Last Updated on 13 ธันวาคม 2016 by puechkaset
มะอึก (Hairy-fruited eggplant) ถือเป็นผักป่าที่มีผลคล้ายกับมะแว้งหรือมะเขือพวง แต่มีลักษณะเด่นที่ผลจะมีขนแข็งปกคลุม ซึ่งบางพื้นที่นิยมนำผลมารับประทานคู่กับอาหารหรือใช้ประกอบอาหาร เพราะเนื้อผลมีความกรอบ ให้รสเปรี้ยว และเฝื่อนเล็กน้อย ทำให้ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี
มะอึกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศในแถบทวีปอเมริกากลาง และประเทศเม็กซิโก ที่นิยมนำผลสุกมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม แต่ในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยมนัก อาจเป็นเพราะผลมีมีขนแข็งปกคลุมทำให้ค่อนข้างยุ่งยากหากนำมาใช้ประโยชน์
• วงศ์ : SOLANACEAE
• ชื่อสามัญ :
– Solanum
– Hairy-fruited eggplant
– Bolo Maka
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum stramoniifolium Jacq.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Solanum ferox Linn.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะอึก
ภาคเหนือ
– มะเขือปู่
– มะเขือขน
– หมากขน
ภาคอีสาน
– หมากอึก
ภาคใต้
– อึก
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะอึกมีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตอบอุ่น ทั้งในประเทศอเมริกาใต้ และเอเชีย ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะอึก เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งลักษณะทั่วไปคล้ายกับต้นมะเขือพวง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ทั้งขนาดลำต้น และใบ โดยทั่วไป ลำต้นแตกกิ่งน้อย ทำแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง และกิ่งแตกออกตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น ผิวลำต้น และกิ่งมีขนปกคลุม โดยเฉพาะปลายกิ่งหรือกิ่งอ่อนจะมีขนมาก นอกจากนั้น ยังพบหนามแหลมตามกิ่ง ซึ่งกระจายตัวห่างๆกัน ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
ใบ
ใบมะอึก ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปไข่ โคนใบกว้าง ใบกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียว และมีขนอ่อนปกคลุม ขอบใบเว้าเป็นร่องบริเวณตรงกลางระหว่างเส้นแขนงใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวหรือสีม่วงชัดเจน และมีเส้นแขนงใบแตกออกด้านข้างเป็นคู่ๆเยื้องกัน 4 คู่ และแผ่นใบด้านล่างมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบนูนเด่นชัดเจน
ดอก
ดอกมะอึกออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ ซึ่งจะออกกระจุกกันบริเวณซอกใบ ตัวดอกทั่วไปมีลักษณะคล้ายดอกมะเขือ คือ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปหอก แผ่นกลีบด้านนอกมีสีเขียว และมีขนแข็งปกคลุม แผ่นกลีบดอกด้านในมีสีขาว ถัดมาตรงกลางเป็นเกสรตัวผู้ล้อมรอบ ก้านเกสรมีสีเหลือง และตรงกลางสุดเป็นก้านเกสรตัวเมีย 1 ก้าน มีมีขนาดยาวกว่าก้านเกสรตัวผู้ ปลายก้านมีอับเรณูสีเขียว ส่วนด้านล่างสุดบริเวณฐานดอกจะเป็นรังไข่
ผล
ผลมะอึก มีลักษณะทรงกลม ขนาดผลประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ผลอ่อนหรือผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง และสุกจัดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม ผิวผลมีขนแข็งปกคลุม ส่วนด้านในผลมีเมล็ดจำนวนมากที่แทรกอยู่ตามเยื่อที่ฉ่ำน้ำ โดยเนื้อผลมีรสเปรี้ยว และเฝื่อนเล็กน้อย
เมล็ด
เมล็ดมะอึกมีจำนวนมาก เมล็ดมีลักษะกลม และบน เปลือกเมล็ดขณะผลอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมขาว
ประโยชน์ผลมะอึก
1. ผลมะอึก นำมาประกอบอาหาร อาทิ ใส่ในน้ำพริกกะปิแทนมะเขือพวง ซึ่งช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวให้กับน้ำพริก อีกทั้งเนื้อผลมีมากกว่ามะเขือพวง และมีเนื้อกรอบกว่า
2. ผลมะอึกสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นสำหรับรับประทานคู่กับอาหารต่างๆ อาทิ ซุปหน่อไม้ ลาบ และปลาจ่อม เป็นต้น
3. ผลมะอึกสุกนำมาผ่าครึ่ง แล้วบีบคั้นเอาน้ำ ทำเป็นน้ำสมุนไพรดื่ม
4. ราก ใบ และผล นำมาใช้เป็นสมุนไพร ทั้งเป็นยาภายนอก และรับประทาน
ทั้งนี้ การนำผลมะอึกมาใช้ประโยชน์จะต้องกำจัดขนแข็งออกก่อน ด้วยการใช้ผ้าหนาๆคลุมขัดขนออก
คุณค่าทางโภชนาการมะอึก (ผลที่กินได้ 100 กรัม)
– น้ำ : 83.9 กรัม
– พลังงาน : 66 กิโลแคลอรี
– โปรตีน : 1.9 กรัม
– ไขมัน : 0.8 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 12.7 กรัม
– ใยอาหาร : 3.6 กรัม
– เถ้า : 0.7 กรัม
– แคลเซียม : 26 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 41 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.8 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 181 RE
– ไทอะมีน (วิตามิน B1) : 0.07 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2) : 0.05 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน (วิตามิน B3) : 4.9 มิลลิกรัม
– วิตามินซี : 3 มิลลิกรัม
ที่มา : 2)
สาระสำคัญที่พบในผลมะอึก
– Carpesterol
– Linoleic acid
ที่มา : 1)
สรรพคุณมะอึก
ผลมะอึก
– ช่วยขับเสมหะ
– รักษาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ
– รักษาแผลในช่องปาก ลดอาการแสบแผลในช่องปาก
– ช่วยดับกลิ่นปาก
– ช่วยขับพยาธิ
– กระตุ้นการขับน้ำดี
– แก้อาการท้องเสีย
ราก
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยลดไข้
ใบ
– แก้อาการฟกช้ำ ลดอาการบวม
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาฝี
– รักษาผดผื่นคัน
การปลูกมะอึก
มะอึกนิยมปลูกด้วยเมล็ดที่คล้ายกับพืชผักในตระกูลมะเขืออื่นๆ ส่วนวิธีอื่นๆไม่ค่อยนิยม เพราะลำต้นมีอายุไม่กี่ปี และกิ่งหรือลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนทำให้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นไม่ค่อยได้ผล
การคัดแยกเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์มะอึกสำหรับการเพาะ จะต้องเป็นเมล็ดที่ได้จากผลมะอึกที่สุกจัดเต็มที่ เปลือกผลมีสีเหลืองเข้มแล้ว หรือ ใช้จากผลที่ล่นจากต้นแล้ว และควรเป็นผลที่มีขนาดใหญ่ ไม่มีรอยแมลงหรือสัตว์กัดกิน
หลังจากคัดแยกผลได้แล้ว ให้นำผลมาขยี้ด้วยผ้าเพื่อกำจัดขนออกให้หมด ก่อนผ่าผลให้เป็น 2 ซีก หลังจากนั้นใช้ช้อนตักควักเมล็ดแยกออก โดยตักใส่ผ้าขาวบาง พร้อมเกลี่ยเมล็ดให้กระจายออก ก่อนนำผ้าขาวบางมาแผ่ตากแดดจนเมล็ดแห้ง 5-7 วัน หลังจากนั้น ห่อห่อขาวบางหรือใส่ถุงเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือน เพื่อให้เมล็ดเข้าสู่ระยะพักตัว ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดให้สูงได้ หลังจากนั้นค่อยนำมาเพาะขยายพันธุ์ต่อ นอกจากนั้น อาจใช้วิธีเก็บผลสุกที่ล่นจากต้นมาตากแดดทั้งผลจนแห้ง ก่อนจะแยกเมล็ดออก
การเตรียมแปลง
สำหรับการปลูกมะอึกนิยมเพาะกล้ามะอึกก่อนจะนำปลูกลงแปลงหรือลงหลุม โดยเตรียมแปลงด้วยการขุดพรวนดิน กำจัดวัชพืชออกให้หมด และตากดินไว้ 3-5 วัน หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก พร้อมพรวนให้ปุ๋ยคลุกกับหน้าดินให้เข้ากัน ก่อนจะหว่านเมล็ดลงแปลง
การเพาะเมล็ด
หลังจากคัดแยกเมล็ด และพักไว้สักระยะแล้ว ให้นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงเพื่อเพาะกล้า ซึ่งจะทำคล้ายกับการเพาะกล้ามะเขือทั่วไป โดยการโรยเมล็ดลงแปลงเพาะให้ห่างกันประมาณ 2-5 เซนติเมตร ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น รดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง พอชุ่ม จนผ่านไปประมาณ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก แล้วดูแลต่อจนต้นกล้าแตกใบจริง 3-5 ใบ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนย้ายลงปลูกในหลุม ต่อไป
วิธีปลูก
โดยทั่วไปการปลูกมะอึกนิยมปลูกในหน้าฝน โดยปลูกลงแปลงหรือหลุมตามสวนหลังบ้านหรือพื้นที่ว่างต่างๆภายในบ้าน ซึ่งทั่วไปนิยมปลูกเพียงไม่กี่ต้นเพื่อรับประทานเอง หากในอนาคตได้รับความนิยมมากขึ้น อาจมีเกษตรบางรายปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น
การปลูกนั้น จำต้องขุดหลุมปลูกก่อน ด้วยการขุดหลุมขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ก่อนนำกล้ามะอึกลงปลูก และกลบหลุมให้แน่นพอประมาณ หลังจากนั้น ระยะแรก 3-5 วัน ควรรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แล้วค่อยปล่อยให้ต้นเติบโตตามธรรมชาติ นอกจากนั้น บางบ้านที่ไม่มีพื้นที่ว่างก็สามารถปลูกมะอึกในกระถางได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก http://pics66.com, pantip.com, kasetloongkim.com/, bareo-isyss.com/
เอกสารอ้างอิง
1) วาทินี จันมี. 2552. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ยับยั้งไลเพส-
ของผลมะอึก Solanum stramonifolium Jacq.
2) กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2544. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.