มะม่วงน้ำดอกไม้ ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะม่วงน้ำดอกไม้ (Nam Dok Mai) เป็นมะม่วงที่นิยมรับประทานสุก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก ผลสุกมีสีเหลืองทอง สวยงาม เนื้อมีสีเหลืองอมครีม เนื้อแน่นปานกลาง มีความนุ่ม และรสหวาน นิยมรับประทานเป็นผลไม้สุกหรือใช้ทำขนมหวาน อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีม และแยม เป็นต้น

• วงศ์ : Anacardiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica Linn.
• ชื่อสามัญ : Mango (Nam Dok Mai)
• ชื่อท้องถิ่น : มะม่วงน้ำดอกไม้

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นมะม่วงท้องถิ่นในไทย ปัจจุบันพบปลูกในทุกภาค และมีการปลูกเพื่อการค้ามากในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 15-20 ปี ลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นสีดำอมเทา

ใบ
มะม่วงน้ำดอกไม้ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันบนกิ่งแขนง ใบมีรูปหอก โคนใบสอบแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่น แผ่นใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม และเป็นมัน

ดอก
มะม่วงน้ำดอกไม้ ออกดอกเป็นช่อแขนงที่ปลายกิ่ง บนช่อแขนงมีดอกย่อยจำนวนมาก แต่ละดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ทั้งนี้ ดอกมะม่วงน้ำดอกไม้มีทั้งดอกกระเทย และดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน

ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงน้ำดอกไม้ มีลักษณะอ้วนจนถึงเกือบกลม ผลด้านขั้วผลมีขนาดใหญ่ และเล็กลงที่ท้ายผล ขนาดผลกว้างประมาณ 6.5-7.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 250-400 กรัม หรือมากกว่า ผลอ่อนมีสีเขียวนวล ผลสุกมีสีเหลืองครีมหรือเหลืองทอง เปลือกค่อนข้างบาง จึงซ้ำง่าย ส่วนเนื้อผลมีสีเหลืองอมครีม เนื้อละเอียด มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก และแบนลีบ ไม่มีเส้นใย

พันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ที่นิยม

1. น้ำดอกไม้สีทอง
น้ำดอกไม้สีทอง เป็นมะม่วงที่กลายพันธุ์มาจากมะม่วงน้ำดอกไม้พระประแดง ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อผลมีสีขาว มีรสเปรี้ยวจัด ผลแก่ที่อยู่บนต้นมีสีเหลืองอมครีม คล้ายกับมะม่วงสุก ผลเมื่อสุกจัดจะมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด และมีเสี้ยนเล็กน้อย น้ำหนักต่อผลประมาณ 300-400 กรัม ถือเป็นพันธุ์ที่มีเปลือกหนาขึ้น หนากว่ามะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมีความหวานมากกว่า นอกจากนั้น ทนโรค และแมลงได้ดี รวมถึงตอบสนองต่อการบังคับให้ติดผลนอกฤดูได้ดี (2)

%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%871

%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%87

2. น้ำดอกไม้เบอร์ 4
น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อมีสีขาวแน่น และหนา มีรสเปรี้ยวจัด ผลสุกมีสีเหลืองเข้มหรือเหลืองทอง  เปลือกผลบาง เนื้อผลละเอียด ไม่มีเสี้ยน มีกลิ่นหอม ไม่มีเสี้ยน น้ำหนักผล 280-300 กรัม ความหวานประมาณ 19 องศาบริกซ์

%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-4

%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c-4

มาตรฐานพันธุ์ และการเพาะกล้ามะม่วงนํ้าดอกไม้ (4)
1. ต้องเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการทาบกิ่ง ติดตา หรือเสียบยอด กรณีที่ติดตาหรือเสียบยอดจะต้องมียอดพันธุ์ดี ยาวไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร
2. ต้นกล้ามีความสูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร (โคนต้นถึงปลายยอด) และมีไม้ปักยึดข้างลำต้น
3. ต้นตอที่โคนต้น ต้องมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 0.8 เซนติเมตร
4. มีลักษณะของต้น และใบสมบูรณ์ และแข็งแรงตามสภาพปกติ ไม่ลักษณะของต้นที่ขาดธาตุอาหารหรือมีการเข้าทำลายของโรค และแมลง จนมีผลต่อการเติบโต
5. ภาชนะบรรจุ
– กระถาง ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระถาง ประมาณ 20 เซนติเมตร (วัดจากขอบนอกกระถาง)
– ถุงพลาสติก ต้องมีขนาดของถุงพลาสติก ประมาณ 20 X 25 เซนติเมตร (กว้าง X ยาว)
– กระชุไม้ไผ่ ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระชุไม้ไผ่ ประมาณ 15 เซนติเมตร มีสภาพไม้ดี สามารถขนส่งในระยะทางไกลได้สะดวก และใช้ดินผสมเป็นวัสดุเพาะชำ
6. ต้องชำในภาชนะบรรจุตั้งแต่ 1 เดือน ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 6 เดือน เมื่อถอนขึ้นมาดู มีการเจริญของราก และสามารถเห็นได้ชัดเจน
7. ต้องมีป้ายถาวรติดที่ต้นพันธุ์ที่ระบุชื่อพันธุ์ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต และวันเดือนปีที่เพาะชำ โดยผูกติดกับต้นหรือภาชนะ และสามารถตรวจสอบได้

ประโยชน์มะม่วงน้ำดอกไม้

1. มะม่วงน้ำดอกไม้ ผลสุกมีสีเหลืองนวลหรือเหลืองทอง เนื้อผลมีสีครีม มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผลไม้สุก นอกจากนั้น ผลดิบยังใช้รับประทานเป็นผลไม้เปรี้ยว แก้ร้อนแดด
2. มะม่วงน้ำดอกไม้ นิยมใช้ทำขนมหวาน โดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วง
3. มะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ แปรรูปเป็นมะม่วงดอง เนื่องจากมีรสเปรี้ยวสูง ส่วนผลสุกแปรรูปเป็นมะม่วงกวนหรือ มะม่วงในน้ำเชื่อม และแยมมะม่วง เป็นต้น
5. ก้านยอดอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่น อาทิ ลาบ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น
6. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีน้ำตาล
7. เนื้อไม้จากต้นขนาดใหญ่ แปรรูปเป็นไม้สำหรับก่อสร้างบ้าน อาทิ ไม้ปูพื้น ปูฝ้า หรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ต่างๆ

คุณค่าทางโภชนาการมะม่วงน้ำดอกไม้ ( 100 กรัม) (5)
– พลังงาน 60.0 กิโลแคลอรี
– โปรตีน 0.6 กรัม
– ไขมัน 0.3 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 15.9 กรัม
– ใยอาหาร 0.5 กรัม
– แคลเซียม 10.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 15.0 กรัม
– ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ 133.0 IU
– วิตามินซี 36.0 มิลลิกรัม

สารสำคัญที่พบ

– Butyric acid
– 3-carene
– α-phellandren
– Succinic acid
– Malic acid
– Citric acid
– Oxalic acid
– Quinic acid
– Formic acid
– Acetic acid
– Fumaric acid

ที่มา : (1)

สรรพคุณมะม่วงน้ำดอกไม้

– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคเบาหวาน ปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด
– ป้องกันโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– กระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยดับกระหาย
– แก้อาการไอ
– ช่วยละลายเสมหะ
– แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน
– ช่วยขับปัสสาวะ
– กระตุ้นเลือดลมของสตรีเป็นปกติ

ทั้งนี้ ส่วนผู้เป็นโรคไตไม่ควรรับประทานมาก (3), ((5) อ้างถึงกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร, 2550)

การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้

มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นที่นิยมปลูก และมีความต้องการทางตลาดสูง โดยเฉพาะผลสุกที่มีสีเหลืองทองสวยงาม ผิวผลเกลี้ยงสวยงาม เนื้อมีสีครีม มีรสหวาน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว เป็นพันธุ์ที่ออกดอกดก แต่ติดผลปานกลาง สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ เติบโตเร็วทนต่อโรคและแมลง รวมถึงตอบสนองต่อการบังคับให้ติดผลนอกฤดูได้ดี

ลักษณะเด่นมะม่วงน้ำดอกไม้
1. ออกดอกเร็ว
2. เติบโตเร็ว ไม่ต้องการดูแลมาก
3. ทนแล้ง
4. ทนต่อโรค และแมลง
5. เป็นที่ต้องการของตลาดสูง
6. เปลือกผลสุก มีผิวผลเกลี้ยง และมีสีเหลืองทองสวยงาม
7. เนื้อผลสุกนุ่ม มีรสหวาน เนื้อไม่เละง่าย

ลักษณะด้อยมะม่วงน้ำดอกไม้
1. ผลดิบมีรสเปรี้ยวมาก ผลสุกมีความหวานน้อยกว่ามะม่วงอื่นๆ
2. มีกลิ่นหอมน้อย
3. ผลสุกมีเปลือกบาง ทำให้ซ้ำง่ายเวลาขนส่ง
4. ไม่ทนต่อโรคแอนแทรกโนส

การเตรียมแปลงปลูก และหลุมปลูก
– ไถพรวนแปลง ร่วมกับกำจัดวัชพืชออกให้หมด และตากแปลงนาน 5-10 วัน
– ขุดหลุมปลูกเป็นแถวตามแนวยาวของแปลงในทิศขวางกับดวงอาทิตย์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะแปลง ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 6-8 เมตร
– ขุดหลุมขนาด 50 เซนติเมตร และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม ประมาณ 6-8 เมตร
– ตากหลุม นาน 3-5 วัน

การปลูก
– เกษตรนิยมปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในช่วงต้นฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
– ให้ผสมปุ๋ยคอก ประมาณ 3-5 กำมือ/หลุม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม ลงก้นหลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกให้เข้ากัน นอกจากนั้น อาจเพิ่มด้วยหินฟอสเฟต ประมาณ 2-3 กำมือ/หลุม
– ฉีกถุงเพาะออก นำต้นกล้าลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบให้พูนโคนต้นขึ้นมาเล็กน้อย
– ปักไม้ไผ่ลงข้างลำต้น พร้อมผูกมัดด้วยเชือกฟาง

การให้น้ำ
– ปล่อยให้ได้รับน้ำฝนตามธรรมชาติ
– หลังปลูกในปีแรก หากบางวันที่ฝนทิ้งช่วง ให้รดน้ำวันเว้นวัน
– เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง ให้น้ำวันเว้นวัน
– ในระยะติดผลที่ 3-4 ปี หลังปลูก ให้น้ำวันเว้นวัน (วันที่ฝนไม่ตกหรือหน้าดินแห้งมาก) ทั้งในระยะออกดอก และติดผล
– หากจัดทำร่องน้ำ และปล่อยให้มีน้ำขัง จะช่วยให้ต้นมะม่วงได้รับน้ำที่เพียงพอตลอดเวลา

การใส่ปุ๋ย
1. ในระยะ 1-3 ปีแรก ที่ต้นเติบโต ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝน และอีกครั้งปลายฤดูฝน
– ปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/ต้น
– ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กำมือ/ต้น
2. ระยะติดผล หลังปลูก 3-4 ปี ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งแรกในระยะก่อนออกดอกหรือออกดอก ครั้งที่ 2 ใส่หลังเก็บผล
– ระยะออกดอก ใส่ปุ๋ยในชนิดเดียวกับระยะ 1-3 ปีแรก แต่เปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 8-24-24 หรือ 10-10-20
– ระยะออกดอก ใส่ปุ๋ยในชนิด และอัตราเช่นเดียวกับระยะ 1-3 ปีแรก

การชักนำออกดอกนอกฤดู
– ให้ตัดแต่งกิ่ง และใส่ปุ๋ย ซึ่งกิ่งมะม่วงจะแตกยอดใหม่ อย่างน้อย 2 รุ่น
– จากนั้น เริ่มหยุดการให้นํ้า 7-15 วัน พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก/ต้น และปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24
– จากนั้น ไถพรวนหน้าดินเพื่อคลุกกลบปุ๋ยลงด้านล่าง และเพื่อตัดรากฝอยรอบโคนต้น
– จากนั้น ให้น้ำอย่างเต็มที่ตลอด 5-7 วัน

การห่อผล
เพื่อช่วยให้ผลมีผิวสวย ไม่มีรอยโรคหรือแมลง ไม่มีจุดด่างหรือเพลี้ยมาเกาะ เกษตรกรจะทำการห่อผลมะม่วงหลังจากที่ติดผลแล้ว 50-70 วัน การห่อจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงพลาสติก (ถุงเปิดทั้ง 2 ด้าน)

การเก็บผลผลิต
หลังการมะม่วงน้ำดอกไม้แล้ว 3-4 ปี เกษตรกรจึงปล่อยให้ติดผล โดยมีอายุผลพร้อมเก็บประมาณ 110-115 วัน หลังดอกบาน ผลสุกที่เก็บมาแล้วสามารถเก็บได้นาน 5-7 วัน ณ อุณหภูมิห้อง หากเก็บในตู้เย็นจะเก็บได้ประมาณ 14 วัน

ขอบคุณภาพจาก http://oloei.com/, thainews.prd.go.th

เอกสารอ้างอิง

(1) ธีระ วัฒนศิริเวช, 2545, การศึกษาชนิดและปริมาณสารหอมระเหย
น้ำตาลและกรดบางชนิดในมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง-
ที่มีระยะการสุกและสภาวะการสุกแตกต่างกัน, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
(2) ศรินทร ทองอินทร์, 2558, ปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก-
มะม่วงน้ำดอกไม้ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน : –
กรณีศึกษาผู้ประกอบการในจังหวัดฉะเชิงเทรา, มหาวิทยาลัยบูรพา.
(3) ลำพอง แต้มครบุรี, 2548. การประเมินสายต้นมะม่วงแก้ว-
เพื่อการแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง-
และเนคต้ามะม่วง. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(4) กรมส่งเสริมการเกษตร, 2538, มาตรฐานพันธุ์ไม้ผล.
(5) ลักษิกา คำศรี, 2554, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไส้พายมะม่วงน้ำดอกไม้, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.