Last Updated on 13 มิถุนายน 2016 by puechkaset
มะขามหวาน (Sweet Tamarind) เป็นมะขามที่เนื้อมีรสหวาน นิยมนำผลสุกมารับประทานเป็นหลัก นอกจากนั้น ผลดิบ และยอดอ่อนที่มีรสเปรี้ยวยังนิยมใช้ใส่ในอาหารประเภทต้มยำเหมือนกับมะขาม เปรี้ยวเพื่อให้รสเปรี้ยว
อนุกรมวิธาน
• Class : Dicotyledonae
• Order : Leguminales
• Family : Leguminosae
• Genus : Tamarindus
• Species : Indica
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (เหมือนกับมะขามเปรี้ยว)
ลำต้น
มะขามหวาน เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ซึ่งต้นมะขามหวานปัจจุบันที่ปลูกจะนิยมจากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด ทำให้ลำต้นมีขนาดเล็ก และมีความสูงน้อย ลำต้นทั่วไปจะแตกกิ่งปานกลาง มีทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมดำ มีร่องแตกตามแนวยาวของความสูงลำต้น
ใบ
มะขามเหวานเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ชนิดใบประกอบแบบใบคู่ ที่มีใบย่อยออกเป็นคู่ๆบนก้านใบหลัก ประมาณ 10-20 คู่ โดยใบสุดท้ายจะเป็นใบคู่ แต่ละใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวสด แผ่นใบเรียบ เป็นมันเล็กน้อย ใบจะเริ่มร่วงประมาณเดือนธันวาคม และจะแตกใบใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
ดอก
ดอกมะขามหวาน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ แทงออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง จำนวนดอก/ช่อประมาณ 10-20 ดอก ดอกลักษณะสีเหลืองอมขาว โคนกลีบดอกมีประสีแดง ด้านในมีเกสรตัวผู้ 5 และรังไข่ที่ฐานดอก โดยจะแทงช่อดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บผลแก่ได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
ผล และเมล็ด
ผลมะขามหวาน จะเรียกว่า ฝัก มีลักษณะหลายแบบ อาทิ ฝักแบนโค้งงอเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือ ฝักตรงดิ่ง เป็นต้น เปลือกฝักที่ยังดับมีสีเขียว เริ่มแก่หรือห่ามมีสีน้ำตาลซึ่งระยะนี้ เปลือกฝักจะยังติดอยู่กับเนื้อฝัก แกะแยกออกยาก และเมื่อสุกเต็มที่เปลือกจะยังมีสีน้ำตาลเหมือนเดิม แต่เนื้อจะแยกตัวออกจากฝัก เมื่อเคาะจะมีเสียงดังก้อง รู้สึกได้ว่ามีอากาศอยู่บริเวณเปลือกฝัก
เนื้อ มะขามหวานที่ยังดิบนั้นจะมีรสเปรี้ยว เมื่อฝักห่ามจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน และเมื่อสุกเต็มที่จะมีรสหวานเพียงอย่างเดียว และจะหวานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ นอกจากนนี้ เนื้อฝักที่สุกเต็มที่ยังมีความแตกต่างทางด้านสี อาทิ พันธุ์สีทองจะมีเนื้อสีน้ำตาลอมทอง ส่วนพันธุ์สีชมพูจะมีเนื้อสีน้ำตาลอมชมพู
เมล็ดมะขามหวานมีลักษณะแปร เปลี่ยนไปตามลักษณะฝัก คือ หากฝักค่อนข้างแบน เมล็ดจะค่อนข้างแบน หากฝักค่อนข้างกลม เมล็ดจะค่อนข้างกลมไปด้วย โดยเมล็ดมะขามหวานนั้นก็เหมือนกับเมล็ดมะขามเปรี้ยวที่มีร่องแบ่งเป็น 2 ซีก ตรงกลาง แต่แข็งติดกันแน่น มีเปลือกเมล็ดสีน้ำตาลอมดำ เนื้อภายในมีสีขาวนวล ซึ่งเมล็ดนี้นิยมนำมาคั่วไฟอ่อนสำหรับเคี้ยวเป็นอาหารว่าง
พันธุ์มะขามหวาน
มะขามหวานดั้งเดิมเป็นมะขามหวาน และมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Tamarindus Indica Linn. พันธุ์มะขามหวานที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่
พันธุ์มะขามหวานตามอายุการเก็บเกี่ยว
1. พันธุ์เบา เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่นๆ มีช่วงการเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-มกราคม ได้แก่
– พันธุ์น้ำผึ้ง
– พันธุ์สีชมพู
– พันธุ์ประกายทอง (ตาแป๊ะ)
2. พันธุ์กลาง เป็นพันธุ์ที่แก่ และให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์เบาประมาณ 7 – 15 วัน ได้แก่
– พันธุ์อินทผาลัม
– พันธุ์ขันตี
3. พันธุ์หนัก เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะมีระยะเจริญของผลนาน โดยจะเก็บผลได้ประมาณปลายเดือนมกราคม ได้แก่
– พันธุ์สีทอง (นายหยัด)
– พันธุ์หมื่นจง
– พันธุ์เพชรเกษตร
พันธุ์สีชมพู
พันธุ์สีทอง
ลักษณะฝักมะขามหวาน
1. ฝักดิ่งหรือฝักตรง ฝักประเภทนี้ มีรูปร่างเหยียดตรง ฝักไม่โค้งงอ เช่น พันธุ์ขันตี
2. ฝักดาบ ฝักประเภทนี้ มีรูปร่างคล้ายฝักดิ่ง แต่ฝักจะเอนโค้งเล็กน้อยคล้ายรูปดาบ ฝักอาจกลมหรือแบน เช่น พันธุ์อินทผาลัม
3. ฝักฆ้องหรือโค้ง ฝักประเภทนี้ มีมีรูปร่างโค้งงอ และมีความยาวมากกว่าฝักทุกประเภท ลักษณะของการโค้งจะโค้งงอมากจนเกือบเป็นวงกลม เช่น พันธุ์สีทอง และพันธุ์น้ำผึ้ง
ประโยชน์มะขามหวาน
1. มะขามหวานนำมารับประทานเป็นผลไม้ มีเนื้อหนา เนื้อมีรสหวาน
2. ผลดิบมะขามหวานมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะขามเปรี้ยว แต่เปรี้ยวน้อยกว่า นิยมใช้ใส่ในอาหารประเภทต้มยำเพื่อให้รสเปรี้ยวคล้ายกับมะขามเปรี้ยว และยังช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อได้ดี
3. ผลดิบมะขามหวานนำมารับประทานสด ให้รสเปรี้ยวเช่นกับมะขามเปรี้ยว
4. มะขามหวานสุกนำมาแปรูปเป็นไวน์มะขาม มะขามกวน และซอสมะขาม เป็นต้น
5. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนเด็ดมาเป็นมัดรวมกัน ใช้สำหรับขัดถูเครื่องเรือนโลหะ ช่วยในการขจัดคราบโลหะทำให้โลหะใสขึ้น โดยเฉพาะโลหะทองเหลือง และทองแดง
6. ใบ และผลนำมาขยำ ใช้ล้างทำความสะอาดจาน ชามได้ดี
7. ใบแก่นำมาต้มย้อมผ้า ซึ่งให้สีเขียวขี้ม้า
8. เปลือกมะขามหวานที่แกะออกแล้ว นำมาทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กสำหรับผสมกับยาสูบ
9. เมล็ดดิบมะขามหวานมีรสฝาด นำมาคั่วไฟให้สุก เนื้อเมล็ดมีกลิ่นหอมใช้รับประทานเป็นของหวานของเคี้ยวเล่น แต่เมล็ดค่อนข้างแข็ง ต้องเคี้ยวหลังจากคั่วใหม่ๆจะเคี้ยวง่าย ทั้งนี้ ควรระวังการรับประทานเมล็ดดิบ หากรับประทานมากจะทำให้ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เพราะเมล็ดดิบมีรสฝาด มีความเป็นด่างมาก ทำให้ต้านการย่อยอาหารของน้ำย่อย
10. เนื้อเมล็ดสีขาวนวลนำมาบดเป็นแป้งสำหรับต้มใช้ทำกาว ซึ่งจะให้เนื้อกาวที่เหนียวมาก
11. แป้งจากเมล็ดมะขาม ใช้ประกอบอาหารแทนแป้งข้าวต่างๆ รวมถึงใช้แทนแป้งในโรงงานทอผ้าหรือพิมพ์ผ้าดอกได้ด้วย
12. เมล็ดสามารถนำมาสกัดน้ำมัน ใช้หุงหาอาหารแทนน้ำมันพืชชนิดอื่นได้ดี
13. น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะขามใช้เป็นน้ำมันขัดเงา น้ำมันผสมสีทาบ้าน รวมถึงใช้เป็นน้ำมันสำหรับจุดตะเกียงได้ด้วย
14. น้ำมันเมล็ดมะขามใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง รวมถึงใช้สำหรับชโลมผม ช่วยให้ผมดกดำ และจัดทรงง่าย
15. เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ ใช้สกัดเป็นสีผสมอาหาร
16. เปลือกเมล็ดใช้ต้มย้อมผ้า ย้อมแห ซึ่งให้สีน้ำตาลดำ
17. แก่นมะขามหวาน ใช้เลื่อยมาทำเขียงได้ แต่ไม่นิยมเท่ามะขามเปรี้ยว
18. ไม้มะขามหวานหลังจากตัดต้นทิ้งนำมาเผาถ่านจำหน่ายสร้างรายได้อีกทาง
19. ลำต้นเลื่อยแปรเป็นไม้ปูพื้น แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์
20. เปลือก และเนื้อไม้ใช้ขัดเครื่องเรือนโลหะเหมือนกับใบอ่อนข้างต้น
21. ลำต้น และกิ่งขนาดเล็กใช้เป็นฟืนหุงต้มอาหาร
22. ต้นมะขามหวานตามแปลงปลูกหรือตามหัวไร่ปลายนา ถือเป็นผลพลอยได้ที่สัตว์ป่าจะได้รับประโยชน์สำหรับเป็นอาหาร เช่น กระรอก กระแต เป็นต้น
สรรพคุณมะขามหวาน
ใบ และผลดิบ
– ใบ และผลดิบมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด อาทิ กรดเอลลาจิก ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก และออกฤทธิ์ทางยาในหลายด้าน อาทิ การป้องกันการเกิดมะเร็ง
– สารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติป้องกันการเสื่อมของเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานได้ยืนยาว ผิวพรรณแลดูสดใส และดูอ่อนกว่าวัย
– สารต้านอนุมูลอิสระช่วยในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ป้องกันเซลล์อวัยวะภายในถูกทำลาย โดยเฉพาะการป้องกันเซลล์ของตับ และไต
– วิตามินต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินซี และวิตามินอี ทำหน้าที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
– ช่วยลดไขมันสะสมในเส้นเลือด ป้องกันความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดในสมอง
– ช่วยบรรเทาอาการหวัด อาการเป็นไข้
– น้ำต้มจากใบหรือผลดิบ ช่วยลดอาการอักเสบในลำคอ
– ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดอาการเหน็บชา อาการเกร็งของแขนขา
– ทั้งสองนำมาบดผสมน้ำ และปูนแดงเล็กน้อย ก่อนนำมาฟอกรักษาฝี
– นำใบอ่อนมาบดหรือขยำให้ละเอียดจนซึมน้ำ ก่อนประคบบนแผลแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดอาการบวมได้
– ช่วยเป็นยาระบาย ทำให้ถ่ายได้ง่ายขึ้น
– นำใบอ่อนมาขยำ ใช่สระผมร่วมกับแชมพู สำหรับรักษาอาการคันจากรังแค จากเชื้อราหรือโรคผิวหนัง
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– น้ำต้มจากทั้งสองอย่างช่วยรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
– ทั้งสองใช้รับประทานสด แก้อาการเมารถ เมาเรือ
ผลสุก
– บรรเทาอาการโรคเบาหวานชนิดน้ำตาลในเลือดน้อย
– ช่วยในการสมาน และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย เพราะถือเป็นอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูง
เมล็ด
– เมล็ดดิบรับประทาน รักษาอาการท้องเสีย แต่ไม่ควรรับประทานมาก เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– นำทั้งเมล็ดมาฝน และผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำทาหรือประคบที่แผล ทั้งแลสด แผลเป็นหนอง ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– การเคี้ยวเมล็ดดิบพร้อมเปลือก ซึ่งควรตำหรือบดก่อนจะช่วยรักษาแผลในช่องปาก ลดอาการอักเสบของแผล ออกฤทธิ์คล้ายกับยาทาแผลในปาก
ราก เปลือกลำต้น และแก่น
– น้ำต้มดื่มสำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย
– น้ำต้มนำมาดื่ม ช่วยลดจำนวนพยาธิ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– รักษาโรคผิวหนัง อาการคันจากเชื้อรา
– นำเปลือกมาฝนหรือตำบด แล้วผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้ประคบรักษาแผล
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะขามหวาน
– มะขามดอง (ใช้ผลดิบ แต่ไม่นิยมนักเพราะหากรอให้สุกจะทำเงินดีกว่า)
– มะขามแช่อิ่ม (ไม่นิยมนัก เหมือนกับมะขามดอง)
– มะขามกวน
– ไวน์มะขาม
การปลูกมะขามหวาน
การปลูกมะขามหวาน ปัจจุบันนิยมใช้ต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และการต่อยอด เพราะจะได้ลักษณะฝักตามพันธุ์จากต้นแม่ ฝักไม่เปลี่ยนแปลง และหากปลูกด้วยเมล็ดจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นมะขามเปรี้ยวได้สูง
การเตรียมแปลง
สำหรับการปลูกครั้งแรก ให้ทำการไถกลบหน้าดิน แล้วตากดิน นาน 5-10 วัน พร้อมกำจัดหญ้าเสียก่อน 2 ครั้ง หลังจากนั้น ทำการขุดหลุมปลูกในระยะ 8-12 x 8-12 เมตร ขนาดหลุมกว้าง ยาว และลึกที่ 50 เซนติเมตร ทั้งนี้ ให้ขุดหลุมในแนวยาวที่ขวางดวงอาทิตย์
– พันธุ์ทรงพุ่มแคบ อาทิ พันธุ์สีชมพู พันธุ์อินทผาลัม ใช้ระยะปลูกที่ 8 x 8 เมตร
– พันธุ์ทรงพุ่มใหญ่ อาทิ พันธุ์หมื่นจง พันธุ์สีทอง ใช้ระยะปลูกที่ 12 x 12 เมตร
– พันธุ์ทรงพุ่มปานกลาง อาทิ พันธุ์ขันตี พันธุ์น้ำผึ้ง ใช้ระยะปลูกที่ 10 x 10 เมตร
การปลูก
การปลูกนั้น ควรปลูกในช่วงต้นฝน คือ ประมาณเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ต้นสามารถตั้งตัวได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องการให้น้ำ และการจัดการ
ขั้นตอนการปลูกนั้น เริ่มจาก หว่านโรยปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมี อัตราปุ๋ยคอกที่ 0.5-1 กิโลกรัม/หลุม ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ 2 กำมือ/หลุม พร้อมโกนหน้าดินลงคลุกผสมเล็กน้อย นอกจากนั้น เกษตรกรบางรายยังใช้กาบมะพร้าววางทับไว้ก้นหลุมก่อนด้วย เพราะกาบมะพร้าวจะช่วยดูดซับไว้ได้ดี หลังจากนั้น นำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบเพียงเสมอปากหลุม และนำฟางข้าวหรือใบไม้หรือเศษปุ๋ยหมักวางทับรอบโคนต้น แต่หากไม่มีไม่เป็นไร และใช้ไม้ไผ่ปักเป็นหลักลงด้านข้างลำต้น พร้อมรัดด้วยเชือกฟางกับต้นพันธุ์ไว้
ทั้งนี้ หลังการปลูก หากปลูกช่วงต้นฤดูฝนก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะดินมักชุ่มอยู่แล้ว เพียงรอฝนตกหลังปลูกก็เพียงพอให้ต้นตั้งตัวได้ ส่วนการลงต้นพันธุ์ในตอนปลูก หากดินในถุงหลอม ให้บีบถุงให้ดินในถุงอัดตัวกันดีก่อน จึงค่อยใช้ไกรกรรตัดถุงพลาสติกออก
การให้น้ำ
หลังจากปลูกเสร็จใหม่ หากไม่มีฝนตกนานหลายวัน ให้รดน้ำ3-5 วัน/ครั้ง แต่หากฝนตกสม่ำเสมอก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ และเมื่อต้นมีอายุตั้งแต่ 1 ปี ไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำแล้ว หรือ อาจให้เมื่อไม่มีฝนตกนาน ดินมีสภาพแห้งจัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งในเดือนมีนาคม-เมษายน
สำหรับ แปลงที่มีต้นมะขามอายุ 3-5 ปี ที่เริ่มติดดอกแล้ว ในช่วงติดดอกนี้ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และต้องให้ในปริมาณเท่ากันตลอด ไม่ควรให้น้ำมาก เพราะดอกจะร่วงได้ง่าย และควรให้น้ำต่อเนื่องจนกว่าฝักมะขามจะเริ่มแก่ที่เห็นอวบ และฝักมีสีน้ำตาลแล้ว หลังจากนี้ ค่อยหยุดการให้น้ำโดยเด็ดขาด และหลังจากที่เก็บผลแล้ว ไม่ต้องให้น้ำ เพียงปล่อยให้ต้นมะขามผลิใบ และเมื่อเริ่มแตกใบใหม่ค่อยกลับมาให้น้ำอีกครั้ง
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยมะขามหวานั้น ในช่วง 1-2 ปีแรกควรเน้นให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือวัสดุทางการเกษตร เช่น เศษใบไม้ เป็นต้น โดยให้ปีละ 3-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 1 ถังเล็ก/ต้น และอาจให้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยในสูตร 12-6-6 หรือสูตรอื่นที่มีไนโตรเจนสูง อัตราการให้ที่ 100-200 กรัม/ต้น แบ่งให้ 2 ครั้ง/ปี คือช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน
สำหรับแปลงที่ปลูกแล้ว 3-5 ปี ที่เริ่มติดผลเป็นครั้งแรก ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 แบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี ในอัตราเท่าเดิม โดยให้ใส่ก่อนหรือในระยะออกดอก และอีกครั้งหลังจากที่เริ่มแตกใบใหม่ แต่อย่าลืมพร้อมใส่ปุ๋ยคอกหรือวัสดุอินทรีย์ร่วมด้วยในอัตราที่กล่าวมาแล้ว
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งมะขามหวานนั้น จะเริ่มตัดตั้งแต่ปลูกไปแล้ว 6 เดือน และตัดแต่งกิ่งตลอดจนถึงปีที่เริ่มติดผลในครั้งแรก การตัดแต่งกิ่งนั้น มีวัตถุประสงค์หลายด้าน อาทิ เพื่อให้ลำต้นมีโครงสร้างใหญ่ เพื่อป้องกันโรคแมลง เพื่อให้ต้นติดดอกติดผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลำต้นแต่ละต้นมีระยะห่างที่เหมาะสม เป็นต้น
การตัดแต่งกิ่งนั้น จะเลือกตัดกิ่งขนาดเล็กออก และปล่อยกิ่งที่แข็งแรงไว้ แต่จะตัดทุกปลายกิ่งที่ยื่นยาวกว่าปกติ นอกจากนั้น จะเลือกตัดกิ่งที่กางออกในมุมแคบออก และปล่อยกิ่งที่กางในมุมกว้างไว้
การกำจัดวัชพืช แมลง และโรคมะขามหวาน
หลังจากการปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน ให้มั่นถากกำจัดวัชพืชออกเป็นประจำ อาจเป็น 3-5 ครั้ง/ปี เฉพาะในปีแรก และปีต่อไปอาจใช้วิธีการไถด้วยรถกลบหน้าดิน ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลง
สำหรับ โรคมะขามหวานที่สำคัญ คือ โรคราแป้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดๆสีขาวบนใบ และยอด ทำให้ใบร่วง ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน สำหรับการกำจัดนั้น ทำได้โดยใช้ยาเบนเลทที่ 10-20 กรัม ละลายในน้ำประมาณ 20 ลิตร ฉีดพ่น 5-7 วัน หลังจากที่เริ่มพบอาการของโรค
ผลผลิต
มะขามหวาน นิยมให้ต้นติดผล และให้ผลผลิตหลังจากการปลูกแล้วประมาณเข้าปีที่ 4 และจะให้ผลผลิตได้นานถึง 30 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา มีระยะการออกดอกถึงดอกบานประมาณ 20 วัน และหลังจากนั้นประมาณ 8 เดือน จึงให้ผลผลิต ซึ่งฝักจะแก่พร้อมเก็บได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก ดังที่กล่าวข้างต้น
การรักษาฝักมะขามหวาน
นำฝักมะขามหวานไปผึ่งลมซึ่งต้องอยู่ในที่ร่มตามระยะเวลา คือ
– ผึ่งนาน 2-5 วัน จะเก็บได้นาน 20-30 วัน
– ผึ่งนาน 10-15 วัน จะเก็บได้นาน 30-60 วัน
การ ตรวจสอบว่าฝักมะขามหวานแห้งได้ที่หรือยัง ให้นำฝักมะขามหวานประมาณครึ่งกิโลกรัมมาใส่ถุง และรัดปากถุงให้สนิท และทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน แล้วสังเกต หากมีไอน้ำที่เป็นฝ้าหรือหยดน้ำเกาะตามปากถุงแสดงว่าฝักมะขามหวานชุดนั้น ยังแห้งไม่สนิท ให้ผึ่งลมต่อ แต่หากไม่มีไอน้ำก็แสดงว่าแห้งได้ที่แล้ว