Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
มะกอกป่า หรือ นิยมเรียกว่า มะกอก (Hog plum) ถือเป็นผลไม้ป่าที่นิยมอย่างมากสำหรับเมนูที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยเฉพาะส้มตำ ต้มยำ ยำหรือก้อยต่างๆ เพราะให้รสเปรี้ยวพอเหมาะ อีกทั้งมีรสหวาน กระตุ้นน้ำลาย และการยากอาหารได้อย่างดี
• วงศ์ : ANACARDIACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata Kurz.
• ชื่อสามัญ : Hog plum, Wild Mango
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– มะกอก
– มะกอกป่า
– มะกอกไทย
– กราไพ้ย ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ภาคเหนือ
– กูก กอกกุก (เชียงราย)
– ไพแซ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
– กอกหมอง (ชาน)
ภาคอีสาน
– มะกอก/หมากกอก
ภาคใต้
– กอกเขา (นครศรีธรรมราช)
ที่มา : [1] อ้างถึงใน (Burkill, 1996; เต็ม 2523), [2]
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะกอกป่า มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น ที่ระดับประมาณ 50–500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล [2]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะกอกป่าเป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ แตกกิ่งน้อย ทรงพุ่มมีลักษณะทรงกลม ทรงพุ่มหนาหลังการแตกใบใหม่ช่วงฤดูฝน ส่วนหน้าแล้งจะทิ้งใบจนเหลือแต่กิ่งก้าน ลำต้นมีลักษณะทรงกลม และตั้งตรง สูงประมาณ 15-25 เมตร หรือมากกว่า เปลือกลำต้นหนา มีสีเทาอมน้ำตาลหรือสีเทาอมดำ บางต้นอาจพบราสีขาวเจริญบนเปลือก เปลือกลำต้นอาจเรียบหรือแตกสะเก็ด ขึ้นอยู่กับอายุ ต้นที่อายุมากจะแตกสะเก็ดที่ผิวลำต้น เปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอมชมพู ส่วนแก่นไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน
ใบ
ใบมะกอก เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว แบบปลายใบคี่ มีก้านใบหลักออกเรียงเวียนสลับกัน ก้านใบหลักยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีใบย่อยที่เรียงตรงข้ามกัน 4-6 คู่ และใบย่อยเดี่ยวบริเวณปลายใบ 1 ใบ รวมเป็น 9-13 ใบ
ใบย่อยแต่ละใบมีรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา และหยาบ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร มีก้านใบสั้น ประมาณ 0.2-0.8 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบ และแผ่นใบเรียบ แต่ขอบใบจะเรียบไม่สม่ำเสมอกัน แผ่นใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน แผ่นใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเข้ม สีส้ม สีเขียวอมส้ม จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุ
ดอก
ดอกมะกอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง เป็นดอกแยกเพศบนช่อดอกเดียวกัน ช่อดอกหลักแตกแขนงออกเป็นช่อย่อย บนช่อย่อยมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกอ่อนมีลักษณะกลมสีเขียวสด เมื่อบานจะมีสีขาวอมครีม ฐานดกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกถัดมามี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปรี ปลายกลีบแหลม ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่แยกดอกกัน หรืออยู่ร่วมกันแต่เกสรอีกชนิดเป็นหมัน เกสรตัวเมียปลายแยกเป็น 4 แฉก
ทั้งนี้ มะกอกจะเริ่มออกดอกตั้งแต่ต้นฤดูฝน ประมาณเมษายน-มิถุนายน จากนั้น จะทยอยออกดอก และบานเรื่อยๆจนถึงฤดูหนาว แต่ส่วนมากจะพบออกดอก และติดผลมากในช่วงปลายฤดูหนาว
ผล
ผลมะกอกออกเป็นช่อ เป็นผลสด มีรูปไข่หรือกลมรี ขนาดผล 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวสด ผลแก่หรือผลสุกมีสีเขียวอมเหลือง และมีจุดประสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเนื้อผล มีลักษณะฉ่ำน้ำ มีความหนาของเนื้อผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร จากนั้นเป็นเมล็ด ทั้งนี้ ผลมะกอกจะเริ่มสุกให้เก็บมากในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม
เมล็ด
เมล็ดมะกอกมีรูปไข่ มีขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ผล เปลือกเมล็ดมีสีเหลือง หนา แข็ง และเป็นเสี้ยน ด้านในเป็นเนื้อเมล็ดอยู่ตรงกลาง
ประโยชน์มะกอกป่า
1. ผลดิบ และผลสุกมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม ใช้ปรุงรสอาหาร ได้แก่
– ผลดิบ และผลสุกใช้แทนมะนาวทำส้มตำ ส้มตำที่ใส่มะกอกจะมีรสเปรี้ยวธรรมชาติ ไม่เปรี้ยวจัด เกิดรสหวานเล็กน้อย ผลดิบจะใส่ประมาณ 2 ลูก โดยฝานเฉพาะเปลือก และเนื้อใส่ ส่วนมะกอกสุกใช้เพียง 1 ลูก ก็เพียงพอ แต่คนชอบเปรี้ยวอาจใส่ 2 ลูก จะได้รสเปรี้ยวมากขึ้น ทั้งนี้ เมล็ดที่ฝาเปลือก และเนื้อใส่แล้ว อาจใส่ลงในครกตำผสมก็ได้เช่นกัน ส่วนรสเปรี้ยว และความอร่อยของมะกอกจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล มะกอกที่ออกในช่วงต้นฝนหรือมะกอกรุ่นแรกๆจะมีความอร่อยกว่ามะกอกที่ออกในช่วงฤดูหนาว
– ผลดิบ และผลสุก ใช้ใส่แทนมะนาวหรือมะขามในอาหารจำพวกต้มยำหรือแกงที่ต้องการรสเปรี้ยว น้ำต้มยำหรือน้ำแกงจะออกสีขาวขุ่น เป็นที่น่ารับประทาน
– เนื้อผลสุกใช้ใส่น้ำพริกหรืออาหารจำพวกยำหรือก้อย เช่น ก้อยกุ้งซึ่งเป็นที่นิยมของคนอีสาน
2. ผลดิบ และผลสุก ใช้รับประทานเป็นผลไม้แทนผลไม้อื่นที่ให้รสเปรี้ยว ทั้งรับประทานแบบจิ้มพริกเกลือหรือจิ้มน้ำปลา โดยผลดิบจะมีรสเปรี้ยวอมฟาด ส่วนผลสุกจะมีรสเปรี้ยว และกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย
3. เนื้อผลสุกผสมน้ำตาล แล้วปั่นเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
4. ผลอ่อนที่เมล็ดยังไม่มีเสี้ยน นำมาดอกเป็นมะกอกดอง
5. ยอดอ่อนมีสีแดงรื่อหรือเขียวอมแดง ไม่มีเสี้ยน มีรสเปรี้ยวอมฟาด มีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผักกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆ
6. รากมะกอกในระยะต้นอ่อนมีลักษณะคล้ายหัวมัน ขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาว มีรสหวาน นิยมขุดมาปอกเปลือกรับประทาน ทั้งนี้ หากขุดในระยะที่ต้นใหญ่จะไม่พบรากดังกล่าว ระยะที่เหมาะสม คือ ต้นมะกอกสูงไม่เกิน 30-60 เซนติเมตร
7. ยางจากต้นที่เกิดจากบาดแผลของด้วงหรือแมลง มีลักษณะเป็นเมือกใสสีแดงอมน้ำตาล สามารถใช้เป็นกาวติดของได้
8. ไม้มะกอก เป็นไม้เนื้ออ่อน แก่นไม่แข็งมาก แปรรูปง่าย ใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับไม้ก่อสร้าง
9. ไม้มะกอกใช้สับเป็นเยื่อไม้สำหรับผลิตกระดาษ
10. เปลือกต้นมะกอกใช้ฟอกย้อมแห ย้อมตาข่าย ยางเหนียว และสารสีช่วยให้แหหรือตาข่ายแข็งแรง ป้องกันสัตว์หรือแมลงกัดแทะ
สรรพคุณมะกอกป่า
ผล
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– ช่วยเจริญอาหาร กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และการยากอาหาร
– แก้อาการไข้หวัด ลดปริมาณน้ำมูก
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– แก้โรคขาดแคลเซียม
– ช่วยให้ชุ่มคอ แก้การกระหายน้ำ
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– กระตุ้นการขับถ่าย
– แก้ดีพิการ
– แก้อาการสะอึก
– แก้น้ำดีไม่ปกติ
– แก้อาการกระเพาะพิการ
เมล็ด
– เมล็ดเผาไฟ ก่อนใช้ชงน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการหอบ อาการสะอึก และแก้อาการร้อนใน
ใบ และยอดอ่อน
– กระตุ้นการขับถ่าย
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยให้ชุ่มคอ แก้การกระหายน้ำ
– แก้อาการร้อนใน
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้น้ำเหลือง ช่วยสมานแผล
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– แก้อาการปวดท้อง
– แก้โรคปวดตามข้อ ปวดตามกระดูก
– น้ำคั้นจากใบสดใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู
– ใช้ต้มอาบ แก้โรคผิวหนัง
– ที่บาหลีใช้ใบและเปลือกของมะกอกผสมกับใบมะพร้าวอ่อนทำเป็นโลชั่นสำหรับทารักษาแผลหรือแก้อาการร้อนในตามร่างกาย
เปลือกลำต้น
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้อาเจียน
– แก้อาการสะอึก
– แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้
– แก้เลือดออกตามไรฟัน
– ใช้ทารักษาแผลพุพอง
– ใช้ต้มอาบ แก้โรคผิวหนัง
รากอ่อน
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วย
– ช่วยให้ชุ่มคอ แก้การกระหายน้ำ
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยปรับระดูให้ปกติ
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ออก
– แก้บิดมูกเลือด
– แก้อาการสำแดงหรือกินของแสลงเป็นพิษ
ที่มา : [1], [3], [4]
การปลูกมะกอกป่า
มะกอกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ แต่ส่วนมากนิยมใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะทำให้ได้ต้นใหญ่ ปริมาณผลมาก และอายุยืนยาว เหมาะสำหรับปลูกตามหัวไร่ปลายนา ส่วนการตอน และการปักชำ ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะติดรากยาก เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน และการแตกกิ่งน้อย รวมถึงอายุต้นได้ไม่กี่ปี แต่มีข้อดี คือ ติดผลเร็ว และลำต้นไม่สูงมาก เหมาะสำหรับปลูกบริเวณพื้นที่จำกัด
การเพาะเมล็ด ควรเลือกเฉาะเมล็ดจากผลที่ร่วงจากต้น จากนั้น นำผลมาตากแดดจนแห้ง ก่อนนำผลมาห่อด้วยผ้าหรือหนังสือพิมพ์ แล้งเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว แต่หากหาลำบาก อาจใช้เมล็ดมะกอกในส้มตำที่สั่งรับประทานก็ได้เช่นกัน
เมื่อถึงต้นฤดูฝนหรืออาจก่อนฤดูฝน ให้นำผลมาปอกเปลือกผลออกให้หมด ก่อนนำไปแช่น้ำอุ่นนาน 5-10 นาที และช่อน้ำนาน 6-12 ชั่วโมง จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ ควรใช้ถุงขนาดใหญ่ 8-10 นิ้ว เพาะ เนื่องจาก รากมะกอกในระยะหลังงอกจะเติบโตเร็ว และมีความยาวมาก เมื่อเพาะกล้าจนต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกตามที่ต้องการ
ขอบคุณภาพจาก phargarden.com/, Pantip.com/, BlogGang.com/,
เอกสารอ้างอิง
[1] เนาวรัตน์ ชัชวาลโชคชัย, 2530, อิทธิพลของสัตว์เคี้ยวเอื้องบางชนิด-
ที่มีต่อคุณภาพของเมล็ดมะขามป้อม-
มะกอกน้ำ มะกอกป่า และสมอไทย.
[2] สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มะกอกป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/Pattani_botany/พันธุ์ไม้/ป่าบก/มะกอกป่า/มะกอกป่า.htm/.
[3] ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), มะกอกป่า, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=7318/.
[4] ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มะกอก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=87/.