Last Updated on 19 มกราคม 2020 by puechkaset
มะเม่า หรือ หมากเม่า จัดเป็นไม้ผล และผลไม้ป่าที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ปัจจุบัน นิยมนำผลสุกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายชนิด อาทิ ไวน์มะเม่า แยมมะเม่า น้ำมะเม่า เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ และนำไปประกอบอาหารด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากผลให้รสหวานอมเปรี้ยว และมีสีสันสวยงาม เมื่อนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือ หมักทำเป็นไวน์จะให้สีแดงอมม่วงที่น่ารับประทานไม่แพ้ไวน์ชนิดอื่น
• วงศ์ : Stilaginaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma velutinosum Blume.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะเม่า
– ต้นเม่า
– เม่า
– หมากเม่าหลวง
– มะเม่าหลวง
ภาคเหนือ
– หมากเม้า
– มัดเซ
– เม่าเสี้ยน
– มะเม่าขน
ภาคอีสาน
– หมากเม่า
– เม่าหลวง
ภาคใต้
– มะเม่าไฟ
• มะเม่าเป็นพืชที่ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย แต่พบมากในภาคอีสาน ในจังหวัดสกลนคร อุดรธานี และมุกดาหาร ทั้งนี้ มะเม่าที่พบมีหลายชนิดแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ได้แก่
– มะเม่าหลวง (ลำต้นใหญ่ และผลมีขนาดใหญ่ที่สุด)
– มะเม่าสร้อย/มะเม่าไข่ปลา (ลำต้นเล็ก และผลมีขนาดเล็กที่สุด)
• ส่วนชื่อพันธุ์ที่ใช้เรียกนั้นมีแตกต่างกัน ได้แก่
– พันธุ์ฟ้าผ่า/พันธุ์ฟ้าประทาน
– พันธุ์สร้างค้อ1,2,3
– พันธุ์ลม
– พันธุ์ภูโซง
– พันธุ์เพชรทองแซง
– พันธุ์ชมพูพาน
– พันธุ์คำไหล
ลักษณะของมะเม่า
ราก และลำต้น
รากมะเม่าประกอบด้วยระบบรากแก้ว และระบบรากฝอย ส่วนลำต้นมะเม่าจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีอายุนานหลายปี ลำต้นแตกกิ่งตั่งแต่ระดับล่าง กิ่งมีจำนวนมาก กิ่งค่อนข้างเล็ก แต่ใบดก ทำให้มองเห็นเป็นทรงพุ่มหนาทึบ ความสูงของลำต้นประมาณ 2-15 เมตร โดยเฉพาะมะเม่าหลวงที่พบมากในภาคอีสาน ซึ่งมีลำต้นสูงใหญ่ ใบใหญ่ อาจสูงได้มากกว่า 15 เมตร แต่ก็มีบางพันธุ์ เช่น มะเม่าไขปลาที่พบมากในภาคอีสานเช่นกัน จะมีลำต้นเตี้ย สูงประมาณ 2-5 เมตร และใบมีขนาดเล็กกว่า
ใบ
ใบมะเม่า จัดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเยื้องสลับบนกิ่ง ใบมีลักษณะป้อม และรี ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ และเป็นมันเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวสด
ดอก
ดอกมะเม่าออกเป็นช่อยาวบริเวณปลายกิ่ง คล้ายช่อดอกพริกไทย บนช่อมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีลักษณะสีครีม ดอกเพศผู้มีทั้งแยกอยู่คนละต้นกับดอกเพศเมีย และอยู่ต้นเดียวกันกับดอกเพศเมีย เมื่อดอกมีการผสมเกสรแล้วดอกจะร่วง คงเหลือเฉพาะผลขนาดเล็ก ดอกออกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และผลจะทยอยสุกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน
ผล
ผลมะเม่า มีรูปร่างกลม มีขนาดผลประมาณผลพริกไท รวมกลุ่มออกบนช่อ ยาว 10-15 ซม. ย้อยลงมาตามกิ่งก้าน ผลดิบสีเขียว มีรสเปรี้ยวอมฝาด และค่อยเปลี่ยนเป็นเหลืองอมแดง มีรสเปรี้ยวจัด เมื่อสุกผลเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย และเป็นสีดำเมื่อสุกจัด มีรสหวานอมเปรี้ยว เปลือกผล และเนื้อผลค่อนข้างบาง ภายในเป็นเมล็ด แข็งเล็กน้อย แต่สามารถเคี้ยวรับประทานได้
ประโยชน์มะเม่า
1. ผลมะเม่า
– ผลดิบ และผลสุกนำมารับประทานเป็นผลไม้สด
– ผลสุกนำมาคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือเรียก น้ำมะเม่า
– ผลดิบสีเขียว สีเหลืองอมแดง นำมาตำรับประทาน หรือที่เรียก ตำมะเม่า
– ผลสุกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ แยม ไวน์ เป็นต้น
2. ยอดอ่อน นำมารับประทานสดเป็นผักคู่กับอาหาร หรือ ใช้ปรุงในอาหารประเภทต้มยำเพื่อให้มีรสเปรี้ยว เช่น ต้มส้มปลา แกงเห็ดเผาะ เป็นต้น
3. ต้นมะเม่ามีทรงพุ่มใหญ่ ใบดก ใบเขียวตลอดปี ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้จากผลแล้วยังมีประโยชน์เพื่อเป็นร่มเงาได้อีกประการ
4. ผลมะเม่าสุกจัดถือเป็นอาหารของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ
5. เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน ไม้ตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
6. กิ่งไม้ และเนื้อไม้นำมาเป็นไม้ใช้สอยอื่นๆ เช่น ทำเสารั้ว ทำฟืนประกอบอาหาร เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของมะเม่า
– พลังงานถึง 75.20 กิโลแคลลอรี่
– โปรตีน 0.63 กรัม
– เยื่อใย 0.79 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 17.96 กรัม
– แคลเซียม 13.30 กรัม
– เหล็ก 1.44 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 8.97 กรัม
– วิตามินบี1 4.50 ไมโครกรัม
– วิตามินบี2 0.03 ไมโครกรัม
– วิตามินอี 0.38 ไมโครกรัม
ที่มา : โอภาส บุญเส็ง (2550)(1)
สาระสำคัญที่พบ
สาระสำคัญที่พบในผลมะเม่า คือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) (สารฟลาโวนอยด์) เป็นสารให้สีแดง ที่ประกอบด้วยสารแอนโทไซยานิดิน (Anthocyanidin) และน้ำตาล ทั้งนี้ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่พบในมะเม่าแห้ง 100 กรัม จะพบได้สูงถึง 50.1 มิลลิกรัม เลยทีเดียว (สุกัญญา สายธิ และพิเชษฐ เทบำรุง, 2544)(2)
สรรพคุณของมะเม่า
ผลมะเม่า
– ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่
– ช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวดูเปร่งปรั่ง
– ช่วยป้องกันมะเร็ง
– ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย
– ช่วยบำรุงสายตา
– ช่วยเป็นยาระบาย
ราก เปลือก และแก่นลำต้น
– ช่วยเจริญอาหาร
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ช่วยแก้มดลูกอักเสบ
– ช่วยรักษาอาการตกขาว
– ช่วยแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ใบ และยอดอ่อน
– ต้านอนุมูลอิสระ
– กระตุ้นระบบการย่อยอาหาร
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ
– ช่วยบำรุงสายตา
– ป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
– นำใบอ่อนมาลนไฟ ใช้ประคบแก้อาการฟกช้ำ
– นำใบแก่มาตำหรือบดผสมน้ำเล็กน้อย ใช้ประคบรักษาแผล ช่วยให้แผลแห้ง หายเร็ว
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาการต้านเชื้อ HIV ของมะเม่า ร่วมกับสมุนไพรอีก 4 ชนิด พบว่า มะเม่าสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านเชื้อ HIV ได้ (กัมมาล และคณะ, 2546)(3)
การศึกษาการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งด้วยการใช้ไวน์แดงสยามมัวส์เพียนงอย่างเดียวเปรียบเทียบกับการผสมสารสกัดจากมะเม่ากับไวน์แดงสยามมัวส์ พบว่า การใช้ตำรับที่ผสมสารสกัดจากมะเม่าสามารถยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าการใช้ไวน์แดงสยามมัวส์เพียงอย่างเดียว (วิภพ และคณะ, 2549)(4)
การศึกษาสารสกัดหยาบจากรากมะเม่าที่มีฤทธิ์ต่อการต้านเซลล์มะเร็งปอด พบว่า สารสกัดหยาบจากส่วนรากมะเม่าสามารถออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอดได้ (พิชญา ตระการรุ่งโรจน์, 2547)(5)
การปลูกมะเม่า
มะเม่าตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ดังนั้น การปลูกมะเม่าในปัจจุบันจึงยังนิยมวิธีขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นสำคัญ แต่ก็เริ่มนิยมขยายพันธุ์ด้วยอื่นมากขึ้นเพื่อให้ได้ต้นที่มีขนาดเล็ก และให้ผลดกเหมือนต้นแม่ เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด
ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com
เอกสารอ้างอิง