Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
มะม่วงป่า จัดเป็นมะม่วงพันธุ์ดั้งเดิมที่พบแพร่กระจายในป่าต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งมีลักษณะลำต้น ใบ และผลที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่ แต่ผลจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก
ผลมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม เปลือกผล และเนื้อผลบาง แต่มีกลิ่นหอม ทั้งในผลดิบ และผลสุก นิยมรับประทานสดจิ้มพริกเกลือหรือทำน้ำพริก รวมถึงนำมาดอง ส่วนผลสุกมีกลิ่นหอมแรง เนื้อมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ รวมถึงแปรรูปเป็นไวน์ น้ำผลไม้ หรือไอศกรีม เป็นต้น
• วงศ์ : Anacardiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera caloneura Kurz (6)
• ชื่อสามัญ : Mango tree (Mangifera caloneura Kurz)
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะม่วงป่า
ภาคเหนือ
– มะม่วงป่า
– จ๋องบั้วกู่ (ม้ง)
– แผละเส้ดโย (ลั้วะ)
– มะโมงเดี๋ยง (เมี่ยน)
ภาคอีสาน
– หมากม่วงป่า
ภาคตะวันตก
– มะม่วงเทพรส (ราชบุรี)
ภาคใต้
– มะม่วงละว้า
– มะม่วงละโว้
– มะม่วงขี้ใต้
– มะม่วงกะล่อน (ประจวบคีรีขันธ์)
– มะม่วงราวา, ราวอ (นราธิวาส)
ที่มา : (1), (2), (5)
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะม่วงป่า เป็นมะม่วงพันธุ์ดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในพม่า จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา รวมถึงประเทศไทย พบแพร่กระจายตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นหรือป่าพรุ ซึ่งลักษณะลำต้น ใบ และผลจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะม่วงป่า เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 20-25 เมตร ลำต้นกลม และตั้งตรง
ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มบริเวณปลายลำต้น จำนวนกิ่งปานกลาง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา เปลือกแตกเป็นร่องสี่เหลี่ยมตามแนวยาว เปลือกลำต้นด้านในมีสีเหลือง แต่เมื่อถากทิ้งให้สัมผัสอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมดำ ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างได้
ใบ
ใบมะม่วงป่า ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงออกสลับกันตามกิ่ง ใบมีก้านใบสีเขียว ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปหอก ฐานใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบเหนียว มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขอบใบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.5-20 เซนติเมตร ยอดอ่อนหรือใบอ่อนมีสีม่วงอมแดง
ดอก
ดอกมะม่วงป่า ออกเป็นช่อแขนง แทงออกบริเวณยอดกิ่ง แต่ละช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อย และแต่ละช่อดอกย่อยมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีลักษณะกลม มีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ และกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ ภายในมีเกสรตัวผู้ 5 อัน เมื่อดอกบานจะส่งกลิ่นหอมอบอวน ทั้งนี้ ดอกย่อยมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และไม่สมบูรณ์เพศ
ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงป่า มีรูปทรงกลม ขนาดผลประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3.2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง และสุกจัดเป็นสีเหลืองทั่วผล พร้อมส่งกลิ่นหอม เปลือกผลบาง เนื้อผลเมื่อสุกมีสีเหลือง และค่อนข้างบาง ส่วนเมล็ดมีขนาดใหญ่ มีลักษณะกลม และค่อนข้างแบน เปลือกเมล็ดแข็ง และเป็นร่องตามแนวตั้งทั่วเปลือก
ฤดูออกดอก และติดผล
ดอกมะม่วงป่าจะออกดอกก่อนมะม่วงพันธุ์อื่นๆ คือในช่วงประมาณเดือนธันวาคม และเริ่มติดผลหลังออกดอกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม และสามารถเก็บผลดิบรับประทานได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ประโยชน์มะม่วงป่า
1. ผลสุกมะม่วงป่ามีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองทั้งผล เปลือกผล และเนื้อผลค่อนข้างบาง แต่มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมมาก จึงใช้รับประทานเป็นผลไม้
2. ผลดิบมะม่วงป่า นิยมเก็บสอยมารับประทานจิ้มกับพริกเกลือ เพราะมีกลิ่นหอม มีรสเปรี้ยวพอเหมาะ และมีความกรอบ นอกจากนั้น ชาวอีสานยังนิยมนำผลดิบมาทำน้ำพริก หรือตำใส่กะปอมหรือแย้ที่เรียกว่า ก้อยแย้หรือก้อยกะปอม เพราะให้กลิ่นหอมต่างจากมะม่วงชนิดอื่น
3. ผลดิบมะม่วงป่าที่เปลือกเมล็ดยังไม่เข้าแกนหรือแข็ง นิยมใช้ดองเกลือเป็นมะม่วงดอง ซึ่งมีรสอร่อยมากกว่ามะม่วงดองชนิดอื่นๆ
4. ผลสุกมะม่วงป่านำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ไวน์ ไอศกรีม และมะม่วงกวน เป็นต้น
5. ยอดอ่อนหรือใบอ่อนใช้รับประทานสดหรือรับประทานจิ้มน้ำพริก มีรสเปรี้ยวอมเฝื่อนเล็กน้อย
6. เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้วงนอกมีสีเหลืองอมน้ำตาลเล็กน้อย เนื้อไม้วงในสุดมีด่างสีน้ำตาลอมดำ สามารถใช้แปรรูปเป็นฝาบ้าน วงกบ ไม้ฝ้า เป็นต้น รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ
7. เนื้อไม้ท่อนใหญ่ใช้เผาถ่าน หรือผ่าเป็นฝืน ส่วนกิ่งใช้เป็นฝืนหุงหาอาหารเช่นกัน
8. เปลือกใช้ต้มย้อมผ้า ด้วยการสับเอาเฉพาะเปลือกด้านใน นำมาต้มน้ำในอัตราส่วนเปลือกมะม่วงป่ากับน้ำที่ 1:2 พร้อมใส่สารส้มเป็นสารช่วยย้อม หากย้อมผ้า 1 กิโลกรัม จะใช้เปลือกมะม่วงป่าประมาณ 15 กิโลกรัม ผ้าย้อมที่ได้มีสีน้ำตาลอ่อน (4)
ไม้มะม่วง แผ่นกลาง แก่นกลางเป็นลายน้ำตาลอมดำ
สรรพคุณมะม่วงป่า
ผลมะม่วงป่า
– ต้านโรคมะเร็ง
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ช่วยชะลอความแก่
– ช่วยเสริมภูมิต้านทาน
เปลือกลำต้น (ต้มดื่ม)
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับปัสสาวะ
เพิ่มเติมจาก (3)
ขอบคุณภาพจาก http://adeq.or.th/, www.baanmaha.com, http://www.kasetporpeang.com/, http://www.bloggang.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) http://adeq.or.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://adeq.or.th/มะม่วงป่า/.
(2) http://www.dnp.go.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้/ป่าพรุ/มะม่วงป่า/มะม่วงป่า.htm/.
(3) http://www.natres.psu.ac.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/2013-10-26-10-11-55/9-uncategorised/78-2013-10-27-09-17-22/.
(4) http://qsds.go.th/, พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ : มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://qsds.go.th/webtreecolor/tree.php?idtree=7/.
(5) http://eherb.hrdi.or.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=1041&name=มะม่วงป่า/.
(6) http://biodiversity.forest.go.th/, มะม่วงป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=4&view=showone&Itemid=59.