Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
มะกรูด (kaffir lime) เป็นพืชตระกูลส้ม และมะนาว (Citrus family) ที่เป็นพืชพื้นเมืองในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ผล และพืชผักสมุนไพรที่นิยมปลูกไว้ตามบ้าน และสวน เพื่อใช้สำหรับประกอบอาหาร เนื่องจาก ใบ และผล มีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอมช่วยในการดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสให้แก่อาหารได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีองค์ประกอบของสารสำคัญหลายชนิดที่มีคุณสมบัติทางยา และคุณสมบัติทางด้านความสวยความงาม
• ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus hystrix DC.
• วงศ์ : Rutaceae
• ชื่อพ้อง :
– Citrus echinata St. Lag.
– Citrus latipes Hook. F.& Thoms.
– Citrus papidia Miq
• ชื่อสามัญ :
– kaffir lime
– porcupine orange
– leech lime
– mauritrus papeda
• ชื่อท้องถิ่น :
– มะกรูด
– ส้มมั่วผี
– มะหูด
– ส้มมะกรูด
– ส้มกรูด
– มะขุน
– มะขูด
– มะหูด
– หมากกรูด
ลักษณะทั่วไป
ลำต้น
ต้นมะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้เป็นเนื้อแข็ง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมยาว
ใบ
ใบมะกรูด เป็นใบประกอบ ออกเป็นใบเดี่ยว มีก้านใบแผ่ออกเป็นครีบคล้ายแผ่นใบ ใบมีลักษณะหนา เรียบ มีผิวมัน สีเขียว และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบมีคอดกิ่วที่กลางใบทำให้ใบแบ่งออกเป็น 2 ตอน หรือ คล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่
ดอก
ดอกมะกรูดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อมีสีขาว แทงออกบริเวณส่วนยอดหรือตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 1-5 ดอก หลีบดอกมีสีขาวครีม 5 กลีบ มีขนปกคลุม ภายในดอกมีเกสรมีสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย และเมื่อแก่จะร่วงง่าย
ผล/ลูก
ผลมะกรูดหรือลูกมะกรูด มีลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ผลคล้ายผลส้มซ่า ผลมีขนาดใหญ่กว่าลูกมะนาวเล็กน้อย ลักษณะของผลมีรูปร่างแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวเปลือกมีสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระเป็นลูกคลื่นหรือเป็นปุ่มนูน ภายในเปลือกมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเป็นจํานวนมาก มีจุกที่หัว และท้ายของผล เมื่อสุก ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ด้านในผลประกอบด้วยเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแทรกบริเวณกลางผล 5-10 เมล็ด เนื้อผลมีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย
ประโยชน์จากมะกรูด
• ใบมะกรูด นิยมใช้ประกอบอาหารสำหรับใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อต่างๆ เช่น แกงเผ็ด ต้มยำ ใช้โรยในอาหาร เช่น ห่อหมก
• ใบมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกง เช่น พริกแกง
• ลูกมะกรูด ผ่าเป็นชิ้นใช้สำหรับดับกลิ่นในห้องน้ำชาย-หญิง
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้ดับกลิ่นคาว และปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงคั่ว
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้ทำน้ำผลไม้ปั่น เช่น น้ำมะกรูดปั่น
• ลูกมะกรูดนำมาสับ และบีบคั้นเอาน้ำ ใช้สำหรับผสมหรือทำน้ำยาสระผม
• ลูกมะกรูดหั่นเป็นชิ้นใช้สระผมร่วมกับแซมพูสระผม
• ลูกมะกรูด นำมาคลึงให้ซ้ำ แล้วใส่ในภาชนะน้ำขังเพื่อกำจัดลูกน้ำ
• สารสกัดจากใบมะกรูดใช้แต่งกลิ่นไวน์ขาวหรือไวน์แดง
• สารสกัดจากใบมะกรูดใช้เป็นส่วนผสมของต้านมะเร็ง
• น้ำจากลูกมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมของยาฟอกเลือด
• น้ำมันหอมระเหยจากผล และใบมะกรูด ใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมเครื่องหอม และเครื่องสำอางต่างๆ
• น้ำมันหอมระเหย ใช้ปรับอากาศตามห้อง ช่วยลดกลิ่นอับ กลิ่นเหม็นคาว
• ใบ และผลสด ใช้ดม แก้อาการมึนเมา อาการเวียนศรีษะ
1. การใช้ในตำรับยา และประโยชน์ทั่วไป
น้ำมะกรูด
น้ำมะกรูดช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก และฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีในปริมาณมาก โดยในประเทศไทยมีการนำน้ำมะกรูดไปใช้สำหรับเป็นยาขับ เสมหะ แก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน นำมาดองยารับประทานเป็นยาฟอกโลหิตสตรี ผสมกับปูนแดงทาแก้ปวดท้อง นอกจากนั้น มีการนำน้ำมะกรูดไปใช้เป็นยาฟอกขาวตามธรรมชาติสำหรับกำจัดคราบรอยด่าง รวมไปถึงการนำไปใช้สำหรับฆ่าทากตามพื้นดิน
ผิวมะกรูด
ผิวมะกรูดมีการนำไปใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง แก้วิงเวียนเป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้กระตุ้นและรักษาอาการปวดท้อง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปาก
ในประเทศไทยมีการนำผิวมะกรูดแห้งให้แก่หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร และใช้เป็นยาเร่งประจำเดือน ส่วนประเทศอินเดียนิยมใช้ผิวมะกรูดสำหรับใช้เป็นยาฆ่าแมลงด้วย ส่วนในตำรับยาของชาวมาเลเซียมีการใช้ผลสดทั้งผลสำหรับการเตรียมยาสำหรับใช้ภายใน ซึ่งจะเป็นใบสั่งยาเกี่ยวกับโรคความเจ็บปวดในช่องท้อง และใช้เป็นยาขับลมแก้ท้องเฟ้อ
2. การใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม
ใบมะกรูดมักถูกนำไปใช้ในหลายประเทศสำหรับใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหาร (preserve foods) และยังทำให้เกิดความอยากอาหาร
น้ำมะกรูด และผิวผลมะกรูดโดยส่วนมากจะใช้ปรับปรุงรสชาติและกลิ่นรสของอาหารในภูมิภาคเอเชีย เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย มักนิยมใช้ใบมะกรูดเพื่อกลิ่นรสที่จำเพาะ เช่น เครื่องปรุง และเครื่องดื่ม
ในประเทศไทยใช้ผิวมะกรูดเป็นเครื่องเทศ โดยใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริกแกงหลายชนิด
น้ำมะกรูดถูกนำไปใช้สำหรับเตรียมเป็นเครื่องดื่ม และสำหรับปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยว และดับ
กลิ่นคาวปลา นิยมใส่น้ำมะกรูดในปลาร้าหลน แกงส้ม แกงคั่ว ฯลฯ และมีการนำไปใช้กันมากสำหรับเป็นเครื่องปรุงเนื้อ
ส่วนในทางการค้าด้วยลักษณะที่โดดเด่น และมีรสชาติจำเพาะ จึงมักใช้สำหรับตำรับอาหารจำพวกแกงเผ็ด ซุป และกูไล (gulai) ซึ่งเป็นแกงพื้นเมืองชนิดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
3. การใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
เนื่องจากมะกรูดมีสมบัติในการช่วยบำรุงหนังศีรษะ และกระตุ้นการงอกของรากผม ช่วยขจัดรังแคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ แก้คันศีรษะ และช่วยหล่อลื่นผมทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม รากผมแข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่าย ส่วนน้ำมะกรูดมีสมบัติเป็นกรดตามธรรมชาติเหมาะสำหรับหนังศีรษะไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง ช่วยในการทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะ และช่วยในการชำระล้างคราบสบู่และแชมพู ดังนั้น จึงนิยมนำมะกรูดไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการเตรียมผลิตภัณฑ์แชมพูผสมมะกรูด
ชาวพม่า และชาวมาเลเซีย ใช้น้ำมะกรูดเป็นแชมพูธรรมชาติสำหรับสระผม และชำระล้างส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำมะกรูด และผลมะกรูดไปใช้สำหรับแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม รักษาชันนะตุ รังแค และทำให้ผมสะอาด รวมถึงมีการนำไปใช้เป็นครีมทาผิวด้วย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์นิยมใช้ผลมะกรูดผสมกับเปลือกสะบ้ามอญสระผม
ที่มา : ชลลดา วชิรเดชเสถียร, (2546) รวบรวมจากเอกสารหลายฉบับ(5)
คุณค่าทางโภชนาการของใบมะกรูด (100 กรัม)
• พลังงาน 171 กิโลแคลอรี่
• โปรตีน 6.8 กรัม
• ไขมัน 3.1 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต 29.0 กรัม
• เส้นใย 8.2 กรัม
• แคลเซียม 1672 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
• เหล็ก 3.8 มิลลิกรัม
• วิตามินเอ 303 ไมโครกรัม
• ไทอามีน 0.20 มิลลิกรัม
• ไรโบฟลาวิน 0.35 มิลลิกรัม
• ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 20 มิลลิกรัม
• เถ้า 4.0 กรัม
ที่มา : กองโภชนาการ, (2544)(1)
คุณค่าทางโภชนาการของผิวลูกมะกรูด (100 กรัม)
• คาร์โบไฮเดรต 21.3 กรัม
• โปรตีน 2.8 กรัม
• ไขมัน 1.1 กรัม
• ใยอาหาร 3.4 กรัม
• แคลเซียม 322 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม
• เหล็ก 1.7 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 1 0 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 2 0.13 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 115 มิลลิกรัม
ที่มา : กองโภชนาการ, (2530)(2)
คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมะกรูด (100 กรัม)
• คาร์โบไฮเดรต 10.8 กรัม
• โปรตีน 0.6 กรัม
• ไขมัน 0 กรัม
• ใยอาหาร 0 กรัม
• แคลเซียม 20 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
• เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
• วิตามินบี 2 58 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 55 มิลลิกรัม
ที่มา : กองโภชนาการ, (2530)(2)
สารสำคัญที่พบ
นํ้ามันหอมระเหยมะกรูดประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ สารในกลุ่มเทอร์พีน ( terpenes) และสารที่ไม่ใช่กลุ่มเทอร์พีน ( non-terpene) หรือ oxygenated compounds
สารเทอร์พีนเป็นสารพวก unsaturated hydrocarbons ซึ่งเป็นสารที่ไม่คงตัว สามารถเกิดปฏิกิริยา photochemical และปฎิกิริยา oxidation ได้ง่าย ทําให้นํ้ามนหอมระเหยเสื่อมลงอย่างช้าๆ
โมโนเทอร์พีน ( monoterpene, C10 ) เป็นเทอร์พีนที่มีนํ้าหนกโมเลกุลต่ำที่สุด แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม คือ acyclic, monocyclic และ bicyclic เช่น ocimene, di-limonene และ camphene ตามลำดับ
เซสควิเทอร์พีน (sesquiterpenes, C15) เป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยที่มีจุดเดือดสูง เป็นสารประกอบไม่อิ่มตัวประเภท acyclic หรือ cyclic เช่น farnesol และ d-bisabolene ตามลำดับ ส่วน non-terpenes เป็นส่วนเฉพาะที่ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวของน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ สารประกอบอัลกอฮอล์ อัลดีไฮด์ คีโตน อีเธอร์ กรดคาร์บอกซิลิค และเอสเทอร์ เป็นต้น สารเหล่านี้ ได้แก่ geraniol, linalool เป็นต้น
สารสำคัญที่พบในใบ และเปลือกผลมะกรูด
• β-pinene
• limonene
• sabinene
• citronellal
• α-pinene
• myrcene
• 1,8 cineol
• α-terpineol
• trans –sabinene hydrate
• copaene
• linalool
• β-cubenene
• geranyl acetate, citronellol
• caryophyllene
• elemol
• δ-cardinene
• citronellene acetate
• terpinen-4-ol, p-elemene
• camphene
• γ-terpinene
• terpinolene
• nerolidol
รวบรวมจาก ชลลดา วชิรเดชเสถียร (2546)(5)
สรรพคุณมะกรูด
ผลมะกรูด
– ใช้หรับประทานสดเพื่อบรรเทาอาการปวดหัว
– ใช้รับประทานสดสำหรับขับพยาธิ
– ช่วยบำรุงกำลัง
– ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์
– ช่วยฟอกเลือด และบำรุงเลือด
– ช่วยขับระดู
– ช่วยขับลม
– แก้จุกเสียดแน่นท้อง
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
– ใช้แก้ไอ ขับเมหะ
ใบมะกรูด
– ช่วยขับลม
– แก้หน้ามืด ตาลาย และคลื่นเหียน อาเจียน
ราก และลำต้นมะกรูด
– รากสามารถแก้ลมจุกเสียดและบำรุงโลหิต
รวบรวมจาก ไพรัช และคณะ (2547)(4),
ฤทธิ์การต้านเชื้อจุลินทรีย์
ใบมะกรูด
– เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ อี.โคไล, บาซิลลัส เมกะทีเรียม เป็นต้น
– เชื้อรา ได้แก่ อัลเทอร์นาเรีย, ฟิวซาเรียม และไรโซปัส เป็นต้น
เปลือกมะกรูด
– เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ อี.โคไล, ซัลโมเนลลา ไทฟี และสเตรปโตคอกคัส ฟีคาลิส เป็นต้น
– เชื้อรา ได้แก่ แอสเปอร์จิลลัส, เคอร์วูลาร์เรีย และฟิวซาเรียม เป็นต้น
ที่มา : ไพรัช และคณะ, 2547(4)
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
• การใช้สารสกัดหยาบของใบมะกรูดด้วย hexane, ethyl acetate, methanol ซึ่งได้ชั้นสารสกัดในแต่ชนิด เมื่อนำชั้นสารสกัดหยาบของแต่ละสารมาทดสอบต้านเชื้อวัณโรค M. tuberculosis พบว่า สารสกัดหยาบในชั้น ethyl acetate สา่มารถต้านเชื้อวัณโรคได้ ส่วนสารสกัดหยาบในชั้น hexane และmethanol ไม่มีผลต่อการต้านเชื้อวัณโรค (อมรรัตน์ และคณะ, 2552)(3)
การปลูกมะกรูด
การขยายพันธุ์มะกรูดสามารถทำได้ด้วยหลายวิธี อาทิ การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา การต่อยอด และการเพาะเมล็ด แต่ที่นิยม ได้แก่ การตอนกิ่ง การต่อยอด และการเพาะด้วยเมล็ด
เอกสารอ้างอิง