Last Updated on 10 สิงหาคม 2021 by puechkaset
มะดัน จัดเป็นไม้ผลที่นิยมนำผล และใบอ่อนมารับประทานสดหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่วนของใบอ่อนที่ใช้สำหรับประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ต้องการรสเปรี้ยวแบบธรรมชาติประเภทต้มส้มหรือต้มยำต่างๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia schomburgkiana pierre
วงศ์ Guttiferae : เป็นวงศ์เดียวกันกับมังคุด
ชื่อท้องถิ่นไทย : มะดัน,ส้มมะดัน, ส้มไม่รู้ถอย
มะดัน เป็นไม้ผลที่พบได้ในทุกภาค แต่พบปลูกมากในภาคกลาง โดยเฉพาะในจังหวัดนครนายก เพื่อจำหน่ายทั้งในรูปมะดันสด และมะดันแปรรูป เช่น มะดันดอง มะดันเชื่อม เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะดันเป็นไม้ยืนตันไม่ผลัดใบ มีลำต้นขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร เนื้อไม้ค่อนข้างเหนียว แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น และแตกกิ่งมากจนมีลักษณะเป็นทรงพุ่มหนา กิ่งมีลักษณะค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ผิวกิ่งค่อนข้างดำ กิ่งสามารถโค้งงอได้ง่าย
ใบ
ใบมะดันออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกเป็นคู่ตรงข้ามกันบนกิ่ง ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร มีรูปร่างค่อนข้างรียาว ปลายใบมน โคนใบสอบ มีแผ่นใบ และขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบมีสีเขียวสดถึงเขียวแก่ตามอายุใบ ใบอ่อนจะแตกออกในช่วงต้นฤดูฝน
ดอก
ดอกมะดันออกเป็นช่อ แทงออกตามง่ามใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก ประกอบด้วยดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศ แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ และตัวดอกที่เป็นกลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกมีสีชมพูอมแดง
ผล และเมล็ด
ผลมะดันมีลักษณะค่อนข้างกลม และยาวรี มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวเปลือกผลมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน เนื้อผลค่อนข้างหนา และมีรสเปรี้ยวจัด ภายในประกอบด้วยเมล็ด 3-4 เมล็ด มีลักษณะกลมรี และส่วนปลายค่อนข้างแหลม เมื่อผลยังอ่อน เมล็ดจะมีสีขาว เมื่อผลแก่ เมล็ดจะมีสีน้ำตาล และแข็ง ติดผลในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
ขอบคุณภาพจาก siamtheguide.com
ประโยชน์ของมะดัน
ลูกมะดัน/ผลมะดัน
– ใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่ให้รสเปรี้ยว
– ใช้ประกอบอาหาร เพื่อให้เกิดรสเปรี้ยวในอาหารประเภทต้มยำต่างๆ เช่น ต้มยำปลาช่อน ต้มแสบ เป็นต้น ซึ่งมะดันนี้จะช่วยลดกลิ่นคาวของเนื้อ และเพิ่มกลิ่นหอม และรสให้แก่อาหารได้
– นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้ อาทิ มะดันเชื่อม มะดันดอง และมะดันตากแห้ง เป็นต้น
– ลูกมะดันสดใช้อมหรือเคี้ยวเพื่อแก้อาการง่วงนอนขณะทำงานหรือขับรถยนต์
ใบมะดัน
– ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมะดัน ใช้รับประทานสดหรือลวกน้ำร้อนเป็นผักกับ หรือจิ้มน้ำพริก
– ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมะดัน ใช้ประกอบอาหารจำพวกแกง และต้มยำต่างๆ โดยช่วยลดกลิ่้นคาว และเพิ่มรสเปรี้ยวของอาหารได้เล็กน้อย
คุณค่าทางโภชนาการของใบมะดันอ่อน (100 กรัม)
– คาร์โบไฮเดรต : 7.3 กรัม
– โปรตีน : 0.3 กรัม
– ไขมัน : 0.1 กรัม
– เส้นใย : ไม่พบ
– แคลเซียม : 103.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 8.0 มิลลิกรัม
– เหล็ก : ไม่พบ
– วิตามิน A (Carotene) : 225.0 มิลลิกรัม
– วิตามิน B (Thiamine) : 0.01 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 (Riboflavin) : 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามิน B5 (niacin) : 0.02 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 16.0 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของลูกมะดัน (100 กรัม)
– คาร์โบไฮเดรต : 6.5 กรัม
– โปรตีน : 0.3 กรัม
– ไขมัน : 0.1 กรัม
– เส้นใย : 0.4 กรัม
– แคลเซียม : 17.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 7.0 มิลลิกรัม
– เหล็ก : ไม่พบ
– วิตามิน A (Carotene) : 431.0 มิลลิกรัม
– วิตามิน B (Thiamine) : ไม่พบ
– วิตามิน B2 (Riboflavin) : 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามิน B5 (niacin) : ไม่พบ
– วิตามิน C : 5.0 มิลลิกรัม
ที่มา : Subhadrabandhu (2001)(2)
สารสำคัญที่พบ
สารสำคัญที่พบในลูกมะดัน ได้แก่ diphenyl compound, garcinone B,3-O-methyl และสารหลายชนิดในกลุ่ม xanthone ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอกได้ และสารสำคัญที่ทำให้เกิดรสเปรี้ยว คือ hydroxycitric acid (HCA)
สรรพคุณมะดัน
ทั้งลูกมะดันหรือผลมะดัน และใบมะดันมีสรรพคุณหลายด้านด้วยกัน อาทิ
– ช่วย และกระตุ้นการขับถ่าย
– แก้อาการเจ็บคอ และขับเสมหะ
– ช่วยบรรเทาอาการเป็นหวัด
– ช่วยลดอาการน้ำลายเหนียว
– แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ช่วยในการฟอกเลือด
– ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
– ช่วยในการขับปัสสาวะ
– ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร ทำให้เจริญอาหาร
– ช่วยกระตุ้นระบบการย่อย เพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะิอาหาร
– ช่วยระงับกลิ่นปาก จากความเปรี้ยวที่สามารถต้านเชื้อจุลินทรีย์ในปากได้
– ความเปรี้ยวของลูกมะดันมีสรรพคุณกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท แก้อาการง่วงนอน
รากมะดัน
– ใช้เป็นยาระบาย
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
เพิ่มเติมจาก พรพิมล เลิศพานิช, (2548)(1)
การปลูกมะดัน
การปลูก และขยายพันธุ์มะดัน นิยมทำกันด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง การเพาะทั่วไปมักใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มักพบต้นกล้าที่ได้จากการตอนกิ่งมากตามร้านขายกล้าไม้
มะดัน เป็นไม้ที่ค่อนข้างชอบดินชุ่มชื้น จึงควรปลูกใกล้แหล่งน้ำหรือบริเวณดินที่ค่อนข้างชื้นตลอดจึงจะให้ใบ และผลที่ดก
เอกสารอ้างอิง