Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
มะหวด จัดเป็นผลไม้ป่าที่พบมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยนิยมนำผลสุกที่มีสำดำอมม่วงมารับประทานสดเป็นหลัก นอกจากนั้น บางท้องถิ่นยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไวน์มะหวดจำหน่าย ซึ่งให้ไวน์สีม่วงดำ และให้รสชาติไม่แพ้ไวน์ผลไม้ชนิดอื่น
• วงศ์ : Sapindaceae
• ถิ่นกำเนิด : ไทย พม่า ลาว และจีนตอนใต้
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Eriogussum rubiginosum.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– มะหวด
– กำซำ
– กะซ่ำ
ภาคอีสาน
– หมากหวดข่า
– หวดข่า
– หวดเหล้า
– หวดค่า
– สีหวด
ภาคเหนือ
– สีฮอกน้อย
– หวดลาว
ภาคตะวันออก
– ชันรู
– มะหวดบาท
– มะหวดลิง
ภาคใต้
– กำจำ
– นำซำ
– มะจำ
– หมากจำ
ม้ง
– สือเก่าก๊ะ
– ยาตีนไก่
เมี่ยน
– เดี๋ยงอายเปียว
ไทลื้อ
– มะซ้าหวด
การแพร่กระจาย
มะหวด เป็นพืชท้องถิ่น และมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น จีนตอนใต้ พม่า และลาว พบมากตามป่า ป่าเต็งรัง โดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคเหนือ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะหวดเป็นไม้ยืนต้นชนิดผลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 5 – 10 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นแตกกิ่งไม่มากทำให้มีทรงพุ่มแลดูค่อนข้างโปร่ง เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ผิวเปลือกแตกเป็นร่อง กิ่งมักแตกออกตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น กิ่งแขนงมักแตกออกบริเวณส่วนปลายของกิ่งหลัก ปลายกิ่งแขนงมีขนปกคลุม ส่วนเนื้อไม้แข็งปานกลาง มีสีเหลืองอมน้ำตาล
ใบ
ใบมะหวด เป็นใบประกอบแบบใบคู่ คือ ใบสุดท้ายมี 2 ใบ มีก้านใบหลักที่แทงออกบริเวณปลายกิ่งแขนง ก้านใบหลักยาว 25-40 เซนติเมตร ตามก้านใบมีขนปกคลุม บนก้านใบมีใบย่อย 4-6 คู่ ออกเรียงสลับกัน และเยื้องกันตามความยาวของก้านใบหลัก
ใบย่อยมีก้านใบสั้น ใบมีรูปไข่ และรียาว ขนาดประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ ขอบไม่เป็นหยัก แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ส่วนสีด้านล่างค่อนข้างจางกว่า และใบทั้งสองด้านมีขนอ่อนสีน้ำตาลปกคลุม เนื้อใบค่อนข้างเหนียว นอกจากนั้น ใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงมองเห็นชัดเจน โดยเส้นแขนงบริเวณโคนใบจะออกตรงกันจนถึงประมาณกลางใบค่อยออกเยื้องกันในทิศจากเส้นกลางใบไปจรดขอบใบ มี 7-8 คู่ หรืออาจเป็นเลขคี่ ไม่เป็นคู่
ดอก
ดอกมะหวดแทงออกเป็นช่อบริเวณปลายสุดของกิ่ง ประกอบด้วยก้านช่อหลัก ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร และก้านช่อแขนง ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร 5-10 ช่อแขนง แต่ละช่อแขนงมีดอกจำนวนมาก 20-30 ดอก และจะมีจำนวนมากบนปลายก้านช่อหลัก โดยดอกมะหวดมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยงสีเขียวสด และมีขนปกคลุม ส่วนกลีบดอกมีสีขาวขณะเป็นดอกตูม และเมื่อบานจะมีสีเหลือง ด้านในประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และตัวเมีย ซึ่งเป็นดกสมบูรณ์เพศ ทำให้ติดผลได้เกือบทุกดอก โดยดอกมะหวดจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนมกราคม และทยอยออดอกจนถึงเดือนมีนาคม
ผล และเมล็ด
ผลมะหวดมีลักษณะเป็นรูปไข่ ซึ่งเกิดจากรังไข่3ช่อง จึงสามารถให้ผลได้ถึง 3 ผล ในดอกเดียว โดยผลทั้ง 3 ผลที่เกิดจาก 1 ดอก จะมีฐานผลติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม และแต่ละผลอาจเจริญจนสุกเพียงผลเดียวหรือเจริญจนสุกได้ครบทั้งสามผล ขนาดผลประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อเจริญต่อจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีส้ม สีแดง และค่อยๆสุกเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง จนสุกเต็มที่จะมีสีดำ
ขอบคุณภาพจาก www.technologychaoban.com
ผลมะหวดมีเปลือกกับเนื้อผลติดเป็นส่วนเดียวกัน เนื้อผลสุกค่อนข้างหนา มีสีดำอมม่วง เนื้อนุ่ม ให้รสหวาน ถัดมาจากเนื้อผลจะเป็นส่วนของเมล็ดที่มีลักษณะเป็นรูปไข่ เปลือกเมล็ดค่อนข้างแข็ง มีสีเปลือกสีน้ำตาล โดย 1 ผล จะมี 1 เมล็ด
ผลมะหวดจะเริ่มติดผลขนาดเล็กประมาณปลายเดือนมกราคมและผลจะเริ่มสุกประมาณเดือนพฤษภาคมซึ่งจะทยอยสุกไปเรื่อยจนถึงเดือนมิถุนายน
ประโยชน์มะหวด
1. ผลมะหวดสุกที่มีสีดำอมม่วง นิยมรับประทานเป็นผลไม้ เนื้อผลหนา และนุ่ม เนื้อให้รสหวานอมฝาดเล็กน้อย
2. ผลมะหวดสุกนำมาหมักไวน์จะได้ไวน์สีม่วง ให้รสหวาน และให้แอลกอฮอล์ได้ดี
3. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ย้อมแห ให้สีดำม่วง ส่วนใบก็ใช้ย้อมได้เช่นกัน ซึ่งจะให้สีเขียวขี้ม้า
4. เนื้อไม้มะหวดมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเป็นไม้ใช้สอย เช่น ทำด้ามมีด เสารั้ว ทำไม้ฟืน เป็นต้น แต่ไม่นิยมแปรรูปเป็นไม้ทำบ้าน เพราะลำต้นค่อนข้างเล็ก และเนื้อไม้ไม่ค่อยแข็งแรง
5. ต้นมะหวดตามป่าเป็นระโยชน์ในแง่อาหารสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก และกระรอก
สรรพคุณมะหวด
ผล (หวานอมฝาด)
– ช่วยลดการเกิดเซลล์มะเร็ง
– ช่วยรักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย
– แก้ไข้รากสาด
– ช่วยลดกรดในกระเพาะ ลดอาการแสบกระเพาะจากโรคอาหาร
– ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวให้แลดูสดใส
– ช่วยผ่อนคายกล้ามเนื้อ แก้อาการเมื่อยล้า
– ผลมีรสฝาด ช่วยสมานแผล ลดอาการแสบของแผล และรักษาแผลในช่องปาก
– ผลดิบนำมาบดทาแผล ช่วยรักษาแผลให้หายเร็ว แผลไม่เปื่อยเน่าง่าย
เมล็ด
– น้ำต้มเมล็ด นำมาดื่ม ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้ปัสสาวะขุ่น
– บรรเทาโรคหอบหืด
– แก้ซางในเด็ก
ใบ
– นำใบ 5-10 ใบ มาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการตัวร้อน และเป็นไข้
– น้ำต้มช่วยลดปัสสาวะเล็ด
– น้ำต้มช่วยแก้ปัสสาวะขุ่น
– น้ำต้มใช้อาบ แก้โรคผิวหนัง
เปลือกลำต้น และแก่น
– เปลือกสับเป็นชิ้น ก่อนต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้บิดมูกเลือด
– แก้ท้องเสีย
– นำมาอาบสำหรับรักษาโรคผิวหนัง
– นำมาบด ใช้ประคบแผล ช่วยให้แผลแห้ง ลดน้ำเหลืองไหล
ราก
– ลดตัวร้อน แก้ไข
– รากนำมาต้มดื่ม แก้อาหารเป็นพิษ
– รักษาฝีภายใน
– รักษาวัณโรค ลดอาการไอ
– แก้อาการร้อนใน ลดการกระหายน้ำ
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้เส้นเอ็นดึงรั้ง
– แก้ซางตานขโมย
– รักษาโรคงูสวัด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– น้ำต้มใช้อาบ ต้านเชื้อรา รักษาโรคผิวหนัง
ที่มา : 1)
การปลูกมะหวด
การปลูกมะหวด นิยมปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด แต่ก็มีวิธอื่นที่เริ่มนิยม เช่น การตอนกิ่ง ซึ่งวิธีนี้ จะได้ต้นมะหวดที่มีลำต้นไม่สูงนัก และติดผลได้เร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด แต่ทั่วไปตามวิถีชาวบ้านจะใช้เมล็ดเพาะปลูกเป็นหลัก ส่วนการเสียบยอด เพราะกว่าจะเพาะเมล็ดให้งอกได้ก็ลำบาก และกว่าจะได้ขนาดต้นกล้าที่ใกล้เคียงกับยอดที่จะใช้เสียบ ก็ต้องให้ต้นกล้ามีขนาดใหญ่ และสูงมากแล้ว
สำหรับการเพาะเมล็ดนั้น จะให้เลือกผลที่สุกจัดจนมีสำดำหรือผลที่ร่วงจากต้นแล้วก็ยิ่งดี และผลที่เลือก ควรมีขนาดผลใหญ่ หลังจากนั้น นำเมล็ดมาแตกแดดให้แห้ง 7-10 วัน ก่อนนำไปเพาะในถุงเพาะชำ ซึ่งเมล็ดจะงอกภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ทั่วไป เมล็ดมะหวดมีอัตราการงอกต่ำ จึงต้องเพาะจำนวนหลายเมล็ดจึงจะได้ต้นพันธุ์ หลังจากที่ต้นงอก และเติบโตสูงได้ 30-40 เซนติเมตร ค่อยนำลงปลูกต่อไป
เอกสารอ้างอิง