มะตูม ประโยชน์ และสรรพคุณมะตูม

Last Updated on 10 มกราคม 2017 by puechkaset

มะตูม เป็นผลไม้ป่าที่ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน เนื่องจาก ลำต้นมีขนาดใหญ่ ออกผลช้านานหลายปี จึงไม่นิยมปลูก แต่ยังพบได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะตามหัวไร่ปลายนา และตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคอื่นๆ

ผลิตภัณฑ์ของมะตูมที่เห็นตามท้องตลาด ส่วนมากมาจากต้นมะตูมตามป่าหรือหัวไร่ปลายนา ซึ่งพบเห็นมากจะเป็นมะตูมตากแห้งที่ใช้สำหรับต้มน้ำดื่ม ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ได้แก่ มะตูมเชื่อม และน้ำมะตูม เป็นต้น

• วงศ์ : Rutaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos Correa.
• ชื่อสามัญ :
– Bael
– Bengal Quince
• ชื่อท้องถิ่น :
– มะตูม
– มะปิน
– ตุ่มเต้ง
– มะปีส่า
– หมากตูม
– กะทันตาเถร
– ตุ่มตัง
• ถิ่นกำเนิด : ทวีปเอเชีย อาทิ อินเดีย จีนตอนใต้ บังคลาเทศ ไทย พม่า ลาว และอินโดนีเชีย
• โครโมโซม : 14 คู่ (2n=14)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะตูมเป็นยืนไม้ต้น เนื้อแข็ง และผลัดใบ สูงประมาณ 15-25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 25-50 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามกิ่งย่อย อาจเป็นหนามคู่หรือหนามเดี่ยว เปลือกต้นค่อนข้างหนา และมีสีเทา เปลือกแตกเป็นร่องตามความยาวของลำต้น มีหนามขึ้นตามกิ่งทั่วลำต้น หนามมีลักษณะแข็ง ยาวประมาณ 2-3.5 ซม.

ใบ
ใบมะตูมเป็นใบประกอบ มีก้านใบยาว 3-5 ซม.ประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่ ใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด ใบกว้างประมาณ 3.0 – 6.0 ซม. และยาวประมาณ 4.0 – 12.0 ซม. ซึ่งใหญ่กว่าใบด้านข้างทั้งสองใบ ที่กว้างประมาณ 2.5 – 5.0 ซม. ยาวประมาณ 3.0 – 10.0 ซม. ใบมีรูปทรงรูปไข่หรือรูปหอก ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียว ค่อนข้างเป็นมัน แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า หากนำใบส่องใต้แดดจะมองเห็นมีต่อมน้ำมันเป็นจุดๆ

ดอก
ดอกมะตูมเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งดอกเพศเมีย และดอกเพศผู้ในดอกเดียวกัน แทงออกเป็นช่อ ดอกจะมีขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีเขียวอมขาว ขนาดประมาณ 0.6-1.0 ซม.มีลักษณะเป็นแฉกคล้ายปลาดาว 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ถัดมาเป็นเกสรตัวผู้จำนวนมาก และรังไข่ มีอับละอองเรณูสีขาว 35-45 อัน ดอกแทงออกเป็นช่อตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกดอกเพียงครั้งเดียวใน 1 ปี คือ เริ่มแทงดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งในช่วงก่อนแทงดอก ต้นมะตูมจะผลิใบร่วงจนหมด หลังจากนั้นค่อยแทงใบอ่อน และช่อดอกออกมา

ผล
ผลมะตูมมีลักษณะเป็นผลกลมรี มีเปลือกมีลักษณะเรียบ เป็นมัน เปลือกหนา และแข็งมาก ผลขณะอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อผลสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง และสุกเต็มที่จะมีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม เนื้อในมีสีเหลืองหรือส้มอมเหลือง มีเมล็ดจำนวนมากเรียงเป็นวงกลมรอบแกนผล โดยผลที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นมะตูมเชื่อมได้ควรมีอายุผลตั้งแต่ 4-7 เดือน และต้องต้องเป็นผลดิบ หากผลมีอายุมากจะทำให้เนื้อเหลว ไม่สามารถเชื่อมเป็นแผ่นในรูปเดิมได้

มะตูม

พันธุ์มะตูม
พันธุ์มะตูมที่พบในไทย และถูกเรียกชื่อเป็นภาษาท้องถิ่น ได้แก่
– มะตูมไข่ มีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดเล็ก ผลมีรูปทรงไข่
– มะตูมนิ่ม มีลักษณะเด่น คือ ผลสุกจะมีเปลือกอ่อนนิ่ม เมื่อใช้นิ้วบีบ เปลือกผลจะยุบตัวบุ๋มได้ง่าย
– มะตูมท้องถิ่น หรือ มะตูมธรรมดา เป็นพันธุ์มะตูมที่พบมากที่สุด มีลักษณะเด่น คือ ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกผลแข็งมาก ผลสุกเนื้อสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม และส่งกลิ่นหอม

สารสำคัญที่พบ
เนื้อผล และเมือกเมล็ดมะตูม
– mucilage
– pectin
– Tannin ให้รสฟาด
– Arginine
– Coumarin
– Volatile oil ทำให้มีกลิ่นหอม

ใบมะตูม
– algelinine
– coumarin

สารที่ให้กลิ่นหอม (Volatile oil)
– Z-linalooloxide มากกว่า 33%
– น้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นๆ

น้ำตาลที่ประกอบด้วยน้ำตาล 3 ชนิด ในอัตราส่วน 2:3:14
– arabinose
– galactose
– glucose

นอกจากนั้น ยังพบกรดอมิโนมากกว่า 17 ชนิด โดยกรดที่พบมาก คือ กรดแอสพาติก พบมากถึง32%

เพิ่มเติมจาก สุนทรี (2525)(1)

ประโยชน์มะตูม
1. ผลดิบอ่อน (รสชาติฝาด ขื่นเล็กน้อย)
– นำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ตามขวาง แล้วตากแห้ง ใช้ต้มน้ำดื่ม และผสมน้ำตาลเล็กน้อย เรียก น้ำมะตูม
– ปอกเปลือก และฝานเป็นแผ่นตามขวางขนาดหนาประมาณ 1 ซม. แล้วนำมาเชื่อม เรียก มะตูมเชื่อม
2. ผลสุก
– เนื้อด้านในมีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม และมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้พื้นบ้าน
– ยางที่หุ้มเมล็ดในผลดิบหรือผลสุกใช้ทำเป็นกาว
3. เปลือกผล
– เปลือกผลดิบ และผลสุกใช้สำหรับต้มย้อมผ้า
4. ยอดอ่อน (รสเผ็ด ฝาดเล็กน้อย)
– ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินกับอาหารประเภทลาบ น้ำตก หรือซุปหน่อไม้
5. เนื้อไม้
– แปรรูปเป็นไม้โครงสร้างก่อสร้างบ้านเรือน
– แปรรูปเป็นเครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์
– แปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับเป็นไม้ตกแต่งต่างๆ

มะตูมแห้ง

คุณค่าทางโภชนาการ (ผลสุก 100 กรัม)
– น้ำ 61.4 กรัม
– เถ้า 1.7 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 34.7 กรัม
– โปรตีน 1.8 กรัม
– ใยอาหาร 2.9 กรัม
– วิตามินเอ 92 มิลลิกรัม
– วิตามินบีหนึ่ง 1.3 มิลลิกรัม
– วิตามินบีสอง 1.19 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 1.1 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 85 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม

ที่มา : กองโภชนาการ (2535)(2)

สรรพคุณมะตูม
ผลดิบ
– ช่วยควบควบคุมระดับน้ำตาล ป้องกันการเป็นโรคเบาหวาน
– รักษาโรคลำไส้อักเสบ
– แก้ท้องเดิน ท้องอืด
– ช่วยขับลม
– แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ
– แก้ไข้หวัด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ลดอาการหอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ
– ช่วยลดอาการไอ ขับเสมหะ
– รักษาน้ำดี กระตุ้นการหลั่งน้ำดี
– แก้ไข้ทรพิษ
– แก้พิษฝี ลดอาการปวดฝี
– แก้หลอดลมอักเสบ
– แก้เยื่อตาอักเสบ
– ช่วยลดความดันโลหิตสูง
– แก้ปัสสาวะขัด
– แก้อาหารไม่ย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร
– ช่วยรักษาอาการอักเสบของแผล ต้านแผลติดเชื้อ
– ใช้ฆ่าพยาธิ
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย
– ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร

ผลสุก
– ช่วยในการทำงานของลำไส้
– ลดอาการหดเกร็งของลำไส้
– รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยระบบขับถ่าย ใช้เป็นยาระบาย
– แก้จุกเสียดแน่นท้อง
– เพิ่มระดับอินซูลิน(insulin)
– ลดระดับไขมันในเส้นเลือด
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการท้องร่วงท้องเสีย
– ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ
– ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวสดใส
– ป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ และกระเพาะอาหาร
– ป้องกันโรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์
– ป้องกันอันตรายของเซลล์ตับจากสารพิษต่างๆ
– ช่วยขับพยาธิ
ใบอ่อน
– ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
– ช่วยฆ่าเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร และลดอาการท้อเสีย
– บรรเทาหลอดลมอักเสบ
– แก้อาการไข้หวัด
– ใบอ่อนนำมาบดผสมน้ำ ใช้พอกรักษาตาอักเสบ บรรเทาอาการตาบวม
เปลือกมะตูม
– นำมาต้มน้ำดื่ม แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ
รากมะตูม
– ช่วยบรรเทาอาการเลือดตกของสตรีหลังคลอด
– แก้หลอดลมอักเสบ บรรเทาอาการไอเป็นเลือด
– แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
– แก้อาการอักเสบหรือเป็นแผลในระบบทางเดินอาหาร

เพิ่มเติมจาก : รุ่งรัตน์ (2540)(3), นิจศิริ (2524)(4)

การปลูก และขยายพันธุ์
ต้นมะตูมจัดเป็นไม้ขนาดใหญ่ ลำต้นสูง 15-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งในช่วงสูง และแตกกิ่งมาก จนแลดูเป็นทรงพุ่มขนาดใหญ่ ปัจจุบัน ไม่ค่อยพบตามบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะยังเหลือตามหัวไร่ปลายนา และตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เมื่อปลูกด้วยเมล็ดแล้วจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี

กล้ามะตูม

ขอบคุณภาพจาก nanagarden.com

มะตูมเป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในดินทุกชนิด แต่เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียวปนทราย ไม่ชอบดินแน่นชื้น และมีน้ำท่วมขัง พบมากในแถบภาคเหนือ และอีสาน

มะตูมตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการขยายพันธุ์ในปัจจุบันก็ยังนิยมวิธีเพาะเมล็ดเช่นกันแต่อาจใช้วิธีอื่นได้ เช่น การเสียบยอด และการตอน

ขั้นตอนการเพาะ
– การเพาะเมล็ดเริ่มด้วยการเลือกผลมะตูมที่สุกเต็มที่ โดยควรเลือกผลที่มีสีเหลืองเข้มที่ร่วงจากต้น
– นำมากะเทาะผล และคัดแยกเอาเมล็ดออก
– นำเมล็ดมาล้างน้ำให้สะอาด และตากแห้ง
– ก่อนปลูก นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 1 วัน หรือแช่ในน้ำอุ่น 10-15 นาที เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกหนา
– นำเมล็ดหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ในพื้นที่ที่ต้องการ หรือ หยอดเมล็ดเพาะในถุงดำ และดูแลจนกว่าต้นกล้าสูงประมาณ 20-30 นาที ก่อนนำลงปลูก
– ฤดูการปลูกควรเป็นช่วงต้นฤดูฝน เพราะต้นกล้าจะเติบโตได้ดี และไม่ต้องดูแลเรื่องการให้น้ำมาก
– การปลูกด้วยการหยอดหลุมหรือจากต้นกล้าที่โตแล้ว หากปลูกหลายต้น ควรมีระยะปลูกประมาณ 10-15 เมตร/ต้น

ระยะการสุกของผล
• เดือนที่ 1 (มิถุนายน) ผลรูปทรงไข่ ผิวเปลือกเขียวเข้ม และอ่อน สามารถฝานได้ง่าย เนื้อไม่มีเมล็ด และมีรสฝาด เมื่อปอกเปลือกทิ้งไว้ เนื้อจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล
• เดือนที่ 2 (กรกฎาคม) ผลรูปทรงไข่ ผิวเปลือกเริ่มเขียวเข้มมากขึ้น เปลือกอ่อน ปอกเปลือก และฝานง่าย เนื้อผลมีสีเหลืองอ่อน และมีเมล็ดขนาดเล็กที่มีเมือกบางๆหุ้มรอบ หากฝานทิ้งไว้จะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล
• เดือนที่ 3 (สิงหาคม) ผลมีรูปทรงกลมขึ้น ผิวเปลือกสีเขียวเข้ม เปลือกจะเริ่มแข็ง แต่ยังปอกได้ ส่วนเนื้อผลมีสีเหลืองอ่อน เมล็ดมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีเมือกหุ้มเมล็ด
• เดือนที่ 4 (กันยายน) ผลมีรูปทรงกลม สีเขียวเข้ม เปลือกแข็งขึ้น แต่ยังใช้มีดปอกได้ ส่วนเนื้อผลออกสีเหลืองอ่อน ติดกันแน่น เมล็ดใหญ่ และเริ่มแข็ง
• เดือนที่ 5 (ตุลาคม) ผลทรงกลม สีเขียว เปลือกแข็ง ปอกยาก เนื้อผลสีเหลืองอ่อน เมล็ดแข็ง เนื้อมีเมือกมาก
• เดือนที่ 6 (พฤศจิกายน) ผลทรงกลม สีเริ่มจางลง เปลือกมีลักษณะแข็งมาก เนื้อด้านในมีสีเหลือง ติดกันแน่น และมีเมือกมาก เมล็ดมีลักษณะแข็งมาก เมล็ดมีขนรอบ
• เดือนที่ 7 (ธันวาคม) ผลกลม เปลือกมีสีเขียวอมเหลือง และแข็งมาก เนื้อสีเหลือง และยังแน่นติดกัน เมล็ดมีขน และแข็งมากมากขึ้น
• เดือนที่ 8-9 (มกราคม-กุมภาพันธ์) คล้ายเดือนธันวาคม
• เดือนที่ 10 (มีนาคม) เป็นระยะสุก ผลมีเหลืองมากขึ้น เปลือกแข็ง และสากมือเล็กน้อย เนื้อผลสีเหลือง เนื้อเริ่มอ่อนนุ่มมากขึ้น และส่งกลิ่นหอม
• เดือนที่ 11 (เมษายน) เป็นระยะสุกเต็มที่ เปลือกสีเหลืองมาก เนื้อเป็นเม็ดทราย เนื้อนุ่มเหลว ส่งกลิ่นหอมแรง

มะตูมสุก

ผลิตภัณฑ์มะตูม
การทำมะตูมแห้ง หากใช้มีดฝานด้วยมือจะทำได้ยากมาก โดยเฉพาะมะตูมที่มีอายุมาก แต่จะใช้มีดหั่นได้หากมะตูมยังมีอายุน้อย ปัจจุบัน จึงใช้วิธีหั่นมะตูมด้วยเครื่องหั่นมะตูมโดยเฉพาะ ซึ่งจะหั่นได้เร็ว และได้แผ่นมะตูมที่สม่ำเสมอกว่าการหั่นมือด้วยมีด

หลังจากหั่นมะตูมได้แล้วจึงค่อยนำแผ่นมะตูมไปตากแดดบนกระด้ง ตะแกรงไม้ หรือ ตะแกรงลวดให้แห้ง ก่อนเก็บบรรจุในถุงพลาสติกไว้

การทำน้ำมะตูม
– นำมะตูมแห้งประมาณ 5 แผ่น มาย่างไฟอ่อนๆ จนแผ่นมะตูมมีสีน้ำตาลอมเหลือง และส่งกลิ่นหอม แต่พึงระวังอย่าย่างให้สุกเกินหรือไหม้ได้
– นำแผ่นมะตูมที่ย่างไฟได้ที่แล้วลงต้มในหม้อที่ใส่น้ำประมาณ 1-2 ลิตร ต้มให้เดือดนาน 5 นาที ก่อนยกลงตั้งทิ้งไว้ให้เย็นลงสักพัก
– หากต้องการหวานมากขึ้น ให้เติมน้ำตาลตามความต้องการ

เอกสารอ้างอิง
1. สุนทรีย์ สิงหบุตรา. 2525. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชีวิต.
2. กองโภชนาการม 2535. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
3. รุ่งรัตน์ เหลืองนทีเทพ, 2540. พืชเครื่องเทศและสมุนไพร.
4. นิจศิริ เรืองรังษี. 2524. พืชสมุนไพร.