีอายุตั้งแต่ 13 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ ผลมังคุดทั่วไปจะเก็บได้เฉลี่ยประมาณ 60 กิโลกรัม/ต้น/ฤดู แต่ละผลจะมีน้ำหนักประมาณ 70-100 กรัม/ผล เฉลี่ย 80 กรัม/ผล

มังคุดในภาคตะวันออกจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ส่วนภาคใต้จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน การนับอายุหลังจากมังคุดออกดอกจะใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ หรือประมาณ 11-12 สัปดาห์ หลังดอกบาน จึงสามารถเก็บผลได้ และมีระยะเหมาะสมในการเก็บเมื่อเปลือกผลมีสายเลือดแล้ว 2-3 วัน ซึ่งผลที่เก็บมาจะมีอายุการเก็บที่ 1-2 สัปดาห์ ในที่ร่มธรรมดา และประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศา

การเก็บผลมังคุดมักใช้ตะขอที่ผูกติดกับไม้ไผ่ยื่นเก็บ เพราะมังคุดส่วนมากกว่าจะให้ผลก็มีต้นมีความสูงมากแล้ว แต่หากผลที่อยู่ในระยะที่เอื้อมเก็บได้ก็เพียงใช้มือยื่นเก็บ

การพัฒนาสีเปลือกมังคุด
ในสัปดาห์ที่ 1-13 หลังการติดผล มังคุดจะมีการเปลี่ยนสีเปลือกตามวัยของผล แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ

ระดับสีที่ 0

0

ผลมีสีขาวอมเหลืองถึงสีเขียวอ่อน เปลือกมียางสีเหลือง กลีบที่ขั่วมีสีเขียวอ่อน เนื้อ และเปลือกติดกันแน่น ไม่ควรเก็บในระยะนี้

ระดับสีที่ 1

1

สีเปลือกด้านล่างผลมีสีเขียวอ่อน ส่วนด้านบนติดขั้วผลจะมีสายเลือดสีแดงรื่อ และมีจุดสีชมพูกระจัดกระจายมากขึ้น เปลือกจะยังมียางมาก เนื้อ และเปลือกยังติดกันอยู่ ไม่ควรเก็บในระยะนี้ ถึงแม้เมื่อเก็บ และบ่มจนผลสุกได้ แต่คุณภาพเนื้อจะไม่ดี

ระดับสีที่ 2

2

ผลมีลักษณะสีนํ้าตาลแดงเรื่อ ๆ เกือบทั่วผล หรือมีชมพูปนเหลืองเล็กน้อย ยางของเปลือกเริ่มน้อยลง เนื้อ และเปลือกเริ่มแยกกันได้ แต่ยังค่อนข้างยาก สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะนี้ แต่คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร

ระดับสีที่ 3

3

ผลมีลักษณะสีชมพูเต็มเปลือกอย่างสมํ่าเสมอ ยางของเปลือกเริ่มมีน้อยมาก เนื้อในเปลือกมีสีแดงออกเหลืองเล็กน้อย สามารถแยกเนื้อ และเปลือกออกจากกันได้ดี เป็นระยะที่เหมาะสมส่งจำหน่ายไปต่างประเทศ และส่งจำหน่ายในตลาดที่ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน หลังการเก็บผล

ระดับสีที่ 4

4

ผลมีลักษณะสีแดงหรือนํ้าตาลอมม่วงเล็กน้อย ยางเปลือกมีน้อยถึงไม่มีเลย เนื้อในเปลือกมีสีแดงเนื้อ และเปลือกปริแยกกันได้ง่าย เหมาะสำหรับเก็บผลส่งออกต่างประเทศ และส่งจำหน่ายในประเทศ ที่มีระยะการส่ง 1-2 วัน หลังการเก็บผล

ระดับสีที่ 5

5

ผลมีลักษณะสีม่วงอมแดง เปลือกไม่มียาง หากแกะเนื้อ และเปลือกออกจะแยกกันได้ง่าย เป็นระยะที่สามารถรับประทานได้จากต้น และส่งจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง

การพิจารณาว่าจะเก็บผลมังคุดในช่วงไหน ขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่ง และการรอจำหน่ายเป็นหลัก ซึ่งเมื่อถึงผู้ซื้อควรมีลักษณะเปลือกสีม่วงหรือดำพอดี แต่โดยทั่วไปเกษตรกรมักเก็บผลมังคุดในระยะเริ่มมีสายเลือดได้ 1-2 วัน จนถึงสีเปลือกมีสีชมพูอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเปลือกยังแข็ง ผลไม่เสียหาย และง่ายต่อการขนส่ง แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการส่งว่านานแค่ไหน

การเก็บรักษาผลมังคุด
โดยทั่วไปผลมังคุดที่เก็บไว้ในสภาพห้องทั่วไปจะเก็บได้ประมาณ 5-7 วัน แต่หากผลมีการบอบซ้ำจะทำให้เก็บได้ในระยะเวลาที่น้อยลง สำหรับการเก็บผลมังคุดให้อยู่ได้นานที่สุด ควรเก็บในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 12-13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณร้อยละ 90-95 ซึ่งสามารถเก็บได้นานกว่า 14 วัน