มะขวิด(Wood Apple) ประโยชน์ และสรรพคุณมะขวิด

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

มะขวิด (Wood Apple) จัดเป็นผลไม้ป่าพื้นบ้านที่นิยมปลูกเพื่อรับประทานผล และปลูกเพื่อให้ร่มเงาในบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการ เพราะผลสุกมีเนื้อหอมหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้หรือนำมาแปรรูป ส่วนลำต้นมีทรงพุ่มใหญ่ แตกใบดก ใบมีสีเขียวสวยงาม จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาอีกประการ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Feronia limonia (L.) Swingle
• ชื่อพ้อง : Feronia elephantum Corr.
• วงศ์ : Rutaceae
• ภาษาอังกฤษ :
– Limonia
– Curd Fruit
– Elephant Apple
– Gelingga, Kavath
– Monkey Fruit
– Wood Apple
• ชื่อท้องถิ่น :
– มะขวิด (ภาคกลาง และทั่วไป)
– มะฝิด (ภาคเหนือ)

ลูกมะขวิด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะขวิดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นมีความสูง 6 – 15 เมตร หรือมากกว่า ลำต้นตั้งตรง ชะลูด แตกกิ่งบริเวณส่วนปลายของลำต้น ผิวเปลือกลำต้นขรุขระ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ สีเปลือกลำต้นที่เล็กมีสีเทาน้ำตาล ส่วนเปลือกต้นโตเต็มที่จะมีสีน้ำตาลอมเทา

ใบมะขวิด
ใบมะขวิดเป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดใบเดี่ยว (ใบสุดท้ายมีใบเดียว) ใบแทงออกบริเวณตาใบที่กิ่ง ประกอบด้วยก้านใบหลักที่มีก้านใบย่อย 2-5 ก้าน แต่ละก้านแตกออกชิดกันเป็นกระจุก แต่ละก้านมีใบย่อยออกเป็นคู่ๆ 2-3 คู่ ตรงข้ามกัน และปลายก้านออกเป็นใบเดี่ยว รวมเป็นใบ 5 หรือ 7 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดเล็ก โคนใบเรียวเล็ก ใบกว้าง 0.5-1 ซม. ยาวประมาณ 1.5-4.5 ซม. ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างหนา และเหนียว มีเส้นกลางใบมองเห็นชัดเจน บริเวณขอบใบมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่ว

ดอกมะขวิด
ดอกมะขวิดออกแบบเป็นช่อ แทงออกบริเวณปลายกิ่งที่ซอกใบ ดอกแบ่งเป็นดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ที่ซึ่งอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกประกอบด้วยกลีบดอกด้านนอกที่มีสีเหลืองแกมเขียว และก้านเกสรด้านในที่มีเหลืองอมสีแดง

ดอกมะขวิด

ผล/ลูกมะขวิด
ผล/ลูกมะขวิดมีลักษณะกลม ขนาดผลประมาณ 8-12 ซม. ผลดิบมีเปลือกสีขาวเทา เมื่อสุกเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเทาแกมน้ำตาล เปลือกผิวมีลักษณะเป็นขุ๋ยสะเก็ดเล็กๆ มีลักษณะสากมือ เปลือกผลแก่มีลักษณะแข็ง และหนา ต้องจับทุบพื้นหรือใช้ค้อนทุบจึงจะแตก เนื้อผลด้านในของผลดิบจะมีสีขาว แต่เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลอมดำ เนื้อเป็นทรายแป้ง เหนียวเป็นก้อนติดกัน และส่งกลิ่นหอม เนื้อนี้นิยมนำมารับประทานสดหรือใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ภายในเนื้อมีเมล็ดแทรก เมล็ดมีขนาด 0.5-0.7 ซม. ผิวเมล็ดมีสีน้ำตาล และมีเส้นใยหุ้มประปราย

ลูกมะขวิดสุก

ประโยชน์มะขวิด
1. ใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา ทั้งตามบ้านเรือน และที่สาธารณะ
2. ผลดิบ นำมาฝาน และตากแห้งสำหรับใช้ต้มทำน้ำผลไม้ หรือ น้ำมะขวิด
3. ผลสุก ใช้รับประทานเป็นผลไม้ โดยรับประทานเนื้อด้านในที่มีลักษณะสีเทาดำ เนื้อเป็นทรายแป้ง ให้รสหวาน และส่งกลิ่นหอม
4. เนื้อของผลสุกนำมาแยกเมล็ดออก แล้วนำมากวนเพิ่มน้ำตาลเล็กน้อย
5. เมล็ดนำมาคั่วสำหรับแทะรับประทานเนื้อด้านใน
6. เนื้อผลสุกนำมาผสมกับขนมปังสำหรับใช้ทำเหยื่อตกปลา เนื่องจากเนื้อมีกลิ่นหอม เนื้อเหนียวจับตัวเป็นก้อนได้ดี และละลายหรือแตกยุ่ยได้ช้าเมื่ออยู่ในน้ำ
7. ยางของผลดิบใช้ทำเป็นกาวติดกระดาษ
8. เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ตกแต่ง เช่น ไม้ฝ้า ไม้บันได หรือ แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์
9. ผลสุก เมื่ออยู่บนต้นหรือร่วงลงดินจะกลายเป็นอาหารแก่สัตว์ป่า อาทิ ลิง กระรอก และหมูป่า เป็นต้น
10. ต้นกล้ามะขวิดนิยมใต้เป็นต้นตอสำหรับการเสียบยอดมะนาวหรือส้มโอ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะใช้เป็นต้นตอเสียบยอดมะนาว เนื่องจากจะได้ลำต้นที่ใหญ่ และแข็งแรง ทำให้ช่วยค้ำกิ่งมะนาวได้ดีกว่าต้นมะนาวแท้ เพราะต้นจากมะนาวแท้จะโน้มหักได้ง่ายหากมีการแตกกิ่ง แกละติดผลจำนวนมาก นอกจากนั้น ลำต้นด้านล่างที่เป็นต้นมะขวิดที่มีขนาดใหญ่จะช่วยดูดธาตุอาหารมาเลี้ยงลำต้นมะนาวได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับลำต้นมะนาวแท้

กล้ามะขวิด

สาระสำคัญที่พบ
– β-amryin
– Cis-anethol
– Trans-anethol
– Anisaldehyde
– Aurapten
– Bergamotene
– Bergapten
– Borneol
– Campestenol
– Chavicol
– Coumarin
– P-cymene
– Estragole
– Eugenol
– Fenchone
– Fernolin
– Feronolide
– Imperatorin
– α &β-pinene
– Linolenic acid
– Linoleic acid
– Sapinarin
– Stearic acid
– Dihydroxy
– Stigmasterol
– Thymol
– Viterin
– Vitexin

ที่มา : นันทวัน และอรนุช (2542)(1)

สรรพคุณมะขวิด
1. ราก นำมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยขับปัสสาวะ
2. รากนำมาฝนผสมน้ำใช้ทาภายนอก
– ทารักษาแผล ช่วยให้แผลแห้งเร็ว
3. เปลือก และแก่นลำต้น นำมาต้มน้ำดื่ม
– สามารถแก้บวม
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ช่วยรักษาอาการบวมช้ำ
– ช่วยรักษาอาการท้องเสีย
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
4. ใบนำมาต้มน้ำดื่มหรือใช้อาบ น้ำต้มที่ได้จะมีรสฝาด
– ใช้รักษาอาการฟกช้ำ
– ใช้แก้อาการท้องร่วง
– ห้ามโลหิตระดูสตรี
– ช่วยในการขับลม
– ช่วยสมานแผล ทำให้แผลแห้ง
– ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
– ใช้รักษาอาการผื่นแพ้ทางผิวหนัง
5. เปลือกลำต้น และใบ นำมาบดใช้ทาภายนอก
– ใช้ทารักษาแผลเป็นหนอง ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– ใช้ทารักษาอาการผื่นคันจากใบพืช อาการผื่นคันจากการแพ้อากาศ
6. ดอก นำมาตากแห้ง และต้มน้ำดื่ม
– แก้ลงท้อง
– แก้ฝีเปื่อยพัง
– แก้บวม
– แก้ตัวพยาธิ
– แก้ตกโลหิต
7. ผลดิบ นำมาฝานเป็นแผ่นบางๆตากแดด แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม
– ใช้แก้อาการปวดบวม
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้ตกโลหิต
– ช่วยเจริญอาหาร
– บรรเทาอาการโรคท้องเสีย และรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารอื่นๆ
– รักษาโรคลักปิด-ลักเปิด
8. ยางจากผลดิบ
– ใช้ทารักษาแผล ช่วยให้แผลแห้งเร็ว
– ใช้ทาแผลสด ช่วยในการห้ามเลือด และต้านเชื้อจุลินทรีย์
9. ผลสุก
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย กระตุ้นการหดตัวของลำไส้
– รักษาโรคลักปิด-ลักเปิด

เพิ่มเติมจาก : สานักงานข้อมูลสมุนไพร : (2542)(2), จันทิมา (2557)(3)

เอกสารอ้างอิง
untitled