มะม่วงเขียวเสวย ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงเขียวเสวย

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะม่วงเขียวเสวย (Khiew Sawoey) เป็นมะม่วงยอดนิยมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นิยมรับประทานผลดิบหรือผลแก่เป็นหลัก เนื่องจาก ผลในระยะนี้จะมีสีขาวขุ่นหรือขาวขุ่นอมครีม เนื้อแน่น มีความกรอบ และมีรสหวานมัน จนได้รับขนานนามว่า “ราชินีของมะม่วงไทย”

อนุกรมวิธาน (4)
Class : Dicotyledon
Order : Sapinclales
Family : Anacardiaceae

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica L. c.v.
• ชื่อสามัญ : Mango (Khiew Sawoey)
• ชื่อท้องถิ่น : มะม่วงเขียวเสวย

ประวัติ และการแพร่กระจาย

มะม่วงเขียวเสวย เป็นมะม่วงท้องถิ่นที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย เป็นมะม่วงกลายพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด เป็นพันธุ์ใหม่ที่เพาะได้โดยบังเอิญเมื่อประมาณปี 2475 ของชาวสวนแห่งหนึ่งในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม จากนั้น มีการเพาะเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ปลูกในแถบมากขึ้น ทำให้มีมะม่วงเขียวเสวยลักษณะที่แตกต่างกันมากขึ้น และให้ชื่อเรียกพันธุ์มะม่วงเขียวเสวยต่างๆ อาทิ เขียวสะอาด เขียวไข่กา เป็นต้น ซึ่งหากต้นใดที่ให้ลักษณะที่ต่างไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะรสชาติ เกษตรก็จะโค่นทิ้ง (3), (8)

ปัจจุบัน มะม่วงเขียวเสวยพบปลูกในทุกภาค โดยเฉพาะการปลูกเพื่อรับประทานเองเพียงไม่กี่ต้นตามหน้าบ้าน หลังบ้าน และหัวไร่ปลายนา ส่วนการปลุกในแปลงใหญ่เพื่อการค้าพบปลูกมากในภาคกลาง และภาคเหนือ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
มะม่วงเขียวเสวย เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 10-25 ปี ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกหลักกิ่ง และกิ่งแขนงน้อย จนแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก สีดำอมเทา

%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%a21

ใบ
ใบมะม่วงเขียวเสวย ออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง ใบค่อนข้างรียาว สีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นกลางใบมีสีขาวชัดเจน

ดอก
มะม่วงเขียวเสวย ออกดอกเป็นช่อแขนง ซึ่งแต่ละแขนงประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยในช่อเดียวกันจะมีดอก 2 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ซึ่งมีจำนวนมาก (91.80%) และดอกกะเทย (8.20%) ที่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้ติดผลน้อย ทั้งนี้ มะม่วงเขียวเสวย เป็นพันธุ์ที่ออกดอกช้า ดอกมะม่วงเขียวเสวยหลังการผสมเกสรแล้ว ทั้งกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรจะร่วงหล่นไปหมด คงเหลือรังไข่ที่พัฒนาเป็นผลรูปไข่ขนาดเล็ก และจานดอกที่เหี่ยวแห้งติดด้านล่างผล

ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงเขียวเสวย มีลักษณะรียาว และแบนเล็กน้อย บริเวณขั้วผลมีขนาดใหญ่ และค่อยเล็กลงไปด้านท้ายด้านหลังผลมีลักษณะนูนออก และด้านหน้าผลคอดเล็กลง ขนาดผลกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 300-335 กรัม ผลมะม่วงเขียวเสวย เมื่อยังอ่อนจะมีเปลือกสีเขียวเข้ม ส่วนเนื้อผลมีสีขาว และมีรสเปรี้ยว เมื่อแก่ เปลือกมีสีเขียวอมเทาหรือมีนวล ส่วนเนื้อมีสีขาวขุ่น มีรสหวานมัน และเมื่อสุก เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เนื้อด้านในมีสีเหลือง เนื้อละเอียด และค่อนข้างแน่น ไม่เละง่าย

ส่วนเมล็ดด้านในมีลักษณะเรียวยาว และค่อนข้างแบนตามลักษณะของผล เปลือกหุ้มเมล็ดหนาแข็ง และมีร่องเป็นริ้วตามแนวตั้ง

%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%a2

ประโยชน์มะม่วงเขียวเสวย

1. มะม่วงเขียวเสวย นิยมรับประทานผลดิบแก่เป็นหลัก เพราะเนื้อผลหนา กรอบ และมีรสหวานมัน นอกจากนั้น ยังนิยมรับประทานผลสุกเช่นกัน ด้วยเนื้อผลสุกมีรสหวาน เนื้อแน่นเหนียว ไม่เละง่าย
2. มะม่วงเขียวเสวยสุก มีเนื้อสีเหลืองทองนิยมใช้ทำข้าวเหนียวมะม่วง
3. มะม่วงเขียวเสวยสุก แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ มะม่วงกวน มะม่วงแผ่น เป็นต้น
4. ก้านยอดอ่อนหรือยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวอมฝาด ใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่นๆ
5. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ผ้าที่ย้อมได้สีน้ำตาล
6. เนื้อไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ รวมถึงใช้เป็นท่อนไม้สำหรับการเพาะเห็ด

%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%81%e0%b8%81

คุณค่าทางโภชนาการ (มะม่วงเขียวเสวย 100 กรัม)

มะม่วงเขียวเสวยดิบ มะม่วงเขียวเสวยสุก
Proximates
น้ำ กรัม 78.5 80.2
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 87 82
โปรตีน กรัม 0.7 0.5
ไขมัน กรัม 0.4 0.8
คาร์โบไฮเดรต กรัม 20.1 18.2
เส้นใย กรัม
เถ้า กรัม 0.3 0.3
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม
เหล็ก มิลลิกรัม
Vitamins
เรตินอล ไมโครกรัม
เบต้า แคโรทีน ไมโครกรัม
วิตามิน A, RE RE
วิตามิน E มิลลิกรัม
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.02 0.03
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.03 0.05
ไนอะซีน มิลลิกรัม
วิตามิน C มิลลิกรัม 31 25

ที่มา : (1) กองโภชนาการ (2544)

สาระสำคัญที่พบ

ผลมะม่วงเขียวเสวย (9)
– friedelin
– mangiferin
– catechin
– cycloartenol

ใบมะม่วงเขียวเสวย
– mangiferin
– isomangiferin
– methylchinomin
– quercetin

สารเหล่านี้ สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสได้ดี โดยเฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (2)

สรรพคุณมะม่วงเขียวเสวย

ผลดิบ และผลสุก
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ป้องกันโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– กระตุ้นการถ่าย

ใบมะม่วง
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการทดลองใช้สารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวย โดยการผสมในอาหารให้แก่กุ้งกุลาดำ พบว่า สารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของแก่กุ้งได้
– ใบมะม่วงเขียวเสวยนำมาตากแห้ง และบดเป็นผงสำหรับใช้ต้มดื่มหรือรับประทาน ช่วยแก้โรคท้องร่วง
– ผงใบมะม่วงช่วยแก้โรคเบาหวาน
– ช่วยบรรเทาอาหารไอ
– แก้โรคหอบหืด
– แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก

ลำต้น และเปลือก
– ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน
– รักษากามโรคต่างๆ
– รักษาแผลในจมูก
– แก้อาการท้องเดิน

ราก
– ช่วยรักษาฝี
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

ที่มา : (2), (6), (9)

การปลูกมะม่วงเขียวเสวย

มะม่วงเขียวเสวย เป็นที่นิยมปลูก เนื่องจาก ผลแก่หรือผลห่ามมีรสหวานมันที่อร่อยมากว่ามะม่วงชนิดอื่นที่ยังดิบอยู่ โดยนิยมปลูกตามบ้านเรือนหรือตามหัวไร่ ปลายนา รวมถึงปลูกเพื่อการค้าในแปลงใหญ่ ซึ่งนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ตอนกิ่งหรือการเสียบยอดเป็นหลัก

การเตรียมแปลงปลูก และหลุมปลูก
– ไถพรวนดิน และตากหน้าดิน 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 5-10 วัน รวมถึงกำจัดวัชพืชต่างๆ
– ขุดหลุมปลูกเป็นแถวในทิศขวางกับดวงอาทิตย์ แต่ละหลุมกว้าง และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร
– ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว ประมาณ 6-8 เมตร
– ปล่อยหลุมให้ตากแดดนาน 3-5 วัน

การปลูก
– ให้ปลูกลงหลุมในช่วงเข้าฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
– คลุกก้นหลุมกับหน้าดินด้วยปุ๋ยคอกที่ 3-5 กำมือ/หลุม ร่วมด้วยกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ 1 กำมือ/หลุม
– นำต้นพันธุ์ลงปลูก (ฉีกถุงดำออก) พร้อมกลบดินให้พูนขึ้นสูงจากหน้าดินเล็กน้อย
– ปักยึดด้วยไม้ไผ่ พร้อมผูกเชือกฟางยึดลำต้นไว้

การให้น้ำ
– หลังการปลูกให้ปล่อยเติบโตด้วยน้ำฝน
– หากฝนทิ้งช่วงนาน ให้รดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน
– เมื่อย่างเข้าฤดูแล้ง ให้น้ำวันเว้นวัน
– ในระยะปล่อยติดผลที่ประมาณ 3-4 ปี หลังปลูก ให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ในระยะออกดอก และติดผล

การใส่ปุ๋ย
– ในระยะ 1-3 ปีแรก ที่ยังไม่ต้องการให้ติดผล ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราปุ๋ยคอก 3-5 กำ/ต้น ปุ๋ยเคมี 1 กำมือ/ต้น
– ช่วงปล่อยติดผล ในระยะออกดอกให้เปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 10-10-20 และปุ๋ยคอกในอัตราเดียวกับในระยะก่อนปล่อยติดผล

การเก็บผลผลิต
การปลูกมะม่วงเขียวเสวยเกษตรกรจะปล่อยให้ลำต้นเติบโตอย่างเต็มที่ก่อนใน 1-3 ปีแรก หลังจากนั้น จึงปล่อยให้ต้นติดผลได้ ซึ่งอาจอยู่ในปีที่ 3-4 หรือ ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป โดยแบ่งระยะการให้ผลออกเป็น 3 ช่วง คือ
1. ระยะตั้งแต่ 3-6 ปี เริ่มให้ผลน้อยถึงปานกลาง
2. ระยะ 7-15 ปี ให้ผลผลิตมาก โดยมักให้ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 13
3. ระยะ 16 ปี ขึ้นไป ให้ผลผลิตน้อย และน้อยลงเรื่อยๆ (7)

ทั้งนี้ มะม่วงเขียวเสวยจะมีอายุพร้อมเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมประมาณ 105 วัน หลังดอกบาน หรือประมาณ 90 วัน หลังติดผล (5)

หลังเก็บผลมะม่วงเขียวเสวยมาแล้ว ให้เด็ดก้านผลออกจนชิดขั้วผล และให้คว่ำผลลงเพื่อให้น้ำยางไหลออก โดยมีผ้ารองไว้ด้านล่างเพื่อซับยางมะม่วง หลังจากนั้น นำมาล้างทำความสะอาดก่อนเก็บบรรจุ

ขอบคุณภาพจาก BlogGang.com/, technologychaoban.com/, khaosod.co.th/

เอกสารอ้างอิง

(1) กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544.-
ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
(2) ชลิดา ชมานนท์ สมภพ รุ่งสุภา มณฑิรา ถาวร-
ยุคิการต์ และวีณา เคยพุดชา, 2542. การศึกษา-
ผลของสารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวย-
ต่อระบบภูมิคุ้มกันในกุ้งกุลาดำ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(3) ถวิล ข่ายสุวรรณ, 2526, พันธุ์มะม่วง, เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตร “มะม่วง”, กรมวิชาการเกษตร.
(4)ภานุมาศ อัสดร, 2530, การยึดอายุหลังเก็บเกี่ยวของผลมะม่วง-
พันธุ์เขียวเสวย (Mangifera indica L. CV. Keaw Sawoey)-
โดยใช้พลาสติกฟิล์มและสภาพความดันต่ำ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(5) เสาวลักษณ์ กังวาลตระกูล, 2530, การเติบโตและดัชนีการเก็บเกี่ยวของ-
ผลมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(6) บุศบรรณ ณ สงขลา, 2525, สมุนไพร ตอนที่ 1.
(7) ประวัฒชัย ธัญรัชตานนท์, 2550, การวิเคราะห์เปรียบเทียบผลตอบแทน-
ทางการเงินของการลงทุนผลิตมะม่วงเขียวเสวย-
ในและนอกฤดูกาลในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(8) ณภัทร คล้ายสุบรรณ , 2544, ผลของสารในกลุ่มออกซิน, จิบเบอเรลลิน-
และเอทธิฟอนต่อการเปลี่ยนเพศดอก-
และการติดผลของมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย.
(9) กฤษณ์ บุญอริยเทพ, 2545, ฤทธิ์และสมบัติทางชีวเคมีของสารต่อต้านอนุมูลอิสระ-
ในสารสกัดจากมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย, มหาวิทยาลัยนเรศวร.